รีวิว Nook HD

by tekkasit
18 June 2013 - 18:02

Nook HD เป็นเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จอสี (LCD) จาก Barnes and Noble ครับ เปิดตัวไปเมื่อเดือนต้นเดือนพฤศจิกายนปีก่อน พอดีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง B&N จัดโปรโมชันลดราคา Nook HD/HD+ ลงฉลองวันพ่อ ก็เลยได้ลองเอา Nook HD Smoke 16GB มาใช้

ฮาร์ดแวร์

ตัวเครื่องขนาดกระทัดรัดเหมาะมือ (12.7x9.4x1.1 เซนติเมตร) น้ำหนักไม่มาก (315 กรัม) ใกล้เคียงกับ iPad mini สามารถถือมือเดียวได้เป็นเวลานาน จอภาพ IPS ขนาด 7" มุมมองกว้าง ใต้จอภาพมีปุ่ม Nook "n" เพียงปุ่มเดียว ไม่มีปุ่ม back หรือ option อื่นใด ตัวเครื่องมีขอบพลาสติกรอบจอภาพข้างละประมาณครึ่งนิ้ว ทำให้ถือมือเดียวได้ง่ายโดยไม่ต้องกลัวว่าเวลาถือนิ้วมือจะไปถูกจอโดยไม่ได้ตั้งใจ ตัวเครื่องรองรับปกแม่เหล็กตามสมัยนิยม (ขายแยก)

ด้านบนเครื่องมีเพียงช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรมาตรฐานและช่องไมโครโฟน

ปล. ขอบอกว่าช่องเสียบหูฟังแน่นมาก ครั้งแรกที่ใช้หูฟังกับเครื่อง คิดว่าเครื่องมีปัญหาเพราะเสียงออกหูฟังข้างเดียว แต่ลองสังเกตตัวเองเวลาเสียบสายดูจึงรู้ว่าผิด เพราะคิดว่ามีแรงต้านพอสมควรแล้วจึงหยุด ทำให้เสียบแจ็คไม่สุด

ด้านล่างมีช่องใส่ microSD, ไม่มีช่องเสียบ USB แต่มีช่องต่อเฉพาะ 30-pin สำหรับชาร์ตและซิงค์ข้อมูลแทน, ไฟแสดงสถานะการชาร์ต รูปด้านบนถ่ายเปรียบเทียบกับ iPad mini เปรียบเทียบว่าหนาบางต่างกันอย่างไร

ด้านซ้ายมีปุ่มเปิดปิด

ด้านขวามีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง

ด้านหลังมีผิวสัมผัสเป็นยางกันลื่น ขอบโค้งมนหยิบจับสะดวก ด้านล่างมีลำโพงสองตัวเสียงดังฟังชัด ตรงกลางเครื่องบุ๋มลงไปเล็กน้อย ตรงกลางมีตัว n ขนาดใหญ่เป็นโลโก้ประจำตัวเครื่อง Nook

โดยส่วนตัวรู้สึกว่างานประกอบของ Nook HD แข็งแรงเรียบร้อยแน่นหนาดี ผิวสัมผัสเป็นพลาสติกซึ่งบางคนอาจจะไม่ชอบนักเพราะไม่ให้ความรู้สึกหรูหรา แต่ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกอะไรตรงจุดนี้

ตัวเครื่องมีแบบสองโมเดล 8GB และ 16GB และมีอย่างละสองสีสีขาว (Snow) และสีดำ (Smoke) โดยตัวที่ผมได้มาเป็นรุ่นสีดำความจุ 16G (เหลือใช้งานจริง 12.7GB) มีแรมให้ 1GB (เหลือใช้งานได้ 783MB) และรีวิวทั้งหมดจะอยู่พื้นฐานเฟิร์มแวร์ 2.10

