ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวคิดด้านการผลิตสินค้าอย่างรับผิดชอบหรือมีจริยธรรม ก็เป็นประเด็นที่มีการให้ความสำคัญกันมากขึ้น ธุรกิจขนาดใหญ่ๆ ก็ได้รับแรงกดดันให้ทั้งตรวจสอบกระบวนการผลิตของตัวเอง และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญในด้านดังกล่าวคือการทำเหมืองแร่ ซึ่งมีปัญหาทั้งในด้านสังคม-สิทธิมนุษยชน และด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการ Fairphone จากเนเธอร์แลนด์ จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักด้านการใช้ conflict minerals ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (conflict minerals คือแร่ที่เกิดจากการทำเหมืองโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสนับสนุนการสู้รบของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในแอฟริกา) ต่อมาโครงการนี้ ก็ได้พัฒนาไปเป็นโครงการที่ผลิตสมาร์ตโฟน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเป็นต้นแบบด้านการผลิตสมาร์ตโฟนที่มีการผลิตอย่างมีจริยธรรม ทั้งด้านวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่าย
ปัจจุบัน Fairphone เปิดให้ลูกค้าในยุโรปสามารถสั่งจองสินค้าล่วงหน้าได้ โดย Fairphone ต้องการพรีออร์เดอร์จำนวน 5,000 เครื่อง ก่อนที่จะดำเนินการผลิต โดยในตอนแรก โครงการได้เปิดรับจองจากผู้ที่ลงชื่อแสดงความสนใจไว้ก่อนหน้าจำนวน 16,000 คน แต่จำนวนผู้ที่พร้อมจะสั่งจองจริงนั้นต่ำกว่าเป้าหมายที่ต้องการ จึงเริ่มเปิดรับจองจากผู้สนใจคนอื่นในยุโรปด้วย
Fairphone ตั้งราคาขายไว้ 325 ยูโรรวมภาษีแล้ว (ประมาณ 13,000 บาท) ซึ่งจะได้โทรศัพท์หน้าจอ 4.3 นิ้ว ซีพียูควอดคอร์ 1.2 GHz กล้อง 8 ล้านพิกเซลและ 1.3 ล้านพิกเซล ใช้ระบบแอนดรอยด์ 4.2 และสามารถใส่ได้สองซิม (อ่านสเปกเต็ม) โดย Fairphone ประกาศว่า การผลิตจะไม่ใช้ conflict minerals มีสวัสดิการแรงงานที่เหมาะสม และเงินส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในโครงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ Fairphone ประกาศว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลกระบวนการผลิต รวมถึงต้นทุนที่ใช้ตั้งราคา และรายชื่อซัพพลายเออร์ด้วย
ตอนนี้ Fairphone ขายไปได้แล้ว 2,369 เครื่อง และเหลือเวลาในการสั่งจองอีก 20 วัน (ถ้าไม่ถึงเป้าหมาย ก็คงจะต้องล้มโครงการและคืนเงินไป)
ที่มา - TechCrunch, Fairphone