รีวิว Fitbit Flex อุปกรณ์ตรวจจับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน "เพื่อสุขภาพ" ?

by toandthen
13 June 2013 - 22:34

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ เราเริ่มเห็นอุปกรณ์ประเภท "สวมใส่ได้" กันมากขึ้น กูเกิลเองก็เริ่มเดินหน้าสร้าง Google Glass ในขณะที่หลายแหล่งข่าวเชื่อว่าแอปเปิลกำลังแอบผลิต iWatch นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะของตัวเองอยู่

แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์จริง ๆ แล้ว กลุ่มตลาดย่อยของอุปกรณ์ประเภทสวมใส่ได้ที่มีสินค้าที่ใช้ได้จริง และมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นอุปกรณ์สวมใส่ได้เพื่อสุขภาพ หรือ Wearable fitness device โดยในวันนี้ผม (ตามคำขอของ @blltz) จะมารีวิว Fitbit Flex ผู้เล่นใหม่ล่าสุดในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ครับ

ฮาร์ดแวร์

Fitbit Flex ทั้งชุดประกอบไปด้วย

(1) สายรัดข้อมือ (band) สองขนาด ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
(2) ตัว dongle รับและส่งข้อมูล อุปกรณ์ตัวนี้เป็นชิ้นส่วนเดียวที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ
(3) สายชาร์จ USB
(4) หัว dock กับ USB สำหรับใช้ sync ข้อมูลเข้ากับคอมพิวเตอร์

วัสดุของตัวสายรัดข้อมือ วัสดุทำมาจากพลาสติกผสมยาง (รึเปล่า?) ด้านที่ความยืนหยุ่นค่อนข้างดี ให้ความรู้สึกเวลาสวมใส่ไม่ต่างจากนาฬิกาข้อมือดิจิตอลที่จับเวลาได้ยุคก่อน ๆ ซึ่งหากเทียบกับคู่แข่งจาก Jawbone UP แล้ว ผู้ใช้จะรู้สึกได้เลยว่าเจ้า Fitbit Flex นี่มันใส่แล้วรู้สึกสบายกว่ามาก ในส่วนของหัวที่ใช้กลัดเพื่อรัดกับข้อมือเป็นเพียงส่วนเดียวที่ทำด้วยโลหะ

ตัวสายรัดข้อมือ จริง ๆ แล้วจะเรียกมันว่า Fitbit Flex เลยก็ไม่ถูก เพราะว่ามันเป็นแค่สายรัดข้อมือเท่านั้น (เรียกว่าเป็นอุปกรณ์เสริมจะดีเสียกว่า) เพราะว่าชิ้นส่วนที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ แล้วคือเจ้า dongle ที่เราจะต้องประกอบมันเข้าไปในสายรัดข้อมืออีกที

สายรัดข้อมือนี้ จริง ๆ แล้วมีสีให้เลือกมากกว่านี้ แต่ผมสั่ง pre-order มาก่อน ซึ่งคนที่เลือกสีดำจะได้ของก่อนในราคาที่ถูกที่สุด ผมก็เลยเลือกสั่งสีดำมาครับ แต่ใครที่ไม่ชอบสีเดิม สามารถสั่งเฉพาะตัวสายรัดข้อมืออย่างเดียวทีหลังได้ ซึ่งขายแยกเป็นอุปกรณ์เสริมทั่วไป

ส่วนนี่คือภาพชัด ๆ ของตัว dongle รับส่งข้อมูล ที่ผู้ใช้จะยัดมันเข้าไปในสายรัดข้อมืออีกทีตามภาพข้างล่างครับ

ตัว dongle นี้จะมีไฟ LED สีขาวห้าดวงตรงด้านบนสุด ซึ่งไฟห้าดวงนี้ใช้เพื่อบอกโหมดที่มันทำงานอยู่ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วมีอยู่เพียงแค่สองโหมด คือโหมดนอนหลับ ซึ่งตัว Fitbit Flex จะเก็บข้อมูลการนอนหลับของผู้ใช้ว่ามีการหลับ ๆ ตื่น ๆ ระหว่างการนอนกี่รอบ ในโหมดนี้ หากผู้ใช้เอานิ้วเคาะตรงใกล้ ๆ แถบไฟ 2 ครั้ง ไฟนอกสุด 2 ตัวจะกระพริบบอกว่ามันกำลังเก็บข้อมูลการนอนอยู่

