เมื่อวานนี้ โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือกลุ่ม NBTC Policy Watch นำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ “การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานกำกับดูแล: กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศ” โดยนักวิจัยคือ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากการตรวจสอบโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายของ กสทช. ในปี 2555 พบว่า การจัดสรรค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาทนั้น ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ขององค์กรในการกำกับดูแลเท่าที่ควร โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงที่สุด เช่น เงินบริจาคและการกุศล จำนวน 245 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ จำนวน 206 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ จำนวน 114 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายทั้ง 3 รายการ มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในปี 2555 ของ กสทช. (รายละเอียดดูในไฟล์สไลด์ท้ายข่าว)
นอกจากนี้ นายประเสริฐ อภิปุญญา คณะกรรมการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของ กสทช. (นิยมเรียกกันว่า "ซูเปอร์บอร์ด") ยังให้ข้อมูลว่า กสทช. บางรายจัดซื้อไอแพดในราคาเครื่องละ 7 หมื่นบาทด้วย ซึ่งทางซูเปอร์บอร์ดจะขอให้ กสทช. มาชี้แจงต่อไป
ที่มา - ข่าวแจกของ NBTC Policy Watch, ประชาชาติธุรกิจ, เดลินิวส์
โครงการ NBTC Policy Watch เปรียบเทียบการใช้ทรัพยากรในการกำกับดูแลของ กสทช. กับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ พร้อมเสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch นำเสนอรายงานในหัวข้อ “การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานกำกับดูแล: กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศ” โดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.พรเทพ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2555 กิจการโทรคมนาคม โทรทัศน์ และการกระจายเสียงของไทย มีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ในขณะที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีขนาดของกิจการดังกล่าวใหญ่กว่าไทยประมาณ 8 และ 40 เท่า ตามลำดับ โดยงบประมาณที่ กสทช. ใช้กำกับดูแลมีประมาณ 4,000 ล้านบาท เทียบกับงบประมาณที่หน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษและอเมริกาใช้ประมาณ 6,000 และ 11,000 ล้านบาทตามลำดับ และหากพิจารณาจำนวนพนักงานพบว่า กสทช. ใช้พนักงาน 1,097 ราย ซึ่งสูงกว่า Ofcom ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษที่ใช้พนักงาน 735 ราย ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกา Federal Communications Commission (FCC) ใช้พนักงานจำนวน 1,685 ราย
ดร.พรเทพ กล่าวว่า จากการตรวจสอบโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายของ กสทช. ในปี 2555 พบว่า การจัดสรรค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาทนั้น ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ขององค์กรในการกำกับดูแลเท่าที่ควร โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงที่สุด เช่น เงินบริจาคและการกุศล จำนวน 245 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ จำนวน 206 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ จำนวน 114 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายทั้ง 3 รายการ มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในปี 2555 ของ กสทช.
ดร.พรเทพ อธิบายว่า กสทช. ไม่มีหน้าที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะในการบริจาคเพื่อการกุศล แต่กลับใช้งบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับส่วนนี้ในสัดส่วนที่สูงที่สุด ในขณะที่ในต่างประเทศ ทั้ง FCC และ Ofcom ไม่มีงบประมาณในเรื่องนี้ “การบริจาคและกิจการการกุศลเป็นเรื่องดีที่ กสทช. ไม่ควรทำ เพราะบทบาทดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. ซึ่ง กสทช. พึงระลึกไว้เสมอว่างบประมาณดังกล่าวเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและกระจายเสียงให้มีประสิทธิภาพ หากทรัพยากรที่ กสทช. มีเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็ควรส่งงบประมาณที่เหลือกลับสู่รัฐที่มีหน้าที่ในการจัดสรรใช้ประโยชน์ในทางอื่นต่อไป” ดร.พรเทพ กล่าว
