ที่งาน TechEd Europe 2013 ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารไมโครซอฟท์คนที่ขึ้นพูดบนเวที Keynote หลักของงาน (เกิดมาก็เพิ่งเคยสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับนี้เหมือนกันครับ ตื่นเต้นๆ) นั่นคือคุณ Brad Anderson ตำแหน่งเป็น Corporate Vice President ในส่วนของ Windows Server and System Center (อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นคนคุมสายงาน Windows Server ทั้งหมดนั่นล่ะครับ)
บทสัมภาษณ์นี้จึงเป็นการสนทนากับคุณ Brad ถึงวิธีคิด ยุทธศาสตร์ แนวทางต่างๆ ของไมโครซอฟท์ต่อผลิตภัณฑ์สายเซิร์ฟเวอร์ ศูนย์ข้อมูล รวมไปถึงกลุ่มเมฆ ทั้งปัจจุบันและอนาคตนั่นเอง (ควรอ่าน สัมภาษณ์ผู้บริหารไมโครซอฟท์ Zane Adam วาดยุทธศาสตร์ไอทีสำหรับยุคกลุ่มเมฆ ประกอบ)
ก่อนเข้าเรื่องใหญ่ๆ ผมก็ถามประเด็นยิบย่อยที่สงสัยมานานก่อนครับ
คนรู้จัก Windows Server ว่าเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับทำเซิร์ฟเวอร์ แต่สำหรับ System Center ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักว่ามันคืออะไร อยากให้อธิบายหน่อย
นิยามของคำว่า "ระบบปฏิบัติการ" เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย เดิมทีระบบปฏิบัติการหมายถึงซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ติดต่อกับฮาร์ดแวร์เท่านั้น และระบบปฏิบัติการสำหรับเซิร์ฟเวอร์ก็หมายถึงระบบปฏิบัติการที่รันบนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
แต่ปัจจุบันนี้เวลาเราพูดกันถึง "เซิร์ฟเวอร์" ไม่มีใครหมายถึงฮาร์ดแวร์ตัวเดียวอีกแล้ว แต่ขยายขอบเขตไปถึงศูนย์ข้อมูลหรืออาจไปไกลถึงกลุ่มเมฆกันแล้ว System Center คือซอฟต์แวร์ที่ช่วยบริหารจัดการระบบต่างๆ ภายในศูนย์ข้อมูล จะเรียกมันว่าเป็น "ระบบปฏิบัติการสำหรับศูนย์ข้อมูล" ก็ได้ ซึ่งปัจจุบันคำว่าศูนย์ข้อมูลก็ขยายไปยังการเชื่อมต่อระบบกับกลุ่มเมฆด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เรายังมีผลิตภัณฑ์ใต้แบรนด์ System Center อีกตัวหนึ่งชื่อ System Center Configuration Manager ที่เน้นการบริหารจัดการอุปกรณ์ไอทีภายในองค์กรด้วย
อีกคำถามที่คนสงสัยกันเยอะคือชื่อ Azure มีความเป็นมาอย่างไร และออกเสียงแบบไหนจึงถูกต้อง
คุณ Brad หัวเราะแล้วบอกว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ผู้ช่วยของเขาบอกว่า Azure มีความหมายว่า "blue sky" แต่ทำไมเลือกชื่อนี้ต้องไปถามฝ่ายการตลาด
ส่วนประเด็นเรื่องการออกเสียง เขาบอกว่าแล้วแต่สำเนียงอังกฤษ-อเมริกัน แต่จะอ่าน "แอส-ซัว" หรือ "แอส-เซอ" ก็ได้ (เน้นเสียงพยางค์แรก)
เข้าเรื่องยุทธศาสตร์ด้านเซิร์ฟเวอร์-กลุ่มเมฆของไมโครซอฟท์ เราเห็นไมโครซอฟท์พูดคำว่า Cloud OS บ่อยๆ อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังคำนี้
คุณ Brad อ้างอิงถึงสไลด์ในงาน keynote ว่า "Cloud OS" หมายถึง "แนวโน้ม-ทิศทาง" ของโลกไอทีองค์กร 4 ด้านที่ไมโครซอฟท์เห็นว่าโลกกำลังมุ่งไปในทางนี้ ได้แก่
สิ่งที่ไมโครซอฟท์ต้องการคือเตรียมให้ลูกค้าองค์กรรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ และไมโครซอฟท์เองต้องมีผลิตภัณฑ์-บริการไว้รองรับความต้องการของลูกค้าด้วย
อะไรคือประโยชน์ของกลุ่มเมฆ? ทำไมเราถึงควรย้ายระบบขึ้นไปไว้บนกลุ่มเมฆ?