อีกโหมดการทำงานของมันก็คือโหมดกลางวัน ในโหมดนี้ ถ้าผู้ใช้เอานิ้วเคาะสองครั้ง ตัวแถบไฟ LED จะกลายเป็นแถบบอก progress ของเราว่าเราได้เดินมากน้อยแค่ไหนจากเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ ตอนแรกที่เพิ่งได้เครื่องมา มันจะกำหนดค่า default ให้เรามีเป้าหมายเดิน 10,000 ก้าวต่อวัน

ผู้ใช้สามารถสลับโหมดระหว่างโหมด "นอนหลับ" กับโหมด "กลางวัน" ได้ด้วยวิธีการเคาะใต้แถบไฟ LED ห้าครั้งติดต่อกัน แต่เอาจริง ๆ แล้วต้องลองหลายรอบเหมือนกัน กว่าจะสลับโหมดได้

(แถมภาพ PR ชัด ๆ ให้อีกภาพ)

วิธีหลักในการเก็บข้อมูลกิจกรรมของผู้ใช้ รวมไปถึงการรับข้อมูลว่าผู้ใช้ได้ "เคาะ" มันกี่รอบ คือการใช้ accelerometer นอกจากการเก็บข้อมูลแล้ว เจ้า dongle นี้ยังสามารถสั่นเพื่อแจ้งผู้ใช้ว่าได้เดินถึง 50% หรือครบ 100% ของเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถตั้งปลุกผ่านการสั่น (Fitbit Flex เรียกคุณสมบัตินี้ว่า Silent Alarm) ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วผมว่ามันใช้งานได้จริง 60% ขึ้นอยู่กับว่าผมหลับลึกแค่ไหน

ในส่วนของแบตเตอรี่ ผมลองใช้ได้ 2 สัปดาห์แล้วได้ชาร์จแค่สองครั้ง นับว่าไม่แย่เลยเดียว ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ นั้น ผู้ใช้สามารถดึงข้อมูลจาก dongle นี้มาดูในมือถือได้ผ่าน Bluetooth 4.0 (ย้ำว่าต้องเป็นอุปกรณ์ที่รองรับ Bluetooth 4.0 จริง) โดยตอนนี้อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานร่วมกับ Fitbit Flex มีเพียงแค่ iPhone 4S/5, Galaxy S III, S4 และ Note 2 เท่านั้น

คนที่ไม่มีมือถือที่รองรับ ยังสามารถ sync ข้อมูล Fitbit เข้ากับพีซีได้ด้วยใช้ตัว dock ที่มีมาให้ด้วย แต่ผู้ใช้จะต้องติดตั้ง Fitbit connector ซึ่งเป็นแอพที่มีหน้าที่โหลดข้อมูลจากตัว dongle แล้วอัพโหลดไปบนหน้าเว็บเท่านั้น ถ้าหากผู้ใช้ต้องการดูข้อมูลจริง ๆ ทำได้ผ่านแค่หน้าเว็บหรือผ่านแอพบนมือถือครับ (ตัวแอพถ้ามือถือไม่รองรับ สามารถดูข้อมูลอย่างเดียวได้)

ผู้ที่ใช้ไอโฟน จะต้องใช้วิธีเปิดแอพ Fitbit ขึ้นมา หลังจากนั้นตัวแอพจะดึงข้อมูลจากตัว dongle นี้โดยอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเปิดเข้าหน้า Bluetooth เพื่อทำการ pair อุปกรณ์แต่อย่างใด แต่ตัวแอพจะขอให้เลือกอุปกรณ์จากใน list เพียงครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น แต่เท่าที่อ่าน ๆ มา ผู้ที่ใช้ Android บางรุ่นที่มี NFC อาจจะเลือกใช้วิธีแตะตัวเครื่องเข้ากับตัว dongle นี้เพื่อเปิดแอพ Fitbit โดยอัตโนมัติ แต่การส่งข้อมูลยังต้องทำผ่าน Bluetooth อยู่ดี

