รีวิว HP Chromebook 11, Chromebook ราคาถูกที่ขึ้นชื่อว่า "Made with Google"

by lew
29 October 2013 - 21:15

Chrome OS เป็นระบบปฎิบัติการตัวที่สองที่กูเกิลปล่อยออกมาหลังจากแอนดรอยด์ ด้วยแนวคิดที่ว่าแทบทุกอย่างที่เราใช้งานทุกวันนี้ล้วนอยู่บนเว็บกันอยู่แล้ว ทำไมเราจึงต้องใช้ระบบปฎิบัติการที่ทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายจนสร้างความยุ่งยากในการใช้งาน ที่ผ่านมากูเกิลเลือกคู่ค้าสำคัญคือซัมซุง จับคู่กันพัฒนา Samsung Chromebook ออกมาจนสามารถชิงที่หนึ่งของอเมซอนได้ต่อเนื่องนับแต่มันวางตลาด จนทุกวันนี้ก็ยังสามารถครองอันดับหนึ่งได้อย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่กูเกิลพยายามวางต้นแบบ Chromebook ที่ควรจะเป็นด้วยการพัฒนา Chromebook Pixel ด้วยตัวเอง สเปคที่สูงสุดในบรรดา Chromebook ด้วยกันทั้งหมด จอภาพแบบสัมผัสคุณภาพสูง ซีพียูที่แรง กลับถูกบดบังด้วยราคาที่แพงจนกระทั่งคนส่วนมากหลีกเลี่ยงที่จะเลือกซื้อ

ปีนี้เราเห็นผู้ผลิตจำนวนมากให้ความสนใจ Chromebook กัน และเปิดตัวออกมาแล้วหลายรุ่น แต่ในบรรดาทั้งหมดนั้น กูเกิลกลับจงใจเปิดตัว HP Chromebook 11 ด้วยตัวเอง และให้คำสร้อยต่อท้ายชื่อรุ่นมันว่า "Made with Google"

Chromebook 11 กลายเป็นความฝันของผู้ใช้ Chromebook ทั้งหลายว่าฟีเจอร์จำนวนมากจาก Chromebook Pixel จะถูกใส่เข้ามา ในราคาที่ถูกลง Chromebook 11 ถูกตีตราว่ามาจากกูเกิลด้วยแถบสีสี่สีหลังเครื่อง, สัญลักษณ์ Made with Google บนหน้ากล่อง, คำว่า chrome ใต้หน้าจอ, ขณะที่โลโก้เอชพีเองกลับไปอยู่ใต้เครื่องและบนหน้ากล่อง

รอบๆ เครื่องนั้นแทบจะไม่มีอะไรให้เราสังเกต เครื่องนี้มีพอร์ตเพียงสี่พอร์ตเท่านั้น คือ USB 2.0 สองพอร์ต, micro USB หนึ่งพอร์ต, และช่อง headset สำหรับหูฟังและไมโครโฟน

Chrome OS เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา มันจะให้เราเชื่อมต่อ Wi-Fi ในทันที และก่อนทำทุกอย่างก็เข้าสู่กระบวนการดาวน์โหลดอัพเดต การอัพเดตกินเวลานานพอสมควร อาจจะใช้เวลา 10-15 นาที เมื่ออัพเดตเสร็จแล้วก็จะรีบูตเข้าใช้งาน

การใช้งาน Chrome OS ต้องล็อกอินด้วยบัญชีกูเกิลทันที สำหรับคียบอร์ดผมเลือกที่จะเพิ่มเอาภายหลังเพราะไม่ไม่ต้องการเลือกใช้หน้าจอภาษาไทยขณะติดตั้ง แต่เท่าที่ลองเลือกภาษาไทยดูพบว่าอินเทอร์เฟซทั้งหมดเตรียมเป็นภาษาไทยไว้ครบถ้วนแล้ว การเปลี่ยนภาษาทำด้วยปุ่ม CTRL+Spacebar ซึ่งปรับตัวได้ง่าย และในความคิดผมผมมองว่ามันกดง่ายกว่า ALT+SHIFT ของวินโดวส์มาก

