ในตอนแรกของรีวิว Lumia 925 เราพูดถึงการออกแบบตัวเครื่อง และคุณภาพของกล้องที่ใช้เทคโนโลยี PureView ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอกันไปแล้ว ตอนที่สองนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอีกฟีเจอร์เด่นของ Lumia 925 (และรุ่นต่อๆ ไปในอนาคตของซีรีส์ Lumia) อย่าง Nokia Smart Camera ที่ถูกสร้างมาเพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถของแอพกล้องมาตรฐานบน Windows Phone ไปอีกขั้น
ก่อนจะไปลงรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายภาพของ Nokia Smart Camera เราจะมาพูดถึงรายละเอียดส่วนอื่นๆ ของตัวแอพที่เพิ่มเข้ามาพร้อมกับอัพเดต Lumia Amber กันเสียก่อน เริ่มต้นกันที่ตำแหน่งของแอพ Nokia Smart Camera จะเป็น tile ขนาดกลางสีม่วงในหน้าแรก เรียกได้ว่าเปิดหน้าจอมาเมื่อไหร่ก็หาเจอกันได้ง่ายๆ แน่นอน (ปกติแล้ว Windows Phone จะไม่เอาแอพกล้องมาไว้หน้าแรก เพราะมีปุ่มแยกอยู่แล้ว)
เมื่อกดเข้ามาในตัวแอพแล้ว หน้าหลักของกล้องมีปุ่มให้ตั้งค่าน้อยกว่าแอพมาตรฐานอย่างชัดเจน และไม่มีแถบสีดำตรงปุ่มให้รำคาญสายตาอีกต่อไป ปุ่มบนหน้าจอหลักมีเพียงปุ่มเข้าคลังภาพ และภาพถ่ายล่าสุด (ซ้ายบน) ส่วนฝั่งขวาไล่จากบนลงมาล่างคือปุ่มเมนู ปุ่มชัตเตอร์ และปุ่มเปลี่ยน Lens
นอกจากปุ่มจะเปลี่ยนไปแล้ว การใช้งาน Nokia Smart Camera ก็ต่างจากแอพกล้องมาตรฐานตรงที่การแตะหน้าจอจะไม่ใช่การโฟกัสภาพ และถ่ายทันทีอีกต่อไป จะเป็นเพียงโฟกัสอย่างเดียวเท่านั้น การถ่ายภาพจาก Nokia Smart Camera ต้องกดที่ปุ่มชัตเตอร์บนหน้าจอ หรือปุ่มแยกแทน
แน่นอนว่าจุดเด่นในแง่ของการเข้าถึงแอพกล้องอย่างรวดเร็วบน Windows Phone ก็สามารถใช้งานร่วมกับ Nokia Smart Camera ได้ด้วย ในหน้าตั้งค่าของแอพสามารถกำหนดให้กดปุ่มชัตเตอร์ค้างเพื่อเปิดใช้งาน Nokia Smart Camera ได้ไม่ต่างจากแอพมาตรฐาน จากเมนู “set camera button”
ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพด้วย Nokia Smart Camera ที่ผู้ใช้ควรทำความเข้าใจไว้ก่อนคือการทำงานของ Nokia Smart Camera จะถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นชุด และนำมาประมวลผลทีหลังเพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ต้องการ โดยเก็บข้อมูลแบ่งเป็นสองชุดคือ .JPG สำหรับแสดงภาพปัจจุบัน (ซึ่งโชว์ในหน้าคลังภาพ) และ .NAR สำหรับเก็บข้อมูลภาพทั้งหมดที่ถ่ายไว้เพื่อประมวลผล (เป็นไฟล์ที่จะไม่โชว์ในหน้าคลังภาพ และไม่ซิงก์ลงพีซี) การจะใช้ฟีเจอร์ของ Nokia Smart Camera จำเป็นต้องมีทั้งสองไฟล์อยู่ด้วยกัน