ข้อสังเกตุอีกประการหนึ่งคือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ กสทช. สูงจนน่าตกใจ โดยค่าใช้จ่ายรวมในการเดินทางทั้งในและต่างประเทศของ กสทช. คือ 231 ล้านบาท ในปี 2555 ดร.พรเทพ อธิบายว่า ค่าใช้จ่ายเดินทางคิดเป็นร้อยละ 16 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งสูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่หน่วยงานกำกับดูแลของอเมริกาและอังกฤษใช้ที่ 57 ล้านบาท และ 79 ล้านบาท เป็นจำนวนมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวของทั้งสองประเทศคิดเป็นร้อยละ 1.9 และ 1.6 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่แต่ละประเทศใช้ตามลำดับ สาเหตุสำคัญคือ กสทช. ตั้งงบประมาณในการเดินทางของคณะกรรมการ กสทช. รวมถึงงบรับรอง ไว้ค่อนข้างสูง เช่น ในปี 2556 คณะกรรมการแต่ละรายจะได้รับงบประมาณ 400,000 บาท สำหรับค่าเดินทางภายในประเทศ และ 3,000,000 บาทสำหรับค่าเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งงบรับรองอีกจำนวนหนึ่งแยกต่างหาก และงบประมาณในส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2557 ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศที่พนักงานทุกรายรวมถึงผู้บริหารระดับสูง ต้องเบิกค่าใช้จ่ายตามจริง และมีข้อกำหนดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เข้มงวด เช่น ห้ามโดยสารเครื่องบินชั้นหนึ่ง ไม่ว่ากรณีใด ๆ เป็นต้น และมีการเปิดเผยค่าใช้จ่ายส่วนนี้โดยละเอียดต่อสาธารณะ
งบประมาณสำหรับประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายอีกรายการที่ กสทช. ใช้จ่ายจำนวนมาก โดยในปี 2555 งบประชาสัมพันธ์ของ กสทช. เท่ากับ 114 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของงบดำเนินการ ดร.พรเทพ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาจะพบว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่น้อยกว่ามาก โดยหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐใช้งบประชาสัมพันธ์เพียง 9.9 ล้านบาท คิดเป็น 0.33% ของงบดำเนินการ “การประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ภารกิจหลักของ กสทช. แต่ กสทช. กลับใช้งบประมาณไปกับเรื่องดังกล่าวมากกว่าค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อผลิตงานวิชาการ และค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนาสำหรับพนักงานเสียอีก” ดร.พรเทพ ให้ความเห็น
นอกจากนี้งบบางประเภทก็ไม่มีการระบุถึงการใช้ที่ชัดเจน เช่น งบกลางฉุกเฉินที่ถูกใช้ไป 80 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับ “ภาระต่าง ๆ ที่จำเป็น” ซึ่งมีจำนวนมากถึง 970 ล้านบาท
ดร.พรเทพ เสนอว่า กสทช. ควรปรับการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายภารกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยในการจัดทำงบประมาณ การรายงานการใช้จ่ายงบประมาณ และการรายงานผลการปฏิบัติงาน ทั้งหมดควรจะจำแนกตามภารกิจและยุทธศาสตร์ที่ กสทช. ตั้งไว้ เพื่อช่วยในการติดตามประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร และสร้างความโปร่งใส
นอกจากนี้ รายงานการใช้จ่ายควรจำแนกตามกลุ่มงาน ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า กสทช. กระจายทรัพยากรเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด โดยในปัจจุบันการกระจายของงบประมาณระหว่างกลุ่มงานมีความแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2556 งบประมาณสำหรับภารกิจโทรคมนาคมมีทั้งสิ้น 795 ล้านบาท ในจำนวนนี้กลุ่มงานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และ กลุ่มงานขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุดถึง 28% และ 24% ของงบประมาณภารกิจโทรคมนาคมข้างต้น ในขณะที่กลุ่มงานที่น่าจะมีภาระตรงกับยุทธศาสตร์ขององค์กร เช่น กลุ่มงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กลุ่มงานวิชาการและการจัดสรรทรัพยากรโทรคมนาคม และกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการจัดสรรงบประมาณคิดเป็นเพียง 9%, 8% และ 6% ตามลำดับ
ในส่วนของผลการดำเนินงานของ กสทช. ดร.พรเทพ พบว่า ผลงานส่วนใหญ่เป็น การร่างประกาศ แผนงาน ที่บังคับใช้ รวมถึงการประชุมระดมความเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งในหลายส่วนงานของ กสทช. มีเกณฑ์เป้าหมายเป็นจำนวนการบังคับใช้ร่างประกาศต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ประเมินคุณภาพ (Key Performance Indicator) ที่มีความเหมาะสมสำหรับการดำเนินงานในปีแรก ๆ อย่างไรก็ดี ดร.พรเทพ เสนอว่า ในอนาคต กสทช. ควรพิจารณาเพิ่มเกณฑ์ประเมินคุณภาพที่สะท้อนผลลัพท์หรือประสิทธิภาพในการกำกับดูแล (Outcome oriented performance goal) ตามยุทธศาสตร์ขององค์กร เช่น เป้าหมายการคุ้มครองผู้บริโภค ควรพิจารณา จำนวนเรื่องร้องเรียนที่แก้ไขสำเร็จ หรือการบังคับใช้ประกาศอัตราค่าโทรขั้นสูง หรือการแก้ปัญหาที่ผู้บริโภคพบบ่อย อาทิ SMS ขยะ ระยะเวลาการขอย้ายโครงข่ายโดยใช้เบอร์เดิม เป็นเกณฑ์ประเมินคุณภาพเป็นต้น