[ตอนที่ 3] สัมภาษณ์ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ถึงปัญหาสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800MHz

by mk
24 July 2013 - 07:26

บทความชุดปัญหาสัมปทานคลื่น 1800MHz (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2) ขอปิดท้ายด้วยการสัมภาษณ์ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งถือเป็น กสทช. ด้านที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาของผู้บริโภคในประเด็นเรื่องสัมปทานหมดอายุ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า กสทช. ประวิทย์ เป็นคณะกรรมการ กทค. เสียงข้างน้อยที่มักมีความคิดเห็นไม่ตรงกับ กทค. เสียงข้างมากอีก 4 คนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในประเด็นเรื่องปัญหาสัมปทานหมดอายุครั้งนี้ วิธีการแก้ไขที่ กทค. เสียงข้างมากเสนอคือออกประกาศ กสทช. คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขยายระยะเวลาการให้บริการ เราจึงอยากทราบ "ความเห็นอีกด้าน" ว่า กทค. เสียงข้างน้อยมองเรื่องนี้อย่างไร

คำถามแรกคือ ทำไมถึงจัดประมูลคลื่น 1800Mhz ไม่ทัน?

ทุกคนรู้ล่วงหน้าว่าสัมปทานคลื่น 1800MHz จะหมดเมื่อไร เพราะเขียนไว้ในสัญญาสัมปทานมาเป็นสิบปีแล้ว และการเตรียมตัวให้พร้อมรับสัมปทานหมดอายุ ถือเป็นภารกิจสำคัญของ กสทช.

ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ผมเสนอให้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แต่ กสทช. คนอื่นไม่ได้เสนอเลย แถมบอกด้วยว่าไม่ต้องใส่ก็ได้ แต่สุดท้ายก็ยอม

เรื่องการประมูลก็พูดกันมาตั้งนานแล้ว ถ้านับจุดเริ่มต้นแบบเป็นทางการจริงๆ ผม กับ กสทช. สุภิญญา ก็จัดงาน NBTC Public Forum เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 พูดประเด็นเรื่องหมดสัมปทาน ตอนนี้เวลาผ่านมาหนึ่งปีแล้ว เราใช้เวลาหนึ่งปีจัดการประมูลกันไม่ทันจริงๆ หรือ

ตอนที่ประมูลคลื่น 2100MHz เอกชนบางรายยังเสนอด้วยซ้ำให้ประมูล 1800MHz ไปพร้อมๆ กันหรือต่อกันเลย แสดงให้เห็นว่าเอกชนเองก็พร้อมประมูล ดังนั้นตัว กสทช. เองนี่แหละที่ไม่พร้อม ไม่ใช่เอกชนไม่พร้อม

เคยมีนักกฎหมายบางคนให้ความเห็นกับผมว่า กสทช. มีงบประมาณหลายพันล้านบาทต่อปี มีพนักงานเป็นหลักพัน ถ้าต้องจัดการประมูลภายในหนึ่งปีจริงๆ จะมาทำงานแบบ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วันก็ทำได้ แล้วยังจัดการประมูลไม่ทันอีกหรือ

กทค. เสียงข้างมากได้เสนอวิธีออกประกาศคุ้มครองผู้บริโภค แล้วข้อเสนอของคุณหมอต่อประเด็นปัญหาเรื่องสัมปทาน 1800MHz คืออะไร

อย่างแรกต้องแสดงจุดยืนก่อนว่า วิธีที่ดีที่สุดคือต้องจัดประมูลให้ทัน แต่ตอนนี้คงช้าไปแล้ว

วิธีที่ดีรองลงมาคือ ต้องโอนสิทธิลูกค้าไปให้กับ CAT ซึ่งตรงนี้ในสัญญาสัมปทานของ CAT กับ True/DPC ก็เขียนเรื่องการโอนถ่ายลูกค้าไว้ชัดเจนแล้ว แถมในสมัยของ กทช. ก่อนมี กสทช. ตอนที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับ CAT ก็กำหนดเงื่อนไขว่าต้องส่งแผนการรองรับผู้บริโภค 60 วันก่อนหมดสัญญา

ตรงนี้ท่าทีของ True กับ DPC แตกต่างกัน ฝั่งของ True บอกว่ายินดีจะปฏิบัติตามแต่ขอให้ กสทช. มีแนวทางที่ชัดเจนก่อน แล้ว True พร้อมจะปฏิบัติตาม

ส่วน DPC บอกว่ามีแผนแจ้งให้ลูกค้าย้ายค่ายล่วงหน้า จะย้ายไปค่ายไหนก็ได้ และถ้าลูกค้าเหลือค้างในวันหมดอายุสัมปทานก็จะโอนสิทธิให้ CAT ซึ่งอันนี้ตรงตามสัญญาสัมปทานของ CAT และในทางปฏิบัติแล้ว CAT สามารถใช้คลื่นอื่นให้บริการได้ จะเป็น 850MHz หรือ 1800MHz ก็ได้

