โลกจริงอิงนิยาย! Motorola วิจัยการฝังรหัสผ่านคอมพิวเตอร์ในร่างกาย

by ตะโร่งโต้ง
5 June 2013 - 08:42

ในงาน D11 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน Motorola ได้เผยถึงงานวิจัยชิ้นสำคัญอีกงานหนึ่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบตรวจสอบและจำแนกบุคคลโดยใช้ "รอยสักดิจิทัล" หรือ "เม็ดยาอิเล็กทรอนิกส์"

เพื่อแก้ปัญหาการจดจำรหัสผ่านสำหรับใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ หรือเพื่อเข้าใช้บริการอื่นๆ อีกสารพัน Motorola จึงผุดไอเดียที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยการฝังรหัสผ่านลงในร่างกายแทน โดยงานวิจัยในขณะนี้มี 2 แนวทาง คือการทำรอยสักดิจิทัลบนผิวหนังของผู้ใช้ หรือการพัฒนาเม็ดยาอิเล็กทรอนิกส์ที่ใส่รหัสผ่านต่างๆ ไว้ข้างใน เพื่อให้ผู้ใช้กลืนมันและนำรหัสผ่านนั้นเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร

ในส่วนของงานวิจัยรอยสักดิจิทัลนั้น Motorola ได้ร่วมมือกับ MC10 ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่นได้ โดยตัวอย่างที่มีการใช้งานอยู่ก่อนนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ เช่น อุปกรณ์ตรวจอาการบาดเจ็บอันเนื่องจากศีรษะโดนกระแทก และเครื่องวัดอุณหภูมิในเด็กทารกแบบบันทึกค่าได้ต่อเนื่อง เป็นต้น โดยทั้งคู่ได้ร่วมกันพัฒนาวงจรขนาดเล็กสำหรับติดกับผิวหนังมนุษย์ ภายในมีทั้งเซ็นเซอร์วัดค่าอุณหภูมิ, เซ็นเซอร์รับภาพ, เซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในร่างกาย (ทั้ง ECG, EEG และ EMG), สายอากาศสำหรับรับ-ส่งข้อมูลกับอุปกรณ์อื่น และแม้กระทั่งหลอด LED

โครงสร้างของรอยสักดิจิทัลที่ Motorola และ MC10 ร่วมกันพัฒนานั้น เป็นชิ้นซิลิกอนขนาดเล็กๆ ที่ถูกเชื่อมต่อกันเป็นวงจรโดยตัวนำไฟฟ้าที่จัดเรียงกันในลักษณะคล้ายหีบเพลง จึงทำให้แผงวงจรสามารถให้ตัวยืดหยุ่นได้ตามพื้นผิวของวัสดุที่มันติดตั้งอยู่ โดยสามารถทนการยืดขนาดได้ถึง 200%

ด้านเม็ดยาอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นงานที่ Motorola ได้ร่วมกับ Proteus Digital Health ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองจาก FDA (หน่วยงาน อย. ของสหรัฐอเมริกา) ในด้านการผลิตเซ็นเซอร์แบบกลืนได้เพื่อใช้งานทางการแพทย์ ช่วยกันพัฒนาขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แทนรหัสผ่านเพื่อเปิดใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ

ตัวเม็ดยาอิเล็กทรอนิกส์ มีแผงวงจรขนาดเล็กบรรจุอยู่ด้านในและมีผิวนอกทำหน้าที่คล้ายสวิตช์ควบคุมการทำงาน เมื่อเม็ดยาอิเล็กทรอนิกส์ถูกกลืนลงสู่กระเพาะ จะสามารถทำงานได้โดยอาศัยกรดในกระเพาะเป็นแหล่งพลังงาน (สภาพน้ำกรดในกระเพาะเปรียบเสมือนสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในแบตเตอรี่) เมื่ออุปกรณ์เริ่มทำงานแล้วจะมีการส่งสัญญาณกระแสไฟฟ้า 18 บิต คล้ายกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ด้วยหลักการทำงานดังกล่าว จึงหมายความว่าภายหลังการกลืนเม็ดยาอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ผู้ใช้จะมีคลื่นสัญญาณลักษณะพิเศษไหลเวียนภายในร่างกาย โดยที่อวัยวะแขนขาของผู้ใช้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรนี้ และนั่นทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ หรือเซ็นเซอร์ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ สามารถยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานได้ทันทีที่มีการสัมผัสร่างกายโดยตรง

Motorola ตั้งใจว่าเมื่อเทคโนโลยีนี้พร้อมสำหรับการใช้งานจริง จะนำไปใช้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้เป็นอย่างแรก แต่ช่วงเวลานั้นคงยังไม่มาถึงเร็วๆ นี้

ที่มา - SlashGear, All Things Digital

Blognone Jobs Premium