รีวิว Seagate Wireless Plus ฮาร์ดดิสก์ไร้สายเพื่อนักเดินทาง

by Blltz
1 August 2013 - 08:23

ในงาน CES 2013 ช่วงต้นปี Seagate ได้เปิดตัวฮาร์ดดิสก์ไร้สายซีรีส์ Wireless Plus ที่ออกแบบมาเพื่อใช้สตรีมคอนเทนต์ไปยังอุปกรณ์พกพาโดยเฉพาะ และมาพร้อมกับแบตเตอรี่ในตัวสำหรับพกพาไปใช้งานนอกสถานที่

ตอนนี้เจ้าฮาร์ดดิสก์ไร้สายที่ว่าเริ่มขายในประเทศไทยแล้ว (ดูราคามาอยู่ที่ 6,390 บาท) ทาง Seagate ได้ส่งมาให้ลองใช้ดู โมเดลที่ได้มารีวิวเป็นรุ่น 1TB ครับ (เข้าใจว่ามีความจุเดียวเนี่ยแหละ)

เกริ่นมาพอสมควรแล้วก็มาดูเจ้า Seagate Wireless กันเลย ตัวแพคเกจมาในขนาดใหญ่พอตัว ด้านในมีอุปกรณ์คู่ชีวิตอย่าง อแดปเตอร์ชาร์จไฟ สาย AC-to-DC และสาย USM SATA-to-USB 3.0 ครับ (ไม่ได้ถ่ายรูปมา T__T)

หน้าตาตัวฮาร์ดดิกส์มาในขนาดใหญ่พอตัว ผิวด้านบนเป็นพลาสติกแข็งฉีดยางคลุมอีกชั้น และทำลายเสมือนเป็นโลหะ ส่วนที่เหลือเป็นยางด้านทั้งหมด ด้านบนจะมีเพียงไฟแสดงสถานะการเปิดโหมดไร้สาย กับไฟแสดงสถานะแบตเตอรี่

ความหนาของ Seagate Wireless Plus อยู่ที่ 19.9 มม. เทียบกับเหรียญสิบแล้วได้ประมาณนี้

ด้านซ้ายของตัวฮาร์ดดิสก์มีปุ่มเปิดการใช้งานอยู่ (อยู่ขอบล่างๆ หน่อย) ส่วนด้านขวามีพอร์ต DC สำหรับชาร์จไฟ

พลิกมาด้านล่างไม่เจออะไรนอกจากจุดยางที่มุมทั้งสี่เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมั่นคง

ตัวฮาร์ดดิสก์เปล่าๆ ตอนแรกจะปิดพอร์ต USM SATA ที่มีไว้สำหรับต่อกับพีซีเอาไว้ ตรงนี้สามารถถอดออกมาได้

แซะออกมาแล้วจะเห็นพอร์ตหน้าตาแบบนี้ครับ

ทีนี้ก็ถึงคิวของอุปกรณ์เสริมสำหรับต่อกับพอร์ต USM SATA ให้สามารถใช้งานร่วมกับ USB 3.0 ได้กันแล้ว ที่อุปกรณ์ตัวนี้จะมีไฟสีขาวสำหรับแสดงสถานะขณะกำลังใช้งานอยู่ด้วย

เมื่อต่อแล้วจะมีหน้าตาแบบนี้ ผิววัสดุที่ใช้เป็นแบบเดียวกับฮาร์ดดิสก์เด๊ะๆ

เริ่มต้นใช้งาน

ฟีเจอร์หลักๆ ของ Seagate Wireless Plus มีเพียงหนึ่งเดียวคือการสตรีมคอนเทนต์จากตัวฮาร์ดดิสก์ไปยังอุปกรณ์พกพาอื่นๆ แบบไร้สาย ก่อนอื่นต้องเตรียมความพร้อมกันเสียก่อนด้วยการโหลดแอพ Seagate Media (iOS/Android) สำหรับใช้งานร่วมกับฮาร์ดดิสก์มาเสียก่อน

หลังจากดาวน์โหลดแอพเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อไปคือการเปิดการใช้งานโหมดไร้สายของฮาร์ดดิสก์ด้วยการกดปุ่มเปิดเครื่อง แล้วรอซักพัก จนกว่าจะมีไฟสถานะสีน้ำเงินนิ่งๆ แบบในภาพ

หลังจากนั้นเข้าไปที่การตั้งค่า Wi-Fi ของเครื่องที่จะใช้งาน ถ้าหากเปิดฮาร์ดดิสก์ถูกต้องตามขั้นตอน จะมี Wi-Fi SSID ชื่อว่า Seagate Wireless XXX ให้เห็นก็จัดการเชื่อมต่อเข้าไปซะ

