สัมภาษณ์ Chris Capossela ผู้บริหารจากไมโครซอฟท์สำนักงานใหญ่ ดูแลตลาดคอนซูเมอร์

by mk
14 October 2013 - 05:00

ผมได้รับคำเชิญจากไมโครซอฟท์ประเทศไทยให้ไปสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานใหญ่อยู่หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้บริหารที่ดูแลงานด้านไอทีองค์กร ทำให้ตอบคำถามฝั่งสินค้าคอนซูเมอร์ (ที่มันหวือหวากว่ามาก) ได้ไม่เยอะเท่าไร

แต่รอบนี้เจอของดีครับ ไมโครซอฟท์แจ้งมาว่าคุณ Chris Capossela ผู้บริหารฝ่ายช่องทางจัดจำหน่ายสายคอนซูเมอร์ (Corporate Vice President, Consumer Channels Group) แวะมาเมืองไทย ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ถามเกี่ยวกับ Surface, Windows Phone, Xbox รวมถึงยุทธศาสตร์ใหม่ของไมโครซอฟท์ที่เน้น "Devices and Services" ไปพร้อมๆ กัน

คุณ Chris ทำงานกับไมโครซอฟท์มานาน 22 ปี ส่วนใหญ่รับผิดชอบงานด้านการตลาด (เคยเป็นผู้ช่วยร่างสุนทรพจน์ให้บิล เกตส์ด้วยนะ!) และเคยทำงานกับฝั่ง Microsoft Office มาซะเยอะ

ผมขอให้คุณ Chris เล่ายุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์ในฝั่งคอนซูเมอร์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่คุณ Chris ย้ำอยู่ตลอดการสัมภาษณ์คือไมโครซอฟท์เน้น "ประสบการณ์การใช้งานที่เหมือนกัน" บนอุปกรณ์ที่ต่างชนิดกัน ไม่ว่าจะเป็นมือถือจอ 4-5" ไปจนถึงแท็บเล็ตจอยักษ์ 80" (ที่สตีฟ บัลเมอร์ มีใช้งาน) เราก็จะได้ใช้ Live Tiles เหมือนกันทั้งหมด ข้อมูลสามารถซิงก์ข้ามกันได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่แข่งทั้งแอปเปิล/กูเกิลยังทำไม่ได้ (ยังเป็นระบบปฏิบัติการแยกตามขนาดหน้าจออยู่)

ผมถามต่อไปว่าหน้าจอ Metro แบบใน Windows 8 เหมาะสำหรับอุปกรณ์จอสัมผัสก็จริง แต่มันกลับไม่เวิร์คเท่าไรเมื่อใช้งานบนพีซีแบบดั้งเดิม ซึ่งคุณ Chris ก็บอกว่าไมโครซอฟท์รับทราบปัญหานี้ และพยายามแก้ไขใน Windows 8.1 ไม่ว่าจะเป็นการใส่ภาพพื้นหลังมาในหน้าจอ Start Screen, การเพิ่มหน้า All Apps เข้ามา สามารถเรียงตามเวลา-แอพที่ใช้บ่อยได้ ถือเป็น 10% สุดท้ายของแผนการ Windows 8 ที่ไมโครซอฟท์อยากเก็บรายละเอียดให้สมบูรณ์ (last 10% of polishness)

ผมเล่าว่ามีผู้อ่าน Blognone บางท่านคอมเมนต์ว่าทำไม Windows Server ถึงต้องใช้หน้าจอแบบ Metro ด้วย คำตอบที่ได้คือมันเป็นประสบการณ์ร่วมของวินโดวส์ยุคใหม่ และถือเป็นการก้าวตามวินโดวส์ฝั่งไคลเอนต์ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านประสบการณ์การใช้งานของวินโดวส์ ซึ่งก็คงขลุกขลักบ้างเล็กน้อย

คุณ Chris เล่าถึง Windows Phone ว่าตอนนี้ในประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาด 15% แล้ว และไมโครซอฟท์ก็ร่วมมือกับโนเกียประเทศไทยอย่างใกล้ชิด (ก่อนมาให้สัมภาษณ์กับผม คุณ Chris ก็เพิ่งไปประชุมกับโนเกียประเทศไทยมา) ผมคอมเมนต์เรื่องฟอนต์ไทยบน Windows Phone ที่ไม่สวยงามเอาซะเลย ได้รับคำตอบว่าเขาไม่รู้ปัญหานี้มาก่อน (เพิ่งมาเมืองไทยครั้งแรกด้วย) แต่ก็รับจะไปบอกทีม Windows Phone ให้

คำถามเรื่อง Microsoft Store ในไทย (ซึ่งเป็นงานที่เขารับผิดชอบโดยตรง) คุณ Chris บอกว่าเป้าหมายของไมโครซอฟท์คือขยายช่องทางการจัดจำหน่าย Surface ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเมืองไทยยังมีช่องทางอยู่น้อยแต่ก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นต่อให้มี Microsoft Store มาตั้งในเมืองไทยสักหนึ่งสาขา ก็คงช่วยอะไรได้ไม่มากนัก ช่วงนี้ไมโครซอฟท์จึงอยากเน้นการขายผ่านพาร์ทเนอร์ก่อน และสนใจว่าทำอย่างไรจะมี Surface ตั้งโชว์เยอะๆ ทั่วประเทศ พนักงานขายหน้าบูตมีความเข้าใจสินค้ามากพอจนสามารถเดโมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปิดท้ายเรื่อง Xbox กับคำถามเดิมๆ ว่าเมื่อไรจะมี Xbox วางขายอย่างเป็นทางการในไทย คำตอบที่ได้คือไมโครซอฟท์อยากขยายตลาด Xbox ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นแหละ แต่การจะบุกไปเปิดตลาดประเทศไหนต้องเตรียมพร้อมดีๆ ดังนั้นเรื่องการวางขายในไทยก็ยังไม่มีข่าวอะไรอัพเดต

แต่คุณ Chris บอกมาประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือไมโครซอฟท์ไม่ได้มอง Xbox เป็น "ฮาร์ดแวร์" แต่มองว่ามันเป็น "entertainment service" ในภาพใหญ่ ดังนั้นการที่ไมโครซอฟท์มีเกมแปะตรา Xbox บน Windows/Windows Phone ก็ถือเป็นความพยายามหนึ่งในการขยายตลาด Xbox เช่นกัน (ดังนั้นถ้าอยากเล่น Halo อย่างเป็นทางการ ก็เล่น Halo: Spartan Assault ไปก่อน)

ในภาพรวมแล้ว ท่าทีของไมโครซอฟท์ชัดเจนมากครับว่านโยบายใหม่ของบริษัทคือคำว่า "Devices & Services" สโลแกนนี้ท่องไว้เลยครับ มันจะช่วยให้เราเข้าใจท่าทีของไมโครซอฟท์ชัดเจนขึ้นมาก

ไมโครซอฟท์ในฐานะ "บริษัทซอฟต์แวร์" จะเริ่มจางลง และกลายเป็นบริษัทด้าน "อุปกรณ์และบริการ" มากขึ้น ตัวอย่างของ Xbox นี่ชัดเจนมาก เราแทบไม่สนใจแล้วว่า Xbox ใช้ระบบปฏิบัติการอะไร แต่เราสนใจตัวเครื่องเกม (Xbox One) และบริการที่ใช้งานได้ (Xbox Live, Xbox Music, Skype, เกม ฯลฯ) กันแทน

Blognone Jobs Premium