ในบรรดากระบวนการเข้ารหัสนั้น เราอาจจะบอกได้ว่าการเข้ารหัสแบบกุญแจสมมาตร (symmetric key) ที่เป็นกระบวนการการเข้ารหัสที่ทั้งสองฝ่าย มี “ความลับ” ร่วมกันอยู่ก่อน เมื่อส่งข้อมูลจริงแล้วจึงใช้ความลับนั้นถอดรหัสผ่านออกมาได้จึงได้ข้อความที่อ่านออกมาได้
กระบวนการป้องกันข้อความที่เป็นความลับนั้นมีมานานนับย้อนไปได้ถึงสมัยจูเลียส ซีซาร์ ที่อาศัยการสลับตัวอักษรด้วยตารางที่เป็นความลับ โดยทุกตัวในตารางจะมีตัวแทนของตัวเองทั้งหมด
การเข้ารหัสนี้ได้ผลดีอยู่หลายร้อยปี ข้อความที่สำคัญถูกแปลงเป็นข้อความที่อ่านไม่ออก เช่นหากเราแปลงข้อความด้วยการเลื่อนตัวอักษรไปเป็น 13 ตัวข้างหน้า (มีชื่อเรียกเฉพาะว่าการเข้ารหัสแบบ rot13) ข้อความทางการทหารอย่าง “FALLING BACK PLEASE WAIT FOR ME” (กำลังล่าถอย รอด้วย) จะถูกแปลงเป็นข้อความที่อ่านไม่ออกอย่าง “SNYYVAT ONPX CYRNFR JNVG SBE ZR” ทดลองเล่นการเข้ารหัสได้ใน forret.com
ความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอของกระบวนการนี้ทำให้เราสามารถสร้างตารางแทนตัวอักษรได้ทั้งหมด 26! กรณีซึ่งมากพอสำหรับยุคนั้น ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการสร้างตารางกลับใช้วงล้อแทนตัวอักษร ที่หมุนไปมาเพื่อสร้างตารางตัวอักษรแทนกัน ทำให้ความเป็นไปได้เหลือเพียง 26 กรณีเท่านั้น
เมื่อผู้ดักฟังข้อความเข้ารหัสทดสอบด้วยตารางแบบต่างๆ ทุกรูปแบบก็จะพบรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่สามารถอ่านออกได้ และรู้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อความที่ถูกต้อง
แม้จะสร้างตารางที่ความเป็นไปได้มากด้วยการสร้างตารางที่ไม่ได้อาศัยการหมุนวงล้อ ความอ่อนแอของระบบการเข้ารหัสแบบนี้ก็ถูกพบในช่วงศตวรรษที่ 9 (ค.ศ. 800 ถึง ค.ศ. 900) ว่าในความเป็นจริงแล้วเราสามารถถอดรหัสรูปแบบนี้ได้หากเรารู้คุณสมบัติของ “ภาษา” ที่เราใช้เสียก่อน เช่น ภาษาอังกฤษนั้นตัว E จะเป็นตัวอักษรที่ถูกใช้งานมากเป็นอันดับแรก และตัว A เป็นอันดับที่สอง รวมถึงคุณสมบัติเช่น ตัวอักษรที่อยู่เดียวๆ นั้นมักจะเป็นตัว A ตัวอักษรที่แยกเป็น 3 ตัวมักเป็นคำว่า THE กระบวนการเช่นนี้ทำให้หากข้อความยาวเพียงพอ หรือมีการส่งข้อความด้วยตารางรหัสเดิมมากพอ ผู้ดักฟังก็จะถอดรหัสได้อย่างรวดเร็ว
กระบวนการสร้างตารางเปลี่ยนรหัสผ่าน ถูกแปลงมาอีกครั้งด้วยคำถามใหม่ว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเรามีตารางสำหรับ “ทุกตัวอักษร” ในข้อความนั้นๆ ดังตัวอย่าง
ตัวอย่างนี้แสดงถึงตารางสำหรับทุกตัวอักษรในข้อความที่เราจะส่ง หากเรามีตารางนี้ระหว่างเรากับปลายทางอยู่ล่วงหน้า การเข้ารหัสก็จะสมบูรณ์ ไม่สามารถแกะข้อความเดิมออกมาได้ การเข้ารหัสแบบนี้ แม้ผู้ที่ดักฟังข้อมูลระหว่างทางได้จะสามารถหาตารางอื่นๆ ที่ดูจะให้ข้อความที่ “อ่านได้” แต่ไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าเป็นข้อความจริงหรือไม่
