ลองเล่น MSI GX70 โน้ตบุ๊กสำหรับเกมเมอร์โดยเฉพาะ

by lew
14 August 2013 - 11:06

สองสามปีที่ผ่านมา ผมพบว่าแนวทางโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ มักออกมาเหมือนๆ กันคือเน้นความเรียบบาง และพยายามลดน้ำหนักอย่างดุเดือด แม้จะน่าใช้งานขึ้นเรื่อยๆ แต่ปรากฎว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน คือ โน้ตบุ๊กเหล่านี้มักเป็นจอกระจกแทบทั้งสิ้น เราหาจอภาพแบบด้านได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ทุกที ขณะเดียวกัน คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กก็มักจะเน้นความสวยงามกันมากขึ้น ตัวคีย์แบนราบ ช่วงยุบที่สั้นลงเพื่อลดความบางโดยรวมของตัวเครื่อง

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แม้จะเป็นแนวทางของตลาดหลัก แต่สำหรับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องวันละหลายๆ ชั่วโมงแล้ว โดยมองจอตลอดเวลา "ฟีเจอร์" เหล่านี้กลับเป็นเรื่องน่ารำคาญในบางครั้ง จอภาพแบบสะท้อนแสงแม้จะมีคุณภาพดีขึ้นมาก แต่ก็ยังไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้เหมือนกับจอด้านแบบเดิมๆ คีย์บอร์ดที่จังหวะการยุบตัวนิ่มลงทำให้พิมพ์ได้อย่างไม่แน่ใจนัก ความผิดพลาดแม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เป็นเรื่องน่ารำคาญ ที่สำคัญที่สุดคือความละเอียดจอภาพที่มักจำกัดอยู่ที่ 1366x768 ไม่ว่าจะเป็นจอภาพขนาด 11 นิ้วหรือ 15 นิ้วก็ตาม ทำให้พื้นที่ทำงานน้อยลงอย่างน่าเสียดาย

ผมเดินสำรวจตลาดเรื่อยๆ พบว่าตลาดกลุ่มใหม่ที่กำลังแก้ปัญหาเดียวกับที่ผมต้องการคือโน้ตบุ๊กสำหรับเกมเมอร์ โน้ตบุ๊กเหล่านี้ออกแบบสำหรับคนที่ต้องมองจอเป็นเวลานาน จอภาพของเครื่องเหล่านี้มีความละเอียดสูง Full HD เป็นปกติ และคีย์บอร์ดที่เน้นการตอบสนองที่ดี ผมไปเดินลองๆ เล่นตามห้างหลายครั้งกับหลายยี่ห้อ และสัปดาห์ที่ผ่านมา MSI ก็ส่งจดหมายข่าวเปิดตัวโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ แทนที่ผมจะเขียนข่าวถึงเลยขอตัวอย่างมาลองเล่นกันสักตั้ง

ทาง MSI ส่ง GX70 ซึ่งเป็นตัวท็อปสุดของโน้ตบุ๊กในสาย AMD ของ MSI มันมาพร้อมกับ GPU

รูปร่างภายนอก

รูปร่างภายนอกของ GX70 นั้นไม่ใช่โน้ตบุ๊กสำหรับพกพาโดยสิ้นเชิง น้ำหนักรวมแบตเตอรี่ของมันหนักถึง 4 กิโลกรัม และความหนาของตัวโน้ตบุ๊กที่หนาอย่างมาก

แต่ความหนาของโน้ตบุ๊กแลกมาด้วยพื้นที่ระบายอากาศด้านใต้เครื่องที่มากกว่าเครื่องอื่นๆ ระบบระบายความร้อนของ GX70 เน้นการระบายความร้อนลงใต้เครื่องเต็มที่ แม้จะเล่นเป็นเวลานานผู้ใช้ที่จับคียบอร์ดด้านบนก็ยังไม่รู้สึกอะไร

เรื่องที่ต้องเตือนไว้สักหน่อยคืออแดปเตอร์ของ GX70 นั้นใหญ่มาก (มากๆ) หากใครยังคิดว่าน้ำหนัก 3.9 กิโลกรัมยังพกพาไหว อาจจะต้องพิจารณาอแดปเตอร์ร่วมด้วย ที่สำคัญคือผมยังคิดไม่ออกว่าในกรณีที่ต้องการอแดปเตอร์สำรองนั้นจะหาซื้อยี่ห้ออื่นที่เทียบสเปคได้อย่างไรเพราะกำลังจ่ายไฟของมันสูงถึง 19V 9.5A หรือ 180 วัตต์

