ข่าวการเปิดตัว iOS 7 หน้าตาใหม่เมื่อวานนี้ กลายเป็นประเด็นใหญ่ของโลกไอทีประจำสัปดาห์ เนื่องจากหน้าตาอันคุ้นเคยของ iOS ที่สืบทอดกันมานาน 6 ปีเต็ม (ถ้าย้อนไปเก่ากว่านั้นก็อาจนับตั้งแต่ Mac OS X รุ่นแรกได้เลยด้วยซ้ำ) ถูกฉีกทิ้งไปทั้งหมด และเปลี่ยนใหม่กลายเป็นหน้าตาแบบแบนราบ (ที่ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการแต่เราเรียกกันเองว่า flat design)
เสียงวิจารณ์ต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีทั้งเชิงบวกและลบ (อย่าลืมโหวตโพลด้วยนะครับ) วันนี้เราจะมาวิเคราะห์เหตุผลเบื้องหลังของแอปเปิลว่าทำไมต้องเปลี่ยน และเปลี่ยนแล้วแล้วไง จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ (ภาพเยอะหน่อยนะครับ)
คำอธิบายของแอปเปิล
บนเว็บไซต์ iOS 7 ของแอปเปิลเองให้คำอธิบายเอาไว้เยอะพอสมควร ผมลองคัดมาเฉพาะส่วนสำคัญๆ พร้อมทำสีเหลืองไฮไลท์เอาไว้ให้เห็น
และถ้าลองดูวิดีโอเปิดตัว iOS 7 ที่ฉายในงาน WWDC 2013 ด้วย จะพบว่าโจนาธาน ไอฟ์ ก็พูดคีย์เวิร์ดชุดเดียวกันออกมา เช่น simplicity, clarity, efficiency, order to complexity, whole new structure, coherence, hierarchy and order, depth, vitality, unobstructive, differential, more useful, more enjoyable, new direction
ทั้งหมดเป็นภาษาการตลาดแนวแอปเปิลทีอธิบายให้ "ดูดี" แต่แอปเปิลกลับไม่บอกออกมาตรงๆ ว่าเหตุผลที่เปลี่ยนคืออะไรกันแน่ บอกแค่ว่าเปลี่ยนแล้วมันดีขึ้นอย่างไร
ถ้าให้ผมลองวิเคราะห์ดู เหตุผลหลักของแอปเปิลในการเปลี่ยนแปลงมี 2 ประการ ได้แก่
1) เปลี่ยนเพื่ออนาคต
ถึงแม้ iOS ปัจจุบันยังใช้ดีไซน์ที่สวยงามและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ "อายุ" ของดีไซน์ลักษณะนี้ถือว่าเก่าพอสมควรถ้าเรานับย้อนไปสมัย Aqua ของ Mac OS X
การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปของดีไซน์ที่ซับซ้อน (ครอบคลุมระบบปฏิบัติการทั้งตัว) ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (consistency) ถึงแม้ว่าแอปเปิลจะมีข้อกำหนดด้านการสร้าง UI ที่เรียกว่า Human Guideline Interface แต่มันก็เป็นข้อกำหนดเอกสารที่ไม่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (แถมแอปเปิลก็เป็นฝ่ายละเมิดกฎของตัวเองด้วยซ้ำในหลายๆ ครั้ง)
วิวัฒนาการของ UI แบบ Aqua ที่สั่งสมมายาวนานทำให้ UI ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก (ซึ่งระบบปฏิบัติการอื่นก็มีปัญหานี้นะครับ เรายังเห็น UI เก่าคร่ำครึตั้งแต่สมัย Windows 9x หลบซ่อนอยู่ใน Windows 7/8 เหมือนกัน) จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แอปเปิลต้องลุกขึ้นมา "จัดระเบียบ" ครั้งใหญ่ และแนวทางดีไซน์แบบนี้จะกลายเป็นฐานหลักให้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลในอีกหลายปีข้างหน้าต่อไป
แอปเปิลไม่ใช่บริษัทแรกที่ลุกขึ้นมา CHANGE ในรอบหลายปีให้หลังมานี้ เราเห็นไมโครซอฟท์นำร่องไปแล้วกับดีไซน์แนว Metro (เริ่มใช้ปี 2010 กับ Windows Phone 7) และกูเกิลเองก็ปรับดีไซน์เป็น Holo (เริ่มใช้ปี 2011 ใน Android 3.0 Honeycomb) ที่ต่างจากดีไซน์ของ Android 2.x อยู่มาก
2) การเมืองเปลี่ยน ดีไซน์เปลี่ยน
เหตุผลง่ายๆ เรื่องการเมืองภายในบริษัท เมื่อฟากฝ่ายผู้นิยมดีไซน์แนวเลียนแบบวัตถุจริง (skeuomorphism) ทั้งสตีฟ จ็อบส์ และสก็อต ฟอร์สทอล มีอันต้องออกจากบริษัทไป ฝ่ายที่นิยมดีไซน์แนวเรียบง่าย (minimalism) อย่างไอฟ์ขึ้นมากุมอำนาจ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ไอฟ์จะ "ถอดรื้อ" แนวทางการดีไซน์เดิมทิ้ง และใส่แนวทางใหม่ของตัวเองลงไป
