สัมภาษณ์คุณศรัณย์ ผโลประการ, ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานวางแผนระบบเครือข่ายและบริการ AIS

by lew
18 June 2013 - 17:44

การประมูลทีวีดิจิตอลกำลังเดินหน้าไป แต่ช่วงนี้ก็มีข่าวถึงการใช้ LTE ย่าน 700 ที่ทับซ้อนกันทางด้าน AIS เองก็มีการแถลงข่าวในเรื่องนี้ ทาง Blognone ได้มีโอกาสขอนัดสัมภาษณ์คุณศรัณย์ ผโลประการ (@Saran2530) ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานวางแผนระบบเครือข่ายและบริการของ AIS ถึงที่มาที่ไปรวมถึงความคืบหน้าของเครือข่าย 3G และการทักท้วงของแผนความถี่ในการประมูลคลื่นดิจิตอล ที่ GSMA เพิ่งส่งหนังสือขอให้ทางกสทช. ยืนยันว่าจะมีการเตรียมคลื่นย่าน 700 MHz ไว้ใช้สำหรับ LTE เพื่อให้เข้ากันกับประเทศเพื่อนบ้าน และขอให้มีการทำแผนการปิดคลื่นความถี่อนาล็อกและการจัดคลื่นความถี่ใหม่

Blognone: เครือข่าย 3G 2100 ของ AIS ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

Saran: ตอนนี้ลงไซต์ไปได้ประมาณ 7,000 ไซต์แล้ว ตอนนี้ยังเป็นการออนโดยขึ้นกับเสาต้นเดิมที่เป็น 900MHz เร็วกว่าแผนเดิมที่จะทั่วประเทศที่น่าจะทั่วประเทศภายในสิ้นปี ตอนนี้เราน่าจะทั่วประเทศได้ในต้นไตรมาสที่สี่เฉพาะในตัวเมืองทั่วประเทศ

Blognone: คลื่น 2100 มีพื้นที่ให้บริการน้อยกว่า แล้วอย่างนี้แก้ปัญหายังไง?

Saran: ตอนนี้ก็ยังเจอปัญหาอยู่ เพราะพื้นที่ให้บริการที่คลื่น 900 เคยให้บริการถึง แต่คลื่น 2100 อาจจะไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นจะต้องมีเสาขึ้นใหม่แซมตรงรอยต่อระหว่างเสา เสาต้นใหม่จะใช้เวลาประมาณหกเดือนในการเช่าห้องแถว ตอนนี้ผ่านไปแล้วสี่เดือน ในอีกประมาณสี่เดือนข้างหน้า ในกรุงเทพฯ เสาก็น่าจะขึ้นแน่นหมด ตอนนี้ในกรุงเทพก็ยังมีปัญหาจุดอับสัญญาณอยู่เพราะเรื่องนี้ แต่พอเสาขึ้นแน่นเราก็จะได้อานิสงค์คือเราได้ช่องสัญญาณมาเพิ่มด้วย มากกว่าของเดิม

Blognone: แล้วต่างจังหวัด พื้นที่การใช้งานเบาบาง AIS ต้องขึ้นเสาแซมเหมือนกัน?

Saran: เราจะใช้เทคนิคยืดพื้นที่ให้บริการของคลื่น 2100 ออกไปด้วยการเร่งกำลังส่ง ใช้สายอากาศที่มี gain สูงขึ้น สายอากาศต้นยาวขึ้น ก็จะทำให้คลื่น 2100 กับ 900 ไม่ได้ห่างกันมากนัก

Blognone: ยืดแล้วยังมีช่องโหว่อยู่ไหม หรือได้เท่าเดิม

Saran: ยืดแล้วได้เกือบเท่าเดิม ถ้ายังโหว่อยู่ก็ต้องแซม แต่การยืดจะใช้ในพื้นที่ที่การใช้งานไม่หนาแน่น ถ้าพื้นที่ใช้งานหนาแน่นต้องใช้การขึ้นไซต์ใหม่เท่านั้นจะได้ช่องสัญญาณเพิ่มขึ้นด้วย

Blognone: คนใช้เยอะรึยัง

Saran: ประมาณสองล้านคน

Blognone: AIS ไม่ได้พยายามใช้คลื่นผสมระหว่างเครือข่ายเดิมเหมือนค่ายอื่นๆ?

