เว็บไซต์ Ars Technica และนักวิจัยด้านความปลอดภัยนามว่า Ashkan Soltani ได้ทำการทดลองส่งข้อความที่มี URL ของเว็บไซต์ 4 แห่งผ่านทาง Skype จาก log ที่ได้แสดงให้เห็นว่าลิงก์ 2 อันจากทั้ง 4 มีการเข้าถึงโดยเครื่องที่มีเลขไอพีที่ไมโครซอฟต์เป็นเจ้าของ จากผลลัพธ์นี้สรุปได้ว่า ข้อความที่ส่งด้วยโปรแกรม Skype นั้นอาจจะถูกถอดรหัสโดยไมโครซอฟท์ และถ้าในข้อความนั้นมี URL ที่ชี้ไปหาเว็บไซต์ด้วย ไมโครซอฟท์อาจจะเปิดเว็บไซต์นั้นเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่าง
อันที่จริงการถอดรหัสข้อความและการกวาดหาเว็บไซต์ในข้อความนั้น ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเสียทีเดียว เพราะว่าในนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัวของ Skype ก็มีการระบุว่า ระบบอาจจะใช้การกวาดหาข้อความแสปมและเว็บไซต์ที่เข้าข่ายการต้มตุ๋น (เช่น Phishing)
ตั้งแต่ Skype ถูกควบรวมกิจการเข้ากับไมโครซอฟต์เมื่อปีที่แล้ว วิธีการส่งข้อความก็ถูกยกเครื่องใหม่หมด จากในอดีตที่ที่ข้อความจะถูกส่งไปยังผู้รับผ่านผู้ใช้อื่น ๆ ที่มีเนทเวิร์คความเร็วสูง มาเป็นการส่งผ่านเซิร์ฟเวอร์ของไมโครซอฟต์เอง นั่นหมายความว่าวิธีการส่งข้อความถูกเปลี่ยนจากระบบกระจายมาเป็นแบบรวมศูนย์ โดยข้อความทั้งหมดนั้นจะผ่านระบบของไมโครซอฟต์ ทำให้การอ่านข้อความนั้นอาจจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เคยเป็นมามาก
ข้อเท็จจริงนี้ขัดแย้งกับความเชื่อเดิม ๆ ที่ผู้่ใช้หลาย ๆ คนรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจำนวนมากเคยมี ที่ว่าข้อความที่ส่งโดย Skype จะถูกเข้ารหัส และจะถูกส่งในสภาพนั้นจนถึงผู้รับปลายทางโดยที่ไม่มีใครถอดมันออกมาอ่าน
ที่จริงการอ่านเนื้อความที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำกันโดยทั่วไป ดังนั้นการที่เราจะเขียนอะไรหรือจะส่งข้อความอะไรก็ต้องระวังด้วยนะครับว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาอาจจะมีบุคคลอื่นเข้ามาอ่านได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
ที่มา: Ars Technica