ช่วงปีที่ผ่านมาแม้ตลาดโทรศัพท์มือถือจะยังคงความร้อนแรงต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ผมและเพื่อนๆ หลายคนคุยกันเสมอๆ คือช่วงหลังมานี้ไม่มีอะไรใหม่อีกเลย หลังจากเราตื่นเต้นกับเน็ตบุ๊กที่ทำให้โน้ตบุ๊กเบามากๆ พอจะถือไปไหนมาไหนได้จริงๆ เราก็ยังตื่นเต้นกับสมาร์ตโฟนที่ความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาเราเห็นแท็บเล็ตที่ครองตลาดแทนเน็ตบุ๊กไปได้แทบทั้งหมดโดยที่การใช้งานง่ายลงมาก และเกิดฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ๆ
แต่ในช่วงหลังเรากลับเห็นอุปกรณ์เหล่านี้ออกรุ่นใหม่ ดีขึ้น จอสวยขึ้น ซีพียูแรงขึ้น แรมมากขึ้น โดยรวมเราใช้งานมันได้สะดวกขึ้นมาก แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงปีที่ผ่านมา คำถามของหลายๆ คนที่ถามกันคือ แล้วอะไรจะเป็นอุปกรณ์ต่อไปที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราในระดับเดียวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในตลาดช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้
หลายคนเชื่อว่ามันคือคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ (wearable computing) ทั้ง Google Glass ที่แม้จะน่าตื่นเต้นแต่ก็ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากเพราะราคาแพงและขายวงจำกัด หรือจะเป็นข่าวนาฬิกาจากแบรนด์ดังๆ อย่าง Sony Smartwatch หรือข่าวลือ iWatch ของแอปเปิล
Pebble เป็นหนึ่งในโครงการใน KickStarter ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ด้วยเงินสนับสนุนกว่าสิบล้านดอลลาร์จากผู้สนับสนุนเกือบเจ็ดหมื่นคน มันเป็นหนึ่งในสัญญาณว่าคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้น่าจะมีอนาคตที่ดี
รูปร่างภายนอกของ Pebble นั้นเริ่มจาก ปุ่มด้านขวา ที่จะเป็นปุ่ม ขึ้น, เลือก, ลง ตามลำดับ ส่วนปุ่มด้านซ้ายเป็นปุ่มย้อนกลับ ด้านซ้ายล่างเป็นที่เสียบสายชาร์จแบบแม่เหล็ก แบบเดียวกับ Surface
การใช้งาน Pebble เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาก็จะกลายเป็นนาฬิกาแบบคำภาษาอังกฤษที่เราเห็นในโฆษณา Pebble ก่อนหน้านี้ แต่เพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็ต้องไปลงแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์กันก่อน จากนั้นค้นหาตัว Pebble แล้วกดยืนยันเชื่อมต่อทั้งที่โทรศัพท์และ Pebble เองก็เรียบร้อย ตรงนี้ต้องระวังว่าหาก Pebble ไปผูกไว้กับโทรศัพท์คนอื่นแล้วจะแสกนไม่เจออีก ต้องไปสั่งลบการผูกเครื่องไว้ก่อน
การเชื่อมต่อกับโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของ Pebble นั้นมีทางเดียวคือ Bluetooth เท่านั้น รวมถึงการอัพเดตเฟิร์มแวร์ เมื่อเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่ก็สั่งอัพเดตกันได้เลย
ฟีเจอร์พื้นฐานของ Pebble ที่ได้มาทันทีคือการช่วยเตือนเมื่อมีสายเข้าโทรศัพท์ และการใช้ Pebble เพื่อเลือกเพลง กรณีของผมพยายามใช้ Pebble เพื่อควบคุม Deezer พบว่าไม่สำเร็จ ตัว Deezer จะหยุดทำงานทุกครั้งที่พยายาม
จุดสำคัญที่สุดของ Pebble คือความสามารถในการติดตั้งแอพพลิเคชั่นลงไปได้ และสามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ได้ ตัวอย่างที่ผมเล่นคือ Pebble Calendar ที่แสดงหน้าจอเป็นปฎิทิน โดยที่ตัวโทรศัพท์เองนั้นส่งข้อมูลปฎิทินของเครื่องไปให้ ทำให้สามารถแสดงนัดหมาย และช่วงเวลาที่ว่างไม่ว่างบนปฎิทินได้
Pebble จะแบ่งแอพพลิเคชั่นเป็นสองประเภทคือ Watchface และ App ทั้งสองอย่างต่างกันคือแอพพลิเคชั่นในกลุ่ม Watchface นั้นเป็นถูกแสดงที่หน้าจอระดับนอกสุด โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีการโต้ตอบกับผู้ใช้ใดๆ แต่เป็นการแสดงผลเป็นช่วงๆ เท่านั้น ส่วน App จะมีการโต้ตอบกับผู้ใช้บ้างผ่านทางปุ่มขึ้นลง ตัวอย่างเช่น Pebble Calendar นั้นมีทั้ง Watchface และ App กรณี Watchface จะแสดงเฉพาะเดือนล่าสุดเท่านั้น และจะแสดงสลับกับเวลาไปเรื่อยๆ แต่ส่วน App จะสามารถเลือกเดือนที่ต้องการดูปฎิทินได้
การพัฒนาแอพพลิเคชั่นบน Pebble นั้นต้องเขียนด้วยภาษา C ทั้งหมดเพราะทรัพยากรที่จำกัดบนซีพียู Cortex-M3 การเขียนแอพพลิเคชั่นต้องระวังการใช้พลังงานตลอดเวลา ที่แปลกคือแม้เครื่องจะระบุว่ามี accelerometer สามแกนมาในตัวแต่ผมไม่พบ API สำหรับการอ่านค่าออกมา
การใช้งานที่จำกัดมากคงทำให้ Pebble และคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ในอนาคตยังต้องทำการบ้านกันอีกมากว่าเราจะนำมันมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ผมลองเล่นตัว Pebble เองแล้วยังพบว่าการติดต่อกับหน้าจอขนาดเล็กด้วยปุ่มนั้นเป็นเรื่องไม่สะดวก จนกระทั่งหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้งานโดยตรงจะสะดวกกว่าก็คงเป็นโจทย์ว่าเราจะหารูปแบบการใช้งานที่เหมาะกับมันออกมาได้หรือไม่
ขอบคุณ +sarunyoo wangwong ที่ให้ยืม Pebble เครื่องนี้มาทดสอบด้วยครับ