เวลาที่เราฝากเงิน ตัวเลือกแรกที่เราฝากกันเสมอคือ ฝากออมทรัพย์ หรือไม่ก็ฝากเผื่อเรียก แม้ชื่อของการฝากออมทรัพย์จะเป็นการฝากเพื่อออม แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราต้องการออมเงินในระยะยาวจริงๆ การฝากแบบฝากออมทรัพย์กลับเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนักเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เราจะมาดูกันว่าเงินฝากแบบไหนที่เหมาะกับเรา
เมื่อก่อนนี้ ธนาคารมักจะมีเงินฝากสี่รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- เงินฝากออมทรัพย์ ไม่มีเงื่อนไขในการถอน คือจะฝากหรือถอนเท่าไหร่ก็ได้ ยกเว้นถอนด้วยบัตรเอทีเอ็มที่จะมีกำหนดจำนวนเงินและครั้งในการถอนผ่านบัตร เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายรับรายจ่ายเป็นประจำ และสามารถทำรายการถอนเงินด้วยตัวเองได้ แต่ข้อเสียสำคัญคือดอกเบี้ยน้อย
- เงินฝากประจำ จะมีอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าสูงกว่าเงินฝากออกทรัพย์ แต่จะมีเงื่อนไขระยะเวลาระบุ เช่น 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 12 เดือน เหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินและไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะต้องคงเงินเอาไว้ในบัญชีตามที่ระบุไว้ ไม่อย่างนั้นดอกเบี้ยจะลดลง และเนื่องจากเป็นเงินฝากระยะยาว หลายธนาคารจะระบุขั้นต่ำไว้ระดับ 10,000 บาทไปจนถึงหลักแสนบาท
- เงินฝากปลอดภาษี เป็นเงินฝากประจำที่มีเงื่อนไขระบุระยะเวลา ลูกค้าจะต้องส่งมอบเงินฝากให้ธนาคารประจำทุกเดือน ยอดรวมไม่เกิน 600,000 บาทเมื่อครบกำหนด เหมาะกับผู้มีรายได้สม่ำเสมอและต้องการสร้างวินัยในการออมอย่างมาก เพราะต้องฝากเท่ากันทุกเดือนเป็นเวลานับปีจนกระทั่งครบแล้วจึงจะถอนออกมาได้ หากต้องใช้เงินระหว่างนั้นก็จะกลายเป็นเสียผลประโยชน์ไป
- เงินฝากกระแสรายวัน ไม่มีข้อจำกัดในการถอน แต่ลูกค้าจะไม่ได้รับสมุดเงินฝาก แต่จะถอนเงินได้ในรูปของเช็คแทน เหมาะสำหรับบุคคลที่ต้องการถอนเงินเป็นประจำโดยไม่ต้องการถอนเงินด้วยตัวเอง คือใช้เช็คในการจ่ายเงินแทน รูปแบบนี้แม้จะสะดวกหลายอย่างแต่ก็แลกมาด้วยการไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย
ลองมาดูอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2556 กันเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
จะเห็นว่าอัตราดอกเบื้ยโดยทั่วไป การฝากออมทรัพย์จะให้ดอกเบื้ยต่ำมาก ขณะที่ดอกเบื้ยของการฝากประจำนั้นอาจจะสูงได้ถึง 3% ต่อปี แต่ก็หมายถึงเราจะถูกจำกัดการฝากถอนเงินไปถึงสองปีเต็ม
ช่วงหลังหลายธนาคารเริ่มให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ที่เปิดให้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นแต่ยังมีอิสระในการฝากถอนเงินอยู่ หลายบริการให้บริการแบบดอกเบื้ยขั้นบันได นั่นคือเมื่อเราฝากเงินไปช่วงเวลาหนึ่งก็จะได้ดอกเบื้ยในแต่ละเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบนี้แม้ช่วงเดือนท้ายๆ จะได้ดอกเบี้ยสูงเหมือนฝากประจำระยะเวลานานๆ และยังมีอิสระในการถอนเงินมาใช้ก่อนหมดช่วงเวลาได้ แต่เมื่อนำดอกเบื้ยมาเฉลี่ยกันแล้วบางครั้งก็ไม่ได้สูงมากนัก
