Computex ในภาพรวม เปิดบ้านแห่งพีซี

by lew
9 June 2013 - 16:46

งาน Computex นั้นเป็นงานขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงหลายปีก่อน เพราะโลกกำลังอยู่ในยุคพีซีกำลังเบ่งบาน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพีซีก็อยู่ในไต้หวันเป็นส่วนมาก แต่โลกยุคหลังพีซีกำลังเข้ามาอย่างปฎิเสธไม่ได้ อุตสาหกรรมในไต้หวันเองก็ต้องปรับตัวตามและงาน Computex ก็แสดงถึงความเปลียนแปลงนี้ได้เป็นอย่างดี ในตอนนี้ผมจะจับกระแสว่าอุตสาหกรรมนอกเหนือไปจาก พีซี, แท็บเล็ต, และโทรศัพท์มือถือที่เราเห็นได้ทั่วไปแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างในงาน Computex

บ้านของพีซี, สนามบินไทเปตกแต่งด้วยเมนบอร์ดพีซีมาเรียงกันเป็นคำว่า Made in Taiwan

NFC

งาน Computex แสดงถึงการใช้งานระบบบัตร NFC ได้เป็นอย่างดี บัตรเข้างานของ Computex นั้นเป็นบัตรที่รวมฟีเจอร์ของ NFC ไว้ครบ นั่นคือ การใช้เป็นบัตรจ่ายเงิน, บัตรตรวจสอบบุคคล, และบัตรเพื่อแสดงข้อมูลพื้นฐาน

ตัวบัตรมีทั้งสามฟีเจอร์ในตัว สำหรับบัตรนักข่าวเช่นของผม บัตรทุกใบจะใช้ขึ้นรถไฟฟ้าได้ฟรีสองวันเต็ม นัยว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้นักข่าวในงาน Computex ที่มักจะมาจากต่างประเทศได้เที่ยวกันทั่วๆ สำหรับการใช้เป็น vCard ตัวบัตรหากบูตใดมีโทรศัพท์ที่อ่าน NFC ได้ก็สามารถอ่าน vCard จากบัตรไปได้เลย ไม่ต้องแลกนามบัตรกันให้เปลือง สุดท้ายคือการตรวจสอบสิทธิการเข้างาน คนตรวจบัตรหน้างานมีเครื่องอ่านเล็กๆ ที่มีไฟระบุว่ามีสิทธิเข้างานได้หรือไม่ แปะกับบัตรแล้วตรวจสอบได้ทันที

ในฝั่งพีซีเองกระแส NFC ไม่แรงนัก นอกจากเอซุสที่ออกสินค้าเป็นตัวอ่าน NFC แล้วก็มีผู้ผลิตหูฟังที่ใช้ NFC กันบ้าง บนฝั่งพีซีเองเราเห็นโซนี่เป็นผู้ผลิตที่เอาจริงกับ NFC มากที่สุด

พีซีอุตสาหกรรม

แม้ว่าอินเทลจะพลาดตลาดโมบายไป แต่ตลาดหนึ่งที่ไม่มีข่าวในกระแสหลักมากนัก คือ พีซีอุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านี้ ARM มักครองตลาดในคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กตามโรงงาน นับตั้งแต่ปี 2009 ที่อินเทลจัดงาน IDF ที่ไต้หวัน อินเทลก็เริ่มเอาใจตลาดนี้้ด้วยการระบุรุ่นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรม โดยใจความสำคัญคือซีพียูรุ่นนั้นๆ จะมีขายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเป็นพิเศษ รวมกับเข้ามาของ Atom และชิปสำหรับพีซีในรุ่นความร้อนต่ำอย่าง VIA C7 ทำให้ คอมพิวเตอร์อุตสาหกรรมหันมาใช้พีซี x86 กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน บูตจำนวนมากในงาน Computex เป็นคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม ทนความร้อน ทนฝุ่น ทนน้ำจำนวนมาก

Internet of Things

แนวคิด Internet of Things (IoT) มีให้เห็นในงานนี้มากมาย บริษัทคอมพิวเตอร์ฝังตัวขนาดเล็กเสนอโซลูชั่นควบคุมไฟฟ้า, วัดสภาพแวดล้อม, ซีพูยูขนาดเล็กที่แทบไม่ใช้พลังงานพร้อมระบบสื่อสารไร้สาย

ปลั๊กรางวัดพลังงานในตัว รายงานการใช้พลังงานผ่าน ZigBee

โมดูลควบคุมและวัดพลังงานที่บูต Freescale บูตนี้แจกนามบัตรเป็นชิป Cortex-M0+ รุ่นประหยัดพลังงานเพื่อโชว์ให้ดูว่าต้นทุนต่อชิปถูกจริง

โมดูลมิเตอร์และโมดูลสื่อสารยี่ห้อต่างๆ

Billion ผู้ผลิตเราท์เตอร์ที่มีขายในบ้านเราเหมือนกันก็แสดงโซลูชั่นสำเร็จรูปสำหรับการตรวจวัดและควบคุมพลังงานในบ้านแล้ว แพ็กเกจค่อนข้างเรียบร้อยดูสมบูรณ์กว่ายี่ห้ออื่นๆ เราท์เตอร์ในภาพนั้น มีส่วนเชื่อมต่อ ZigBee มาให้ในตัวเพื่อเชื่อมต่อกับตัวควบคุมที่มีขายเช่นกัน ผมพูดคุยกับทาง Billion ระบุว่าบริษัทจะเน้นขายฮาร์ดแวร์เป็นหลัก และเปิดให้พาร์ตเนอร์ไปทำซอฟต์แวร์กันเอง ตรงนี้นับว่าน่าสนใจสำหรับนักพัฒนาในบ้านเราที่อาจจะเข้าไปจับตลาดนี้กันก่อนตลาดจะเกิด

USB

ปัญหาพอร์ตชาร์จ USB ไม่พอคงเป็นปัญหาเหมือนๆ กันทั่วโลก ตอนนี้บริษัทใน Computex เริ่มเสนอโซลูชั่นชาร์จไฟ USB จำนวนมาก อนาคตปัญหาคงหมดไปเมื่อเราจะหารูชาร์จ USB ได้ง่ายและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกยิ่งกว่ารูปลั๊กไฟกระแสสลับที่ไม่เป็นมาตรฐาน

เกม

อีกกระแสหนึ่งในงานคือคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพื่อการเล่นเกมมีจำนวนมากมาย โดยเฉพาะคีย์บอร์ดและเมาส์ที่มีอยู่หลายบริษัทจนเลือกไม่ถูก

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมสังเกตเห็นจากงาน Computex นอกจากระแสหลักๆ ที่เราได้ยินข่าวกันบ่อยๆ อย่างในงานนั้นแท็บเล็ตที่ใช้ชิปจากค่าย Allwinner เองก็มีบริษัทผู้ผลิตนำมาแสดงจำนวนมาก กระแสรองเหล่านี้อาจจะเป็นโอกาสสำหรับนักพัฒนาไทยที่จะจับคู่กับตลาดที่เล็กกว่าและคู่แข่งน้อยกว่าเข้ามาแข่งขันกันได้.

Blognone Jobs Premium