Saran: จะเป็นสเตปที่สอง เนื่องจากคลื่น 900 กำลังหมดสัมปทาน ในเมืองเราจะใช้ความถี่เดียวคือ 2100 แล้วใช้ 900 ในต่างจังหวัดเพราะไปได้ไกล การที่เราเลี้ยงการใช้งานบนคลื่นเดียวคือ 2100 จะมีข้อดีคือโอกาสสายหลุดจะน้อยลง เพราะการย้ายเซลล์ในคลื่นความถี่เดียวกันจะเป็น soft handover ถ้าเราให้สายกระโดดไปมาระหว่างสองความถี่ โอกาสสายหลุดจะเยอะขึ้น

แต่สุดท้ายความถี่เดียวก็ไม่พอ แต่ว่าตอนนั้นเรารอการประมูลคลื่น 900 กลับมา หรือจะเป็นการประมูลคลื่น 1800 เอามาทำ LTE ระหว่างนี้ในเมืองจะใช้ความถี่เดียวไปก่อน

Blognone: ก็ต้องหวังว่าการประมูลรอบต่อไป จะเกิดก่อนคลื่น 900 จะหมดสัมปทาน

Saran: ใช่ หวังว่าอย่างนั้น การลงทุนจะได้ไม่ขาดช่วง แต่ถ้าการประมูลมันยืดออกไป จะต้องลงเซลล์ไซต์ถี่มาก ความถี่ที่มีอยู่จำกัดจะสามารถชดเชยด้วยการตั้งเสาถี่ ถ้าเกิดว่าการประมูลมันมาช้า

Blognone: มีเรื่องของการทำประชาพิจารณ์ว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมในการตั้งเสาด้วย

Saran: เป็นปัญหาทั่วโลก และทุกโอเปอเรเตอร์โดนปัญหาเดียวกันหมด ประชาชนเริ่มตระหนักถึงภูมิทัศน์และความปลอดภัยต่อคลื่น การตั้งเสาให้กลมกลืนต่อภูมิทัศน์เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น

Blognone: เริ่มมีเสาแบบที่เราเห็นในต่างประเทศที่เป็นต้นไม้บ้างรึยัง

Saran: จริงๆ ทุกวันนี้ในเมืองไทยก็มีบ้างแล้ว แต่ไม่ได้อยู่ตามในเมืองที่เราเห็น จะอยู่ตามต่างจังหวัดที่เราต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ บางทีเราก็ไม่ได้ทำเป็นต้นไม้แต่ทำเป็นกระท่อม หรือบางทีก็มัดไว้กับต้นไม้ วันดีคืนดีก็มดไปทำรัง

Blognone: ผู้ใช้คาดว่าจะย้ายมา 2100 ทั้งหมดในช่วงเวลาไหน

Saran: จนถึงหมดสัมปทานก็ย้ายไม่หมด ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนซิม ปัญหาอยู่ที่การเปลี่ยนเครื่อง มือถือในมือคนไทยวันนี้ 70% ไม่รองรับ 3G

Blognone: แต่คนเมืองส่วนมากไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอย่างนี้ เพราะถือมือถือรองรับ 3G มานานแล้ว

Saran: เราเช้าถึงเย็นสัมผัสกับชีวิตในเมือง ในต่างจังหวัดไม่ใช่ชีวิตเค้าไม่เหมือนเรา ไม่ได้หมายถึงอำเภอเมืองในต่างจังหวัดนะอำเภอข้างนอก เค้าไม่ได้เล่นดาต้ากัน มีมือถือโทรเข้าโทรออกรับสาย ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไป 3G เฉพาะฉะนั้นจนถึงวันที่สัมปทานหมด คนอีกเป็นสิบล้านคนก็ไม่รู้ว่าจะต้องเปลี่ยนเป็น 3G ทำไม

Blognone: โอเปอร์เรเตอร์ไม่สามารถช่วย เช่น สนับสนุนค่าเครื่องให้เปลี่ยนกันได้?