Chromebook 11 ได้รับคำชมอย่างสูงในสื่อต่างประเทศ ในเรื่องของคุณภาพจอ ผมลองใช้งานแล้วก็เห็นด้วย แม้จะเป็นจอกระจกแต่ความคมชัดสูง แสงสะท้อนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กในระดับราคาเดียวกัน

คีย์บอร์ดของ Chromebook 11 ค่อนข้างน่าประทับใจ คีย์บอร์ดเต็ม มีช่วงยุบค่อนข้างลึก การพิมพ์ทำได้ง่าย เสียงไม่ดังมากเมื่อพิมพ์ค่อนข้างแรง มันเทียบได้กับโน้ตบุ๊กราคาหมื่นกลางๆ ขึ้นไปได้สบาย ขณะที่โน้ตบุ๊กราคาไม่ถึงหมื่นส่วนมากที่ผมเจอ มักมีเลย์เอาต์แปลกออกไป หรือไม่ก็มีความหนืดที่ไม่เหมาะสมกับการพิมพ์ยาวๆ ส่วนทัชแพดนั้นกลับได้คำตำหนิค่อนข้างมาก กูเกิลและเอชพีเลือกที่จะปรับความไวของทัชแพดไว้ค่อนข้างสูงมาก การใช้งานค่าเริ่มต้นทำได้ลำบาก แล้วพยายามชดเชยความไวของทัชแพดด้วยผิวสากที่เหมือนพ่นทรายไว้บางๆ ในการใช้งานจริงผมแนะนำให้ลดความไวของทัชแพดลง

เรื่องที่อาจจะน่าแปลกใจสักหน่อยใน Chromebook 11 คือปุ่มปิดเครื่องนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคีย์บอร์ดเลย แต่การปิดเครื่องนั้นต้องกดค้างเอาไว้ ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าจะเผลอไปกดโดนแต่อย่างใด

ลำโพงของ Chromebook 11 นับว่าใช้งานได้จริง นำไปเปิดเพลงฟังได้แบบไม่จริงจังได้สบายๆ เสียงชัด

แม้ตัวเครื่องจะเป็นพลาสติกทั้งหมด แต่ก็ไม่ดูยวบไปมาแต่อย่างใด ข้อดีที่ได้กลับมาอย่างชัดเจนคือน้ำหนักเพียงหนึ่งกิโลกรัมนิดๆ เท่านั้น นับว่าเบาที่สุดเท่าที่ผมเคยใช้งานมา เป็นรองเพียง Surface ที่มีรูปร่างต่างออกไป และไม่สามารถวางบนตักทำงานได้ สำหรับเรื่องน้ำหนัก ต้องคิดถึงว่า Chromebook 11 นั้นมีที่ชาร์จที่เล็กมาก เท่ากับที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตตัวใหญ่ๆ เท่านั้น น้ำหนักรวมเมื่อต้องแบกออกไปทำงานจะน้อยลงมาก รวมถึงที่ชาร์จ micro USB ทำให้ชาร์จร่วมกับโทรศัพท์มือถือได้ การใช้เพื่อเดินทางไกลโดยรวมจะทำให้แบกของน้อยลงไปอีก

มุมจอของ Chromebook 11 สามารถกางได้มากสุดประมาณ 120 องศา สำหรับการใช้งานทั่วไปก็นับว่าสะดวกดี ข้อพับไม่แน่นนัก แต่เมื่อกางสุดแล้วก็ไม่มีอาการแกว่งมากนัก ข้อเสียของมุมจอที่กางไม่ได้มาก คือการใช้งานในสถานที่แคบๆ เช่น ที่นั่งในรถจะทำได้ลำบากเพราะจอภาพไม่ตรงกับมุมสายตาพอดี

