เมื่อเดือนที่แล้วกูเกิลเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการนั่นคือ Chromecast อุปกรณ์ที่ว่านี้จะเปลี่ยนทีวีทั่วๆ ไป รวมไปถึงมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ที่รองรับพอร์ต HDMI ให้สามารถสตรีมข้อมูลวิดีโอจาก YouTube, Netflix รวมถึงแหล่งอื่นๆ จากอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าย Wi-Fi โดยอาศัยการควบคุมจากอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังสามารถทำการแสดงผลหน้าเว็บเพจจากแท็บของเบราวเซอร์ Chrome บน Windows และ Mac OS X ได้อีกด้วย และด้วยราคาเพียงแค่ $35 นี้เอง ทำให้อุปกรณ์นี้หมดสต๊อกทั้ง Amazon, Best Buy รวมไปถึง Play Store ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการเปิดตัว และผ่านมา 1 เดือนเต็มๆ แล้วของก็ยังขาดตลาดเช่นเดิม
โชคดีที่ผมสั่งของจาก Amazon ได้ทันก่อนมันหมด แต่พอสั่งเสร็จดันถูกเลื่อนวันส่งออกไปอีกอาทิตย์ ท้ายสุดทนกิเลสตัวเองไม่ไหวเลยมาตามนั่งกดรีเฟรชเว็บ Best Buy จนได้มาอีกตัวจากสาขาใกล้บ้านและได้ของในวันนั้นเลย สรุปราคารวมภาษีแล้ว $37.54 (หรือประมาณ 1,164 บาท) แต่ถ้าหักของแถมคือ Netflix ฟรี 3 เดือน ($7.99/เดือน) มูลค่าจริงๆ ก็จะเป็น $13.57 (หรือประมาณ 407 บาทแค่นั้น) จริงๆ ผมเริ่มทยอยเขียนรีวิวมาตั้งแต่วันแรกๆ แล้วแต่ไม่เสร็จสักที หลังจากได้ฤกษ์ดองไว้ครบเดือนก็เลยถือโอกาสรีวิวให้มันเสร็จๆ สักที
อุปกรณ์ภายในกล่อง ประกอบด้วย
ตัว Chromecast มีขนาดประมาณกุญแจรีโมทรถยนต์แต่จะสั้นกว่าเล็กน้อย
โดยที่ตัวมันจะประกอบพอร์ต HDMI สำหรับส่งสัญญาณภาพ, พอร์ต USB สำหรับจ่ายไฟ และปุ่มสำหรับใช้เพื่อรีเซ็ทตัวเครื่องเป็นค่าจากโรงงานเมื่อกดค้างไว้ประมาณ 20-25 วินาที
รองรับ : HDMI, CEC
ความละเอียดสูงสุดของวิดีโอ : 1080p
ขนาด : ยาว 7.2 x กว้าง 2.5 (กว้างสุด 3.5) x หนา 1.2 ซม.
น้ำหนัก : 34 กรัม
มาตรฐาน: 2.4 GHz Wi-Fi 802.11 b/g/n
ระบบไฟ : USB
ระบบปฏิบัติการที่รองรับ
เพื่อให้มองเห็นภาพรวมมากขึ้น การใช้งาน Chromecast ได้จะต้องมีอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
ส่วนการติดตั้ง : ใช้ตั้งค่าและแสดงสถานะต่างๆ เช่น ชื่อ, MAC address, SSID, passphrase และการรีเซ็ทตัวเครื่อง
ส่วนการควบคุมการสตรีมและการ cast : ใช้ควบคุมการเล่น การสตรีม การ cast รวมถึงลำดับการต่อคิวการเล่น
การติดตั้งทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ
เพียงต่อ Chromecast เข้ากับพอร์ต HDMI และต่อสาย Micro USB เพื่อรับไฟจากพอร์ต USB ของทีวี หรือจากอแดปเตอร์ก็ได้ ทั้งนี้สำหรับทีวีรุ่นใหม่ๆ ที่พอร์ต HDMI รองรับมาตรฐาน MHL (Mobile High-Definition Link) อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยไฟจากพอร์ต USB แต่เนื่องจากทีวีผมไม่รองรับ MHL เลยไม่สามารถทดสอบตัว MHL ได้
ระหว่างการบูตระบบจะปรากฏโลโก้ Chrome