ด้านล่างของตัว dongle จะมีจุด contact สามจุดสำหรับการชาร์จไฟกับที่ชาร์จ

บนกล่อง Fitbit Flex บอกว่าผู้ใช้สามารถนำมันไปอาบน้ำด้วยได้ แต่ไม่ได้บอกว่ามันสามารถกันน้ำได้ลึกแค่ไหน ผมได้ลองใช้ดูตอนล้างจาน และอาบน้ำดูแล้ว พบว่ามันก็สะดวกดี แต่ว่าสุดท้ายคิดว่าถอดออกจะรู้สึกสะดวกกว่า เพราะน้ำจะเข้าไปในช่องสำหรับใส่ตัว dongle และจะค่อย ๆ ซึมออกมาตอนข้อมือเราแห้งแล้ว ยิ่งเป็นน้ำสบู่ ยิ่งรู้สึกไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ (ฟองย้อยลงมาเชียว)

ซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์บนพีซี ขอไม่พูดถึงนะครับ เพราะว่ามันมีหน้าที่แค่ sync ข้อมูลเท่านั้น ไม่สามารถดูข้อมูลใด ๆ ได้เลย

สำหรับซอฟต์แวร์ที่ผมได้ทดลองใช้กับ Fitbit ผมได้ลองเฉพาะบน iPhone 5 เท่านั้น ซึ่งหากดูผ่านทาง App Store แล้ว จะพบว่า feedback จากผู้ใช้จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (ในอังกฤษได้เพียงแค่ 2 ดาวเท่านั้น) อาจจะเป็นเพราะปัญหาที่ผมเจอจากการใช้งานจริง ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายต่อข้างล่างครับ ในส่วนของซอฟต์แวร์เวอร์ชัน Android การทำงาน การจัดเมนู เหมือนกันเกือบ 100% เลยครับ

หน้าหลัก

เมื่อเปิดเข้ามาหน้าแรก กรณีของซอฟต์แวร์บน iOS แอพจะดึงข้อมูลจากตัว Fitbit Flex ก่อน หลังจากมันจะส่งข้อมูลขึ้นบนเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งผู้ใช้จะต้องสมัครสมาชิกไว้ก่อนหน้าตอนติดตั้งครั้งแรก ข้อมูลเกือบทุกอย่างมันจะเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ครับ ถ้าไม่ได้ต่อเน็ต จะสามารถดูได้แค่ข้อมูลที่ถูกดึงมาในวันนี้เท่านั้น วันก่อนหน้าจะไม่สามารถย้อนกลับไปดูได้

หน้าแรก ข้อมูลหลัก ๆ ที่แอพจะแสดงให้เราดูคือจำนวนก้าวที่เราเดิน, ระยะทางที่เราเดิน, พลังงานที่ถูกเผาผลาญไปแล้วในวันนี้จากการเดินและจากการใช้ชีวิตไปวัน ๆ (ซึ่งในส่วนหลังนี้เราอาจจะรู้จักกันดีว่า Basal metabolic rate หรือ BMR ซึ่งเป็นการประมาณว่าร่างกายเราเผาผลาญพลังงานตามปรกติวันละกี่กิโลแคลอรี่ ในส่วนของแอพนี้มันจะประเมินจากค่าน้ำหนักและส่วนสูงของเรา ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบ เพราะว่ามันไม่แม่น มันมั่วพอ ๆ กับ BMI นั่นล่ะครับ เพราะเอาจริง ๆ ควรจะมีการประเมินจากปริมาณไขมันในร่างกายด้วย)

บนหน้าแรก ยังมีการบอกอีกว่าในวันนี้ เรามีโควต้าว่าเราจะกินได้อีกกี่กิโลแคลอรี่ ซึ่งตรงนี้เราสามารถกำหนดเป้าหมายเองได้ในตอนแรก ว่าเป้าหมายน้ำหนักที่เราต้องการอยู่เท่าไหร่ จากนั้นตัวแอพจำคำนวนโควต้ามาให้เราเองอีกที โดยความโหดของโควต้า ผู้ใช้สามารถเลือกเองได้