Saran: ทำได้ระดับหนึ่ง เหมือนกับทรูมูฟทำ GoLive และก็ DTAC ทำ Trinet Phone ซึ่งมือถือตัวราคาถูกเขาก็สนับสนุนค่าเครื่องให้มันถูกลง แต่สุดท้ายมันก็ทำได้ระดับหนึ่ง มันไม่มีทางจะไปแทนที่พวกมือถือเฮ้าส์แบรนด์ G-Net, Wellcom, อาม่าอะไรแบบนั้นได้หมด เปลี่ยนเป็น 3G มีแต่จะกินแบตเตอรี่หนักขึ้น สำหรับมุมมองของลูกค้ากลุ่มนี้เค้าไม่ได้ใช้อะไรมากไปกว่านี้ ยิ่งกว่านั้นอย่างตู้เติมเงินก็เป็นซิม 2G ทั้งประเทศ

Blognone: คลื่น 2G ก็จะยังมีความหมายต่อคนไทยต่อไป แล้วอย่างนี้เราจะไปยังไง อนาคตเราจะประมูลใหม่มาทำ LTE หมดก็ไม่ได้?

Saran: ทางออกก็คือกสทช. ควรจะประมูลคลื่นก่อนหมดสัมปทาน คนที่ประมูลได้ถ้าเขาให้บริการ 2G อยู่ เขาก็ไม่เปลี่ยนมาเป็น 3G หรือ 4G ในทันทีหรอก เพราะรายได้ของโอเปอเรเตอร์มาจากบริการวอยซ์ 70% บริการดาต้าเป็นแค่ 30% ของรายได้ทั้งหมด ลูกค้าจำนวนหลายสิบล้านที่ใช้แต่บริการวอยซ์ยังเป็นแหล่งรายได้หลัก เราอาจจะรู้สึกว่า 3G มาแล้วหรือ 4G มาแล้ว มันแปลกใหม่หวือหวา แต่นั่นคือรายได้ส่วนน้อย รายได้ส่วนใหญ่คือวอยซ์ในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นโอเปอร์เรเตอร์ที่เอาความถี่ไปประมูลต่ออีก 15 ปี เขาย่อมไม่รีบไปเฉือนเนื้อตัวเอง เขาย่อมเอาความถี่นั้นที่ประมูลมาให้บริการ 2G ต่อไป แล้วค่อยๆ ทยอยตัดความถี่ทีละหน่อยออกมาเป็น 3G

Blognone: แต่ถ้ามีการประมูลใหม่ ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าผู้ให้บริการรายเดิมจะได้ทำต่อ?

Saran: เราไม่มีทางรู้ แต่ว่ากติกาคือถ้ารายใหม่ประมูลได้ไป เขาต้องรับลูกค้าทั้งชุดไปด้วย ในมุมนึงอาจจะมองว่าเป็นภาระ แต่มองอีกมุมคือประมูลแล้วแถมลูกค้า เพราะฉะนั้นการบริการจะไม่สะดุดถ้ากสทช. ประมูลก่อนหมดสัมปทาน มันจะแตะมือกันพอดี แต่ถ้าหมดแล้วยังประมูลไม่ได้ กสทช. ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากเยียวยา คือ ยอมให้บริการต่อไปเรื่อยๆ

Blognone: ยังมีคำถามว่ากสทช. มีอำนาจอนุญาตแบบนี้หรือไม่

Saran: กฎหมายระบุว่าความถี่ต้องประมูล ถ้าเกิดว่าจะมีมาตรการชั่วคราวก็ต้องระมัดระวังอย่าให้ผิดกฎหมาย เช่น ห้ามเพิ่มลูกค้า ลูกค้าออกแล้วออกเลย ห้ามเข้าใหม่ ต้องโปรโมทชวนลูกค้าออก