Interface

ตัวหน้าโฮมของ Nook HD ถือว่าเป็นหน้าเริ่มต้นในการใช้งาน ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหน สามารถกดปุ่ม n เพื่อกลับมาที่หน้านี้ ตัวหน้าจอจะแบ่งเป็นสี่ตอน ตอนบนสุดแสดงวันที่และชื่อโปรไฟล์ที่ใช้งานอยู่ เมื่อกดที่ 'your NOOK TODAY' ก็จะเข้าไปแสดงข้อมูลสภาพอากาศปัจจุบันและส่วนรายการหนังสือแนะนำซึ่งมีถึงห้าหน้าด้วยกันซึ่งแนะนำตามกลุ่มเนื้อหาหรือผู้แต่งตามหนังสือที่เราอ่าน เมื่อกดเข้าไปจะพาไปส่วนสโตร์แนะนำหนังสือแต่ละเล่มในกลุ่มที่เลือกมาให้

ส่วนถัดลงมา Active Shelf เป็นแถบเลื่อน แสดงรายชื่อแอพและหนังสือที่เพิ่งเปิดมาหรือที่เพิ่งซื้อ/ยืมล่าสุด ซึ่งอาจยาวเกินหน้าจอ ผู้ใช้สามารถหมุนไปหมุนมาเพื่อเลือกแอพที่ต้องการได้

ส่วนกลางเป็นพื้นที่ว่างให้เราสร้างชอร์ตคัตของแอพ,หนังสือ มาวางเพื่อความสะดวกในการเปิดใช้งานหรืออ่านได้ สามารถสร้างได้หลายวิธี แต่ไม่สามารถสร้างโฟลเดอร์ได้

ส่วนล่างสุดในหน้าโฮมเป็นแถบปุ่ม Nav ที่จะพาไปในส่วนต่างๆ ซึ่งผมจะขออนุญาตแนะนำเฉพาะส่วนที่น่าสนใจ

ปุ่ม Library จะแสดงเนื้อหาที่อยู่ในเครื่องทั้งซื้อมาจาก NOOK Store โดยมีการจัดเป็นหมวดหมู่ เป็นหนังสือ, วารสาร, หนัง, แอพ, ฯลฯ

สำหรับไฟล์ที่ไซด์โหลดลงมาจากพีซี สามารถคลิกตรง ‘My Files’ เพื่อไปเบราว์ไฟล์ในเครื่องโดยตรงได้

ปุ่ม Apps เพื่อเรียก application drawer แสดงแอพทั้งหมดที่ติดตั้งในเครื่อง ทั้งมาจาก NOOK Store และ Google Play Store

ตัวแอพเป็นแบบเรียบง่ายไม่มีลูกเล่นมากนัก สามารถเรียงเป็นแบบกริดหรือรายการก็ได้ แต่พอเรียงเป็นแบบรายการแล้วกลับแสดงแอพได้น้อยกว่าเดิมมากๆจนไม่น่าใช้ เข้าใจว่าเพราะต้องการให้ UI เว้นระยะห่างเพียงพอสำหรับดูปกหนังสือ ทำให้เว้นระยะห่างไว้เยอะมากเกินไป

ที่สังเกตคือ ถ้าเป็นไอคอนคมชัดความละเอียดสูง มีรูป n กำกับอยู่ที่มุมขวาบน จะเป็นแอพจาก NOOK Store แต่ถ้าไม่มีก็จะเป็นแอพของ Google Play Store

แต่เดิม B&N ผูกขาดผู้ใช้งาน Nook ให้สามารถซื้อแอพ,หนังสือ,หนัง,เพลงได้เฉพาะจากใน NOOK Store ของ B&N เอง ซึ่งเป็นแยกกันเป็นคนละบัญชีกับบัญชี Google Play แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ล่าสุดทาง B&N ได้ยอมทุบหม้อข้าวตัวเองในการอัพเกรดเวอร์ชันล่าสุด 2.10 โดยใส่ Play Store, Play Music, Play Magazines, Play Movies เข้ามาโดยตรง ทำให้ผู้ใช้งาน Nook HD สามารถโหลดแอพที่ซื้ออยู่แล้วบน Google Play Store รวมถึงสามารถโหลดแอพ eReader จากคู่แข่งอย่าง Amazon Kindle for Android หรือแม้แต่ Kobo eReading App for Android ลงมาใช้งานก็ย่อมได้

ตัวระบบปฏิบัติการของ Nook HD มีพื้นฐานจาก Android ICS 4.0.4 แต่ B&N ปรับแต่งหน้าตาจนแทบไม่เหลือกลิ่นอายของแอนดรอยด์อยู่เลย

