iPhone 5C กับ "ความฝันพันล้าน" ของแอปเปิล

by mk
10 September 2013 - 11:11

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด คืนนี้เราคงได้เห็นแอปเปิลเปิดตัว iPhone สองรุ่นคือรุ่นบน (5S) กับรุ่นล่าง (5C)

ในส่วนของ iPhone 5S คงมีอะไรใหม่หลายอย่างในแง่ฟีเจอร์และผลิตภัณฑ์ แต่ในแง่จุดยืนทางการตลาด (market position) คงไม่ต่างจากเดิมมากนัก

สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ iPhone 5C ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่แอปเปิลหันมาทำโทรศัพท์ราคาถูก (ลงจากเดิม) คำถามคือทำไมแอปเปิลถึงเลือกเส้นทางนี้?

คำตอบสั้นๆ คือ Android

คำตอบแบบยาวขึ้นมาหน่อยต้องใช้ข้อมูลทางสถิติมาแสดง

หมายเหตุ: สถิติทั้งหมดที่ผมหาได้มาจากเว็บไซต์ Asymco ซึ่งเขียนโดย Horace Dediu นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมมือถือชื่อดัง (เก่งเรื่องแอปเปิล แต่ก็เคยทำงานกับโนเกียและ RIM มาก่อน)

รูปแรกที่นำมาโชว์ ผมขอตั้งชื่อว่า "ความฝันพันล้าน" (กดที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่, ที่มาของภาพ)

รูปมันดูยากหน่อย ค่อยๆ อ่านคำอธิบายตามไปนะครับ

รูปซ้ายมือ Asymco นำ "จำนวนผู้ใช้" ของแพลตฟอร์มไอทีต่างๆ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มาพล็อตเป็นกราฟ โดยกราฟแนวตั้งคือจำนวนผู้ใช้ (สัดส่วน log scale ไม่ได้เป็น linear) ส่วนกราฟแนวนอนคือระยะเวลาหลังจากผลิตภัณฑ์เริ่มวางขายครั้งแรก (ส่วนรูปขวาคือตัดบางส่วนของรูปแรกมาเป็น linear scale)

จากข้อมูลของ Asymco ระบุว่า โลกเรานี้มี "แพลตฟอร์ม" ที่ยอดผู้ใช้แตะหลัก 1 พันล้านคนอยู่ 3 อย่างเท่านั้น เรียงตามลำดับเวลาได้แก่

  1. Windows PC (จุดสีส้มในภาพซ้าย กราฟเส้นล่างสุด)
  2. Facebook (จุดสีชมพูดในภาพ กราฟเส้นกลางๆ)
  3. Android (เส้นสีน้ำเงินในภาพ กราฟเส้นซ้ายสุด, ข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนที่โดน KitKat กลบมิด)

กรณีของ Windows PC นั้นกราฟตกขอบไป ไม่แสดงถึง 1,000 ล้านเพราะใช้เวลานานมาก ส่วน Facebook ใช้เวลาประมาณ 34 ไตรมาสหรือ 8 ปีในการสะสมผู้ใช้ให้ครบ 1,000 ล้านคน

ในขณะที่ Android ใช้เวลาประมาณ 20 ไตรมาสหรือ 5 ปีเท่านั้น ถ้าวัดในแง่ประสิทธิภาพต่อเวลาก็ถือว่าเร็วที่สุดในบรรดาสามแพลตฟอร์ม

ส่วน iOS (เส้นสีชมพูในภาพ ติดกับ Android) ก็ทำได้ไม่แย่คือเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตเร็วเป็นอันดับสองรองจาก Android ตอนนี้แอปเปิลน่าจะขายอุปกรณ์ iOS ได้ราว 650-700 ล้านเครื่อง และน่าจะแตะ 1 พันล้านได้ในปีหน้า

รูปที่สองมาจากบล็อกอันเดียวกัน เป็นสัดส่วนของยอดรวมของ Android ทั่วโลก (นับข้อมูล activation จากกูเกิล) มาเทียบกับยอดขาย Android ในสหรัฐอเมริกา (นับข้อมูลจาก comScore)

จะเห็นว่าสัดส่วนลูกค้า Android ในตลาดสหรัฐกับนอกสหรัฐนั้นถ่างออกไปเรื่อยๆ ปัจจัยผลักดันให้ Android แตะหลัก 1 พันล้านเครื่องมาจากประเทศนอกสหรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่

ตลาดนอกสหรัฐมีความหลากหลายสูงมาก และฐานลูกค้าจำนวนมากมาจากประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล (BRIC) อินโดนีเซีย ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา รวมถึงอาเซียน

ประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อไม่สูงเท่าสหรัฐหรือยุโรปตะวันตกแน่ๆ

ถ้าแอปเปิลยังคงใช้นโยบายขาย iPhone รุ่นท็อปราคาแพงต่อไป ก็คงไม่มีปัญหาอะไรทั้งเรื่องรายได้และกำไร (ที่ทำได้ดีมาตลอด)

แต่ในยุคสมัยที่มือถือตลาดบนเริ่มอิ่มตัว จำนวนลูกค้ามีจำกัด การชิงส่วนแบ่งตลาดลูกค้าหน้าใหม่ย่อมต้องออกไปหาจากตลาดใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อน้อยลงไป ถ้าแอปเปิลรักษาฐานที่มั่นเดิมอย่างเดียว สุขสบายกับกำไรอู้ฟู่ในส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงเรื่อยๆ ใช้ยุทธศาสตร์เชิงรับ (defensive) ก็คงไม่ต่างอะไรกับไมโครซอฟท์ที่นอนกินกำไรมหาศาลจากวินโดวส์ ก่อนที่วันหนึ่งจะตื่นขึ้นมาพบว่าตลาดพีซีหดตัว

เพื่อให้อยู่รอดต่อไปในการแข่งขันอันโหดร้าย แอปเปิลต้องปรับยุทธศาสตร์เป็นเชิงรุก (offensive) ออกไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดให้กับตัวเองเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษาฐานลูกค้าพรีเมียมเดิมของตัวเองเอาไว้ด้วย

iPhone 5C คืออาวุธสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์นี้ และจะเป็นบันไดสำคัญให้แอปเปิลวิ่งเข้าป้าย 1 พันล้านโดยเร็ว ก่อนที่จะเริ่มวิ่งต่อไปยัง "พันล้านต่อไป" (The Next Billion ตามวิธีเรียกของโนเกีย)

ดังนั้นสาวกแอปเปิลจงอย่ารำคาญหรือไม่พอใจที่จะเห็น iPhone ราคาถูก ไม่พรีเมียมเหมือนเดิมมาวางขายเกลื่อนกลาด เพราะ "สาวกตัวจริง" ต้องสนับสนุนให้ความฝันพันล้านของแอปเปิลเป็นจริงด้วย iPhone 5C ตัวนี้

หมายเหตุ: ถ้าหากแอปเปิลไม่ใช้ชื่อ iPhone 5C เดี๋ยวจะมาแก้ชื่อในวันพรุ่งนี้ครับ

Blognone Jobs Premium