Blognone: ถ้าถึงตอนนั้นจริงยังไงลูกค้าก็ต้องเปลี่ยนเครื่อง

Saran: ใช่ ซึ่งหากสามารถประมูลได้ก่อนหมด ก็จะไม่สะดุด ไม่เกิดอาการแบบนี้

Blognone: ตอนนี้เหมือนการประมูล 1800 ก็ยังเงียบๆ อยู่

Saran: ตอนนี้เดือนกันยายนที่จะถึงนี้จะหมดสัญญาสองบล็อค คือ Truemove และ DPC กสทช. จัดประมูลไม่ทันก็เลยให้บริการต่ออีกหนึ่งปี แต่ไม่สามารถหาลูกค้าเพิ่มได้ แล้วคาดว่าจะประมูลปีหนึ่งช่วงครึ่งหลัง AIS กำลังเสนอให้กสทช. ประมูลสองบล็อคนี้พร้อมกับ 900 ไปพร้อมกันเลย โดยประมูลล่วงหน้าก่อนใบอนุญาตหมด จะได้ไม่จำเป็นต้องไปต่ออายุแบบเดียวกันตอน 900 หมดอายุ พอรู้ว่าใครได้โอเปอร์เรตต่อก็สามารถต่อได้เลย

Blognone: แต่ถ้า AIS ประมูลไม่ได้ก็จะรู้เลยว่าไม่ได้บริการต่อแล้ว

Saran: แต่ว่าต้นทุนของ AIS ต่ำกว่ารายอื่นที่จะเข้ามา เพราะเน็ตเวิร์คอะไรอยู่กับ AIS อยู่แล้ว คนอื่นเข้ามาต้นทุนเขาจะ green field เขายากกว่า ถ้าต้นทุนเราต่ำกว่า เราก็น่าจะสู้ราคาได้ทุกราคา

Blognone: ตอนนี้งบลงทุนใช้ไปเยอะรึยัง

Saran: ก็สามปีเจ็ดหมื่นล้าน ก็ใช้ตามแผนอยู่

Blognone: วันนี้มีข่าวเรื่อง LTE เกิดอะไรขึ้นครับ

Saran: เรามีกรรมการโทรคม และกรรมการด้านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ คือ กทค. กับ กสท. ก่อนหน้านี้ กทค. ประมูลคลื่น 3G ตอนนี้ก็เป็นช่วง กสท.ประมูลทีวีดิจิตอลมั่ง ทีวีดิจิตอลเป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยีทีวีอนาล็อค ช่อง 3, 5, 7, 9, หรือ ThaiPBS เทคโนโลยีดิจิตอลจริงๆ ถูกใช้มานานแล้วในเคเบิลทีวี ในทีวีดาวเทียม แต่ทีวีที่ตั้งเสาก้างปลารับทีวีทั่วประเทศทุกวันนี้ยังเป็นอนาล็อค ข้อแตกต่างคือทีวีดิจิตอลมีประสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ มากกว่าทีวีอนาล็อค 20 เท่า หมายความว่าช่องสามช่องเดียว หากเราเอาความถี่มาทำทีวีดิจิตอลได้ 20 ช่อง ถ้าเอามาทำเป็นช่อง HD จะได้ 5 ช่อง เพราะฉะนั้นทีวีที่มีอยู่เดิมหกช่อง เปลี่ยนเทคโนโลยีจะได้จำนวนช่อง 20 เท่า คือ 120 ช่องโดยใช้ความถี่เท่าเดิม

แต่เราจำเป็นต้องมีการออกอากาศคู่ขนาน เราไม่สามารถเอาคลื่นที่ช่องสามออกอากาศอยู่แล้วเปลี่ยนเป็นดิจิตอลในชั่วข้ามคืน เพราะว่าทีวีเครื่องรับของประชาชนยังไม่ได้เปลี่ยนเครื่อง ยังไม่ได้ซื้อเซ็ตท็อปบ๊อกซ์ เราก็เลยต้องมีการออกอากาศคู่ขนาน หมายความว่าช่อง 3, 5, 7, 9 ก็ออกอากาศเหมือนเดิม เสร็จแล้วก็ออกอากาศดิจิตอลขนานกันไป ในช่องความถี่ทีแทรกอยู่ พอเราออกอากาศคู่ขนานจนชาวบ้านเปลี่ยนเครื่องกันหมด เราก็ปิดคลื่นอนาล็อก เราเรียกว่า Digital Switch Over (DSO)