รูปแบบหนึ่งที่ใช้งานจริงในระบบการเข้ารหัสแบบนี้คือการใช้ตัวเลขไบนารีแบบสุ่มความยาวเท่าๆ กับข้อมูลที่เราต้องการเข้ารหัสมาเป็นความลับระหว่างผู้ส่งและผู้รับปลายทาง เมื่อแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เช่นคำว่า “FALLBACK” นั้นในข้อมูลไบนารีจะเป็นข้อมูลไบนารีดังภาพ
ข้อมูลที่เป็นเลขไบนารีสุ่มนี้ทำให้เราเรียกการเข้ารหัสแบบนี้ว่า One Time Pad คือเมื่อเรามีตัวเลขสุ่มที่แชร์ระหว่างต้นทางและปลายทาง คนที่มองเห็นข้อมูลที่เข้ารหัสแล้วจะไม่มีทางถอดรหัสโดยแน่ใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้องได้เลย กระบวนการรักษาความปลอดภัยข้อมูลเช่นนี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยที่ปลอดภัยโดยไร้เงื่อนไข (unconditionally secure)
แต่ข้อจำกัดของ One Time Pad คือมันจะปลอดภัยก็ต่อเมื่อมีการใช้งานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะการใช้งานซ้ำ ในแต่ละตัวอักษรจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นข้อมูลเดิมหรือไม่ หากมีการใช้งาน One Time Pad กับข้อมูลที่ต่างกันบ่อยครั้งมากๆ สุดท้ายคนที่ดักฟังได้ก็จะสามารถรู้ได้ว่าข้อมูลที่ส่ง และกุญแจที่ส่งนั้นคืออะไร
ในโลกความเป็นจริง การเข้ารหัสแบบ One Time Pad นั้นนับว่าเป็นกระบวนการที่ลำบาก โดยเฉพาะในแง่ของความเร็ว ที่ข้อมูลสำหรับการเข้ารหัสจะมีขนาดใหญ่เท่าๆ กับตัวข้อมูลเอง ในแง่ของการลดภาระในการส่งกุญแจที่ต้องมีขนาดเท่ากับตัวข้อมูล จึงมีการสร้างระบบเข้ารหัสที่เรียกว่า stream cipher ขึ้นมา
stream cipher โดยหลักการแล้วมันคือการใช้ค่าจากฟังก์ชั่น pseudo random number generator (PRNG) เพื่อสร้างข้อมูลไบนารีขนาดยาวขึ้นมา โดยค่าเริ่มต้นของ PRNG นั้นเป็นค่าความลับที่ผู้รับและผู้ส่งแชร์ระหว่างกัน ข้อมูลนั้นมักมีขนาดเล็ก แต่สามารถสร้างไบนารีแบบสุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อ XOR กับข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการเข้ารหัสได้ ตัวอย่างการใช้งานในรูปแบบนี้ได้แก่การเข้ารหัสแบบ A5/1 ในโทรศัพท์ GSM ที่ใช้ฟังก์ชั่นในตระกูล LFSR ที่เป็นฟังก์ชั่น PRNG ตัวหนึ่ง หรือใน WEP ของระบบแลนไร้สายที่ใช้ฟังก์ชั่น RC4 เป็นตัวสร้างไบนารีเช่นกัน
การเข้ารหัสแบบ SSL RC4_128 เป็นการเข้ารหัสแบบแบบ stream cipher ที่เว็บขนาดใหญ่ล้วนใช้งานจากความได้เปรียบด้านความเร็ว และการส่งข้อมูลที่เป็นชุดที่วิ่งอยู่บนโปรโตคอล TCP ที่ช่วยลดปัญหาข้อมูลสูญหายระหว่างทางไปแล้ว