ในแง่ของการถ่ายภาพ เนื่องจาก Nokia Smart Camera จะถ่ายภาพรัวเป็นชุด ดังนั้นความสามารถถ่ายภาพกลางคืนได้สว่างอันเป็นจุดขายของ PureView จะไม่ส่งผลชัดเจนนัก รวมถึงฟีเจอร์ทั้งห้าอย่างล้วนแล้วแต่เน้นไปที่ตัวแบบในภาพ ดังนั้นภาพที่ใช้งานกับ Nokia Smart Camera จึงควรจะมีตัวแบบชัดเจนในภาพ และฉากหลังไม่เคลื่อนไหว (แน่นอนว่าต้องถือนิ่งๆ ด้วย)
อย่างที่บอกไปก่อนหน้า Nokia Smart Camera ไม่ใช่แอพที่ถ่ายแล้วดิ่งไปแต่งภาพทันที แต่จะต้องเข้าไปกดเลือกในหน้าคลังภาพทีหลัง โดยภาพที่ถ่ายด้วย Nokia Smart Camera จะมีคำว่า “capture by Nokia Smart Cam” อยู่ ซึ่งสามารถกดตรงนี้เพื่อเข้าไปสู่โหมดการแต่งภาพ หรือจะกดจากภาพถ่ายล่าสุดที่อยู่ด้านซ้ายบน ในหน้าหลักของ Nokia Smart Camera ก็ได้เช่นกัน
พูดถึงรายละเอียดปลีกย่อยกันพอสมควร ว่าแล้วก็เข้าไปดูฟีเจอร์หลักของ Nokia Smart Camera ทั้งห้าอย่างกันเลย เรียงตามลำดับได้ดังนี้ครับ
เริ่มต้นกันที่โหมดถ่ายภาพแรก Best Shot ที่เป็นตัวเลือกมาตรฐานเมื่อถ่ายภาพด้วย Nokia Smart Camera และยังไม่ได้ปรับแต่งใดๆ เลย
เมื่อกดเข้าไปและรอให้ประมวลผลซักครู่ แอพจะพรีวิวภาพดีที่สุดจากชุดภาพที่ถ่ายไปมาให้ ซึ่งสามารถกดเข้าไปเพื่อเลือกภาพอื่นได้ด้วยการปาดนิ้วไปด้านข้าง เมื่อพอใจแล้วสามารถกดบันทึกได้จากเมนูทางด้านขวาครับ
โดยรวมแล้วโหมด Best Shot นั้นทำออกมาได้ดีในระดับมาตรฐาน วิธีการเลือกภาพดีที่สุดของโหมดนี้จะวัดจากความคมชัดของตัวแบบ และตำแหน่งของตัวแบบอิงจากจุดศูนย์กลางภาพนั่นเอง
มาต่อกันที่โหมดถ่ายภาพที่สอง Action Shot ที่ดูแล้วน่าจะเป็นฟีเจอร์เด็ดของ Nokia Smart Camera เลยก็ว่าได้
เมื่อกดเข้าไปใน Action Shot แล้ว จะมีแถบด้านล่างพร้อมจุดเรียงเป็นเส้นๆ ขึ้นมา แต่ละจุดบนแถบที่ว่าแทนหนึ่งภาพในชุด ซึ่งสามารถกดเพื่อเปิด/ปิดเฟรมที่ต้องการได้ (และทำให้รู้ว่าหนึ่งชุดของแอพเท่ากับ 10 ภาพนั่นเอง)
ยกตัวอย่างสำหรับคนที่รู้สึกว่าภาพมันแน่นไป ก็ปิดเฟรมหัวท้ายออก จะกลายเป็นดังนี้
สำหรับคนที่รู้สึกว่าแค่นำภาพมาต่อกันเฉยๆ มันดูไม่มีการเคลื่อนไหวเอาเสียเลย ก็สามารถเลือกให้ภาพเฟดออกได้ด้วยปุ่มด้านขวาใต้ปุ่มเซฟครับ ตัวภาพจะเฟดจากต้นไปหาปลายตามจุดที่เราเลือกไว้ (แต่เฟดจากหลังมาหน้าไม่ได้)
สำหรับโหมด Action Shot ต้องบอกว่าทำมาได้ดีมากๆ ทั้งในแง่ความสมบูรณ์ของภาพ และการเคลื่อนไหว ด้วยการที่ตัวแอพจับไปที่ตัวแบบจริงๆ ทำให้การทำภาพเคลื่อนไหวไม่มีอาการแขนขาด ขาขาด ตามที่มักจะเห็นในแอพทำภาพเคลื่อนไหวทั่วไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ่ายยากพอสมควร ทั้งต้องมีแสงพอเหมาะ (เพราะถ่ายรัวแล้ว PureView ไม่ช่วยอะไร) และตัวแบบเคลื่อนที่ในความเร็วที่คงที่ ใครที่ตั้งใจจะใช้ฟีเจอร์นี้คงต้องฝึกถ่ายให้คล่องก่อนครับ
มาถึงโหมดต่อไป Motion Focus หรืออธิบายง่ายๆ คือการเบลอฉากหลังนั่นเอง