พอเราปิดทีวีอนาล็อก ความถี่ก็เหลือ เราก็เอาความถี่นั้นมาใช้ได้ทั้งด้านบรอดคาส ทั้งด้านโทรคมนาคม อยู่ที่ว่าแผนแม่บทจะเอาไปใช้ทำอะไร ถ้าเอาไปทำด้านบรอดคาส ก็คือเป็นทีวีได้เพิ่มขึ้น ถ้าเอามาทำด้านโทรคมก็อาจจะเอามาทำเป็น LTE ได้

ปัญหาคือประกาศกสท. ที่ลงราชกิจจาฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เอาบล็อคนี้ทั้งบล็อค ไม่แบ่งให้โทรคมนาคมเลย ทำเป็นทีวีอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เรามีช่องทีวีมากกว่ายุโรปสามสี่เท่า ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ทีวีดาวเทียมก็มี เคเบิลก็มี การมีช่องทีวีมากขึ้นมันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากตามจำนวนช่อง สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นช่องขายยา ช่องขายตรง ช่องเหลือง ช่องแดง ช่องฟ้าเต็มไปหมด

ปริมาณคอนเทนต์ที่คนไทยผลิตได้มันมีจำกัด หากกระจายออกไปช่องมากขนาดนี้มันไม่มีคอนเทนต์จะไปออก เพราะฉะนั้นทั่วโลกก็เลยจะมีทีวีจำนวนหนึ่งที่พอเหมาะ แล้วเอาความถี่ที่เหลือไปให้บริการอย่างอื่น ซึ่งที่ทางฝั่งโทรคมนาคมมองคือเอามาทำ LTE ย่านความถี่ต่ำเพราะไปได้ไกล เราอาจจะบอกว่าวันนี้เรามี 3G 900 หรือ 3G 850 ก็ความถี่ต่ำอยู่แล้ว แต่ว่า 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า 3G ความเร็วจะร่วงเหลือ 1 Mbps หรือ 2 Mbps เพราะว่าลูกค้า 40-50 ล้านคน ที่ใช้ 2G จะไม่มีอุปกรณ์ 2G ให้ซื้อแล้ว ลูกค้าก็จะเทมาบน 3G แล้วกินแบนด์วิดท์ 3G จนเหลือนิดเดียว ที่จะทำความเร็วได้ในวันนั้นคือ LTE แต่ว่า LTE ความถี่ต่ำถูกจองไปเป็นทีวีหมด LTE ก็จะอยู่แค่ในเมือง ไม่ออกไปสู่นอกเมือง

เราก็เลยพยายามโน้มน้าวกสทช. ว่าควรจะจัดสรรความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่วางแผนอยู่ตอนนี้ แล้วเหลือความถี่เอามาทำ LTE

Blognone: ปัญหาเรื่องว่า ความถี่ของโทรทัศน์จะไปกวน LTE ประเทศอื่นด้วย

Saran: มีด้วย ไม่ใช่ความกังวลของเรา แต่เป็นความกังวลของนานาชาติ เนื่องจากว่าความถี่ของประเทศที่ติดกันมันกวนกัน กำลังส่งทีวีมันเป็นกิโลวัตต์ กำลังส่งของพวกอุปกรณ์โมบายมันเป็นระดับสิบถึงยี่สิบวัตต์ กิโลวัตต์มันอัดโมบายไม่เหลืออยู่แล้ว ถ้าเมืองไทยเอาความถี่ย่านที่ชาวบ้านเขาเอาไปทำ LTE แต่เราเอามาทำทีวี ชาวบ้านรอบประเทศเราจะทำ LTE ไม่ได้เลย ความถี่เราจากหนองคายจะไปอัดที่เวียงจัน ปัตตานี ยะลา จะไปอัดมาเลเซีย สุดท้ายเขาก็จะทำ LTE ไม่ได้

Blognone: เพื่อนบ้านเราใช้ความถี่ทำ LTE แน่นอนแล้ว?

