งาน Internet Governance Forum 2013 ที่บาหลีจบลงไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาโดยมีคนร่วมงานกว่า 1,500 คน ส่วนมากเป็นตัวแทนหน่วยงานทั้งรัฐบาลและเอกชน ประเด็นใหญ่ที่สุดของงานหลังจากงานนี้จบลงเป็นเรื่องของความมั่นคงออนไลน์ หลายประเทศนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของตัวเอง เช่น การจัดการโดเมนที่ผู้ดูแลหลายประเทศนำเสนอแนวทางการดูแลโดเมนของตัวเองไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือสแปมหรือภัยอื่นๆ
แต่ประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่วันแรกเป็นต้นมาคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการสอดส่องอินเทอร์เน็ตเป็นวงกว้าง เช่นที่ทำโดย NSA ผมได้สัมภาษณ์ Andrew Sullivan สมาชิก Internet Architecture Board และตัวแทนของ IETF (งานประจำของเขาเป็นวิศวกรอยู่ที่ Dyn.com) สั้นๆ เขาระบุว่าที่ผ่านมา IETF มักไม่ได้มองการสอดส่องอินเทอร์เน็ตเป็นวงกว้างว่าเป็นภัยต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตนัก และการมองเช่นนี้เป็นความผิดพลาดของ IETF ผมสอบถามต่อว่าโปรโตคอลในอนาคต เช่น HTTP 2.0 นั้นจะเข้ารหัสตลอดเวลาเพื่อแก้ความผิดพลาดที่ผ่านมาหรือไม่ เขาตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนนัก แต่ในการประชุม IETF เดือนหน้าที่จะถึงนี้จะมีกำหนดการพูดคุยเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ประเด็น NSA เป็นประเด็นร้อนของงาน ตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ มาร่วมงานนี้ถึงสิบคนเพราะรู้ว่ากำลังจะถูกโจมตีอย่างหนัก อย่างไรก็ดีตัวแทนของสหรัฐฯ ก็มักไม่ตอบคำถามตรงๆ เช่น Snowden จะถูกดำเนินคดีหรือไม่ แต่มักระบุว่าแม้จะมีการดักฟังที่สหรัฐฯ เรียกว่า "ชุดข้อมูลข่าวกรอง" (intelligence collection) แต่การเข้าดูข้อมูลเหล่านั้นจำกัดเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้ใช้เพื่อกดดันพลเมืองของประเทศใดๆ ส่วนตัวแทนของบริษัทอย่างกูเกิลก็ออกมายืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อการดักฟังเป็นการเฉพาะ
ที่มา (นอกเหนือจากที่ไปร่วมงานโดยตรง) - Jakata Post, United Nation