ถึงจะไม่ค่อยแม่น แต่ส่วนตัวแล้วผมว่าการแสดงข้อมูลในจุดเหล่านี้ค่อนข้างทำได้ดี แต่ยังลำบากตรงที่ทุกข้อมูลผู้ใช้ไม่สามารถเห็นได้ทันที ต้อง scroll ซ้าย-ขวา หรือขึ้นลง

การกิน ดื่ม นอน

คราวนี้มาถึงส่วนที่ผมว่าผู้พัฒนาควรปรับปรุงอย่างมาก นั่นก็คือส่วนของการป้อนข้อมูลการกินอาหารและน้ำ (food log) ซึ่งในส่วนนี้การเข้าถึงส่วนกรอกข้อมูลมันยากมาก ผู้ใช้จะต้องกดเข้าเมนู More ก่อน จากนั้นก็ต้องดูในลิสต์ว่าต้องการกรอกข้อมูลประเภทไหน

หน้ากรอกข้อมูลน้ำ (สกรีนช็อททางด้านขวา) ไม่ได้ใช้ยากมากนัก แต่ข้อมูลอาหารกรอกยากมาก ผู้ใช้ต้องเลือกก่อนว่าต้องการใช้ข้อมูลอาหารจากฐานข้อมูลของประเทศอะไร ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วมันมีให้เลือกแค่สี่ประเทศคือสหรัฐฯ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสเปน ที่แย่ไปกว่านั้นคือฐานข้อมูลมันไม่ค่อยครบครัน การหารายชื่อสินค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีในชีวิตจริงหาแทบไม่มี เช่น สมมติว่าเราดื่มคาปูชิโนของสตาร์บัคส์ไปหนึ่งแก้ว เมื่อค้นด้วย keyword ว่า Starbucks จะหาไม่เจอเลย แต่เมื่อค้นด้วยคำว่า cappuccino ดันไปเจอยี่ห้อกล่องที่เรา (ผม) ไม่รู้จักไม่กี่ยี่ห้อ เช่น Eat'n Park และ Wegmans มันอาจจะทำให้เฉพาะคนอเมริกัน แต่เท่าที่ผมอ่านดูรีวิว คนใช้คนอื่นก็รุมด่าเรื่องฐานข้อมูลเหมือนกัน

เมื่อการกรอกข้อมูลทำได้ยาก ผู้ใช้ก็เริ่มที่จะไม่ใช้คุณสมบัติส่วน food log นี้ หากใครเคยใช้แอพประเภท food log แอพอื่น ๆ อย่าง MyFitnessPal สามารถทำได้ดีกว่านี้เยอะ ทั้งเรื่องความง่ายในการกรอกข้อมูล และฐานข้อมูล ส่วนตัวแล้วถ้าเป็นไปได้อย่างน้อย น่าจะมี barcode scanner เพื่อดึงข้อมูลแคลอรี่จากฐานข้อมูล แล้วใช้ฟีเจอร์ที่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องมีอยู่แล้วให้ดีที่สุด นั่นก็คือ "กล้อง"

ในส่วนของการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการนอนหลับของ Fitbit ส่วนตัวแล้วผมว่าการแสดงข้อมูลมันยังสู้แอพอย่าง Sleep Cycle ไม่ได้ ที่เลือกแสดงข้อมูลที่ดูเหมือนจะ "มีประโยชน์" จริง ๆ Fitbit เล่นแสดงข้อมูลเป็นแถบรายนาทีแทน ว่าชั่วไหนเราตื่น ช่วงไหนเรา "ไม่ได้พักผ่อน" ระหว่างนอน ดูจริง ๆ เราจะไม่ค่อยสังเกตเห็นการนอนเราเป็น trend ได้ชัดเจนเท่ากับ Sleep Cycle

ยิ่งไปกว่านั้น ตามที่โฆษณาไว้ Fitbit บอกว่าถ้าผู้ใช้ลืมที่จะปิดโหมด "นอนหลับ" เมื่อตื่นแล้ว ตัวซอฟต์แวร์สามารถสลับโหมดเป็นโหมดตื่นได้เอง แต่เอาจริง ๆ มันไม่ทำให้เราเลยครับ