Saran: ประกาศแล้วหนึ่งประเทศ คือ มาเลเซีย กัมพูชาแสดงความจำนงค์ว่าจะใช้เป็น LTE แต่ยังไม่ได้สรุป พม่าน่าจะเป็นรายถัดไป เพราะพม่านี่โทรคมกำลังโตมาก ก็อีกไม่นานก็น่าจะมีการพิจารณาเรื่อง 700

Blognone: AIS เห็นว่าควรจะแบ่งให้โทรคมบ้าง?

Saran: จุดยืนของเราคือไม่ได้ไปบอกว่าอย่าเอาความถี่ไปทำทีวีแต่ให้เอามาทำ LTE แต่เราบอกว่าหากคุณจัดสรรดีๆ ทีวีจะมีจำนวนช่องเท่าเดิม แต่จะมีความถี่เหลือด้วย เราจึงไปทักท้วงบอกว่ากรุณา จัดสรรความถี่ให้มีประสิทธิภาพกว่าแผนที่คิดไว้วันนี้

Blognone: การทักท้วงนี้เป็นเรื่องของการประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นรอบนี้?

Saran: ไม่ใช่ ประมูลก็ประมูลไป แต่คนที่ชนะประมูล กสทช. ก็ต้องบอกว่าเมื่อคุณชนะประมูลแล้วได้ความถี่อะไร เราขอให้กสทช. วางแผนบล็อคความถี่ใหม่ ประมูลก็ประมูลไป แต่ระหว่างนั้นแบ่งบล็อคความถี่ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

Blognone: แต่ ณ วันนี้ ที่จะเริ่มประมูล ก็มีบล็อคความถี่เตรียมไว้อยู่แล้ว ที่มีปัญหาคืออะไร คือการเตรียมประมูลแล้ว หรือหลังจาก Switch Over (ปิดความถี่อนาล็อก) แล้ว

Saran: หลังจาก Switch Over แล้ว (วาดรูป) ทุกวันนี้ มีช่อง 3-5-7-9 สิ่งที่กสทช. วางแผนคือจัดสรรคลื่นความถี่กินไปหมด (ดูผังการจัดสรรของกสทช.) ขณะที่ทั่วโลกบอกว่าตรงนี้ (470-694) เอาไว้ทำทีวี และความถี่ตรงนี้ (698-806) เอาไว้ทำ LTE ซึ่งความถี่ตรงนี้แบ่งเป็นความถี่ 45 MHz สำหรับอัพลิงก์ และ 45 MHz สำหรับดาวน์ลิงก์

ซึ่งพอแผนของกสทช. กินหมดไปข้างหนึ่ง ที่เหลือมันทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะทำก็ต้องเป็น TDD ซึ่งมีอุปกรณ์รองรับน้อย

GSMA ก็บอกว่าทำไมคุณทำอย่างนี้ ทำไมคุณไม่ขยับมาตรงนี้ (470-694) เอา VHF มาใช้ด้วย แล้วคุณบีบดีๆ ให้มันได้ช่องเท่าที่คุณต้องการ แล้วมันเหลือตรงนี้ (698-806) ติดกันเป็นผืน ทำ 45 MHz ได้ทั้งอัพลิงก์ ดาวน์ลิงก์

Blognone: แล้ววันนี้ที่เราประมูลแล้วมันอยู่ตรงไหน (510-790) ทั้งบล็อค?

Saran: ใช่บล็อคนี้ทั้งบล็อค

Blognone: แต่การประมูลตอนนี้ล็อกจำนวนช่องไปแล้ว?

Saran: จำนวนช่องก็ส่วนจำนวนช่อง กสทช. วางแผนว่าตรงนี้ (510-790) จะทำเป็น 48 ช่องประกอบด้วย 7HD + 41SD แต่ GSMA บอกว่าถ้าคุณจัดดีๆ ด้วยบล็อคตรงนี้ (470-694) คุณได้ 16HD + 48SD

Blognone: ระหว่างนี้ในผืนนี้ (470-694) ก็ยังมีช่องเดิมอยู่ ก็ยังเปิดใช้ทุกช่องไม่ได้?

