เก็บตกรายละเอียด Moto X และยุทธศาสตร์การพลิกฟื้น Motorola

by mk
2 August 2013 - 06:02

เก็บตกรายละเอียดอื่นๆ ของ Moto X นอกจากสเปกและข่าวเปิดตัวนะครับ

เบื้องหลังการพลิกโฉม Motorola ยุคใหม่

  • David Woodside ซีอีโอคนปัจจุบันของ Motorola เคยคุมฝ่ายขายของกูเกิลมาก่อน เขาไม่รู้เรื่องการซื้อ Motorola มาก่อนเลย (รู้จากหนังสือพิมพ์) แต่อยู่มาวันหนึ่ง Larry Page ก็มาขอให้เขาไปรับตำแหน่งซีอีโอ
  • Woodside วางแผนฟื้นฟู Motorola มาก่อนการควบกิจการสมบูรณ์ เขาปรับลดคนออกจำนวนหนึ่ง และพบว่าวิศวกรของ Motorola มีความสามารถสูงมาก แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ฉายแววออกมาเพราะผู้บริหารชุดก่อนของ Motorola ไม่ดีพอ
  • Woodside ประกาศรับสมัครพนักงานกูเกิลที่อยากย้ายมาอยู่ Motorola ซึ่งได้มาราว 70 คน
  • เดิมที่ Motorola ใช้ยุทธศาสตร์หว่าน ออกมือถือใหม่ปีละ 45 รุ่น ซึ่ง Woodside ปรับนโยบายใหม่ให้ออกปีละ 5-6 รุ่นเท่านั้น
  • Iqbal Arshad หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์คนปัจจุบัน เป็นหัวหน้าทีม Droid และ RAZR มาก่อน
  • Lior Ron หัวหน้าฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์คนปัจจุบัน เคยคุมทีม Google Local มาก่อน
  • Motorola ตั้งห้องวิจัยขั้นสูงชื่อ ATAP โดยลอกแนวทางมาจาก DARPA ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ และดึงอดีตหัวหน้า DARPA และทีมงานมาเป็นหัวหน้า ATAP

    ไอเดียการสร้าง Moto X

  • Motorola มองว่าบริการของกูเกิลบนสมาร์ทโฟนมี 3 อย่างที่สำคัญคือ แผนที่ เมล และการค้นหา จึงพยายามหาวิธีที่ให้ลูกค้าเข้าถึงบริการแบบนี้ได้ง่ายที่สุด แทนการสร้างบริการของตัวเอง ผลออกมาคือฟีเจอร์ touchless control ที่ใช้เรียก Google Now นั่นเอง

  • กลุ่มเป้าหมายของ Moto X คือลูกค้าทั่วไป เครื่องออกแบบให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ต่างจากมือถือตระกูล Droid ที่เน้นกลุ่ม geek ใช้การออกแบบบึกบึน ขอบตรง มุมแหลม บรรยากาศไซไฟ
  • หัวหน้าทีมดีไซน์ของ Motorola บอกว่าต้องการให้ Moto X เป็นเหมือนคนที่เข้าไปงานปาร์ตี้แล้วอยู่กลางความสนใจของผู้คนได้ ไม่ใช่คนที่ยืนอยู่เงียบๆ ตรงมุมห้อง
  • จงใจใช้แบรนด์ Motorola ที่คนรู้จัก ไม่ใช่แบรนด์กูเกิลและไม่ใช่ Google Phone
  • Lior Ron บอกว่าสมัยอยู่กูเกิล เขามีปัญหาว่ากูเกิลพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ได้ไม่มากอย่างที่ต้องการเพราะติดกำแพงของฮาร์ดแวร์ แต่ตอนนี้มี Motorola ก็สามารถทำได้แล้ว

ทีมงาน Motorola ต้องการให้ Moto X มี "ฟีเจอร์นวัตกรรม" (innovative themes) เป็นจุดขาย ซึ่งมีหลายอย่าง ได้แก่