ถ้าให้เทียบกับเมืองไทย ก็เหมือนกับเปลี่ยนรัฐบาลทีไร แต่ละกระทรวงก็เปลี่ยนนโยบายตามรัฐมนตรีคนใหม่นั่นล่ะครับ
อีกประเด็นที่คนวิจารณ์กันเยอะว่า iOS 7 ลอกแนวทางการออกแบบของคู่แข่งมาหรือไม่ ให้ผมตอบแบบฟันธงก็บอกได้เลยว่า ลอก
ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูภาพเปรียบเทียบ iOS 7 กับระบบปฏิบัติการคู่แข่งตัวอื่นๆ (เลือกมาเฉพาะ default UI)
หน้าตาของ Home เทียบกับ MIUI v5
Control Center เทียบกับ Toggle ของซัมซุง
Mail เทียบกับ Gmail for Android รุ่นก่อนรุ่นปัจจุบัน
Phone Call เทียบกับ Skype for Windows Phone (ภาพจาก WP7Connect)
Weather เทียบกับ Yahoo! Weather บน iOS
ส่วนหน้าตาของ Multi-tasking หลายคนเทียบกับ Windows Phone แต่ถ้ายังจำกันได้ ต้นฉบับมาจาก Palm webOS ครับ (เปิดตัวปี 2009)
เรื่องเปรียบเทียบแนวทางการดีไซน์ เว็บเมืองนอกก็เขียนเรื่องนี้กันเยอะ ลองดูได้ที่
โดยสรุปแล้ว แอปเปิลก็หยิบจับแนวทางดีไซน์จากระบบปฏิบัติการคู่แข่งหลายๆ ตัว มาผสมผสานใน iOS 7 อย่างไม่มีข้อกังขาแน่นอนครับ
ลอกแล้วไง?
ถ้าถามว่าลอกหรือไม่? คำตอบคือลอกชัวร์ แต่ถ้าถามต่อว่า "แล้วไง?" ผมก็คิดว่าไม่แล้วไงครับ ไม่มีปัญหาอันใด ผู้ใช้ได้ประโยชน์ อุตสาหกรรมโดยรวมแข่งขันกันมากขึ้น มีข้อเสียอย่างเดียวเท่านั้นคือ "สาวกเสียศักดิ์ศรี"
ต้องย้อนกลับมาที่สภาพการแข่งขันของวงการไอทีนั้นหยิบโยงแนวคิดทั้งแง่การออกแบบและฟีเจอร์ระหว่างกันมาโดยตลอด กรณีที่คลาสสิคที่สุดก็คงหนีไม่พ้น "แอปเปิล" (อีกแล้ว) จากกรณีนำ GUI/เมาส์ มาจาก Xerox PARC อันลือลั่น (ก่อนจะมาโดยไมโครซอฟท์ "ลอก" อีกต่อหนึ่ง)
สตีฟ จ็อบส์ เองก็มีประโยคอันลือลั่น (ที่นำมาจากพิกัสโซ่) ว่า "Good artists copy; great artists steal."
และอย่าลืมประโยคเด็ดที่ผมพูดกับสาวกอยู่บ่อยครั้ง Konfabulator!
โลกไอทียุคหลังเราเห็นการลอกไอเดียกันสารพัด ใครคิดอะไรใหม่และเจ๋งได้ย่อมหนีไม่พ้นการถูกลอก (ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการพิสูจน์ว่ามันเป็นแนวทางที่เวิร์คและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้) แอปเปิลเป็นต้นแบบของการดีไซน์ไอคอนแนวสมจริง-แสงเงา-โปร่งใสมาตั้งแต่ Mac OS X ซึ่งไมโครซอฟท์ก็เดินรอยตามใน Windows Vista (ซึ่งเปลี่ยนจาก XP ที่เน้นไอคอนแบบการ์ตูน) และในเวลานั้นไมโครซอฟท์ก็โดนวิจารณ์ว่า Aero Glass ลอก Aqua ของแอปเปิลเช่นกัน
ในยุคถัดมาที่ดีไซน์แนวแบนราบ (flat) ได้รับความนิยม ไมโครซอฟท์เป็นผู้ริเริ่มที่ชัดแจ้งใน Windows Phone ก่อนใคร ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ดีไซน์ Holo ของ Android หรือ iOS 7 จะถูกมองว่าเลียนแบบถ้าเป็นฝ่ายทำทีหลัง
ในอีกแง่หนึ่งคือด้านฟีเจอร์อย่าง notification หรือ toggle ของ Android ก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเวิร์ค ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันที่ iOS จะลอกฟีเจอร์เหล่านี้มา
โดยสรุปแล้วก็คือ ลอกไปเถอะครับ ถ้ามันเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ ยอมเสียศักดิ์ศรีกันหน่อยเพื่อความสะดวกที่เพิ่มขึ้นของทุกคน
หมดจากประเด็นว่าเปลี่ยนทำไม-ลอกหรือเปล่า ก็มาถึงประเด็นที่พูดกันเยอะว่าสวยหรือไม่สวยอย่างไร?