Saran: เขาอาจจะไม่สามารถออนได้ทุกช่องในวันแรก แต่ตอนนี้เขาวางแผนที่จะ switch-off ในห้าปี พอปิดไปก็จะโบ๋ ก็ขยับช่องเติมลงมาได้

Blognone: แต่ถ้าประมูลแล้วมีคนชนะเต็ม แล้วยังมีช่องอนาล็อกยังบริการอยู่ ก็จะไม่พออยู่ดี?

Saran: เขาอาจจะต้องล้ำมาก่อน ณ วันนี้ ซึ่งไม่ได้ว่าอะไร เพราะกว่าเราจะเอา LTE มาใช้ก็คงไม่เร็วกว่า 5 ปีข้างหน้า แต่วันนี้กสท. ไม่มีแผนอะไรเลยที่จะเคลียร์และตบให้มันไปรวมกัน

Blognone: อย่างนั้นที่บอกว่าขอให้เตรียมไว้ คือขอให้มีแผน อาจจะต้องมีการย้ายความถี่ในอนาคต?

Saran: ใช่ แผนย้ายความถี่ไม่มีออกมา มีเฟสแรกคือมีทีวีอนาล็อกอยู่ เฟสที่สองคือเป็นการออกอากาศร่วม โดยจะมีดิจิตอลจิ้มเข้ามา เฟสที่สามจะเหลือแต่ดิจิตอล ความถี่ที่ว่างอยู่ ขาดวิ่นเป็นฟันหลอ ทำอะไรไม่ได้ แล้วจะต้องนำไปสู่เฟสที่สี่คือตบคลื่นดิจิคอลให้ความถี่ที่ว่างอยู่มันติดกันเป็นผืน แผนนี้มันหายไปไหน (เครื่องหมาย "?")

Blognone: อย่างนั้นคือการบอกกสทช. ว่าอย่าไปล็อกความถี่กับใบอนุญาตไว้ 15 ปีอย่างนั้น ให้เตรียมไว้ว่าจะมีการตบ

Saran: เนื่องจากแผนนี้ยังไม่มี สิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นคือ ฝั่งบรอดคาสของกสทช. ก็จะเปิดช่องทีวีเพิ่ม สุดท้ายคอนเทนต์มันมีเท่าเดิม และในที่สุดเราก็จะไม่มี LTE 700 เพราะ 850 กับ 900 มันเต็มไปหมดแล้ว ความถี่ย่าน low-band เหลืออยู่ย่านเดียวคือ 700

อันนี้คือสิ่งที่ ITU ทักท้วงไปแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว พอมาวันนี้ก็เป็นคิวของ GSMA

Blognone: เสียงตอบรับในวันนี้เป็นยังไงบ้าง

Saran: โอเคนะ ผมว่าผู้สื่อข่าวเข้าใจมากขึ้น ว่าการ co-exist ระหว่างบรอดคาสกับโทรคมมันเกิดได้โดยมันไม่ไปเบียดบรอดคาส แต่อาศัยการวางแผนให้ดีแต่ต้น

Blognone: อย่างนี้ถ้าวันนี้ประมูลไป แล้วได้คลื่นอนาล็อกกลับมา แล้วมีการบีบคลื่นใหม่ ก็จะเป็นการเรียงช่องใหม่? ช่องทีวีเขาจะไม่โวยวาย?

Saran: ก็ต้องเป็นนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแล สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้องมีคืนนึงที่ผู้ใช้ต้องสั่งให้ทีวีรีจูนช่อง แล้วมันก็จะจัดช่องใหม่ สิ่งที่เราต้องวางแผนให้ดี ณ วันนี้คืออย่าให้เกิดการหันเสาอากาศใหม่ เพราะสถานีของช่อง จะคนละด้านกัน พอวันนี้มันตบความถี่ อย่าให้ผมหันเสาอากาศ การสั่งให้รีจูนทั้งประเทศยังพอทำได้ แต่ชาวบ้านต้องหันเสาใหม่ อย่าให้เกิด

Blognone Jobs Premium