  • Touchless Control ฟีเจอร์ชูโรงของ Moto X โดยเป็นส่วนต่อขยายของ Google Now, การเปิดใช้ครั้งแรกผู้ใช้จะต้องเทรน Moto X ให้รู้จักเสียงของตนเองในสภาพแวดล้อม 3 แบบคือ ห้องเงียบ มีเสียงรบกวน และสถานที่เสียงดัง, Moto X มีไมโครโฟน 3 ตัวรอรับคำสั่งเสียงจากผู้ใช้, ประโยคที่ใช้งานได้คือ OK Google Now เปลี่ยนเองไม่ได้
  • Active Display แสดงผล notification บนจอภาพโดยสิ้นเปลืองแบตเตอรี่น้อย (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้จอ Super AMOLED ด้วย)
  • Quick Capture Photos หมุนข้อมือเพื่อสั่งให้กล้องทำงาน โดยใช้เวลานับจากควักมือถือจากกระเป๋าประมาณ 1.5-2 วินาที ซึ่ง Motorola อ้างว่าน้อยกว่าคู่แข่งครึ่งหนึ่ง
  • ประหยัดแบตเตอรี่ ใช้ประสบการณ์จากนาฬิกา Moto ACTV มาสร้างหน่วยประมวลผล X8 ซึ่ง Motorola อธิบายว่าถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์แบบ X8 คงต้องใช้แบตสามก้อนถึงจะอยู่ได้นานเท่ากัน
  • ปลดล็อคเครื่องด้วย NFC Motorola พยายามแก้ปัญหาความน่าเบื่อในการใส่รหัสปลดล็อคเครื่องวันละหลายๆ ครั้ง โดยจะออกอุปกรณ์เสริมเป็น token NFC ที่บอกมือถือว่าตอนนั้นเราอยู่ใกล้ๆ และไม่จำเป็นต้องล็อคด้วยรหัสผ่าน ตัวอย่างการใช้งานคือวาง token ไว้ในรถยนต์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ใช้และไม่จำเป็นต้องใส่รหัสผ่าน (อุปกรณ์เสริมนี้จะขายทีหลัง ฟีเจอร์นี้คิดโดยทีม ATAP)
  • Customizable Design เปิดให้ปรับแต่งดีไซน์เฉพาะตัวผ่านเว็บ Moto Maker โดยการันตีเวลาผลิตและส่งถึงบ้านไม่เกิน 4 วัน ซึ่งทำได้เพราะมีโรงงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาเอง โรงงานนี้เดิมทีเป็นของโนเกีย แต่ตอนนี้ Motorola เอากระบวนการผลิตแบบเดียวกับโรงงานในจีนมาใช้ แต่เพิ่มระบบอัตโนมัติเข้าไปอีกมากเพื่อให้ผลิตได้เร็วขึ้น