ภาพข้างล่างนี้เป็นกราฟ "อย่างละเอียดที่สุด" ที่ผู้ใช้สามารถเลือกดูบนตัวแอพได้ครับ (ตามลำดับ: จำนวนก้าวเดินในแต่ละวัน, จำนวนแคลอรี่ที่ถูกเผาผลาญในแต่ละวัน และ pattern แสดงคุณภาพการนอนหลับ

กิจกรรมอื่น ๆ และบริการโซเชียล

ในเมื่อตัว Fitbit Flex มันมีแค่ Accelerometer มันไม่สามารถบอกได้ว่าเรากำลังทำกิจกรรมใด นอกเสียจากว่าเรามีการเคลื่อนไหว (เดินหรือวิ่ง) เท่านั้น หากผู้ใช้ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ป่ันจักรยาน ยกน้ำหนัก วิดพื้น หรือชกมวย ผู้ใช้จะต้องกรอกข้อมูลลงไปเองเช่นเดียวกับการกรอกข้อมูลอาหารข้างบน

ในส่วนนี้ สามารถทำได้ง่ายขึ้นหน่อย เพราะว่าผู้ใช้สามารถเข้าถึงหน้ากรอกข้อมูลกิจกรรมนี้ได้เพียงกด Shortcut ด้านล่างของหน้าจอแอพได้เลย

เช่นกัน ข้อมูลที่ว่ากิจกรรมเหล่านี้ เราได้เผาผลาญพลังงานไปแล้วกี่กิโลแคลอรี่ ก็ยังมาจากการประมาณเอาอยู่ดี หลัก ๆ แล้วเราสามารถกรอกข้อมูลได้แค่ (1) ชนิดของกิจกรรม (2) ระยะทางเป็นกิโลเมตร (3) เวลาและระยะเวลาที่เราทำกิจกรรมนั้น หลังจากนั้นตัวแอพจะคำนวนตัวเลขแคลอรี่ออกมา ซึ่งผมลองแล้ว ตัวเลขเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเราทำกิจกรรมนั้นนานแค่ไหน วิ่งได้ไกลแค่ไหน และเรามีน้ำหนักเท่าไหร่ เอาจริง ๆ มันไม่แม่นหรอกครับ แต่พอแค่ใช้ได้

ในส่วนของโซเชียล ความสามารถเดียวของตัวแอพมีเพียงแค่การจัดอันดับว่าเราเดินไปแล้วกี่ก้าว เมื่อเทียบกับเพื่อนของเรา ในส่วนอื่น ๆ เช่นการดูกิจกรรมของเพื่อน ดูว่าเพื่อนเรากินอะไรไปบ้าง นอนเยอะไหม แล้วกดไลค์ คอมเมนท์ให้กำลังใจ ฯลฯ ต้องดูผ่านหน้าเว็บเอาเท่านั้นครับ

Web App

การแสดงข้อมูลบน Web App ของ Fitbit นั้นละเอียดกว่ามาก โดยข้อมูลที่เราป้อนเข้าไปจะถูกแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยบน Dashboard หน้าแรกที่เราจะเห็นทันทีเมื่อเราเข้าใช้งานตัว Web App ก็จะแสดง Progress ของเราเช่นเดียวกันกับบนหน้าแอพบนมือถือ

ถ้ากลับมาดูหน้าโปรไฟล์ของผู้ใช้อย่างละเอียด เราจะพบกราฟเปรียบเทียบ ไปจนถึงตารางกิจกรรมของเรา และอาหารที่เรากินเข้าไปอย่างละเอียด กรณีนี้ เราสามารถกดเข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ของเพื่อนเราก็ได้ โดยแต่ละคนสามารถเลือกว่าต้องการเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลประเภทไหนได้คล้ายกับ Facebook

