เบื้องหลังพัฒนาการของกูเกิล สู่การเป็นบริษัทที่สนใจเรื่องดีไซน์

by mk
30 September 2013 - 09:17

เว็บไซต์ Fast Company มีสกู๊ปเบื้องหลังว่ากูเกิล เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทที่สนใจเฉพาะประสิทธิภาพและอัลกอริทึม มาสู่บริษัทที่สนใจเรื่องการออกแบบที่สวยงาม มีผลิตภัณฑ์ที่เน้นดีไซน์อย่าง Google Glass หรือ Chromebook Pixel ได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 หลังจาก Larry Page ขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เขาเป็นคนเรียกหัวหน้าดีไซเนอร์จากทั้งบริษัทมานั่งประชุมกัน โดยชี้ปัญหาว่ากูเกิลมีแนวทางการออกแบบที่แตกต่างกันมากในผลิตภัณฑ์แต่ละตัว เพราะแต่ละทีมใช้ดีไซเนอร์ของตัวเองทั้งหมด ผลคือประสบการณ์ของผู้ใช้จะรู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ได้มาจากบริษัทเดียวกัน

Page กำหนดเป้าหมายใหญ่ๆ ให้ทีมออกแบบของกูเกิล 2 ข้อคือ สวยงาม (beauty) และกลมกลืน (cohesiveness) โดยรวมเป็นเป้าหมายหลักชื่อ "One Beautiful Google"

ขั้นตอนหลังจากนั้นคือ ทีมดีไซเนอร์ทั่วบริษัทมานั่งประชุมกันเพื่อกำหนดกรอบการดีไซน์ของกูเกิล โดยที่ Page ไม่ได้เจาะจงละเอียดว่าควรเป็นอย่างไรบ้าง (บอกแค่ว่า "ขอเจ๋งๆ นะ") แต่ Page กลับกำหนดช่วงเวลาการทำงานของทีมดีไซเนอร์ว่าต้องเร็วๆ ซึ่งเป็นการบีบให้ดีไซเนอร์ของบริษัทต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้เสร็จตามกำหนด

โครงการกำหนดกรอบการดีไซน์ของกูเกิลใช้โค้ดเนมภายในว่า Project Kenedy โดยมีที่มาจากเป้าหมายที่ดูยากเย็นเหลือเกินสำหรับบริษัทที่ไม่เคยสนใจเรื่องการออกแบบอย่างกูเกิล มีความยากระดับใกล้เคียงกับแผนส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์ของประธานาธิบดีเคเนดี้ในอดีต ส่วนทีมดีไซเนอร์ชุดนี้ได้ชื่อว่า UXA (User Experience Alliance)

จุดที่น่าสนใจคือกูเกิลไม่ได้แต่งตั้งหัวหน้าทีมดีไซเนอร์ที่มีอำนาจสุงสุดเพียงคนเดียวแบบ Jonathan Ive ของแอปเปิล แต่เน้นการประสานงานกันเองระหว่างทีมผลิตภัณฑ์ต่างๆ แทน

โครงการแรกที่ผ่านมือทีม UXA ได้แก่ Google Now ช่วงต้นปี 2012 ซึ่งเปลี่ยนกระบวนการทำงานของกูเกิลไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมกูเกิลกำหนดแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยทีมวิศวกร แล้วค่อยดึงดีไซเนอร์เข้ามาร่วมงานในช่วงหลังๆ ก็เปลี่ยนเป็นการดึงดีไซเนอร์เข้ามาช่วยออกแบบตั้งแต่แรก (Google Now ใช้ดีไซเนอร์ 8 คนทำงานเต็มเวลา)

ความสำเร็จของ Google Now ส่งผลต่อกูเกิลทั้งในแง่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมีส่วนร่วมของหลายๆ ฝ่าย และแนวทางการออกแบบที่กลายมาเป็น Card UI ในภายหลัง ซึ่งจากนั้นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้ง Gmail, Google Maps, Chrome ก็เริ่มถูกปรับปรุงด้านการออกแบบขนานใหญ่

Fast Company ยังสัมภาษณ์หัวหน้าทีมดีไซเนอร์คนสำคัญๆ ของกูเกิล ที่น่าสนใจมีดังนี้

  • Matias Duarte หัวหน้าทีมดีไซเนอร์ของ Android เล่าว่าเมื่อได้รับการทาบทามจากกูเกิล เขาก็ไม่กล้ามาทำงานด้วยเพราะชื่อเสียงของบริษัทในด้านลบเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบ แต่เมื่อได้คุยกับสองผู้ก่อตั้งซึ่งเล่าเป้าหมายว่าต้องการปรับปรุงเรื่องการออกแบบของบริษัท มุมมองของเขาก็เปลี่ยนไป และย้ายมาทำงานกับกูเกิลในท้ายที่สุด
  • Isabelle Olsson นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวสวีเดน ได้รับการทาบทามจากกูเกิลให้มาทำงานในโครงการลับโดยไม่บอกว่าจะต้องทำอะไรแม้ในช่วงการสัมภาษณ์งาน เมื่อเธอเข้ามาเริ่มงานก็ได้รับมอบหมายให้ออกแบบ "กรอบแว่นที่ไม่มีเลนส์" ให้ดูโฉบเฉี่ยวและนำแฟชั่น เธอทำงานนี้อยู่ 2 ปีและสุดท้ายมันออกมาเป็น Google Glass แบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้

ผู้เขียนบทความของ Fast Company ให้ความเห็นว่าแอพ Google Maps ตัวใหม่บน iOS สวยงามกว่า Apple Maps เสียอีก และถ้ากูเกิลสามารถผสมผสานวิธีคิดเชิงข้อมูล การประมวลผลบนกลุ่มเมฆ เข้ากับการออกแบบอินเทอร์เฟซที่สวยงามและเข้าใจง่ายได้สำเร็จแล้ว มันจะกลายเป็นฝันร้ายของทิม คุก เลยทีเดียว

ที่มา - Fast Company Design

Blognone Jobs Premium