ฮาร์ดแวร์

  • เลือกใช้จอ 4.7 นิ้วเพราะวิจัยมาแล้วว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด ไม่เล็กหรือไม่ใหญ่เกินไป
  • ขอบข้างจอมีขนาดบางกว่าคู่แข่ง เพราะใช้เทคนิคการเชื่อมกระจกจอกับพลาสติกเข้าด้วยกัน
  • ด้านหลังเครื่องจะหนาที่ด้านหัว และค่อยๆ บางลงมาที่ด้านท้าย เป็นเหตุผลด้านการออกแบบแบตเตอรี่
  • ฝาหลังถอดเปลี่ยนไม่ได้ด้วยเหตุผลเรื่องแบตเตอรี่เช่นกัน
  • Moto X ใช้ Nano SIM
  • วัสดุที่เป็นไม้มีให้เลือก 4 ชนิดคือ teak, bamboo, rosewood, ebony ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่เสร็จ การใช้ไม้ต้องทำให้แห้งและแก้ปัญหาเรื่องน้ำเข้า
  • X8 ใช้ Snapdragon S4 Pro รุ่นพิเศษ (MSM8960Pro หรือ MSM8960DT) ซึ่งต่างไปจากรุ่นปกติ ตรงที่ใช้จีพียู Adreno 320 ของ Snapdragon 600 แทน ผลคือคะแนนเบนช์มาร์คด้าน GPU ออกมาดีมาก (เบนช์มาร์คจาก Ars Technica) ส่วนซีพียูเป็น Krait 300 ซึ่งใหม่กว่า MSM8960T ที่ใช้ Krait 200
  • รองรับ Wi-Fi 802.11ac โดยใช้ชิป Qualcomm WCN3680
  • ลำโพงใช้เทคนิคทางซอฟต์แวร์ช่วยเร่งเสียง แต่ก็รักษาอุณหภูมิของลำโพงให้พอเหมาะเพื่อไม่ให้ลำโพงแตก
  • กล้องหลังใช้เทคโนโลยี Clear Pixel แผงเซ็นเซอร์แบบ RGBC รับแสงได้มากกว่าปกติ 75% (แบบเดียวกับ Droid 2013)
  • มีอุปกรณ์เสริมที่ใช้แบรนด์ M4DE Motorola โดยจับมือกับบริษัท SOL REPUBLIC และสีของอุปกรณ์เสริมจะตรงกับสีของฝาหลัง

ซอฟต์แวร์

  • เป็น Android 4.2.2 รุ่นปรับแต่งเฉพาะส่วนการแจ้งเตือนบนจอ การสั่งงานด้วยเสียง และแอพกล้องที่ต่างไปจากปกติ
  • Motorola ต้องการแก้ปัญหาเรื่องการอัพเกรด Android จึงพยายามไม่ปรับแต่ง Android ให้มากนัก (แต่ยังไม่บอกว่าจะได้ 4.3 เมื่อไร)
  • Moto X ชุดแรกที่เปิดตัวกับเครือข่ายในสหรัฐ มีพรีโหลดแอพของแต่ละเครือข่ายมาด้วย
  • ซอฟต์แวร์กล้องมีโหมด Auto HDR ให้โทรศัพท์เลือกเองว่าจะถ่าย HDR หรือไม่

อนาคตของมือถือรุ่นอื่นๆ

  • Lior Ron ให้สัมภาษณ์กับ Engadget ว่าจะมี Moto X รุ่นสเปกสูงขึ้นอย่างแน่นอน แต่บอกไม่ได้ว่าเมื่อไร
  • Dennis Woodside ให้สัมภาษณ์กับ CNET ว่าจะมีมือถือราคาถูกกว่า Moto X ออกมาจับตลาดนอกสหรัฐ และตลาดผู้ใช้มือถือพรีเพดในสหรัฐด้วย เขาไม่ได้ให้รายละเอียดของมือถือตัวนี้ แต่บอกว่ามือถือราคาต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีนัก และ Motorola ต้องการแก้ปัญหานี้
  • จะมี Moto X รุ่น Google Play edition ตามมา โดยใช้ Android รุ่นไม่ปรับแต่ง ไม่ล็อค bootloader และได้อัพเดตเร็วกว่า Moto X รุ่นปกติ - The Verge
  • Motorola ไม่มีสิทธิพิเศษเหนือบริษัทอื่นๆ ในการทำ Nexus ซึ่งขึ้นกับนโยบายของทีม Android ที่นำโดย Sundar Pichai
  • Moto X วางขายกับทุกเครือข่ายของสหรัฐพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่กูเกิลไม่เคยทำได้ แต่ด้วยความสัมพันธ์อันยาวนานของ Motorola กับเครือข่ายในสหรัฐก็ช่วยให้มันเป็นจริงได้

ที่มา - Motorola, Wired, AnandTech, Ars Technica

Blognone Jobs Premium