ที่ตลกคือข้อมูลทุกอย่างจะสามารถป้อนง่ายและเร็วกว่านี้มาก ถ้า Fitbit ยอมให้ผู้ใช้ป้อนข้อมูลเหล่านี้ผ่านทางหน้าเว็บ แย่กว่าก็คือข้อมูลประเภท Custom ทั้งหลาย เมื่อลองใส่เข้าไป ไม่รู้ว่าทำไมมันไม่ยอมบันทึกเข้าไป (ผมลองยัดบอยโพนฯ กับฮันนี่โทสเข้าไป โดยป้อนข้อมูลแคลอรี่เอง แต่มันไม่ยอมโผล่มาเลย)

สรุป

สำหรับอุปกรณ์เพื่อสุขภาพที่สวมใส่ได้ Fitbit Flex น่าสนใจตรงที่ราคา (ที่ต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง Nike Fuelband และ Jawbone Up มาก) ความสะดวก กับความสบายเมื่อสวมใส่ เมื่อเทียบคุณสมบัติตัวต่อตัว Fitbit Flex สามารถทำทุกอย่างที่ Nike Fuelband ทำได้ และยังใช้งานได้สะดวกกว่า Jawbone Up อยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของ Fitbit Flex ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ และการบริหารจัดการกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ผมได้อธิบายไปข้างต้น ก็คือความง่ายในการป้อนข้อมูลอาหารและกิจกรรม และความสามารถทางด้านโซเชียล ที่ค่อนข้างจำกัด ที่สำคัญกิจกรรมประเภท Motivation ผ่านทางโซเชียล Nike+ ซึ่งมีก่อนหน้ามานานแล้วสามารถทำได้ดีกว่ามาก

หลัก ๆ แล้ว อุปกรณ์ประเภทนี้ ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็ตาม ถ้าผู้ใช้ไม่ตัดสินใจควบคุมตัวเอง motivate ตัวเอง มันก็ไม่อาจจะช่วยอะไรแก่ผู้ใช้ได้นอกเสียจากบอกข้อมูลเท่านั้น สำหรับผมแล้ว ผมพอใจที่มันเชิงบังคับให้ผมต้องเลือกที่จะเดินแทนการขึ้นรถบัส หรือรถไฟใต้ดิน และสามารถเก็บข้อมูลการเดินและวิ่งได้

ถ้าถามว่ามันควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม คงต้องตอบว่าอยากให้มันทำได้เหมือนแอพที่ชื่อว่า Moves หรือ Endomondo หรืออย่างน้อยสามารถใช้งานร่วมกันกับแอพเหล่านี้ได้ กรณีที่ผู้ใช้ต้องการดูเส้นทางบนแผนที่ว่าเดินหรือวิ่งมากเท่าใด (และระบบโซเชียลที่ดีกว่ามาก) เช่นกัน ตอนนี้เราเริ่มเห็นนาฬิกาข้อมือที่สามารถวัดชีพจรการเต้นของหัวใจโดยไม่ต้องมีสายรัดรอบหน้าอกได้แล้ว (อย่าง Mio Alpha ซึ่งใช้แล้วชอบมากเช่นกัน ถ้าอยากให้รีวิวว่าง ๆ อาจทำอีกทีครับ) แต่ที่ราคานี้ ผมว่า Fitbit ทำได้เหนือกว่าคู่แข่งที่คุณสมบัติเท่ากันแล้วแน่นอน

ข้อดี

  • เบา ใส่สบาย ไม่เคยรู้สึกว่าวันนี้ไม่อยากใส่
  • แบตอยู่ได้นานเกือบสัปดาห์
  • ใช้งานง่ายมาก ดูข้อมูลได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอพมือถือ
  • ราคาถูกกว่าคู่แข่งที่คุณสมบัติเท่ากัน

ข้อเสีย

  • ระบบการป้อนข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่สะดวกเอาเสียเลย แถมยังมีบักอีก
  • ระบบโซเชียลที่เน้นเพียงแค่การดูและเปรียบเทียบข้อมูล มากกว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้ออกกำลังกายหนักขึ้นอย่าง Nike+ (เช่นแบ่งทีมแข่งกันได้)

ตอนนี้ Fitbit Flex วางจำหน่ายที่ราคา £79 หรือ 99 ดอลลาร์สหรัฐฯ​ ครับ

Blognone Jobs Premium