สเปค

เครื่องที่ผมได้รับมามีสเปคดังนี้

  • AMD A10-5750M
  • แรม DDR3 16GB
  • AMD Radeon HD 8970M
  • ฮาร์ดดิสก์ 750GB
  • DVD-RW 8X

การเชื่อมต่อ

ตรงข้ามกับเครื่องแบบบางที่พยายามตัดพอร์ตต่างๆ ออกไปจำนวนมาก GX70 มีพอร์ตให้ครบถ้วน เป็น USB 3.0 จำนวน 3 พอร์ต และ 2.0 อีก 2 พอร์ต การต่อจอภาพทำได้ทั้ง VGA, HDMI, และ DisplayPort

สำหรับผมที่มีจอภาพ Full HD รุ่นเก่าที่รองรับแต่ VGA อยู่แล้ว การมีพอร์ต VGA เพื่อต่อภาพขนาดเดียวกันกับจอในโน้ตบุ๊กเป็นเรื่องที่ดีมาก

จอภาพ

จอภาพ 17.3 นิ้วความละเอียด Full HD นั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุดของเครื่องนี้ที่ทุกคนเห็นได้ทันที พื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมากขณะที่ความละเอียดที่ได้มาไม่ทำให้ขนาดภาพเล็กลงเกินไปนักอย่างที่หลายคนบ่นกับจอ Full HD ขนาด 13 นิ้วลงไป จอภาพขนาดใหญ่ทำให้พื้นที่กับความละเอียดนั้นยังพอดีกันอยู่ ตัวผมเองใช้จอภาพขนาด 21.5 นิ้วแบบ Full HD อยู่ก่อน เมื่อมาวางคู่กับจอขนาด 17.3 นิ้วก็ใช้งานคู่กันได้โดยไม่รู้สึกว่าขนาดภาพต่างกันเกินไป

เสียง

เรื่องที่ MSI โฆษณาอย่างหนึ่งคือคุณภาพเสียงของ GX70 แต่จากการลองใช้งานลำโพงกลับเจอปัญหาสำคัญคือเสียงพัดลมที่ดังมากจนน่ารำคาญ แม้อาจจะไม่ดังถึงขั้นรบกวนคนข้างห้อง แต่เมื่อต้องการเล่นเกมด้วยเสียงจากลำโพง เสียงพัดลมกลับกลบคุณภาพเสียงของลำโพงไปหมด อันนี้เป็นการบ้านให้ MSI ที่จะต้องแก้ไขเสียงให้ลดลงแม้จะระบายอากาศมากๆ

แต่สำหรับคุณภาพระบบเสียงภายใน MSI ทำได้ดีสมราคา ผมต่อหูฟังขนาดใหญ่ที่ปกติต้องต้องแอมป์ภายนอกได้โดยตรงโดยไม่มีปัญหาอะไร กำลังขับเพียงพอเหลือเฟือ และเสียงที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจ

เกม

ผมไม่ใช่เกมเมอร์มืออาชีพนัก แต่เมื่อได้เครื่องทดสอบนี้มาก็ได้โอกาสลองเล่นเกมจริงจังกับเขาสักรอบ ผมเลือก Sniper Elite V2 มาเป็นเกมทดสอบ และลองปรับกราฟิกระดับ Ultra ที่ความละเอียด Full HD เครื่อง GX70 สามารถรองรับกราฟิกของเกมได้สบายๆ โดยไม่มีกระตุกอะไร การตอบสนองตรงตามที่คาดงตลอดการเล่นประมาณ 20 ชั่วโมง

ผล benchmark ของเกมเองให้เฟรมเรตที่โหมด Ultra ไว้ที่ 60 เฟรมโดยเฉลี่ย และ 30 เฟรมต่ำสุด ก็ยืนยันว่าแม้จะเป็นช่วงที่โหลดหนักที่สุดก็ยังไม่มีการกระตุกอะไร

แต่ผมลองรีดแรงจากตัวการ์ดไปอีกขั้นด้วยการปรับ Advanced Options และพบว่าเมื่อปรับ Oversampling ตัวการ์ดก็เริ่มรับไม่ไหว ผลทดสอบตกลงจนต่ำสุดเหลือต่ำกว่า 10 เฟรมต่อวินาที และกระตุกอย่างชัดเจน

โดยรวมแล้วมันรองรับเกมที่ Full HD ได้ไม่มีปัญหา แต่อาจจะปรับเอฟเฟคต์สุดไม่ได้ครับ