ถ้าสังเกตดีๆ ไฟสถานะของ Chromecast จะมี 2 สี คือแดงและขาว โดยเริ่มต้นไฟสถานะจะเป็นสีแดงระหว่างการบูตระบบ และจะกลายเป็นสีขาวเมื่อพร้อมใช้งาน หากเป็นการติดตั้งครั้งแรกหรือยังไม่มีการเซ็ทค่าไฟสถานะจะสีขาวกระพริบ
เมื่อบูตเสร็จจะแสดงภาพถ่ายที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สถานะการใช้งาน และชื่อของ Chromecast ทั้งนี้ชื่อของ Chromecast จะเปลี่ยนไปทุกครั้งเมื่อถูกรีเซ็ตเครื่อง
การตั้งค่าตัว Chromecast สามารถทำได้จากโปรแกรม Chromecast หรือ แอพ Chromecast (สำหรับ Android สามารถโหลดได้ Play Store, สำหรับ iOS โหลดได้จาก App Store)
หลังทำการติดตั้งโปรแกรมหรือแอพแล้ว มันจะทำการค้นหา Chromecast ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งถ้าพบมากกว่า 1 ตัว จะให้เราเลือกว่าจะต่อเข้ากับ Chromecast ตัวไหน
สำหรับตัวอุปกรณ์ที่เคยผ่านการตั้งค่ามาแล้วก็จะปรากฏสถานะพร้อมเชื่อมต่อทันที แต่ถ้าเพิ่งถูกติดตั้งเป็นครั้งแรก ตัวโปรแกรมและแอพจะให้เราตรวจสอบและยืนยันว่า PIN ที่ปรากฏบนทีวีและบนโปรแกรมหรือแอพตรงกันหรือไม่หากตรงกันมันจะให้เรากำหนดค่าต่างๆ เช่น ชื่อ Chromecast, เราเตอร์ Wi-Fi ที่ต้องการเชื่อมต่อ และ passphrase ของ Wi-Fi เมื่อเซ็ทค่าเสร็จตัว Chromecast จะทำการเชื่อมต่อไปยังเราเตอร์ของเราให้อัตโนมัติ ทั้งนี้หาก PIN ที่ปรากฏไม่ตรงกัน ให้เราทำการไล่ต่อกับ Chromecast ตัวอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่า PIN จะตรงกัน (ตามความเข้าใจคือเพื่อป้องกันปัญหากรณีมี Chromecast ชื่อซ้ำกันในบริเวณเดียวกัน)
หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงค่า รวมถึงรีเซ็ตเป็นค่าจากโรงงาน ก็สามารถทำผ่านโปรแกรมและแอพ Chromecast เดียวกันนี้ได้ในภายหลัง
หมายเหตุ:
- ผมพบปัญหาตอนเลือกเราเตอร์ Wi-Fi ที่ต้องการเชื่อมต่อว่าไม่สามารถเลือกจากลิสต์รายการได้ ให้แก้ปัญหาโดยการพิมพ์ชื่อ SSID ของเราเตอร์เข้าไปเอง
หลังจากตั้งค่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว โปรแกรม Chromecast จะให้เราติดตั้งส่วนขยาย "Google Cast" บนเบราวเซอร์ Chrome เมื่อติดตั้งเสร็จจะปรากฏไอคอนลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมกับคลื่นที่แถบทูลบาร์ของ Chrome
สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตนั้น ถ้าเรามีแอพ YouTube หรือ Netflix ติดตั้งอยู่แล้วก็พร้อมใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องติดตั้งแอพอื่นๆ เพิ่มเติม
เมื่อ Chromecast ปรากฏสถานะ “ready to cast” บนทีวีแล้ว
ให้เริ่มต้นโดยคลิ๊กไอคอน Chromecast ที่ทูลบาร์แล้วเลือกว่าต้องการสั่งงานไปยังอุปกรณ์ Chromecast ตัวไหน เพื่อสั่งการ cast ออกไปยังจอทีวี
หากต้องการหยุดเล่นก็กดปุ่ม Stop casting
สำหรับ YouTube นั้น ภายหลังการติดตั้งตัวส่วนขยายแล้ว แถบควบคุมการเล่นวิดีโอจะเพิ่มไอคอน "Play on" ที่มีหน้าตาแบบเดียวกับไอคอนบนทูลบาร์ ซึ่งเมื่อกดแล้วเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะให้ Chromecast ตัวไหนทำการสตรีมวิดีโอนี้
สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต นั้นเมื่อเปิดแอพ YouTube แล้วเลือกวิดีโอที่ต้องการจะเล่นแล้ว ด้านบนของแอพจะปรากฏปุ่มไอคอนแบบเดียวกัน ก็แค่กดปุ่มแล้วเลือก Chromecast ที่ต้องการสั่งสตรีม
ข้อได้เปรียบหนึ่งของแอพ YouTube คือระหว่างการสตรีมวิดีโอหนึ่งๆ นั้นเราสามารถเลือกวิดีโอถัดไป เพิ่มเข้ามาในคิวการเล่น (TV Queue) ได้ทันที
หากมีการสั่งเล่นจากทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตในเวลาเดียวกัน จะเป็นการเพิ่มวิดีโอไปยังในคิวการเล่นแทน ซึ่งสามารถควบคุมได้จากแอพ YouTube แต่ถ้ากดสั่งย้ำให้เล่นอีกครั้ง จะเป็นการบังคับให้ Chromecast สตรีมวิดีโอตัวล่าสุดแทน (แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถดูคิวการเล่นบนคอมพิวเตอร์ได้ตรงจุดไหน)
ความต่อเนื่องในการสตรีมภาพและเสียงที่ได้นั้นทำได้ค่อนข้างดีคือ ไม่มีดีเลย์หรือกระตุก แต่ทว่าคุณภาพของภาพอยู่ในเกณฑ์ “รับได้” ถึงแม้ว่าวิดีโอต้นฉบับในหน้าเว็บจะมีตัวเลือกคุณภาพสูงสุด 1080p ความละเอียดภาพที่ได้จาก Chromecast น่าจะอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 480p-720p ซึ่งสังเกตความแตกของภาพได้ในฉากที่มีรายละเอียดหรือที่มีการเคลื่อนไหวเยอะๆ และจุดด้อยหนึ่งที่สังเกตได้ชัดคือภาพที่ได้ถูกครอปจากวิดีโอต้นฉบับออกไปส่วนหนึ่ง
เนื่องจากทีวีผมเป็น Smart TV ซึ่งสามารถติดตั้งแอพ YouTube ได้ เมื่อลองเปรียบเทียบกับวิดีโอเดียวกันพบว่าคุณภาพที่ได้จาก Chromecast ค่อนข้างด้อยกว่าทั้งในเรื่องของภาพและเสียง โดยแอพสามารถให้คุณภาพภาพที่ความละเอียดและบิตเรทที่มากกว่า และที่สำคัญคือภาพไม่โดนครอปและแสดงผลได้เต็มขนาดเท่าต้นฉบับ
การปรับความดังสามารถควบคุมผ่านปุ่มปรับเสียงบนอุปกรณ์พกพาได้
ข้อเสียเปรียบหนึ่งของ Chromecast คือ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจะต้องต่ออยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกันกับ Chromecast ซึ่งต่างจากแอพ YouTube ของทีวี (เมื่อทำการ paired เข้ากับ Google account) แล้วสามารถใช้แอพ YouTube ควบคุมข้ามมาจากเครือข่ายอื่นได้ เช่นเครือข่ายของผู้ให้บริการมือถือได้โดยแทบไม่มีดีเลย์เลย
ผลที่ได้แทบไม่ค่อยแตกต่างจากการสตรีมจาก YouTube คือ ภาพที่ได้จาก Chromecast จะโดน crop ออกส่วนหนึ่ง และภาพจะถูกบีบอัดและมีคอนทราสมากกว่าภาพที่ได้การสตรีมโดยใช้แอพ Netflix บนทีวี
ภาพที่ปรากฏบนทีวีจะเป็นการฉายภาพหน้าเว็บเพจจากในหน้าแท็บของ Chrome แบบต่อเนื่อง ซึ่งไม่เชิงจะเป็นภาพ screenshot ทีเดียวนัก ตัวอย่างเช่น ถ้าเราคลิ๊กขวาที่ลิงก์ในหน้าเพจแล้วมีเมนูให้เลือก ภาพที่แสดงบนทีวีจะไม่ปรากฏเมนู แต่ลิงก์ที่เราคลิ๊กจะมีการขีดเส้นใต้และเปลี่ยนสี
