ประสบการณ์เช่า Pocket Wi-Fi Router (ต่อเน็ตแบบ WiMAX) ที่ญี่ปุ่น

by mk
9 November 2013 - 02:28

เมื่อเดือนที่แล้วผมไปเที่ยวญี่ปุ่นมาครับ (ประเทศกำลังฮิต) แน่นอนว่าการไปเที่ยวต่างประเทศในสมัยนี้เราก็ต้องนึกถึงวิธีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างอยู่เมืองนอกด้วย

ปกติแล้วถ้าไปแค่ไม่กี่วัน การเปิดโรมมิ่งคงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ถ้าไปหลายวันหน่อยอาจใช้วิธีซื้อซิมท้องถิ่นแบบเติมเงิน เพียงแต่กรณีของญี่ปุ่นที่ใช้เทคโนโลยีมือถือต่างกับชาวบ้านอยู่บ้าง แถมยังเป็นประเทศที่ไม่นิยมขายแพ็กเกจแบบพรีเพดเสียด้วย วิธีที่อาจจะดีกว่าคือการเช่า Pocket Wi-Fi Router แทนครับ

ปัญหาก็คือต่อให้เป็น Pocket Wi-Fi Router การเช่าโดยตรงจากผู้ให้บริการโครงข่ายก็ทำได้ยาก (เพราะโอเปอเรเตอร์เน้นการเช่าระยะยาวที่ต้องทำสัญญา) ช่องว่างตรงนี้ทำให้มีหลายบริษัทเห็นเป็นโอกาสธุรกิจ ทำสัญญาเช่า Pocket Wi-Fi Router จากโอเปอเรเตอร์ แล้วมาให้ทัวริสต์แบบเราๆ เช่าช่วงต่ออีกทีหนึ่ง

กระบวนการเช่าเครื่อง

อย่างที่บอกไปว่าบริษัทให้เช่า Pocket Wi-Fi Router มีหลายบริษัท และบางบริษัทก็เน้นทำตลาดคนไทยโดยเฉพาะ บริษัทที่ดังหน่อย (และผมเลือกใช้บริการในรีวิวตอนนี้) คือ wifi-rental.jp

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับการสนับสนุนเครื่อง Pocket Wi-Fi Router จาก wifi-rental.jp ดังนั้นถือเป็นกึ่ง advertorial นะครับ (ผมเขียนบทความอย่างอิสระ ไม่ต้องส่งตรวจก่อน แต่ก็ต้องแจ้งผู้อ่านถึงผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย)

เนื่องจากบริการเช่าเครื่องลักษณะนี้เป็นการเช่าช่วง ทำให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจแบบนี้ไม่มีศูนย์รับส่งเครื่อง และใช้วิธีรับส่งกันผ่านไปรษณีย์แทน ความสะดวกจึงอาจไม่เท่าการเช่ามือถือที่สนามบินครับ กระบวนการส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กันทุกบริษัท แต่ในที่นี้ก็ขออ้างอิงของ wifi-rental.jp ตามที่มีประสบการณ์ใช้งานมา

การรับเครื่อง

มีด้วยกัน 3 วิธี (รายละเอียด)

  1. รับเครื่องที่เมืองไทย ศูนย์อยู่ที่อาคารเลิศปัญญา BTS พญาไท (หลังตึก อ.อุ๊) เหมาะสำหรับคนที่สะดวกไปรับ แต่มีจำนวนเครื่องค่อนข้างจำกัด
  2. ให้ส่งไปรษณีย์ไปที่โรงแรมที่จะพักในญี่ปุ่น ตามวันที่ต้องการใช้งาน
  3. ให้ส่งไปรษณีย์ไปที่สนามบิน รับได้ที่ทำการไปรษณีย์ของสนามบิน หรือบริษัทรับส่งของที่สนามบิน

ผมเลือกใช้วิธีที่ 3 โดยทางศูนย์เช่าเครื่องส่งไปให้ที่สนามบินนาริตะ (เราต้องระบุว่าเราจะไปถึงวันไหน ไฟลท์ไหน กี่โมง) เราจะได้ tracking code ทางอีเมล จากนั้นก็ไปรับที่ทำการไปรษณีย์หรือบริษัทรับส่งของตามที่ระบุได้เลย

