งานวิจัยชี้ความเห็นในอินเตอร์เน็ตไม่น่าเชื่อถือเสมอไปเพราะมันถูกชี้นำได้

by terminus
13 September 2013 - 14:18

เมื่อเราๆ ท่านๆ สนใจอยากซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต สิ่งแรกๆ ที่คนมักจะทำกันก็คือมองหาความเห็นหรือรีวิวของลูกค้าที่เคยซื้อหรือกำลังใช้สินค้าตัวนั้น และความเห็นที่คนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักมากที่สุดก็คือความเห็นที่ได้รับการโหวตเยอะๆ เพราะเราเชื่อว่ามันผ่านการรับรองจากคนจำนวนมาก ดังนั้นมันจึงน่าเชื่อถือ

แต่ทีมวิจัยที่นำโดย Sinan Aral แห่ง Massachusetts Institute of Technology สงสัยว่าจำนวนโหวตของความเห็นน่าเชื่อถือจริงหรือไม่ มันปราศจากการชี้นำจริงหรือเปล่า พวกเขาต้องการที่จะพิสูจน์ด้วยการทดลองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

นักวิจัยได้ทดลองโดยการแอบแฝงตัวเข้าไปในเว็บไซต์รวมข่าวชื่อดังแห่งหนึ่ง [ข้อมูลปกปิดเนื่องจากยังมีโครงการวิจัยในลักษณะเดียวกันอีกในเว็บดังกล่าว] เว็บไซต์ที่ว่านี้จะเอาข่าวมาแปะและเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นได้ ความเห็นแต่ละอันมีสิทธิ์จะได้รับการโหวตบวกและโหวดลบจากสมาชิกคนอื่นๆ ด้วย ตัวเลขจำนวนโหวตทั้งบวกและลบจะแสดงด้านข้างของกล่องความเห็นนั้นๆ นักวิจัยทดลองสุ่มแจกโหวต จากนั้นก็นำจำนวนโหวตที่แต่ละความเห็นได้รับมาวิเคราะห์

ระหว่าง 5 เดือนที่ทำการทดลองนั้น ผู้ใช้ใส่ความเห็นรวมกันได้กว่า 100,000 อัน และมีการโหวตกันกว่า 30,000 ครั้ง (ไม่นับรวมโหวตที่นักวิจัยแจก)

ผลปรากฏออกมาว่า ความเห็นที่ได้รับแจกโหวตบวกจากนักวิจัยในตอนต้นมีโอกาสที่จะได้รับโหวตบวกจากสมาชิกคนถัดไปมากกว่าความเห็นในกลุ่มควบคุมถึง 32% และเมื่อสิ้นสุดการทดลอง ความเห็นที่ได้รับสุ่มแจกโหวดบวกก็มีคะแนนโหวตสูงกว่าความเห็นในกลุ่มควบคุมถึง 25%

แต่ผลกลับไม่เป็นไปในทางเดียวกันในกรณีที่ความเห็นได้รับสุ่มโหวตลบจากนักวิจัย เมื่อสมาชิกคนอื่นอ่านข้อความในความเห็นและกดโหวตบวกกลับให้ความเห็นนั้น อิทธิพลการชี้นำคะแนนโหวตจากนักวิจัยจะโดนหักล้างทันที

นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่าทำไมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตถึงไม่ยอมตามน้ำในกรณีที่ความเห็นนั้นโดนโหวตลบ บางคนเชื่อว่ามันอาจจะเป็นทัศนคติเฉพาะของกลุ่มสมาชิกในเว็บนั้น บางคนก็เห็นว่าการเห็นคะแนนโหวตลบในความเห็นที่ไม่น่าจะโดนโหวตลบกระตุ้นให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรู้สึกตัวและทำการแก้ไขต่อต้านการชี้นำ

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Science DOI: 10.1126/science.1240466

ที่มา - ScienceNOW

Blognone Jobs Premium