การทำ stream cipher แม้จะแก้ปัญหากุญแจเข้ารหัสมีขนาดใหญ่ไปได้ แต่การที่กุญแจเข้ารหัส ซึ่งกลายเป็นค่าเริ่มต้นสำหรับ PRNG นั้นมีขนาดเล็ก ทำให้ความปลอดภัยโดยรวมนั้นลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นหากค่าเริ่มต้นของฟังก์ชั่น PRNG ความเป็นไปได้เพียง 2^32 ค่า (ขนาดกุญแจมีขนาด 32 บิต) ผู้ดักฟังข้อมูลไปได้ ก็อาจจะไล่ค่าที่เป็นไปได้เรื่อยๆ แล้วดูว่าค่าใดที่ให้ข้อมูลไบนารีแบบสุ่มแล้วนำไป XOR กับข้อมูลเข้ารหัสแล้วได้ค่าที่มีความหมายแสดงว่าได้เจอกุญแจที่ถูกต้องแล้ว แม้การขยายขนาดกุญแจไปเรื่อยๆ ในทุกวันนี้หากข้อมูลที่ส่งไประหว่างทางมีการตรวจสอบความถูกต้อง กุญที่ถอดรหัสแล้วสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีเพียงกุญแจเดียว จากกุญแจที่เป็นไปได้จำนวนมหาศาล กระบวนการเช่นนี้ทำให้ความปลอดภัยโดยรวมของ stream cipher นั้นต่ำกว่า one time pad อยู่ ในโลกความเป็นจริง การเข้ารหัสแม้จะเป็น stream cipher มักจะใช้กุญแจขนาดใหญ่กว่า 128 บิตขึ้นไปเพื่อรับประกันได้ว่าจะไม่มีใครสามารถไล่กุญแจทุกกุญแจที่เป็นไปได้ภายในช่วงเวลาหลายสิบปีข้างหน้า
stream cipher สามารถใช้เข้ารหัสข้อมูลขนาดใหญ่ได้ แต่การใช้งานทุกวันนี้ เรามักใช้งานเข้ารหัสกับข้อมูลที่ต้องส่งผ่านเครือข่าย เป็นไปได้ที่ข้อมูลอาจจะเสียหายหรือสูญหายระหว่างทาง การใช้ข้อมูลที่ไม่ต้องส่งข้อมูลไปบนเครือข่ายเองบางครั้งก็ต้องการเข้าถึง “ตรงกลาง” ของข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลที่เข้ารหัสเป็น stream ขนาดใหญ่ ทำให้กระบวนการถอดรหัสทำได้ช้า เพราะต้องสร้างข้อมูลไบนารีจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดจุดที่เราต้องการอ่านข้อมูล จึงจะสามารถถอดรหัสออกมาได้
สำหรับข้อมูลที่ต้องการใช้งานเป็นส่วนๆ ได้ จึงมีการเข้ารหัสแบบ block cipher มาอีกแบบหนึ่งให้เลือกใช้งาน ในตระกูล block cipher นั้นอัลกอริทึมที่ได้รับความนิยมสูงตัวแรกๆ คือ DES หรือ Data Encryption Standard ที่ถูกออกแบบโดย Horst Feisel ที่ทำงานอยู่ในไอบีเอ็มช่วงปี 1977 และได้รับบรรจุเป็นกระบวนการเข้ารหัสมาตรฐานสำหรับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นับแต่นั้นมา ตัวอัลกอริทึม DES นั้นออกแบบให้เข้ารหัสข้อมูลทีละ 64 บิต ด้วยกุญแจขนาด 56 บิต โดยตัวฟังก์ชั่นเองยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่อายุกว่าสามสิบปีของ DES ก็ยังมีความปลอดภัยตามที่ออกแบบเอาไว้ นั่นคือผู้ที่จะแฮกได้ต้องทดสอบกุญแจถึง 2^56 รูปแบบเพื่อหากุญแจที่ถูกต้องในการถอดรหัส DES นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของฟังก์ชั่นความปลอดภัยที่ปลอดภัยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา (empirically secure)
