การ์ด Intel Phi เป็นการ์ดคำนวณประสิทธิภาพสูง กระบวนการทำงานออกแบบสำหรับการคำนวณกับข้อมูลขนาดใหญ่ๆ ที่มีกระบวนการคำนวณเป็นแบบเดียวกันเป็นชุดๆ ตัว Intel Phi เองแม้จะราคาไม่แพงเกินไป (ต่ำกว่าแสน) แต่ก็ไม่ใช่ของที่เราจะเห็นกันได้ทั่วไปเหมือนการ์ดกราฟิก แนวทางของอินเทลจึงเป็นอาศัยการตั้งศูนย์ทดสอบเพื่อให้นักพัฒนาเข้าไปลองใช้งานการ์ดนี้กัน และตอนนี้การ์ดใบนี้ก็มาตั้งเป็นศูนย์ทดสอบในเมืองไทยแล้วที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์ทดสอบนี้เพิ่งจัดสัมมนาไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่วนมากผู้เข้าร่วมจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ศูนย์นี้ก็เปิดให้คนภายนอกเข้าไปทดลองใช้งานได้โดยเขียนข้อเสนอโครงการคร่าวๆ ว่าจะใช้ Phi เพื่อทำอะไรแล้วอีเมลเข้าไปยังโครงการ
การ์ด Phi เองเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์แยกขาดจากเครื่องหลักที่การ์ดมันติดตั้งอยู่ ภายในการ์ดเป็นลินุกซ์และต้องคุยกับเครื่องแม่ผ่านทาง TCP/IP แม้จะเป็น x86 แต่ต้องการคอมไพล์เลอร์เฉพาะ (เท่าที่ทราบมีแต่คอมไพล์เลอร์ของอินเทลเท่านั้นที่รองรับ) เพราะฟอร์แมตไฟล์ต่างไปจากลินุกซ์ปกติ แต่เมื่อคอมไพล์แล้วก็สามารถนำไฟล์ executable ขึ้นไปรันได้เหมือนลินุกซ์ทั่วไป
ข้อได้เปรียบสำคัญของการใช้การ์ด Phi คือ การเชื่อมต่อกับตัวการ์ดนั้นกินเวลาต่ำกว่าการเชื่อมต่อผ่านเน็ตเวิร์คทั่วไปมาก ผมทดลอง ping ไปยังตัวการ์ดได้เวลาเพียง 0.3ms และยังคอมไพล์โปรแกรมแบบเดิมๆ เข้าใช้งานได้ (แต่ต้องคอมไพล์ใหม่) ดังนั้นหากมีแอพพลิเคชั่นที่เป็นคลัสเตอร์ลินุกซ์อยู่แล้ว ก็มีโอกาสจะย้ายงานมารันบน Phi ได้ทันที
ตัวคอมไพล์เลอร์ของอินเทลนั้นสามารถคอมไพล์เฟรมเวิร์คสำหรับการกระจายงานข้ามคอร์ เช่น OpenMP, OpenCL และ Cilk+ ให้กลายเป็นการส่งงานไปรันบนการ์ด MIC ได้เองโดยเราไม่ต้องสนใจกระบวนการเชื่อมต่อ หรือกระบวนการส่งข้อมูลแต่อย่างใด
ที่มา - Intel® Manycore Testing Lab