เมื่อกดเข้าไปใน Motion Focus แล้ว ผู้ใช้สามารถเลื่อนนิ้วเพื่อย้ายตัวแบบได้ โดยจะมีกรอบเงาแสดงจุดของตัวแบบมาให้อย่างชัดเจน
ฉากหลังในโหมด Motion Focus สามารถตั้งการเบลอไว้ได้สองระดับคือ low และ high เท่านั้น เทียบความแตกต่างได้ตามนี้ครับ
เบลอฉากหลังแบบ low
เบลอฉากหลังแบบ high
โหมด Motion Focus เทียบกับ Action Shot แล้วใช้วิธีการถ่ายคล้ายๆ กัน แต่ถ่ายง่ายกว่ามาก จุดสำคัญของโหมดนี้อยู่ตัวแบบต้องชัด และแยกกับฉากหลังอย่างเด็ดขาด ไม่งั้นตัวแอพจะเบลอบางส่วนของตัวแบบไปด้วย (แต่ก็แก้ได้ง่ายๆ ด้วยการย้ายตำแหน่งตัวแบบ)
โหมดต่อไป Change Faces หรือโหมดเลือกใบหน้าดีที่สุด เหมาะสำหรับการถ่ายภาพหมู่โดยไม่ต้องกังวลว่าทุกคนจะมองกล้องพร้อมกัน หรือยิ้มพร้อมกันหรือไม่ เพราะสามารถเปลี่ยนภาพให้หน้าทุกคนดีที่สุดทีหลังได้นั่นเอง
การทำงานของโหมดนี้จะคล้ายกับ Best Shot แต่เจาะจงเฉพาะใบหน้าแทน เมื่อเข้าไปที่โหมดนี้ ตัวแอพจะจับใบหน้าคนในภาพ และเปลี่ยนให้เป็นใบหน้าดีที่สุดทันที (เบิกเนตร หน้าตรง และยิ้ม)
มาถึงฟีเจอร์สุดท้ายอย่าง Remove Moving Objects สำหรับลบวัตถุไม่พึงประสงค์ออกมาจากถ่าย เหมาะสำหรับเวลาที่ต้องถ่ายภาพในสถานที่ชุกชุมผู้คน มีคนเดินไปเดินมาตลอดเวลา หรือในบางสถานการณ์ที่มีคนเดินเข้ามาในภาพโดยไม่ตั้งใจ
โหมดนี้เข้าใจง่ายมาก เมื่อเข้าไปแล้ว แอพจะลบทุกอย่างที่เคลื่อนไหวออกไปจากภาพทันทีอย่างสมชื่อ โดยจะมีเครื่องหมายบวก ขึ้นมาบริเวณที่วัตถุถูกลบออกไป สามารถกดเพื่อนำกลับมาได้
การใช้งานโหมดนี้ให้มีประสิทธิภาพนั้น วัตถุเคลื่อนไหวที่มารบกวนภาพนั้นต้องเคลื่อนไหวเร็วพอสมควร (พอที่จะมีภาพที่เก็บฉากหลังที่ถูกบัง
ไว้ได้) ดังนั้นถ้าเอาไปถ่ายกลางฝูงชนที่เดินเอื่อยๆ จะพบว่าลบออกไปได้ไม่หมด หรือลบไม่ออกเลยก็เป็นได้
สรุป
สำหรับแอพกล้อง Nokia Smart Camera ทั้งห้าโหมดที่พูดถึงไปนั้นเป็นส่วนเสริมให้กล้องบน Lumia 925 มีความแตกต่างกับคู่แข่งในตลาดมากขึ้น วิธีการเก็บภาพเป็นชุดๆ และนำมาประมวลผลทีหลังกี่ครั้งก็ได้เป็นแนวทางที่ Nokia คิดออกมาได้ดี แม้จะกินพื้นที่มากขึ้นก็ตาม (ประมาณ 10MB-25MB ต่อภาพหนึ่งชุด)
โหมดถ่ายภาพที่น่าประทับใจสุดใน Nokia Smart Camera คงหนีไม่พ้น Action Shot และ Motion Focus ที่แม้ว่าจะไม่ใหม่ แต่ทำออกมาได้ดีในแง่ของคุณภาพภาพถ่ายที่ออกมา การแยกอินเทอร์เฟซของแต่ละโหมดให้ไม่เหมือนกัน ทำให้ปุ่มสำหรับปรับแต่งน้อยลง และเข้าใจง่ายขึ้น
ข้อเสียของ Nokia Smart Camera ในตอนนี้คือการรับแสงที่น้อยลงจากการถ่ายรัวเป็นชุด ทำให้จำเป็นต้องมีแสงพอสมควรจึงจะเห็นผลชัดเจน และยังต้องฝึกใช้ให้คุ้นมือพอสมควรจึงจะถ่ายออกมาได้ดีอีกด้วย (โดยเฉพาะ Action Shot)