งานวิจัยใหม่ด้าน photonic อาจทำให้ได้คอมพิวเตอร์ความเร็วแสง

by stan
7 October 2013 - 14:40

กฏของ Moore ทำนายว่าจำนวนทรานซิสเตอร์ในวงจรรวมจะเพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ สองปี แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์แบบเดิมใกล้ถึงขีดจำกัดเนื่องจากขนาดทรานซิสเตอร์ที่เล็กลงส่งผลให้การควบคุมกระแสไฟฟ้ายากขึ้นและเกิดความร้อนสูง ทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัย Colorado Boulder, Massachusetts Institute of Technology และบริษัท Micron Technology นำทีมโดย Milos Popovic ค้นพบทางออกของปัญหานี้โดยการสร้างตัวกล้ำสัญญาณแสง (optical modulator) ซึ่งสามารถแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นสัญญาณแสงได้ โดยตัวแปลงสัญญาณนี้สามารถรวมเข้าไปในวงจรรวมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้เลย การใช้แสงสื่อสัญญาณ (Photonic) แทนอิเล็กตรอนนั้นมีข้อดีหลายประการเช่น

  • ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วในการประมวลผลของหน่วยประมวลผลได้สูงมากโดยไม่โดนจำกัดด้วยการรั่วไหลของอิเล็กตรอนระหว่างทรานซิสเตอร์
  • สามารถเพิ่มความกว้างของช่องทางการส่งข้อมูลได้โดยการใช้แสงหลายๆ ความยาวคลื่น แบบเดียวกับที่ใช้ใน Dense wavelength division multiplexing (DWDM, การสื่อสารข้อมูลในใยแก้วนำแสงโดยใช้หลายๆความยาวคลื่นในเวลาเดียวกัน)
  • ลดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในทรานซิสเตอร์ และประหยัดพลังงานกว่าเทคโนโลยีอิเล็กโทรนิกส์

ทางทีมวิจัยยังกล่าวอีกว่าเทคโนโลยีของพวกเขาไม่ต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตชิปใหม่และสามารถทำให้เทคโนโลยีอิเล็กโทรนิกส์กับเทคโนโลยีโฟโตนิคเชื่อมต่อกันได้ง่าย

ไม่แน่ว่าในอีกไม่นานนี้เราอาจได้ใช้งานชิปแสงกันแล้วก็ได้

ที่มา - ScienceDaily

Blognone Jobs Premium