กุญแจ 2^56 ที่เคยใหญ่พอในยุคของช่วงปี 1970 ซึ่งคอมพิวเตอร์ยังทำงานได้ช้ากว่าทุกวันนี้มาก ทำให้หลายคนยังเชื่อในประสิทธิภาพของฟังก์ชั่น DES เอง แล้วพัฒนามันด้วยการเข้ารหัสซ้ำๆ ไปเป็นจำนวนสามรอบ กลายเป็นฟังก์ชั่น 3DES หรือ Triple DES ที่มีขนาดกุญแจ 168 บิต ทุกวันนี้กระบวนการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตสมาร์ตการ์ดต่างๆ ยังคงใช้การเข้ารหัสแบบ 3DES เป็นส่วนประกอบสำคัญในการรักษาความปลอดภัย
แต่ระหว่างที่ DES ถูกพิสูจน์ว่าไม่ปลอดภัยนั้น สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ (National Institute of Standards and Technology - NIST) ก็จัดประกวดมาตรฐานการเข้ารหัส และอัลกอริทึมของ Joan Daemen และ Vincent Rijmen นักคณิตศาสตร์ชาวเบลเยียมก็ชนะการประกวดด้วยอัลกอริทึมที่ปรับปรุงจากอัลกอริทึมเข้ารหัสของตัวเองที่ชื่อว่า Rijndael จนกระทั่งชนะการประกวดและเวอร์ชั่นที่พัฒนาแล้วของ Rijndael ก็กลายเป็นอัลกอริทึม AES ในทุกวันนี้ ในช่วงสิบปีมานี้ มีแนวโน้มที่ระบบการเข้ารหัสใหม่ๆ จะใช้ AES มาเป็นอัลกอริทึมหลักมากขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการเข้ารหัส AES ถูกบรรจุเข้าไปในมาตรฐานเช่น SSL, WPA เพื่อรับประกันว่าจะทนทานต่อการเจาะรหัส และเนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นซีพียูรุ่นใหม่ๆ เริ่มมีชุดคำสั่งเร่งการทำงานของ AES เพิ่มเข้ามา ความนิยมของการเข้ารหัสแบบ AES จึงน่าจะได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
กระบวนการเข้ารหัสเป็นบล็อคนั้นมีปัญหาเช่นเดียวกับการเข้ารหัสแบบอื่นๆ คือการใช้กุญแจเดิมๆ ซ้ำๆ นั้นจะให้ทำให้ได้ข้อมูลแบบเดิมออกมาเรื่อยๆ แม้ว่าฟังก์ชั่นการเข้ารหัสแบบใหม่ๆ จะทำให้การวิเคราะห์ว่าข้อมูลที่แท้จริงเป็นอะไรนั้นทำได้ยาก แต่หลายครั้งการที่แฮกเกอร์เห็นว่ามีข้อมูลแบบเดิม (ที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร) เดินทางซ้ำๆ บ่อยเพียงใดก็สามารถเปิดเผยข้อมูลบางอย่างได้แล้ว กระบวนการเข้ารหัสเป็นบล็อคที่พื้นฐานที่สุดนั้น เราเรียกว่าโหมด Electronic Code Book (ECB) การทำงานของมันคือการแบ่งข้อมูลออกเป็นบล็อคๆ ตามอัลกอริทึมที่เลือกใช้ เช่น 128 บิตสำหรับ AES หรือ 64 บิตสำหรับ DES แล้วเข้ารหัสด้วยกุญแจที่กำหนด
กระบวนการนี้แม้จะมองไม่ออกว่าข้อมูลเป็นอะไร แต่เมื่อมองข้อมูลในภาพรวมแล้วเราก็อาจจะเห็นได้ว่าข้อมูลที่แท้จริงคืออะไร กระบวนการแบบ ECB จึงไม่แนะนำนัก
เพื่อให้ข้อมูลทุกบล็อคแตกต่างกันออกไปอย่างแท้จริง มีการเสนอกระบวนการ Cipher Block Chaining (CBC) และ Cipher Feedback (CFB) ขึ้นมา โดยหลักการแล้วทั้งสองแบบคล้ายกันคือใช้ข้อมูลที่เข้ารหัสแล้วของบล็อคก่อนหน้าเพื่อเป็นส่วนประกอบของกุญแจเข้ารหัสของบล็อคถัดไป กระบวนการเช่นนี้ทำให้แม้จะส่งข้อมูลเดิมซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ข้อมูลที่ถอดรหัสแล้วก็จะเปลี่ยนไปไม่รู้จบ