สำหรับคนที่คาดหวังการอัพเกรด Jelly Beans จาก B&N คงต้องบอกว่าคงต้องทำใจ เพราะตามธรรมเนียมแล้วอุปกรณ์เฉพาะทางเหล่านี้ (รวมถึง Amazon Kindle Fire) ผู้ซื้อจะได้รับแพโดยอัตโนมัติ ไม่มีสัญญาใจใดๆว่าจะตามอัพเกรดเฟิร์มแวร์ให้ ซึ่งไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ทั่วๆไปที่เป็นแอนดรอยด์แท็บเล็ต

การอ่านหนังสือ ePub ภาษาอังกฤษ

ด้วยหน้าจอที่มีความละเอียดสูง (1440x900) สามารถแสดงข้อความปริมาณมากๆได้ในหนึ่งหน้าทำให้ไม่ต้องคอยพลิกหน้าบ่อยๆ ย่อหน้าต่างๆจะแสดงเป็นแบบจัดเสมอหน้า-หลังแบบมียัติภังค์ (เลือกเป็นแบบอื่นไม่ได้) และภายในเครื่องมีพจนานุกรม Merriam-Webster แบบอังกฤษ-อังกฤษมาให้ด้วยสำหรับค้นหาความหมายคำศัพท์ หรือจะค้นหาข้อมูลกับ Google หรือ Wikipedia ได้จากเครื่องโดยตรง

ตัว Reader ที่ให้มากับเครื่องสามารถใช้รูปแบบฟอนต์ที่ฝังมาในเอกสารหรือจะเลือกรูปแบบการแสดงผลได้เอง (สีพื้นหลัง, รูปแบบและขนาดตัวอักษร, ฯลฯ) ก็ย่อมได้

ฟีเจอร์เหล่านี้จะใช้ได้กับทั้งหนังสือจาก NOOK Store และที่หามาจากช่องทางอื่นโหลดเข้าเครื่องผ่านพีซี (sideload)

การซื้อหนังสือ
เป็นที่น่าเสียดายว่า NOOK Store ไม่รองรับการซื้อเนื้อหานอกสหรัฐอเมริกา ผู้ซื้อจะต้องมีบัตรเครดิตอเมริกา, ที่อยู่ไปรษณีย์ที่อเมริกา ที่สำคัญคือเวลาที่สั่งซื้อจะต้องเชื่อมต่อโดยใช้ IP ในสหรัฐเท่านั้น ไม่ว่าจะซื้อโดยตรงจากตัวเครื่องหรือผ่านหน้าเว็บไซต์ แต่ถ้าซื้อเข้ามาแล้วแล้วจะโหลดจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก สำหรับผู้ใช้งานในประเทศไทยอย่างเราๆท่านๆก็คงไม่สามารถซื้อหนังสือจาก Nook ได้โดยง่าย

แต่เนื่องจากเครื่อง Nook ยังรองรับ Adobe ePub DRM และการอัพโหลดไฟล์จากพีซี ดังนั้นเราสามารถซื้อหนังสือ ePub จากตลาดอื่นๆที่รองรับมาตรฐานนี้ และเอามาโหลดเข้าเครื่องได้ ตัวแอพ Reader สามารถเปิดอ่านเอกสารเหล่านี้

อีกทางเลือกหนึ่งก็คือติดตั้งแอพ eReader คู่แข่งอย่าง Amazon Kindle for Android ก็สามารถซื้อหนังสือจากเมืองไทยผ่านบัญชีคินเดิลในเครื่องนี้ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง

การอ่านหนังสือ ePub ภาษาไทย
น่าเสียดายว่าตัว Reader ที่มาในเครื่องไม่สามารถแสดงตัวหนังสือภาษาไทยในไฟล์ ePub ได้ โดยจะกลายเป็นสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าบรรดาฟอนต์ที่มีมาให้ทั้ง 6 ตัวนั้นด้วยกันไม่รองรับอักษรภาษาไทยเลย