ช่วงนี้เราน่าจะได้เห็นสื่อต่างๆ ประชาสัมพันธ์ ME by TMB กันมาบ้าง แม้จะเห็นโฆษณาหลักๆ ว่าให้ดอกเบี้ยห้าเท่า และชื่อต่อท้ายว่า by TMB แต่ที่จริงแล้ว ME by TMB เป็นบริการธนาคารที่แยกออกมาต่างหาก มีสาขา (ที่เรียกว่า ME Place) และบริการต่างๆ แยกออกจากกัน โดย ME by TMB ตอนนี้มีบัญชีแบบเดียวคือ ME ที่เป็นบัญชีที่ต้องใช้บริการทางออนไลน์แทบทั้งหมด โดยที่เราแทบไม่ต้องไปที่สาขาอีกเลยหลังจากเปิดบัญชีครั้งแรก
ME เป็นบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง (ในตอนที่เขียนบทความ ไม่รวมโปรโมชั่นก็ยังอยู่ในระดับเดียวกับดอกเบี้ยฝากประจำ 24 เดือน) โดยไม่มีเงื่อนไขระยะเวลาฝากหรือปริมาณเงินฝากขั้นต่ำ แม้ว่า ME by TMB จะแยกจาก TMB แต่เราก็ยังใช้ช่องทางของ TMB เพื่อฝากเงินได้ทั้งเครื่องรับฝากเงิน (ADM) หรือการโอนเงินเข้าจากบัญชีอื่นๆ รวมไปถึงการฝากผ่านเช็ค (เฉพาะ ME Place) โดยมีข้อจำกัดเดียวคือเราไม่สามารถไปถอนเงินสดออกจาก ME โดยตรงได้ แต่ต้องโอนออกไปยังบัญชีหลักอีกบัญชีที่เราระบุไว้ตอนสมัคร โดยทั่วไปก็แนะนำให้ใช้บัญชีหลักเป็น TMB เพราะสามารถโอนออกได้ฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง เมื่อเราต้องการใช้เงินก็ต้องโอนเข้าบัญชีที่ผูกไว้แล้วจึงสามารถถอนเป็นเงินสด หรือโอนออกไปยังบัญชีอื่นๆ
ด้วยรูปแบบนี้เราสามารถใช้บริการฝากเงิน ME เป็นจุดพักเงินออมเอาไว้แทนที่จะปล่อยเงินฝากเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบื้ยน้อย รูปแบบการฝากเงิน ME นั้นให้ดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาอยู่ในช่วง 3.0 ถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ (ขึ้นกับเงื่อนไขในแต่ละช่วงเวลา) อย่างไรก็ดี การปรับดอกเบี้ยขึ้นลงเป็นไปตามประกาศของ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ว่าจะปรับสูงหรือลดดอกเบี้ย แต่โดยรวม ME ก็ยังให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปอยู่ดี
โดยสรุป ความแตกต่างสำหรับบัญชีแต่ละประเภท ได้ตามตาราง
จะเห็นว่า ME ให้อิสระในหลายรูปแบบมากกว่า แต่ข้อจำกัดสำคัญคือการถอนออนไลน์ที่ต้องถอนด้วยการโอนออกไปยังบัญชีหลัก แต่ในแง่ความปลอดภัย การล็อกเงินไว้ในบัญชีที่โอนเข้าไปได้เฉพาะบัญชีของเราเองเท่านั้นก็ช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาการถูกแฮคบัญชีธนาคารออนไลน์ผ่านทางมัลแวร์และการล่อลวงให้โอนไปยังคนร้าย ถ้าเรามีเงินเอาไว้ในบัญชีปกติเท่าที่เราพอใช้งานในแต่ละเดือนแล้ววางเงินเก็บไว้ใน ME หากจะมีคนร้ายมาล่อลวงเอาเงินออกไปก็ต้องผ่านการโอนออกไปยังบัญชีหลักก่อน หากวันหนึ่งเราพลาดพลั้งถูกมัลแวร์หลอกโอนเงินเข้าจริงๆ ความเสียหายก็ยังจำกัดอยู่ที่เงินที่เราเตรียมไว้ใช้ประจำวัน
นับว่า ME น่าลองใช้แบ่งเงินเก็บออกจากบัญชีออมทรัพย์ มาเป็นบัญชีที่ใช้เก็บเงินส่วนที่เรายังไม่ได้ใช้ทันทีเป็นประจำ แล้วเราอาจจะพบว่าเราเสียโอกาสได้ดอกเบี้ยปีละหลายพันหรือหลายหมื่นบาทมานานกว่าที่คิด
ที่มา - Fun Fund Forum, TMB Bank, Bank of Thailand, Bank of Thailand (2)