หลังจากนั้นกลับมาเปิดแอพ Seagate Media ก็จะเห็นคอนเทนต์ในหน้าหลักแบบนี้เลย (แบบในรูปนี่เป็น iPad ครับ)

การใช้งานใน iPad จะมีข้อจำกัดในเรื่องไฟล์ที่สนับสนุนเยอะเสียหน่อย โดยเฉพาะไฟล์วิดีโอจะรองรับเฉพาะ MP4 ที่เข้ารหัสด้วย H.264 เท่านั้น ส่วนไฟล์สกุลอื่นๆ อย่าง AVI หรือ MKV จะไม่สามารถเล่นได้ตรงๆ จากในแอพ แต่สามารถดาวน์โหลดไปไว้ในเครื่องได้แทน (แล้วใช้แอพอื่นเปิดเอาอีกที)

หน้าตาปุ่มควบคุมตอนเล่นวิดีโอเหมือนกับดูวิดีโอตามปกติครับ

ตามสเปคที่เว็บไซต์ Seagate ระบุไว้ว่าสามารถสตรีมวิดีโอความละเอียดระดับ HD ได้สามเครื่องพร้อมๆ กัน เท่าที่ลองพบว่าทำได้จริง แต่ในบางวิดีโอที่บิทเรตสูงก็จะสตรีมได้ลื่นไหลเพียงสองเครื่องครับ (เครื่องที่สามมีหยุดบัฟเฟอร์เป็นระยะ) ถ้าเป็นวิดีโอ FullHD นี่เหลือเครื่องเดียวทันทีครับ

นอกจากจะสตรีมได้แล้ว ตัวแอพ Seagate Media ยังสามารถอัพโหลดคอนเทนต์จากในเครื่องที่เชื่อมต่อไปยังฮาร์ดดิสก์ได้ด้วยการกดที่ปุ่มเมนูตรงกลางด้านบนของแอพ เลือกเครื่องที่เชื่อมต่อ (ปกติจะอยู่ด้านล่างสุด) เมื่อเข้าไปแล้วเลือกปุ่ม Option รูปลูกศรใต้แถบด้านบน ตัวแอพจะให้เลือกไฟล์เพื่ออัพโหลดขึ้นไปบนฮาร์ดดิสก์ได้

สำหรับคนที่ไม่อยากโหลดแอพ ก็ยังใช้งานฮาร์ดดิกส์ตัวนี้ได้ผ่านเบราว์เซอร์ โดยเชื่อมต่อ Wi-Fi ของฮาร์ดดิสก์และเปิดเบราว์เซอร์ ก็จะทำการรีไดเรคไปที่หน้าเว็บแอพของ Seagate Media ทันที การใช้งานแทบไม่ต่างกับแอพ เพียงแต่อินเทอร์เฟซจะหนืดๆ และรองรับแค่บนพีซี, iOS และ Android เท่านั้น รวมถึงไม่สามารถอัพไฟล์ขึ้นไปบนฮาร์ดดิสก์ได้อีกด้วย

ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ อย่างการดูภาพ หรือเล่นเพลงผ่านฮาร์ดดิสก์นั้นทำได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรครับ

การจัดการฮาร์ดดิสก์

นอกจากจะเป็นเราท์เตอร์ในตัวได้แล้ว Seagate Wireless Plus ยังสามารถเชื่อมต่อกับ Wi-Fi อื่นได้อีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้จากเมนูที่สามจากซ้าย บนแถบเมนู จะแสดงรายชื่อ Wi-Fi บริเวณนั้นมาให้เลือก

เมื่อเชื่อมต่อ Wi-Fi แล้ว ฮาร์ดดิสก์ไร้สายตัวนี้จะทำหน้าที่เป็นท่อสำหรับต่อออกอินเทอร์เน็ตให้กับอุปกรณ์อื่นที่มาเชื่อมต่อกับฮาร์ดดิสก์ตัวนี้ทันที (แก้จุดบอดที่ต้องต่อกับ Wi-Fi ของฮาร์ดดิสก์ที่เข้าอินเทอร์เน็ตไม่ได้ไปในตัว) และยังสามารถอัพเดตเฟิร์มแวร์ของฮาร์ดดิสก์ได้อีกด้วย