แต่ถ้าผู้ผลิตเอกสารมีการฝังฟอนต์ภาษาไทยลงมาด้วยและเวลาอ่านเลือก Publisher Defaults ไว้ก็สามารถอ่านภาษาไทยออก ไม่มีปัญหาสระลอย แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างกับสระอำ

ส่วนเรื่องตัดคำภาษาไทยก็ยังทำไม่ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับอุปกรณ์ e-Reader จากต่างประเทศ

การอ่านหนังสือ PDF
ด้วยหน้าจอที่ละเอียดสูงทำให้สามารถอ่านไฟล์ PDF ได้ง่าย เปิดไฟล์ขนาดใหญ่ๆระดับ 50 MB ก็ไม่มีปัญหา แสดงผลสารบัญได้ อีกทั้งยังสามารถใช้พจนานุกรมค้นหาคำศัพท์ที่ปรากฎในไฟล์ PDF ได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ชอบอ่านไฟล์ PDF

สำหรับไฟล์ PDF ภาษาไทย เนื่องจากขั้นตอนการสร้างเอกสาร PDF ส่วนใหญ่ก็เลือกจะฝังฟอนต์มาในตัวเอกสาร ทำให้ไม่มีปัญหากับการแสดงผล สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง

อื่นๆ

  • ตัวเครื่องไม่มีเมนูภาษาไทยและคีย์บอร์ดภาษาไทย ถ้าอยากได้คีย์บอร์ดภาษาไทยต้องโหลดมาจาก Play Store ไม่ว่าจะเป็น TSwipe-Pro, Keyboard ManMan, DroidSans Thai Keyboard, SwiftKey, ฯลฯ

รายละเอียดทางเทคนิค

  • ขนาด 12.7x9.4x1.1 เซนติเมตร หนัก 315 กรัม
  • หน้าจอ LCD แบบ IPS ขนาด 7” ความละเอียด 1440x900 243dpi
  • มีไมโครโฟนและช่องเสียบหูฟัง 3.5mm มาตรฐาน
  • ซีพียู Dual Core OMAP 4470 @1.3GHz
  • ใช้ช่องต่อเฉพาะตัว 30-pin
  • แบต 4,050 mA เปลี่ยนไม่ได้
  • รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth, WiFi 802.11 b/g/n
  • รองรับ microSD ได้สูงสุด 64GB (SDHC, SDXC)

สรุป

ข้อดี

  • หน้าจอละเอียดที่สุดในกลุ่มเครื่อง 7 นิ้ว ในเวลานี้ (1440 x 900 @243dpi)
  • น้ำหนักเครื่องถือว่าอยู่ในกลุ่มเบาที่สุดในกลุ่มเครื่องหน้าจอ 7 นิ้ว
  • รองรับ microSD
  • รองรับ Google Play สามารถใช้แอพที่อยู่บน Google Account ได้ทันที
  • ราคาถูกมาก (ช่วงลดราคา ความจุ 16G เหลือราคา 149 เหรียญ จากปกติ 229 เหรียญ)

ข้อเสีย

  • UI มีลูกเล่นน้อยไม่ยืดหยุ่นและยังไม่ “ลื่น”
  • ไม่มีทั้งกล้องหน้า/กล้องหลัง, ไม่มี NFC, ไม่มี GPS, ไม่มี proximity sensor
  • ใช้หัวต่อเฉพาะ 30-pin ในการชาร์ตและซิงค์ข้อมูล
  • ช่องเสียบหูฟังไม่รองรับ media playback control (ลองแล้วของทั้งของ iPhone และ Samsung)
  • ไม่รับประกันทั่วโลก
  • ไม่สามารถซื้อหนังสือ NOOK Store ได้จากเมืองไทย

ฟันธง
ถ้าใครอยากได้แท็บเล็ต 7 นิ้วในราคาไม่แพงที่สนับสนุน Google Play โดยตรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ในช่วงที่ลดราคา) และไม่กลัวเรื่องรับการประกัน ก็สามารถพิจารณา Nook HD ได้ครับ แต่ถ้าไม่ได้ช่วงลดราคา Nexus 7 ที่ราคาต่างประเทศอาจจะน่าสนใจกว่า

Blognone Jobs Premium