ทั้งนี้คุณภาพที่ได้ถือว่าพอรับได้ มีการดีเลย์ไปประมาณ 2-3 วินาที บางครั้งมีการสะดุด และบางจังหวะมีปรากฏการแตกของภาพคล้ายๆ กับภาพ JPEG ถูกบีบอัดสูงๆ ซึ่งการปรับคุณภาพการ cast สูงสุดเป็น Extreme (720p high bitrate) แล้วก็ไม่ได้ช่วยมากเท่าไร โดยการ cast จะสามารถแสดงความละเอียดสูงสุดได้แค่ 720p
การ cast จากหน้าเพจที่มีการเล่นวิดีโออย่าง YouTube (เป็นการ cast จากแท็บ ไม่ใช่การสั่งให้ Chromecast สตรีมวิดีโอจาก YouTube) ผลที่ได้คือ ภาพที่ได้ค่อนข้างดีและไม่มีกระตุก มีดีเลย์เล็กน้อยเมื่อเทียบกับภาพบนเบราวเซอร์ และที่สำคัญที่สุด ถ้าปรับความละเอียดตั้งแต่ 720p ขึ้นไป และเลือก Full Screen คุณภาพของภาพที่ได้บนทีวีทำได้ดีกว่าการสั่งการสตรีมวิดีโอนั้นๆ จาก YouTube โดยตรงอย่างมาก และภาพไม่โดน crop
ด้วยความสงสัยว่า ถ้าในเมื่อเราสามารถ cast หน้าเว็บเพจจากแท็บของ Chrome ได้ มันก็น่าจะ cast อย่างอื่นที่ Chrome สามารถเปิดในแท็บได้อย่างคลิปวิดีโอ เพลง หรือ แม้แต่ไฟล์ PDF
ผลการทดสอบกับไฟล์วิดีโอพบว่า สามารถเล่นไฟล์ที่เข้ารหัสด้วย MPEG-4, WebM ได้ ส่วน MKV, 3GP, AVI และ FLV เล่นไม่ได้นะครับ (ทั้งนี้ผมไม่ได้ลองทำการทดสอบโดยการ embed ผ่าน player ตัวอื่นๆ ดูว่าได้หรือไม่) การเล่นสามารถที่จะลากไฟล์วางใส่ Chrome ได้เลย ซึ่งถ้าไฟล์มีขนาดไฟล์มีความละเอียดต่ำกว่า 480p จะสามารถ cast ได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อทดลอง cast ไฟล์วิดีโอที่ความละเอียด 720p ขึ้นไป พบว่ามีอาการกระตุกบ้างเล็กน้อย
ยิ่งไปกว่านั้นการ cast ไฟล์ PDF สามารถแสดงผลได้ละเอียดและคุณภาพดีมาก มีดีเลย์น้อยกว่าการ cast จากหน้าเว็บเพจ
คุณภาพสมราคาครับ ไม่ดีไม่แย่ไปแต่ฟีเจอร์จำกัดไปนิด ถามว่าคุ้มไหมในตอนนี้ ถ้าสำหรับคนที่มีทีวีธรรมดาๆ ที่รองรับ HDMI หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ธรรมดามาเป็นจอภาพยนตร์ย่อมๆ ก็นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะราคาถือว่าไม่แพงเลย แต่ถ้าหากว่าทีวีของคุณที่มีอยู่ตอนนี้เป็น Smart TV ที่รองรับ DLNA และสามารถลงแอพเพิ่มเติมอย่าง YouTube หรือ Netflix ได้อยู่แล้ว และคาดหวังว่าจะสามารถสตรีมหนังจาก YouTube หรือ Netflix ในระดับ Full HD นั้น Chromecast ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ใช่ในตอนนี้แน่นอน
ถ้ากูเกิลปรับปรุงคุณภาพของภาพในการสตรีมทั้ง YouTube และ Nexflix, เพิ่มความละเอียดในการ cast ให้มากกว่า 720p, ปรับปรุงคุณภาพของสัญญาณ Wi-Fi, เปิด API เพื่อให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงตัว Chromecast ได้มากกว่านี้, ไม่พยายามกีดกันการเล่นไฟล์ภายในเครือข่ายเดียวกัน ผมมองว่าอนาคต Chromecast ดูแล้วน่าจะไปได้ดีเลยทีเดียว
ภาพรีวิวเพิ่มเติมดูได้จาก Flickr
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ คือ Samsung UN46E5300, ASUS RT-N66U, iPhone 5, Samsung Galaxy Tab 2 7", Lenovo ThinkPad X201, Dell U2410, อินเทอร์เน็ตของ Times Warner Cable 10Mbps