เปิดศึก! สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จับมือสหพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมลงชื่อยื่นถอดถอน กสทช. ทั้งชุดกับวุฒิสภา

by magnamonkun
29 July 2013 - 06:25

ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นข่าวใหญ่ประจำวงการโทรคมนาคมประจำวันเลยทีเดียว เมื่อ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ส.พรท.) โดยมี สหภาพฯ กสท. โทรคมนาคม สหภาพฯ ทีโอที และสหภาพฯ อสมท. รวมไปถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอีก 41 แห่ง เพื่อร่วมมือกันลงนามและยื่นหนังสือ ถอดถอน กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทั้งคณะ แก่วุฒิสภาในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ครับ

โดยสหภาพฯ เล็งเห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในมาตรา 84 วรรค 3 ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่ กฏหมายบังคับใช้ รัฐวิสาหกิจต้องนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับในการให้สัมปทานแก่ผู้ได้สัมปทาน ที่รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการตามกฏหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการออกกฏหมาย ให้ กสท. ต้องส่งรายได้ที่เกิดจากสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ก่อนวันที่กฏหมายใช้บังคับให้ กสทช. นั่นเอง

ดังนั้นการมี กสทช. จึงส่งผลให้ กสท. เสียสิทธิที่เกิดจากสัญญาสัมปทาน มีผลกระทบกระเทือนต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งขัดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 305 ที่ระบุว่า การใช้กฏหมาย มาตรา 47 ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาสัมปทาน

และสหภาพฯ ยังได้ชี้แจงถึงประเด็นเรื่องการหมดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ของทรูมูฟ และ DPC ว่าการที่ กสทช. ออกประกาศเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (อินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2556 และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ... ที่ยังอยู่ในระหว่างการทำประชาพิจารณ์นั้น เป็นการสร้างผลเสียให้กับระบบรัฐวิสาหกิจอย่างมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่องการเงินอย่างรุนแรงครับ

และนอกจากนี้ยังได้อ้างถึงการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ผ่านมาว่า เป็นการเกื้อหนุนผลประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการรายเดิมที่มีอยู่แล้ว (ที่มาในชื่อบริษัทใหม่) แต่กสทช. กลับประกาศว่าการประมูลที่ผ่านมานั้น เป็นไปอย่างโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ บริษัทที่เข้าประมูล เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจร่วมกับบริษัทที่ก่อตั้งในไทย ก่อนจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้ครอบครองกิจการอย่างเป็นธรรม (กรณีนี้กล่าวถึง เอไอเอส และ ดีแทค โดยตรง) ผลสุดท้ายก็คือเอกชนที่เป็นบริษัทข้ามชาติก็จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด อีกทั้งยังทำให้ระบบรัฐวิสาหกิจไม่มีความหมาย สูญเสียรายได้ทั้งหมด และสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างรุนแรง

ผลร้ายแรงที่สุดก็คือ บริษัทข้ามชาติก็จะครอบงำกิจการโทรคมนาคมในประเทศทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนในระบบโทรคมนาคมเพราะระบบรักษาความปลอดภัย ความลับต่างๆ ที่ส่งผ่านระบบโทรคมนาคมภายในประเทศ ก็จะไม่มีความปลอดภัย และไม่ได้รับความเชื่อถืออีกในอนาคต

นอกจากนี้ แนวทางในการดำเนินงานด้านระบบโทรทัศน์ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิตอลทีวี ก็ยังคงไม่มีความแน่นอน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็มีการปรับลดค่าธรรมเนียมอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการปรับลดอัตรารายการข่าวที่ 75% เหลือเพียง 50% นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กสทช. เองไม่สนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่าต้องการให้เกิดการส่งเสริมการเข้าถึงเนื้อหาที่ดีของคนในสังคม

ส่วนด้านทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีท้องถิ่น ก็ไม่มีผลการดำเนินงานที่แน่ชัดอีกเช่นกัน (ยกเว้น กรณีเรียกดูเทป Hormones จากแกรมมี่) เพราะปัจจุบันทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีท้องถิ่น ยังคงมีการโฆษณาที่เกินจริง และมีสื่อลามกเต็มไปหมด ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นอีกว่า กสทช. ยังดำเนินงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งในอนาคตถ้ามันยังเป็นแบบนี้อีกต่อไป สหภาพฯ กสท ให้ความเห็นว่าให้เอาระบบนี้กลับไปให้หน่วยงานเดิมที่เคยดูแลนั้นทำต่อไปยังจะดีกว่าครับ

กรณีนี้จะเป็นยังไง ก็ติดตามกันวันที่ 6 สิงหาคมนี้ครับ

ที่มา - Manager Online

Blognone Jobs Premium