กรณีของผมจะต่างไปจากหน้าเว็บของ wifi-rental.jp อยู่หน่อย เพราะบนหน้าเว็บบอกว่าจะส่งไปที่ไปรษณีย์ (ของนาริตะ อยู่ชั้น 4 ตรงกลาง - แผนที่) แต่ในอีเมลที่ส่งมา บอกให้ไปรับที่บริษัทรับส่งของ GPA ซึ่งอยู่ชั้น 4 ฝั่ง South Wing แทนครับ (อยู่สุดขอบของ South Wing เลย) ไปถึงบริษัทแล้วก็แจ้งเบอร์ tracking code พร้อมกับพาสปอร์ตยืนยันตัวตน เจ้าหน้าที่จะขอสำเนาพาสปอร์ตไว้ (ไม่ต้องเซ็นกำกับแบบเมืองไทยนะครับ) ก็จะได้ซองมา

การคืนเครื่อง

คืนกลับทางไปรษณีย์เช่นกันครับ โดยในซองจะมีใบปะหน้าซองสำหรับส่งกลับเตรียมมาให้แล้ว เราแค่ไปซื้อซองตามร้านสะดวกซื้อแล้วแปะใบส่งกลับได้เลย

แต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือไปที่ไปรษณีย์ของสนามบินนั่นล่ะครับ เค้าเชี่ยวชาญเพราะมีคนใช้บริการลักษณะนี้เยอะ แค่ยื่นเอกสารใบปะหน้าให้ จ่ายค่าซอง จ่ายค่าส่งกลับ เท่านี้ก็เรียบร้อย

อุปกรณ์ในชุด

เมื่อแกะซองออกมา เราจะเห็นซองผ้าหนึ่งซองมาเป็นแพ็กเกจเรียบร้อย ภายในซองประกอบด้วย

  • เอกสารสอนการใช้งาน พร้อมใบปะหน้าส่งกลับ
  • ตัว Pocket Wi-Fi Router ตามรุ่นที่เลือก
  • สายชาร์จ Micro USB
  • สายแปลง Micro USB to USB

อุปกรณ์พวกนี้ต้องส่งกลับคืนทั้งหมด (ไม่งั้นโดนปรับ) ก็รักษากันดีๆ นะครับ

ในซองมีเอกสารภาษาไทยมาให้ครบครัน

ขั้นตอนการใช้งานก็ง่ายสุดๆ ครับ กดปุ่มเปิดเครื่องค้างไว้ รอไฟขึ้นครบ แล้วในฝั่งอุปกรณ์ของเราก็เลือก SSID ตามชื่อที่ระบุ ใส่ WPA key ตามที่ระบุมาในเอกสาร (มีแปะอยู่ใต้เครื่องด้วย) เท่านั้นก็เรียบร้อย

ตัวเครื่องรุ่นที่ผมใช้ (เป็น WiMAX Router ของบริษัท NEC) มีสัญญาณไฟ 4 ดวงตามภาพ จากซ้ายไปขวาคือ ไฟแสดงการทำงานของเครื่อง, ไฟบอกแบตเตอรี่ (ถ้าใกล้หมดจะกะพริบ), ไฟบอกว่า Wi-Fi on, ไฟแสดงสัญญาณ WiMAX (เต็ม 4 ขีด)

เท่าที่ใช้มา แบตของ Pocket Wi-Fi Router รุ่นนี้ (NEC Aterm WM3500R) อยู่ได้ประมาณ 6-7 ชั่วโมง นั่นแปลว่าถ้าเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลามันจะอยู่ได้ไม่ครบวันนะครับ ดังนั้นควรปิดในช่วงที่ไม่ใช้ และก็ต้องเตรียม power bank ไปเผื่อด้วยเพื่อประสบการณ์การท่องเน็ตที่ดีของท่าน (สายชาร์จเป็น Micro USB ใช้ได้กับ power bank ทั่วไปอยู่แล้ว)

พื้นที่และความเร็วของเครือข่าย WiMAX

บริษัทที่ให้บริการ Pocket Wi-Fi Router ในลักษณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 รายใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น ได้แก่

  • EMOBILE เป็นโอเปอเรเตอร์อันดับ 4 ของญี่ปุ่น เครือข่ายเป็น 3G/HSPA กับ LTE
  • UQ WiMAX เป็นบริษัทร่วมทุนของ KDDI โอเปอเรเตอร์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ที่แยกมาเปิดบริการ WiMAX โดยเฉพาะ