การโอนสิทธิลูกค้าข้ามบริษัทเป็นสิ่งที่ทำได้แน่นอน และในอดีต กสทช. เองก็เคยอนุมัติแผนการโอนสิทธิลูกค้ามาแล้วสองครั้ง ครั้งหนึ่งคือมีบริษัท MVNO รายหนึ่งของ TOT อยากยุติกิจการ และใช้วิธีตั้งบริษัทที่สองมาดำเนินกิจการแทน ก็มาขอโอนลูกค้าจากบริษัทเดิมไปยังบริษัทใหม่ ลูกค้าไม่เดือดร้อน

อีกกรณีหนึ่ง เคยมีบริษัทบัตรโทรศัพท์ข้ามประเทศอยากปิดกิจการ ใช้วิธีโอนสิทธิให้เอกชนรายอื่นบริการต่อ ตามจำนวนเงินของลูกค้าที่เหลือค้างอยู่ ซึ่ง กสทช. ก็อนุมัติด้วยดี

หลายคนมีคำถามว่า ถ้าให้ CAT เป็นคนดูแลลูกค้าที่รับโอนไป แล้ว CAT จะสามารถให้บริการลูกค้าได้ไหวหรือไม่

เรื่องนี้ ฝั่งของ DPC คือคุณวิเชียร เมฆตระการ ซีอีโอของ AIS เคยให้ข้อมูลไว้ว่าถ้า CAT รับโอนสิทธิลูกค้าไปแล้วมีปัญหาเรื่องการดูแลโครงข่าย ก็สามารถเอาท์ซอร์ส DPC ในรูปแบบการจ้างบริหารโครงข่ายได้ ส่วนเงินรายได้ยังเข้า CAT และลูกค้าเป็นของ CAT แน่นอน ฝั่งของ DPC รับค่าจ้างรายปีเท่านั้น

DPC เจรจากับ CAT เรื่องนี้มาจนเกือบเสร็จแล้ว แต่พอ กสทช. เตรียมออกประกาศฯ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่ง เอกชนก็ขอรอดูท่าทีของ กสทช. ก่อน

สมมติว่าถ้า CAT รับโอนลูกค้าไปแล้วเรื่องคลื่นจะทำอย่างไร เพราะลูกค้ายังต้องใช้คลื่น 1800MHz กับมือถือเครื่องเดิม

ในทางปฏิบัติแล้ว CAT สามารถนำคลื่นของตัวเองมาให้บริการได้ หรือจะเจรจากับ DTAC เอาคลื่น 1800MHz ที่สำรองไว้มาใช้งานก็ได้

แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้คลื่นก้อนเดิมจริงๆ ก็ต้องกลับไปดูข้อกฎหมาย

ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ กสทช. กำหนดว่าต้องคืนคลื่นเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ดังนั้นถ้าคืนช้ากว่ากำหนดก็ผิดกฎหมาย

มีนักกฎหมายบางท่านเสนอให้แก้แผนแม่บทข้อนี้ข้อเดียว ซึ่งในความเห็นผมคิดว่าทำได้เร็วกว่าการร่างประกาศฉบับใหม่ทั้งฉบับ ก็ต้องดูว่าเพราะอะไร กทค. ถึงเลือกแนวทางการออกประกาศฉบับใหม่แทนการแก้แผนแม่บท

คุณหมอมีความเห็นต่อร่างประกาศ กสทช. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกรณีหมดสัญญาสัมปทานอย่างไร

ตรรกะของมันคือ ลูกค้าของ True ย้ายค่ายไม่ทัน มีลูกค้าตกค้างหลังวันหมดสัญญาสัมปทาน ต้องออกประกาศมาเพื่อดูแลผู้บริโภค

แต่ประกาศฉบับนี้กลับกำหนดให้ใช้งานสำหรับกรณีหมดสัญญาสัมปทานทุกกรณี คำถามคือรู้ได้อย่างไรว่า สัมปทาน AIS หรือ DTAC หมดแล้วจะย้ายลูกค้าไม่ทันด้วย

ถ้าอ้างเหตุเฉพาะหน้าในการออกประกาศ ทำไมถึงต้องออกประกาศให้ครอบคลุมกรณีในอนาคตด้วย ทำไมต้องไปแตะคลื่นอื่นในตอนนี้ เรารู้อยู่แล้วว่าสัมปทานของ AIS กับ DTAC จะหมดเมื่อไร ถ้าย้ายลูกค้าไม่ทันอีก ถือว่า กสทช. ล้มเหลวมาก

การอ้างว่าเอกชนยังไม่พร้อมกับการประมูลคลื่น เป็นเหตุผลที่คิดเอาเอง เพราะทั้ง AIS และ DTAC ต่างก็เคยเสนอให้รีบประมูลคลื่นล่วงหน้าเลย เพราะเอกชนเองอยากได้ความแน่นอนว่าจะได้ใช้งานคลื่นไปถึงเมื่อไร วางแผนลงทุนล่วงหน้าได้

ถ้า กสทช. ยึดคลื่นคืนมาไว้เฉยๆ ไม่นำมาประมูลโดยอ้างว่าเอกชนไม่พร้อม ยืดระยะเวลาไปอีกหนึ่งปี ทั้งที่เป็นคลื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เอกชนคนอื่นๆ อยากใช้ จะนำมาเก็บไว้ทำไม กฎหมายกำหนดว่าให้นำคลื่นไปประมูล แต่การออกประกาศนี้แปลว่าให้เอกชนใช้งานโดยไม่ต้องประมูลหรือเปล่า? เป็นการเยียวยาเอกชนรายไหนเป็นการเฉพาะหรือเปล่า?

ภาคเอกชนผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั่วโลกต่างต้องการให้ประมูลคลื่นล่วงหน้า วางแผนการลงทุนในอนาคต วางแผนการย้ายลูกค้าได้ถูกว่าถ้าแพ้ประมูลจะทำอย่างไร ถ้าชนะประมูลจะทำอย่างไร ถ้าได้คลื่นเดิมต่อจะได้ไม่ต้องชะลอการลงทุนเพราะรู้อยู่แล้วว่าจะได้ใช้ไปถึงเมื่อไร ทาง GSM Association ก็เคยออกคำแนะนำว่าเอกชนอยากรู้ล่วงหน้าก่อน 3-5 ปีว่าจะได้คลื่นต่อหรือเปล่า

กสทช. ควรกำหนดระยะเวลาตายตัวไปเลยหรือไม่ว่า จะประมูลคลื่นก่อนหมดอายุกี่ปี

ควรกำหนด ตัวเลขจะเป็นกี่ปีก็ได้ แต่ควรมีมาตรฐานเดียวกันกับทุกคลื่น ทุกสัญญาสัมปทาน ไม่ใช่ว่ากรณีของ True ประมูลกันไม่ทัน แต่พอถึง DTAC กลับประมูลก่อนหลายปี

ตามหลักวิชาการแล้ว การประมูลล่วงหน้าก่อนนานเกินไป จะมีปัญหาเรื่องการคาดเดาว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นระหว่างนั้นหรือไม่ ทำให้เอกชนอาจตีมูลค่าคลื่นผิดพลาดไป ดังนั้นก็ไม่ควรเร็วหรือช้าเกินไป

ถ้า กสทช. กำหนดหลักการเรื่องระยะเวลาการประมูลคลื่นได้เมื่อไร เรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการหมดอายุของใบอนุญาตคลื่น 3G 2100MHz ที่เพิ่งประมูลไปปีที่แล้ว (หมดปี 2570) ด้วย

เหตุเพราะว่ากรณีการหมดสัญญา "สัมปทาน" กฎหมาย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (พ.ร.บ. จัดตั้ง กสทช.) เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ถ้าหมดสัญญาสัมปทาน ให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาเรียกคืนคลื่น (ซึ่ง กสทช. ไปกำหนดไว้ในแผนแม่บทอีกทีว่า "ทันที")

แต่กรณีของ "ใบอนุญาต" ในระบบใหม่ ไม่มีบทเฉพาะกาลตรงนี้ ดังนั้นหมดแล้วหมดเลย คืนทันที เจตนาของกฎหมายคือใบอนุญาตสิ้นสุดอายุ คลื่นคืนกลับมายัง กสทช. ทันที การยืดอายุลักษณะเดียวกับที่จะทำอยู่ตอนนี้ทำไม่ได้แน่นอน

ประกาศคุ้มครองผู้บริโภคกรณีหมดสัญญาสัมปทาน จะยืดอายุให้อีก 1 ปี ถ้าไม่ทันจะทำอย่างไร

อ.แก้วสรร อติโพธิ เคยพูดเอาไว้ว่า 1 ปีแน่นอน ไม่ขยายระยะเวลาเพิ่ม ต้องเร่งย้ายลูกค้า เร่งประมูลคลื่นให้เสร็จภายใน 1 ปี

แต่ช่วงหลังก็เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่าถ้าไม่ทันในกรอบ 1 ปีจะทำอย่างไร เริ่มมีความรวนเรในหลักการของการเยียวยา ถ้าปล่อยไว้เรื่อยๆ ไม่เร่งรัด เอกชนก็ไม่รีบย้ายลูกค้า ดังนั้นอาจเห็นการขยายระยะเวลาออกไปอีกก็เป็นได้

อีกประเด็นที่น่าจับตาในประกาศคือ ห้ามรับลูกค้าใหม่เพิ่มเติมระหว่างช่วง 1 ปีที่คุ้มครองเป็นพิเศษ แต่ทาง True ก็เคยแสดงความเห็นว่าถ้าช่วง 1 ปีที่เปิดบริการนี้ขายซิมใหม่ไม่ได้ ก็อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการให้บริการ

เอกสารประกอบ

ร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...

Blognone Jobs Premium