ที่เหลือเป็นฟีเจอร์ยิบย่อยอื่นๆ ของ Seagate Media อย่างการเปลี่ยนชื่อ SSID หรือการตรวจดูว่ามีจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่กี่ชิ้น รวมถึงการตั้งรหัสผ่านในการเชื่อมต่อก็สามารถทำได้ (ทั้งหมดนี้ทำผ่านเบราว์เซอร์ได้เช่นกัน)

ผลการใช้งาน

จากการตะลอนทัวร์พา Seagate Wireless Plus ไปเล่นระหว่างเดินทางมากว่าครึ่งเดือน พบว่าเจ้าฮาร์ดดิสก์ตัวนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องเดินทางไกลๆ และมีแท็บเล็ตความจุไม่มากนักได้เป็นอย่างดี

การใช้งานสตรีมวิดีโอแบบ 1-1 ทำได้ดีมาก แต่ต้องเตรียมความพร้อมเสียหน่อย โดยเฉพาะ iPad ที่รองรับเฉพาะไฟล์ MP4 ส่วนฝั่งเพลงรองรับไฟล์ได้ครอบคลุมดีทั้ง lossless และ lossy

ปัญหาที่เจอคือเมื่อเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ในครั้งแรกๆ จะไม่ค่อยติดซักเท่าไหร่ แต่พอต่อได้ครั้งแรก ครั้งต่อๆ ไปก็จะง่ายในบัดดล, การเปิดเครื่องครั้งแรกกินเวลานานมากๆ บางครั้งใช้เวลาหลายนาทีด้วยกัน

การพกพา Seagate Wireless Plus ยังไม่สะดวกนัก ด้วยขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาถึงสองขีดกว่าๆ และอายุการใช้งานเท่าที่เคลมไว้สิบชั่วโมง ใช้งานจริงจบหนังไปหนึ่งเรื่อง แบตเตอรี่ก็หายไปเกือบครึ่งแล้ว ตีเอาคร่าวๆ ว่าใช้งานจริงคงซัก 5-6 ชั่วโมงครับ

การใช้งานกับพีซี

พูดถึงการใช้งานไร้สายกันมาเยอะแล้ว ในแง่ของความเป็นฮาร์ดดิกส์พกพา ตัว Seagate Wireless Plus ทำได้ดีจากการใช้พอร์ตเชื่อมต่อ USB 3.0 สามารถทำความเร็วเขียนไฟล์ลงได้ประมาณ 22-25MB/s แบบนิ่งๆ และข้อเสียอันร้ายกาจคือไม่สามารถเปิดโหมดไร้สายได้ในขณะที่กำลังชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ต USB อยู่อีกด้วย

ถ้าหากใช้งานไร้สายผ่านพีซีแล้ว การใช้งานจะจำกัดอย่างมาก เพราะต้องใช้งานผ่านเบราว์เซอร์เท่านั้น และการดูไฟล์ในฮาร์ดดิสก์ก็เป็นการดาวน์โหลดไฟล์กลับมาในเครื่องสถานเดียว รวมถึงไม่สามารถอัพโหลดไฟล์แบบลากไปวางเหมือนแบบมีสายได้เช่นกัน

สรุป

Seagate Wireless Plus เหมาะสำหรับคนเดินทางที่อยากหาอะไรมาดูยามว่าง และมีแท็บเล็ตแต่ไม่อยากใส่วิดีโอลงไปในเครื่อง (จะด้วยเหตุผลเรื่องพื้นที่จำกัดอะไรก็ว่าไป) หรืออยากเอาวิดีโอไปเผื่อแผ่ให้คนอื่นดูด้วยก็อยู่ในข่ายเช่นกัน

การใช้งานเป็นฮาร์ดดิสก์พกพา ตัวเครื่องทำมาได้แน่นน่าสัมผัสมาก ความเร็วด้วยการเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB 3.0 น่าประทับใจ แต่ราคาสูงไปสำหรับคนที่ไม่ได้อยากสตรีมวิดีโอซักเท่าไหร่

ข้อดี

  • ช่วยขยายพื้นที่ความจุให้แท็บเล็ต
  • สตรีมวิดีโอได้ลื่นไหลไร้ปัญหา ทำได้พร้อมกัน 2-3 เครื่องบนความละเอียด HD 720p
  • เชื่อมต่อได้หลายเครื่อง และยังเล่นอินเทอร์เน็ตได้

ข้อเสีย

  • ตัวเครื่องใหญ่ และหนักไปหน่อย
  • แบตเตอรี่ไม่จุเอาเสียเลย
  • ชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ต USB แล้วใช้งานฟีเจอร์ไร้สายไม่ได้
Blognone Jobs Premium