รุ่นที่ผมได้มาเป็นเครื่องที่ใช้เครือข่ายของ UQ WiMAX ครับ ดังนั้นก็จะรีวิวได้เฉพาะแบบ WiMAX เท่านั้น

คนที่ติดตามเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายคงทราบว่า สงคราม 4G ระหว่างค่าย WiMAX กับ LTE จบลงด้วยชัยชนะของ LTE แบบทิ้งขาด เราเห็นข่าวโอเปอเรเตอร์หลายรายทั่วโลกเริ่มขยับจาก WiMAX มาเป็น LTE แต่ WiMAX เองก็ยังมีตลาดเฉพาะทางในแง่การใช้งานแทน ADSL แบบมีสายอยู่บ้าง

UQ WiMAX ก็ถือเป็นเครือข่าย WiMAX รายใหญ่รายหนึ่งของโลก (ถึงแม้ว่า KDDI จะหันไปทำ LTE ด้วยเช่นกัน) ที่ลงทุนกับโครงข่าย WiMAX มานานพอสมควร เครือข่ายก็ครอบคลุมพื้นที่พอสมควร แต่จะให้ไปสู้กับเครือข่าย mobile cellular โดยตรงก็คงยาก

สำหรับคนที่สนใจใช้บริการแบบ WiMAX ถ้ารู้ก่อนว่าจะไปเที่ยวแถบไหน ก็สามารถเช็ค coverage area ได้จากเว็บของ UQ WiMAX เลย (จริงๆ แล้วโอเปอเรเตอร์ญี่ปุ่นทุกราย เช็คผ่านหน้าเว็บได้หมด)

จากการทดสอบระหว่างอยู่ในญี่ปุ่น ผมพบว่าพื้นที่ในเขตโตเกียว ถ้าอยู่ภายนอกอาคารก็น่าจะใช้ได้เกือบหมด ส่วนนอกเขตโตเกียวก็ใช้ได้ตามสถานีรถไฟและพื้นที่ในเมือง แต่ถ้าไปเมืองเล็กๆ หน่อยก็จะไม่มีสัญญาณเลย (เมืองไหนจะมี-ไม่มี ก็ต้องเช็คกันเองในแผนที่นะครับ)

จุดที่เป็นปัญหาคงเป็นว่าภายในอาคารใหญ่ๆ เช่น ศูนย์การค้า หรือ สถานีรถไฟใต้ดิน มักเจอจุดอับสัญญาณอยู่บ่อยครั้ง (แม้ในแผนที่จะครอบคลุม) ต้องเดินเปลี่ยนจุดเพื่อหาสัญญาณ และบางครั้งต่อให้มีสัญญาณก็จะเกิดอาการ "เน็ตไม่วิ่ง" อยู่บ้างโดยเฉพาะในเมือง

ความเร็วที่ทดสอบ แปรผันอย่างมากตามพื้นที่ครับ เท่าที่รันด้วยแอพ OOKLA Speedtest ก็ได้ผลตามนี้ Test 1, Test 2

ในภาพรวมแล้วความเร็วในการท่องเน็ตในจุดที่มีสัญญาณและเน็ตวิ่ง ก็ไม่มีปัญหาใดๆ กับการใช้งานทั่วไป ท่องเว็บ ตอบเมล แชร์รูป หรือดู YouTube ก็ยังไหว

สรุป

ผมค่อนข้างพอใจกับบริการของ wifi-rental.jp กระบวนการรับส่งเครื่องค่อนข้างสะดวก สั่งผ่านหน้าเว็บและจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้โดยตรง มีเจ้าหน้าที่คนไทยคอยตอบคำถามให้

จุดที่มีปัญหาในการใช้งานอยู่บ้างคงเป็นเครือข่าย UQ WiMAX ที่ไม่ครอบคลุมมากนักเพราะเป็นรายเล็ก คิดว่าถ้าเลือกเครือข่ายของ EMOBILE ที่มีผู้ใช้งานเยอะกว่า (ประมาณ 4 ล้านราย เทียบกับ 1 ล้านรายของ UQ) น่าจะให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าครับ

ใครมีประสบการณ์การหาเน็ตใช้ที่ญี่ปุ่นด้วยวิธีการอื่นๆ ก็เชิญมาแลกเปลี่ยนกันได้ตามสะดวกครับ

Blognone Jobs Premium