ข้อควรระวังสำคัญของ Chromebook 11 คือซีพียูของมันเป็น Exynos 5250 ผมใช้งานแล้วพบว่าไม่มีปัญหาในการเข้าดูเว็บโดยทั่วไป การเรนเดอร์แม้จะช้ากว่าเครื่องที่เป็นตระกูลอินเทลบ้าง (เทียบกับเครื่องลินุกซ์และวินโดวส์) แต่ก็สามารถใช้งานได้โดยไม่มีปัญหาอะไร สิ่งที่รู้สึกชัดเจนที่สุดคือการเล่นวิดีโอที่ 720P ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่ได้ถอดรหัสวิดีโอเตรียมไว้วิดีโอจะมีอาการกระตุกอยู่ห้าถึงสิบวินาทีแทบทุกครั้ง ข้อดีที่ได้กลับมาจาก Exynos คือ Chromebook 11 ไม่มีพัดลมโดยสิ้นเชิง ตัวเครื่องปิดทั้งหมด และทำงานเงียบอย่างสมบูรณ์ ในแง่ของความร้อนนั้น หลังจากเล่นวิดีโอไปแล้วก็จะเริ่มรู้สึกร้อนบริเวณแถวๆ ข้อพับอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ร้อนเกินไปที่จะวางบนตัก ขณะที่การใช้งานพิมพ์หรือเข้าเว็บนั้นจะรู้สึกแค่อุ่นๆ เท่านั้น

ขณะที่ผมใช้งานอยู่ตอนนี้ อายุแบตเตอรี่หลังถอดปลั๊กแจ้งว่าสามารถอยู่ได้อีกห้าชั่วโมง บนจอภาพความสว่าง 80% และเปิด Wi-Fi น่าเสียดายว่ามันไม่พอที่จะใช้งานทั้งวัน และน้อยกว่าเครื่องในตระกูลอินเทลที่ออกมาพร้อมกันเสียอีก แต่ชดเชยด้วยอแดปเตอร์ขนาดเล็กและอายุแบตเตอรี่ที่พอจะให้ใช้ตัวชาร์จไปชาร์จโทรศัพท์จนเต็มค่อยกลับมาชาร์จโน้ตบุ๊กได้ก็นับว่าพอให้อภัยกันได้

ผมเลือก Chromebook 11 เพราะส่วนตัวแล้วบล็อกทั้งหมดที่ผมเขียน จะเขียนบน Writebox ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นบน Chrome อยู่แล้ว Chromebook 11 พอเหมาะกับการเช็คข่าว, เขียนบล็อก, ส่งอีเมล ซึ่งเป็นการใช้งานหลักสำหรับการทำงานนอกบ้านของผมเอง ผมต้องการคีย์บอร์ดคุณภาพดีที่สุดในงบประมาณที่จำกัดสำหรับเครื่องที่ใช้เดินทางมากๆ ราคาถูกพอสำหรับการเดินทางที่อาจจะต้องกระแทกไปมาและเสี่ยงต่อความเสียหาย

Chromebook 11 ดูจะไม่เหมาะนักสำหรับคนที่ต้องการใช้งานมากไปกว่านี้ การต่อจอภายนอกต้องใช้อแดปเตอร์ SlimPort ที่หาซื้อได้ยาก และใช้งานร่วมกับคนอื่นแทบไม่ได้เลย ความบันเทิงบน Chromebook 11 ค่อนข้างจำกัด ความเร็วซีพียูที่ต่ำและพื้นที่เก็บไฟล์ที่น้อยทำให้ไม่เหมาะกับการพกภาพยนตร์ไปดูนอกบ้านเท่าไหร่

สำหรับการใช้งานที่ต้องการ "มากกว่า Chromebook อีกหน่อย" ผมคิดว่า Acer C720 ที่ใช้ซีพียู Haswell และมีการเชื่อมต่อที่หลากหลายกว่านั้นน่าสนใจกว่ามาก แถมยังราคาถูกกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยจอภาพและคีย์บอร์ดที่หลายเว็บวิจารณ์กันว่าด้อยกว่า พอร์ตชาร์จเฉพาะที่ต้องห้ามลืมสายชาร์จ ที่สำคัญคือตอนนี้ในสหรัฐฯ เอง Acer C720 ก็ยังไม่มีวางขายทั่วไป

Blognone Jobs Premium