บัลเมอร์: ตัดสินใจบอกบอร์ดบริษัทหนึ่งถึงสองวันก่อน, ผิดหวังที่สุดคือ Windows Vista

by nuntawat
24 August 2013 - 00:30

เว็บไซต์ ZDNet มีโอกาสสัมภาษณ์ สตีฟ บัลเมอร์ เนื่องในการประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอของไมโครซอฟท์ และ จอห์น ธอมป์สัน หนึ่งในคณะกรรมการบริษัทไมโครซอฟท์ มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • บัลเมอร์กล่าวว่า เขาคิดถึงเรื่องเกษียณอายุมานานแล้ว และตัดสินใจได้เมื่อหนึ่งถึงสองวันก่อน โดยบริษัทได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท และตกลงกันว่านี่เป็นทางเดินที่ถูกต้องที่บริษัทจะก้าวต่อไป
  • บิล เกตส์ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้ลาออกหรืออยู่ต่อ และเกตส์ก็เคารพต่อการตัดสินใจของเขา
  • บัลเมอร์ยอมรับว่า เขายังไม่ได้คิดถึงสิ่งที่จะทำถัดไปในอนาคต และเขาจะยังไม่คิดถึงเรื่องนี้จนกว่าคณะกรรมการบริษัทจะหาซีอีโอคนใหม่ได้
  • สิ่งที่บัลเมอร์ภูมิใจนำเสนอมากที่สุดในช่วงการทำงานของเขา คือเป็นส่วนหนึ่งของการให้กำเนิดการประมวลผลส่วนบุคคลอัจฉริยะ (intelligent personal computing) ในยุคปี 80 และ 90 ซึ่งเขากล่าวว่ามีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างคาดไม่ถึง ณ เวลานี้ผู้คนกว่าพันล้านคนมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โทรศัพท์จากบริษัทเราทั้งหมดก็ตาม ส่วนสิ่งที่บัลเมอร์ผิดหวังมากที่สุดคือการตัดสินใจที่แย่มากๆ ในช่วง Longhorn ไปยัง Windows Vista และสิ่งนี้ก็มีผลกระทบหลายด้านเมื่อเขาสร้างทีมขนาดใหญ่โตเพื่อมาทำบางสิ่งที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีคุณค่าเพียงพอ เขายังกล่าวว่าเขามีโอกาสทำผิดพลาดมากมายหลายครั้งเนื่องจากคนทุกคนพุ่งความสนใจไปยังช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น
  • ธอมป์สันกล่าวว่า ไมโครซอฟท์ทำงานร่วมกับบริษัทภายนอกเพื่อค้นหาว่าอะไรบ้างที่ซีอีโอคนถัดไปควรจะมี แต่เขายังไม่สามารถตอบอะไรได้มากในเวลานี้ ส่วนบัลเมอร์ก็กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทได้พูดถึงการวางแผนการเปลี่ยนผ่านว่าผู้นำคนถัดไปควรเป็นอย่างไรมากว่า 10 ปีแล้ว หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดคุยคือซีอีโอในอนาคตจะแตกต่างไปอย่างไรเนื่องจากเขายังเป็นเสมือนผู้ก่อตั้งองค์กรคนหนึ่ง บัลเมอร์ยังกล่าวว่าเขาได้ตกลงกับคณะกรรมการบริษัทเมื่อสามหรือสี่ปีที่แล้ว โดยเขาจะไปพบปะคนนอกบริษัทไมโครซอฟท์ที่บริษัทคิดว่าน่าจะมาเป็นซีอีโอคนถัดไปได้ และรายงานกลับไปยังคณะกรรมการบริษัท
  • เมื่อ ZDNet ถามว่าไมโครซอฟท์กำลังคาดหวังว่าการขาดทุนด้านฮาร์ดแวร์จะช่วยดึงลูกค้าเข้ามาใช้งานเซอร์วิสต่างๆ ที่บริษัทหวังว่าจะทำเงินในอนาคตได้ (a loss leader for services) อยู่หรือไม่ บัลเมอร์กล่าวว่าเราไม่ควรมองว่าฮาร์ดแวร์นั้นไม่ประสบความสำเร็จ (ซึ่งเป็นที่มาของการต้องลงบัญชีเป็นหนี้สูญ (write off)) แต่ควรมองว่าการทำฮาร์ดแวร์คู่กับบริการนั้นเป็นการบูรณาการเชิงโมเดลธุรกิจ (integrated business model) คือตั้งแต่นวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์ ระบบปฏิบัติการ เซอร์วิสที่บริษัทให้บริการกับผู้ใช้ตามบ้าน และเซอร์วิสที่บริษัทให้บริการผู้ใช้ในองค์กร ไม่เหมือนกับผู้เล่นรายอื่นในภาคอุตสาหกรรมอย่างแอปเปิลที่พยายามทำเงินจากฮาร์ดแวร์ หรืออเมซอนและกูเกิลที่พยายามทำเงินจากงานที่อยู่เบื้องหลังการให้บริการ
  • เมื่อ ZDNet ถามว่าเนื่องจากไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จในตลาดผู้ใช้องค์กรอย่างมาก ทำไมไมโครซอฟท์ไม่เป็นแบบไอบีเอ็มแต่อยากเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าผู้ใช้ตามบ้าน บัลเมอร์ก็ตอบว่าประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าบริษัททำตลาดผู้ใช้ตามบ้านหรือผู้ใช้องค์กร เนื่องจากไมโครซอฟท์เติบโตขึ้นมาจาก Windows และ Office ที่เหมาะกับการใช้งานกับคนทุกกลุ่ม เว้นเสียแต่ว่าบริษัทจะเหมือนกับออราเคิลหรือแอปเปิล ส่วนธอมป์สันก็กล่าวว่าการจำกัดว่าบริษัทควรจะทำตลาดใดตลาดหนึ่งนั้นแคบเกินไป และหากมองกลับไปในอดีตจะพบว่าการที่บริษัทขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ไม่สนใจตลาดผู้ใช้ตามบ้านจะเป็นการลดบทบาทในการผลักดันสิ่งต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมลง ไมโครซอฟท์นั้นต้องการเป็นส่วนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมนี้ตลอดไป โดยการให้ความสำคัญระหว่างตลาดผู้ใช้ตามบ้านและผู้ใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสม

ที่มา: ZDNet (1, 2)

Blognone Jobs Premium