กูเกิลเตรียมเข้ารหัสการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูล, Bruce Schneier แนะนำทางรอดจากการถูกดักฟัง

by lew
7 September 2013 - 07:34

ข่าวความสามารถในการดักฟังของ NSA ที่มีรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องกลับมาสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้กันอีกครั้ง หนึ่งในผู้ให้บริการที่ NSA ระบุว่าสามารถดึงข้อมูลออกมาได้คือกูเกิล และตอนนี้กูเกิลก็ระบุว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเข้ารหัสระหว่างศูนย์ข้อมูลแล้ว

แม้ว่ากูเกิลจะเข้ารหัสในบริการต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ทั้ง Gmail และ Google+ แต่การเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูลทั่วโลกที่เช่าสายไฟเบอร์ออปติกส์ไว้เฉพาะนั้นมักไม่ได้เข้ารหัสเพราะโดยมากแล้วความเสี่ยงจากการดักฟังโดยผู้ให้บริการเช่าสายไฟเบอร์นั้นค่อนข้างต่ำ แต่มุมมองของกูเกิลตอนนี้มองว่าต้องเตรียมพร้อมกับรัฐบาลของตัวเอง (ที่มีความสามารถในการดักฟังเครือข่ายไฟเบอร์)

ทางฝั่ง Bruce Schneier นักรหัสวิทยาชื่อดังออกมาเขียนบทความวิเคราะห์การถอดรหัสของ NSA ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่นัก NSA มีแนวโน้มจะพยายายามใส่ช่องโหว่ในกระบวนการเข้ารหัสเรื่อยมาเพื่อสร้างช่องทางลับให้ถอดรหัสได้ ก่อนหน้านี้มีรายงานถึงความร่วมมือระหว่าง NSA และบริษัทต่างๆ เพื่อใส่ช่องทางลับ แต่เรื่องใหม่ในข่าวที่ออกมาจากเอกสารของ Edward Snowden คือ NSA พัฒนาความสามารถในการถอดรหัสอย่างมาก (groundbreaking cryptanalytic capabilities) ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นช่องโหว่ในทางคณิตศาสตร์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงการวิชาการเป็นวงกว้าง จากการลงทุนปีละ 11,000 ล้านดอลลาร์ในการถอดรหัสเป็นค่าวิจัยและพัฒนาไปถึง 440 ล้านดอลลาร์ต่อปี มีพนักงานในด้านนี้ถึง 35,000 คน

คำแนะนำของ Schneier เพื่อหลีกเลี่ยงการดักฟังของ NSA ได้แก่

  1. ใช้ TOR ซ่อนตัว: แม้ NSA จะพยายามถอดรหัส TOR แต่ก็ยังเป็นงานที่สร้างความลำบากให้ NSA อยู่
  2. เข้ารหัสการสื่อสาร: การเข้ารหัสการเชื่อมต่อเพิ่มการป้องกันได้เป็นอย่างดีเทียบกับการสื่อสารแบบไม่เข้ารหัส
  3. ถือว่าคอมพิวเตอร์อาจจะถูกเจาะได้เสมอ: ถ้าต้องการส่งข้อมูลที่สำคัญมากๆ ให้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่เคยเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้ารหัสไฟล์ จากนั้นจึงส่งด้วยคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอีกรอบ
  4. สงสัยซอฟต์แวร์เข้ารหัสจากผู้ผลิตรายใหญ่เสมอ: Schneier เดาว่าผู้ผลิตรายใหญ่จำนวนมากในสหรัฐฯ มีช่องทางลับสำหรับ NSA รวมถึงผู้ผลิตรายใหญ่นอกสหรัฐฯ บางราย การใช้่โอเพนซอร์สทำให้ NSA ฝังช่องทางลับได้ลำบากกว่ามาก
  5. ใช้ระบบเข้ารหัสโอเพนซอร์สที่ต้องทำงานร่วมกับระบบอื่น: การสร้างช่องทางลับใน TLS นั้นยากกว่า BitLocker ของไมโครซอฟท์มาก เพราะ TLS ไม่ว่าจากผู้ผลิตรายใด ยังต้องทำงานร่วมกับผู้ผลิตรายอื่นได้

Schneier ระบุว่านับแต่เข้ามาทำงานกับเอกสารของ Snowden เขาก็ใช้ซอฟต์แวร์เข้ารหัสหลายตัว ทั้ง GPG, Silent Circle, Tails, OTR, TrueCrypt, BleachBit, และซอฟต์แวร์อื่นๆ

ที่มา - Washington Post, The Guardian (1), The Guardian (2)

Blognone Jobs Premium