เรื่องความสวยเป็นรสนิยมส่วนบุคคลอย่างแท้จริง โดยส่วนตัวแล้วผมชอบดีไซน์แบบ flat มานาน (หลักฐาน) และรู้สึกว่าแนวทาง skeuomorphism ของแอปเปิลนี่ลิเกมาก ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการเปลี่ยนดีไซน์ครั้งใหญ่รอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำเสร็จภายในครั้งเดียว และแอปเปิลคงต้องปรับแก้ (ในแง่ดีไซน์) อีกหลายๆ จุดให้ลงตัวมากกว่านี้ในอนาคต (ซึ่งในอดีต แอปเปิลก็แอบเนียนเปลี่ยนหน้าตาของ OS X อยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว รอบนี้ก็น่าจะทำแบบเดียวกัน)
คู่แข่งอย่าง Android Holo ก็ปรับแก้อยู่สักพักใหญ่ๆ ถ้าลองเทียบ Holo ใน Android 3.0 กับ 4.2 จะเห็นว่ามันถูกปรับไปเยอะเหมือนกัน ซึ่งกรณีของ iOS 7 ก็คงไม่ต่างกันมาก เราคงเห็นแอปเปิลค่อยๆ ปรับแก้บางจุดใน iOS 7.x หรือรุ่นต่อๆ ไปในอนาคตจนกว่าจะลงตัว
ใช้สินค้าค่ายนี้ ไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นนะครับ
ถ้าย้อนกลับไปยังประเด็นเรื่องการเมืองภายในบริษัท ผมคิดว่าแอปเปิลยุคหลังสตีฟ จ็อบส์ (Post-Jobs era) เริ่มเซ็ตตัวเข้ารูป อำนาจการบริหารของทิม คุก และคณะผู้บริหารที่ทำงานเข้ากันได้เริ่มลงตัว ในขณะที่ตัวแปลกปลอมอย่างฟอร์สทอลถูกขับออกไป
ต่อจากนี้ไปก็เป็นเวลาที่แอปเปิลยุคใหม่ (ขอเรียกเป็น Apple 3.0) จะต้องพิสูจน์ตัวเอง ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดีไซน์
การเปลี่ยนแปลงเรื่องหน้าตาของ iOS 7 ถือเป็น "ก้าวแรก" ของแอปเปิลยุคใหม่ (ตามที่ไอฟ์พูดว่า New Direction ในวิดีโอ) มันคือหน้าตาผิวหน้าที่บ่งบอกว่าแอปเปิลในยุคสมัยนี้ควรจะเป็นอย่างไร
การเปลี่ยนหน้าตาของ iOS 7 เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เช่นเดียวกับ Windows Phone 7 ของไมโครซอฟท์ที่เป็นจุดตั้งต้นให้ Metro ระบาดไปทั้งบริษัทในภายหลัง (ไม่เว้นแม้แต่ Windows Server) กรณีของแอปเปิลคงไม่ต่างกัน คนที่ดู Keynote คงเห็นว่าดีไซน์ของ OS X Mavericks กับ iOS 7 แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และอีกไม่ช้าเราคงเห็น OS X ถูกปรับโฉมครั้งใหญ่ตาม iOS (ที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทไปแล้ว) กันนะครับ
ไอคอนของ OS X จะเห็นว่ามันไม่ค่อยเข้ากันระหว่างแนวทางเดิม (Calendar/Finder) กับแนวทางใหม่ (iBooks/Maps)
Safari ใหม่และเก่า มันต้องมีใครสักคนหายไป ซ้ายหรือขวา?
การปรับโฉมของ iOS 7 เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะมันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของ "แอปเปิลยุคใหม่" ที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่ในฉากหลัง
ส่วนในแง่ของผู้ใช้-การใช้งาน ก็เป็นหน้าที่ของแอปเปิลที่จะชักจูง (เรื่องถนัด) ให้ผู้ใช้รู้สึกว่าได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ในแง่มุมต่างๆ (ใช้ง่ายขึ้น-สวยขึ้น-ทันสมัยขึ้น) ต่อไป ซึ่งเราจะได้เห็นกันจริงๆ เมื่อ iOS 7 รุ่นจริงเปิดให้ดาวน์โหลดนั่นเองครับ