คำตอบหลักๆ มีแค่ 2 ข้อแต่เป็นปัจจัยสำคัญ ได้แก่
หลักสำคัญของการประมวลผลบนกลุ่มเมฆหรือ cloud เป็นเรื่องของวิธีคิด เป็นเรื่องของโมเดลที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ส่วนเรื่องสถานที่ของจุดที่ทำหน้าที่ประมวลว่าจะอยู่ที่ไหน ภายในหรือภายนอกองค์กร นั้นเป็นเรื่องสำคัญรองลงไป
วิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ในเรื่องกลุ่มเมฆคือ consistent cloud everywhere ไม่ว่าสถานที่ประมวลผลจะเป็น private/public/host ต้องเหมือนกันทั้งหมด ซอฟต์แวร์ทำงานข้ามกันได้ ใช้เครื่องมือบริหารจัดการตัวเดียวกัน ไม่ต้องมีคำว่า migrate โผล่มาให้เห็น
นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมไมโครซอฟท์ถึงขยับตัวอย่างแรงในช่วงหลัง และย้ายซอฟต์แวร์ของตัวเองมาไว้บนกลุ่มเมฆอย่างแข็งขัน ตอนนี้บริษัทยังออกผลิตภัณฑ์เวอร์ชันกลุ่มเมฆไม่ครบ แต่ก็จะพยายามให้ครบในเร็ววัน
ตอนนี้ไมโครซอฟท์มีซอฟต์แวร์ตัวเดียวกันที่รันบนเซิร์ฟเวอร์องค์กรแบบเดิม และรันบน Azure อยากทราบว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า
ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์ตอนนี้คือออกรุ่นย่อยๆ พัฒนาความสามารถใหม่ๆ บน Azure ก่อน เนื่องจากทดสอบกับลูกค้าจริงได้เร็วกว่า เมื่อพัฒนาไปพอสมควรแล้วก็จะรวมฟีเจอร์เหล่านั้นเข้าไปอยู่ในชุดซอฟต์แวร์เวอร์ชันองค์กรอีกทีหนึ่ง
นี่ไม่ได้แปลว่าไมโครซอฟท์จะทิ้งซอฟต์แวร์เวอร์ชันติดตั้งบนเซิร์ฟเวอร์จริง (on premise) ซอฟต์แวร์เหล่านี้ยังสำคัญในเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เป็นระบบแบ็คอัพให้กับเวอร์ชันบน Azure เป็นต้น ในองค์กรขนาดใหญ่ก็คงต้องรันขนานกันไป
เมื่อพูดถึงกลุ่มเมฆ เรามักนึกถึงระบบใหญ่ๆ มากๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับหน่วยงานขนาดใหญ่ คำถามคือหน่วยงานระดับ SME จะเหมาะสมกับกลุ่มเมฆหรือไม่?
ลูกค้าของไมโครซอฟท์คือองค์กรทุกระดับชั้น ปัจจุบันมีองค์กรขนาดเล็กจำนวนมากที่กลับมี "ข้อมูลขนาดใหญ่" ซึ่งการประมวลผลบนกลุ่มเมฆนั้นคุ้มค่ากว่า และเอาเข้าจริงแล้ว องค์กรขนาดเล็กกลับปรับตัวเข้ากับยุคกลุ่มเมฆได้เร็วกว่าองค์กรขนาดใหญ่ด้วยซ้ำ
(หมายเหตุ: ผมได้สัมภาษณ์บริษัท DDM ของอิตาลีซึ่งเป็น startup ทำแอพทีวีบนมือถือในยุโรป 9 ประเทศ มีพนักงาน 8 คนแต่สิ้นเปลืองปริมาณทราฟฟิกเยอะมาก ถือเป็นตัวอย่างลูกค้า Azure ที่เป็น SME ที่น่าสนใจรายหนึ่ง)
การย้ายงานประมวลผลขึ้นไปบนกลุ่มเมฆ มีผลต่อการจ้างงานในโลกไอทีบ้างหรือเปล่า เช่นกลุ่มเมฆจะทำให้คนไอทีตกงาน
ตรงกันข้ามเลย งานหลักของฝ่ายไอทีในองค์กรคือช่วยผลักดันให้สายงานธุรกิจเดินหน้าไปด้วยดี ไม่ใช่การเสียเวลากับการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่จุกจิก ดังนั้นการย้ายระบบขึ้นกลุ่มเมฆช่วยให้ฝ่ายไอทีไม่ต้องมารับภาระงานจุกจิกเหล่านี้ และเอาเวลา-ทรัพยากรไปทำในสิ่งที่ควรทำ นั่นคือช่วยเสริมการพัฒนาธุรกิจของหน่วยงาน
ความเห็นของพนักงานสายไอทีที่มาร่วมงาน มองเรื่องนี้เป็นบวกมากๆ หลายคนมองว่าไมโครซอฟท์มาถูกทางแล้ว เกาะกระแสกลุ่มเมฆทัน และช่วยให้งานของพวกเขาง่ายขึ้น
หมายเหตุ: สไลด์ข้างต้นมาจากการนำเสนอของผู้บริหารอีกคนแต่ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกันเลยนำมาแปะครับ จากภาพคือตำแหน่งงานไอทีแบบเดิม (สีฟ้า) จะคงตัว ส่วนงานสายกลุ่มเมฆ (สีแดง) เพิ่มขึ้นมากจนมีปัญหาว่าแรงงานขาดแคลนมากเพราะเป็นทักษะที่ใหม่ คนยังปรับตัวไม่ทัน
ดูเหมือนว่าไมโครซอฟท์เข้มแข็งมากในตลาดกลุ่มเมฆ อยากทราบว่ามองใครเป็นคู่แข่งบ้าง
บริษัทที่เรามองว่าเป็นคู่แข่งมีด้วยกัน 4 ราย ได้แก่
นอกจากนี้เราก็ยังแข่งขันกับแอปเปิลในตลาดอุปกรณ์ไอที แต่นั่นเป็นเรื่องของตลาดฝั่งคอนซูเมอร์มากกว่า
เมื่อพูดถึงกลุ่มเมฆ คำถามที่เจออยู่เสมอคือ "เมื่อไรจะเปิดศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย" คุณมีปัจจัยในการเลือกประเทศอย่างไร
หลักๆ เลยเราดูเรื่องความต้องการในตลาดนั้นๆ เป็นหลักว่ามีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยเรื่องอื่น เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบของภาครัฐประกอบกันด้วย
ปัจจุบันไมโครซอฟท์มีศูนย์ข้อมูลในเอเชียแปซิฟิกหลายแห่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง โดยไมโครซอฟท์ถือเป็นบริษัทระดับโลกรายเดียวที่เปิดศูนย์ข้อมูลในประเทศจีนในขณะนี้