ปัญหาของทั้ง CBC และ CFB คือหากมีบล็อคใดบล็อคหนึ่งเสียหายไประหว่างทาง ฝั่งถอดรหัสจะไม่สามารถถอดรหัสบล็อคถัดไปได้อีกด้วย ทำให้ข้อมูลเสียหายไปพร้อมกันสองบล็อค แต่ใช้บล็อคถัดไปที่ได้รับถูกต้องแต่ไม่สามารถถอดรหัสได้เพื่อไปคำนวณกุญแจสำหรับอีกสองบล็อคถัดจากบล็อคที่เสียหายได้ ข้อจำกัดอีกประการคือ CBC และ CFB นั้นไม่สามารถเข้ารหัสแบบขนานได้สะดวก เพราะแต่ละบล็อคต้องรอบล็อกก่อนหน้าเสมอ ทำให้การกระจายงานในซีพียูหลายคอร์ทุกวันนี้ทำได้ยาก
เพื่อให้กระบวนการเข้ารหัสสามารถทำไปขนานกันได้ทั้งการเข้ารหัสและการถอดรหัส รวมถึงไม่ต้องเสียข้อมูลมากเกินความจำเป็นในกรณีที่มีข้อมูลเสียหาย โหมดการเข้ารหัสแบบ Counter (CTR) อาศัยการติดตัวเลขที่เปิดเผย หรือเรียกว่า nonce ไปกับข้อมูล ตัวเลขนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละบล็อค เมื่อนำค่า nonce มารวมกับกุญแจลับเพื่อถอดรหัสแล้ว การส่งข้อมูลเดิมๆ ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตาม nonce
กระบวนการเข้ารหัสแบบ CTR ถูกดัดแปลงไปใช้งานในมาตรฐานเข้ารหัส WEP ที่ตัวเลขขนาด 24 บิตเรียกว่า initial vector (IV) จะถูกส่งติดไปกับทุกแพ็กเก็ต เพื่อใช้ประกอบกับกุญแจลับในการเข้ารหัส แต่ตัวเลขขนาด 24 บิตนี้นับว่ามีขนาดเล็กมาก และสิ่งที่เกิดขึ้นคือการ์ดแลนไร้สายบางรุ่นพยายามใช้ค่า IV ในแบบสุ่ม แต่การสุ่มที่ดีกลับทำให้ความน่าจะเป็นที่จะใช้ค่า IV นี้ซ้ำกันเกิดขึ้นได้ง่ายในทุกๆ 4096 แพ็กเก็ตเท่านั้น (ปัญหาสุ่มเลขซ้ำนี้เรียกว่า birthday paradox ที่ระบุว่าในกลุ่มคนเพียง 57 คนจะมีวันเกิดวันเดือนเดียวกันด้วยความน่าจะเป็น 0.99) เมื่อเกิดการใช้ค่า IV ซ้ำกัน ค่าไบนารีที่ได้จาก RC4 ก็จะเหมือนกันทุกประการ และแฮกเกอร์ก็จะสามารถคาดเดาได้ว่าข้อมูลภายในเป็นอะไรเมื่อพบข้อมูลที่ใช้ค่า IV เดิมซ้ำกันมากขึ้นเรื่อยๆ แบบเดียวกับการใช้ One Time Pad ซ้ำๆ กัน
การเข้ารหัสแบบ ใช้กุญแจร่วมกันทั้งสองฝั่งนั้นยังมีการพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ อีกจำนวนมาก การเข้ารหัสเป็นบล็อคยุคใหม่มักใส่กระบวนการพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลเข้าไว้เป็นมาตรฐานเดียวกับ เช่น CBC-MAC ที่รวมเอาการรวจสอบความถูกต้องเข้ามาร่วมกับการเข้ารหัสเป็นบล็อคในโหมด CBC มาตรฐานใหม่ๆ เช่น Offset Codebook (OCB) ถูกเสนอเป็นทางเลือกของแลนไร้สายแต่กลับไม่ได้รับความนิยมเพราะติดปัญหาสิทธิบัตร
การเข้ารหัสแบบกุญแจสมมาตรยังคงเป็นพื้นฐานของการเข้ารหัสแทบทั้งหมดที่เราใช้งานทุกวันนี้ เพราะมีความได้เปรียบที่ความง่ายและประสิทธิภาพที่สูง กระบวนการเข้ารหัสได้รับการปรับปรุงให้ซีพียูรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้ารหัส AES ได้นับสิบเมกกะไบต์ต่อวินาที
บทความนี้เขียนจบตอนตีสาม และผมนึกวิดีโอมาจบท้ายให้เข้ากับหัวข้อไม่ออก :P