รีวิว Acer C7 Chromebook

by nrad6949
22 June 2013 - 09:57

เมื่อช่วงราวสิ้นปีที่แล้ว (2555) กูเกิลได้ทำการเปิดตัว Chromebook (โน้ตบุ๊กที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Chrome OS ของกูเกิล) ใหม่จำนวนสองรุ่น ซึ่งก็คือ Samsung Chromebook ที่ใช้หน่วยประมวลผลเป็น Exynos 5 บนสถาปัตยกรรม ARM และ Acer C7 Chromebook ที่ใช้หน่วยประมวลผลเป็น Intel Celeron บนสถาปัตยกรรม x86 (และในภายหลังออกรุ่นปรับปรุงเพิ่มคือ Acer C710 Chromebook ที่เพิ่มแรมและแบตเตอรี่) ซึ่งทั้งสองรุ่นมีราคาที่ไม่แพง คือ 249 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ Samsung Chromebook (ขายดีมาก จนติดอันดับหนึ่งของ Amazon) และ 199 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ Acer C7 Chromebook

เนื่องจากมีโอกาสซื้อเครื่อง Acer C7 Chromebook มือสองมาในราคาที่ค่อนข้างถูก (ด้วยสภาพที่ใหม่มาก) และมีโอกาสได้ลองใช้งานมาแล้วระยะหนึ่ง จึงเขียนรีวิวเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการใช้งาน และนี่คือรีวิวครับ

ตัวเครื่อง

สำหรับตัวเครื่อง มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัมเศษ มาด้วยรูปลักษณ์ที่เรียบๆ มีโลโก้ Acer ตรงกลางฝาเครื่อง และโลโก้ Chrome ด้านบน

ด้านซ้ายมือของเครื่องจะมีช่องเชื่อมต่อต่างๆ (จากซ้ายไปขวา: RJ-45 สำหรับสายแลน, VGA, HDMI และ USB 2.0)

ส่วนขวามือก็มีช่องเชื่อมต่อต่างๆ เช่นกัน (จากซ้ายไปขวา: ช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟน, USB 2.0 จำนวน 2 ช่อง, ช่องเสียบสายชาร์จ, ช่องสำหรับ Kensington Lock)

ด้านหน้ามีช่องใส่ SD Card ด้วยอยู่ด้านซ้ายมือ และไฟบอกสถานะอยู่ด้านขวามืิอ

ส่วนด้านหลังก็แบตเตอรี่ล้วนๆ ครับ (ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งก็ตรงที่ รุ่นนี้แบตสามารถเปลี่ยนได้)

ด้านล่างของเครื่องครับ

หน้าตาของเครื่องเมื่อเปิดครับ (แป้นพิมพ์ภาษาไทยเนื่องจากผมซื้อสติกเกอร์มาแปะครับ)

สำหรับบางท่านที่อาจจะรู้สึกว่า ทำไมหน้าตาของ C7 Chromebook ถึงรู้สึกคุ้นๆ คำตอบก็คือ ตัวเครื่องนั้นแทบไม่ได้ต่างจาก Acer Aspire V5-171 แม้แต่น้อยครับ แม้กระทั่งแบตเตอรี่และสายชาร์จก็ยังใช้แทนกันได้ ส่วนตัวเองถ้าไม่สังเกตให้ดีเวลากลางคืน ก็หยิบเครื่องสลับกันเลยครับ

ด้านซ้ายมือของรูปคือ C7 Chromebook ส่วนขวามือ Aspire V5-171 ครับ

ส่วนสายชาร์จก็ตามนี้เลยครับ ใช้สลับกันตลอด

ระบบปฏิบัติการ

สำหรับระบบปฏิบัติการของเครื่องก็คือ Google Chrome OS ของกูเกิล ซึ่งสำหรับ Chromebook จะไม่สามารถลงระบบปฏิบัติการตัวอื่นได้โดยตรง (มีบางแห่งประสบความสำเร็จลงระบบปฏิบัติการ Ubuntu Linux บนเครื่อง C7) และแน่นอนว่าหนึ่งในคุณสมบัติคือการปรับปรุงให้อยู่ตลอด ดังนั้นแล้วหน้าตา ตลอดจนถึงคุณสมบัติต่างๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาครับ (ลองดูรีวิวจากคุณ mk ในตอนแรกๆ ของ Chrome OS เทียบกับรีวิวเครื่ิอง CR-48 ได้ครับ)

โดยหลักการแล้ว ก็คือเป็นระบบปฏิบัติการที่ไม่มีอะไรอยู่เลย นอกจากเบราว์เซอร์ Chrome เท่านั้น (แต่ในระยะหลังมีการเพิ่มความสามารถขึ้นมาอีกนิดหน่อย เช่น เปิดไฟล์ หรือ เล่นเพลง แต่โดยหลักการก็คือ มีเฉพาะเบราว์เซอร์) ทำให้ต้องถูกบังคับเสมือนต้องต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลาที่ใช้งานครับ ยังโชคดีว่าในระยะหลังมีโปรแกรม (แอพ) ที่สามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้อยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้สภาพของเครื่องไม่ถึงกับเป็น "เป็ดง่อย" เสียทีเดียว แต่จะเทียบกับระบบปฏิบัติการแบบเต็มๆ อย่าง Windows หรือ Linux ก็คงจะลำบากอยู่ ลองดูวิดีโอด้านล่างนี้สำหรับแนวคิดของ Chrome OS และ Chromebook ครับ

