รีวิว Nokia Lumia 520 น้องเล็กแห่งสายตระกูล Windows Phone

by mk
20 May 2013 - 04:06

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โนเกียใช้เวทีงาน MWC 2013 เปิดตัว Windows Phone รุ่นเล็ก Lumia 520 ถือเป็นครั้งแรกที่โนเกียออก Windows Phone ที่รหัสขึ้นต้นด้วย 5

จุดเด่นที่สุดของ Lumia 520 คงหนีไม่พ้น "ราคา" เพียง 139 ยูโรหรือราคาในไทยประมาณ 5,800 บาท น่าจะทำให้ใครหลายคนสนใจหันมามอง Windows Phone กันบ้าง

ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่หันมามอง Lumia เพราะราคาอันเย้ายวน แต่ก่อนจะควักกระเป๋าจ่ายเองก็ลองขอยืม Lumia 520 จากโนเกียมาทดสอบดูก่อน และนี่คือรีวิวครับ

สเปกของ Lumia 520

  • หน้าจอ 4" 800x480 235ppi IPS (ไม่มี ClearBlack) กระจกแข็งพิเศษ
  • มี super sensitive touch ใช้ถุงมือสัมผัสได้แบบเดียวกับ Lumia 920
  • ซีพียู Snapdragon S4 1GHz ดูอัลคอร์, แรม 512MB
  • ความจุ 8GB + microSD
  • กล้องหลัง 5MP ไม่มีแฟลช ไม่มีกล้องหน้า
  • แบตเตอรี่ 1,430 mAh

สเปกละเอียดดูได้จาก เว็บไซต์ของโนเกีย

Lumia 520 เปรียบเทียบกับ Lumia รุ่นอื่นๆ

โนเกียออก Lumia รุ่นที่สองที่ลงท้ายด้วย x20 มาทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่ 520 ไล่ตัวเลขขึ้นไปจนถึง 920 เรียงตามระดับราคา

คนที่ไม่ได้ติดตามวงการ Windows Phone อาจจะงงๆ อยู่บ้างว่า Lumia แต่ละรุ่นต่างกันอย่างไร ผมขอนำตารางเปรียบเทียบจากเว็บโนเกีย คัดเฉพาะส่วนสำคัญของ 3 รุ่นล่างคือ 520-620-720 มาเทียบให้ดูครับ

ทั้งสามรุ่นใช้สเปกฮาร์ดแวร์หลักเหมือนกัน นั่นคือซีพียู 1GHz ดูอัลคอร์, แรม 512MB, ความจุ 8GB สิ่งที่ต่างกันออกไปคือกล้อง จอ ขนาด และดีไซน์

กล้องของ Lumia 520 จะด้อยที่สุดคือ 5MP ไม่มีกล้องหน้าและแฟลช, พอเป็น 620 จะเริ่มใส่กล้องหน้าเข้ามา และ 720 ที่มีกล้องเป็นจุดขายก็มีฟีเจอร์ด้านการถ่ายภาพมากขึ้น

หน้าจอของ 520 ใช้จอ IPS ขนาด 4" ไม่มี ClearBlack ซึ่งจะเริ่มมีในรุ่นที่สูงขึ้นคือ 620 และ 720

ดีไซน์ภายนอก

Lumia 520 ใช้แนวทางการออกแบบเป็นพลาสติกโพลีคาร์บอนเนตเช่นเดียวกับ Lumia รุ่นอื่นๆ ฝาหลังเป็นพลาสติกด้าน แกะออกได้ แบตถอดเปลี่ยนแบตได้

ด้านหน้าของตัวเครื่องเป็น 3 ปุ่มมาตรฐานของ Windows Phone ไม่มีอะไรแปลกออกไป

พอร์ตรอบตัวเครื่องมีแค่ MicroUSB สำหรับชาร์จ (ด้านล่าง) และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. (ด้านบน) เท่านั้น

ด้านขวามือมี 4 ปุ่มมาตรฐาน volume up/down, power, shutter

ตัวเครื่องด้านหลังมีช่องเสียบ MicroSD และ Micro SIM โดยกรณีของ SIM ต้องเสียบแบบหันด้านข้างใส่เข้าไปแทนด้านหัว-ด้านท้ายเหมือนโทรศัพท์รุ่นอื่นๆ (ใช้ตอนแรกก็งงเล็กน้อย)

โดยรวมแล้วถือว่า Lumia 520 มีขนาดกลางๆ (หน้าจอ 4" ในปัจจุบันถือว่ากลางค่อนไปทางเล็กแล้วด้วยซ้ำ) วัสดุค่อนข้างกระชับมือ แต่ถือไม่ค่อยสะดวกนักซึ่งอาจเป็นเพราะการออกแบบรูปทรง

การใช้งาน

ผมไม่มีปัญหาอะไรกับหน้าจอของ Lumia 520 ถึงแม้จะไม่ใช่จอเทพสุดในปัจจุบันแต่ก็ทำงานได้โอเค สีสันสดใส ความละเอียดของจออยู่ในระดับที่รับได้สบายมากสำหรับสมาร์ทโฟนระดับกลางแบบนี้

ปัญหาที่พบคือตัวเครื่องค่อนข้างร้อนในบางโอกาส (โดยเฉพาะตอนที่ใช้ GPS มากๆ อย่างการเปิดโปรแกรมแผนที่นำทาง Here Drive ค้างไว้) และแบตเตอรี่ที่หมดเร็วมาก การใช้งานปกติของผมอยู่ได้ไม่ถึงวันด้วยซ้ำ