คีย์บอร์ด

คีย์บอร์ดของ GX70 นั้นจุดเด่นคงอยู่ที่แสงไฟที่เลือกสีได้อิสระ และมีโซนไฟสามชุดเลือกเปิดปิดได้ หรือกระทั่งเล่นเวฟไปมาก็ยังได้ อันนี้เป็นฟีเจอร์ที่เกมเมอร์หลายคนชื่นชอบกันแต่สำหรับผมก็มักปรับสีแดงทิ้งไว้นิ่งๆ ให้มองเห็นปุ่มเท่านั้น

สัมผัสคีย์นั้นใช้ได้ดี การเด้งกลับค่อนข้างไวสมกับเป็นคีย์บอร์ดเล่นเกม ความพิเศษของคีย์บอร์ดรุ่นนี้คือปุ่ม Windows นั้นจะย้ายจากทางซ้ายไปทางขวา เพื่อลดโอกาสกดพลาดไปโดน ผมเห็นแนวทางนี้แล้วไม่ชอบใจนัก แม้จะได้ประโยชน์จริงขณะเล่นเกม แต่ตอนใช้แอพพลิเคชั่นปกติกลับใช้งานลำบาก ความเคยชินทำให้หาปุ่มไม่เจอบ่อยครั้ง โดยส่วนตัวผมคิดว่าวางปุ่ม Windows ไว้ที่ปุ่ม Function แล้วสร้างสวิตช์มาปิดเปิดการทำงานแบบทัชแพดจะดีกว่ามาก

ตัวการจัดวางอื่นๆ นั้น มีจุดที่ชอบคือปุ่ม Control ซ้ายที่ใหญ่มาก เพราะเป็นปุ่มที่ใช้บ่อยสำหรับผม (CTRL-C, CTRL-V, CTRL-A) แต่จุดที่ไม่ชอบคือการวางคีย์ลูกศรขึ้นมาเบียด Shift, Control, และ Numpad ทางด้านขวา ส่วนตัวผมคิดว่าด้วยความกว้างของเครื่อง ถ้ายืดช่องว่างระหว่าง Numpad และคีย์บอร์ดออกไป น่าจะจัดปุ่มได้ดีกว่านี้

ตัวคีย์แต่ละตัวมีการเว้าลงเล็กน้อยเพื่อให้นิ้วสัมผัสได้ว่าอยู่ตรงกลางปุ่มหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับคนที่พิมพ์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน สำหรับผมคิดว่าเว้าลงไปน้อยไปสักหน่อย ถ้าเพิ่มความเว้าได้น่าจะช่วยให้ปรับตัวได้ง่ายขึ้น (ถ้าใครใช้ ThinkPad Classic จะเห็นว่าคีย์เว้าลงจนมองเห็น)

สรุป

ผมได้ลอง GX70 เป็นเวลาประมาณสิบวัน และสอบถามราคาขายของมันว่าอยู่ที่ 42,900 บาท ในแง่ของราคาผมคิดว่ามันสมเหตุสมผลดีกับเครื่องที่ใส่แรมมาถึง 16GB

สำหรับคนที่ใช้งาน ผมมองว่าเครื่อง GX70 เป็นเครื่องตั้งโต๊ะที่ประหยัดเนื้อที่เก็บมากกว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กเต็มรูปแบบ ด้วยน้ำหนักรวมอแดปเตอร์ของมันการนำออกไปใช้งานนอกสถานที่คงไม่ใช่เรื่องสะดวกนัก สำหรับใครที่ต้องการเครื่องที่พกพาได้มากกว่านี้ อาจจะต้องลองดูเครื่อง GX60 ในตระกูลเดียวกันแต่ลด GPU ลงไป น้ำให้น้ำหนักรวมน่าจะลดลงไปอีกมาก

จุดเสียสำคัญคือเสียงรบกวนจากพัดลมนั้น จะไม่มีปัญหานักถ้าคุณเป็นคนใช้คอมพิวเตอร์พร้อมฟังหูฟังเป็นส่วนใหญ่

สำหรับตัวผมเองที่มีความต้องการจากโปรแกรมเมอร์ GX70 ตอบโจทย์สำคัญคือเรื่องจอภาพที่มีพื้นที่มาก แต่การปรับแต่งคีย์บอร์ดโดยเน้นเกมเป็นสำคัญทำให้ความประทับใจในการใช้งานลดลงไปมาก

Blognone Jobs Premium