หน้าจอหลังจากเข้าใช้งาน

ตัวเลือกโปรแกรม (แอพ)

หน้าตาของ Chrome

โปรแกรมเรียกดูไฟล์ในเครื่อง
สำหรับโปรแกรมเรียกดูไฟล์ในเครื่องก็เป็นแบบพื้นฐานมากๆ และแสดงเฉพาะโฟลเดอร์ที่ชื่อว่า "Downloads" เท่านั้น

Google Docs

ประสบการณ์ใช้งานจริง

จากเท่าที่ใช้งานมาได้ระยะหนึ่ง ต้องยอมรับครับว่ามันถูกออกแบบมาแต่แรกให้เป็นเครื่องที่เชื่อมเข้ากับอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวจริงๆ และถ้าเราทำงานแบบตัดขาดจากอินเทอร์เน็ต นั่นก็ย่อมแปลว่าจะใช้งานหรือได้รับประสบการณ์ที่ไม่เต็มที่นั่นเอง

ในแง่ของความเร็ว ต้องบอกว่า C7 นั้นไม่ได้มีความเร็วมากมายเท่าใดนัก และใช้ระยะเวลาในการเปิดเครื่องอยู่ที่ประมาณ 10-12 วินาที ซึ่งหากเทียบกับปัจจุบันแล้วถือว่าช้าพอสมควร เพราะ Macbook Air หรือแม้แต่เครื่องที่ใช้ Windows 8 ในปัจจุบันก็ทำได้เร็วในระดับใกล้เคียงหรืออาจจะเร็วกว่าไปแล้ว

สำหรับน้ำหนัก ปกติผมจะใช้ Macbook Air ควบคู่ไปกับ Surface และ Playbook ซึ่งเมื่อใส่กระเป๋าสะพายแล้วถือว่ามีน้ำหนักที่พอสมควรระดับหนึ่ง การเปลี่ยนจาก Macbook Air มาเป็น C7 ต้องยอมรับว่าในแง่น้ำหนักให้ความรู้สึกไม่ต่างกันนัก ดังนั้นส่วนมากเครื่อง C7 จึงถูกทิ้งเอาไว้ที่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์คือใช้งานสำหรับเบาๆ ไม่ว่าจะเช็คเมล์ในตอนเช้า หรือเปิดข่าวอ่านตอนก่อนนอน หากต้องการทำงานพิมพ์เอกสาร ก็จะเปลี่ยนมาใช้เครื่องใหญ่หรือไม่ก็ Surface แทน

ปัญหาสำคัญของ C7 อยู่ที่อายุของแบตเตอรี่ ที่ผมใช้แล้วไม่เคยผ่านพ้น 3 ชั่วโมง เลย ซึ่งเมื่อนำแบตก้อนเดียวกันไปใช้บนเครื่อง V5-171 กลับสามารถใช้งานได้เกือบๆ 4 ชั่วโมงเต็มๆ ผมเลยคาดว่าปัญหาน่าจะมาจากตัวหน่วยประมวลผลไม่รองรับระบบการจัดการพลังงานด้วยส่วนหนึ่ง และนอกจากนั้นคือตัวการ์ดไวไฟนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของกูเกิล จะพบว่าการ์ดรองรับบลูทูธ แต่ไม่ถูกเปิดให้ใช้งาน ซึ่งถือว่าเป็นความแปลกพอสมควร

บทสรุป

  • แนวคิดของ Google Chromebook/Chrome OS เป็นลักษณะแบบเดียวกับ Firefox OS ที่ทุกอย่างอยู่บนอินเทอร์เน็ตอย่่างเดียว ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะหากใช้งานแบบออฟไลน์ก็มักจะมีขีดความสามารถที่จำกัดมาก
  • อายุของแบตเตอรี่ กลายมาเป็นปัญหาของ C7 Chromebook ซึ่งทำให้พกไปไหนมาไหนไม่ได้เท่ากับเครื่องอื่นๆ
  • อุปกรณ์และความคุ้นเคย อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  • ถ้าอยากเน้นราคาถูก C7 คือทางออก แต่ต้องยอมรับเรื่องแบตที่อายุค่อนข้างสั้น

สิ่งสำคัญอันหนึ่งคือการที่ Chrome OS พยายามที่จะชูความเร็วในการทำงาน การเปิดใช้งาน และการอัพเดทตัวเองตลอดเวลา คำถามก็คือ เมื่อคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันสามารถทำงานและเปิดเครื่องได้เร็วพอๆ กับ Chrome OS แล้ว (ซึ่งเป็นจุดขายอย่างมากในระยะแรกๆ) ที่ยืนของ Chromebook/Chrome OS จะอยู่จุดไหนกันแน่ ซึ่งสำหรับผมแล้ว อาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ต้องการความซับซ้อนในการใช้งาน หรือไม่ได้ใช้อะไรมากกว่าอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แต่สำหรับคนทั่วไปที่ยังต้องการทำงานแบบออฟไลน์หรือทำงานที่ซับซ้อน Chromebook/Chrome OS ไม่ได้ตอบโจทย์แต่อย่างใด

และในที่สุดแล้วอย่างที่คุณ mk เคยบอกเอาไว้ในรีวิว CR-48 ว่าคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของ Chrome OS อาจจะไม่ใช่ใครที่ไหนไกล นอกจาก Android นั่นเอง

ป.ล. ภาพทั้งหมดดูได้ที่นี่ครับ

Blognone Jobs Premium