ในแง่ประสิทธิภาพโดยรวมไม่มีปัญหา การตอบสนองของ UI ลื่นไหลดีมาก (สมราคา Windows Phone ที่ไมโครซอฟท์โฆษณาว่า fast and fluid) แต่การที่ Lumia 520 มีแรมน้อยทำให้เราเจอ app suspend และต้องรอ resume เวลาสลับแอพอยู่บ่อยๆ อย่างไรก็ตามมันไม่ถือว่าเป็นปัญหาขั้นร้ายแรงนัก

ซอฟต์แวร์

ระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8 เป็นเวอร์ชันมาตรฐานของโนเกีย แทบไม่ต่างอะไรจาก Lumia รุ่นพี่ๆ เลย ให้แอพในสายตระกูลโนเกียมาแบบครบครัน จะขาดไปก็มีแค่เพียง Nokia City Lens (ซึ่งก็ไม่น่าจะมีคนใช้สักเท่าไร)

ประสบการณ์การใช้งาน Windows Phone โดยรวมถือว่าตอบโจทย์ความเป็น "สมาร์ทโฟน" ขั้นพื้นฐาน เช่น โทรออกรับสาย อ่านอีเมล ท่องเว็บ ดูแผนที่ ถ่ายภาพ ฯลฯ แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง iOS/Android ผมก็คงต้องบอกว่า Windows Phone ยังไม่สามารถไปต่อกรกับคู่แข่งทั้งสองได้

ประเด็นที่ Windows Phone ยังแพ้อยู่มี 2 เรื่องใหญ่

  • ข้อจำกัดของตัว Windows Phone เอง เช่น ยังขาด notification center, ระบบ Live Tiles ที่บางครั้งไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไร, หน้าจอบางหน้าจอที่ซับซ้อนและใช้งานยาก (ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Settings)
  • app ecosystem ที่ยังสู้คู่แข่งไม่ได้ หลักๆ คือขาดแอพยอดนิยมอย่าง Instagram, Dropbox, Flipboard (แม้จะมีแอพ third party ทดแทนได้ก็ตาม)

ตรงนี้ผมมองว่าโนเกียพยายามทำเต็มที่แล้ว แอพของโนเกียที่แถมมากับ Lumia มีคุณภาพ ใช้งานได้จริง (แม้โอกาสใช้งานแอพบางตัว เช่น Cretive Studio หรือ Cinemagraph ไม่บ่อยนัก)

แอพอื่นๆ ที่แถมมากับเครื่องได้แก่แอพที่พัฒนาโดยบริษัท Volevi ทีมงานคนไทยที่มีผลงานบน Windows Phone มากมาย แอพที่แถมมาให้มี 2 ตัวคือ Thai TV 3 และ Me เช่นเดียวกับ Lumia รุ่นอื่นๆ (อ่านบทสัมภาษณ์ EGCO Dev Team ที่ภายหลังกลายมาเป็น Volevi)

กล้อง

ผมค่อนข้างประทับใจกล้องของ Lumia 520 พอสมควร ถึงแม้คุณภาพที่ออกมาจะไม่ถึงขนาดว้าว แต่การถ่ายภาพกลางคืนหรือสภาพแสงน้อย Lumia จะประมวลผลภาพออกมาค่อนข้างดี มองเห็นชัด (แม้ว่าจะ noise เยอะตามมา) สามารถนำไปใช้ต่อได้ตามประสงค์

จุดอ่อนของกล้อง 520 คงอยู่ที่ว่ามันไม่มีแฟลช ทำให้การถ่ายภาพกลางคืนบางครั้งมีปัญหาอยู่บ้าง (แต่กรณีถ่ายภาพกลางคืนแบบต้องเปิดแฟลชในชีวิตจริงคงไม่เยอะนัก)

สุดท้ายต้องไม่ลืมว่า Lumia 520 เป็นรุ่นโลว์คอสต์ไม่มีกล้องหน้า ถ้าใครอยากซื้อมาใช้ทำ vdo call อาจต้องซื้อรุ่นที่สูงขึ้นไปกว่านี้แทนครับ

สรุป

Lumia 520 ตอบโจทย์ตลาดที่อยู่กึ่งๆ ระหว่างฟีเจอร์โฟนและสมาร์ทโฟนทั่วไป ตลาดนี้ถือเป็นตลาดที่ price-sensitive ซึ่งราคากลายเป็นประเด็นสำคัญ และโนเกียก็ออก Lumia 520 ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้

ตัวฮาร์ดแวร์ของ Lumia 520 ถือว่าสมราคา สเปกโอเค คุณภาพงานประกอบดี ส่วนตัวระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8 ก็ลื่นไหล ตอบสนองงานทั่วๆ ไปได้ดี แอพที่ให้มาพร้อมกับเครื่องก็หลากหลายและใช้งานได้จริง โดยรวมแล้วผมว่าราคานี้คุ้มค่าเมื่อเทียบกับสเปกและระบบปฏิบัติการที่ได้

คำถามคือถ้า Lumia 520 ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Android ในระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่มี ecosystem ที่กว้างใหญ่กว่ามาก โนเกียจะตอบคำถามลูกค้าอย่างไร? (เช่น ถามว่ามี Instagram หรือเปล่า) เรื่องนี้เป็นการบ้านที่คู่หูไมโครซอฟท์-โนเกียต้องช่วยกันผลักดันหาคำตอบต่อไปครับ

Blognone Jobs Premium