เบื้องหลังการพัฒนา PS4 เกิดจากการแก้ข้อผิดพลาดใน PS3, เน้นทำงานเป็นทีมมากขึ้น

by mk
11 November 2013 - 07:01

ใกล้วันวางขาย PS4 (15 พ.ย.) สำนักข่าวหลายแห่งก็มีบทความเชิงลึกของ PS4 ออกมามากมาย ฝั่งของ Wired มีสกู๊ปเบื้องหลังการพัฒนา PS4 ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้ครับ

  • แนวคิดหลักของการพัฒนา PS4 เกิดจากปัญหาของ PS3 ที่ใช้สถาปัตยกรรม Cell ทำให้กระบวนการพัฒนาเกมยากมาก ดังนั้นการทำ PS4 จะต้องแก้จุดอ่อนของ PS3 ให้หมดไป
  • PS3 เกิดขึ้นในยุคที่โซนี่เป็นเจ้าโลกแห่งเกม กระบวนการพัฒนา PS3 จึงเป็นต่างฝ่ายต่างทำ (เช่น ฝ่ายพัฒนาจอย DualShock 3 ก็แทบไม่ยุ่งกับกระบวนการพัฒนาเครื่องเลย) ทุกอย่างจึงสับสนไปหมด นอกจากนี้ PS3 ยังพัฒนาโดยเน้นขีดความสามารถของฮาร์ดแวร์เป็นหลัก นำโดยทีมวิศวกรจากญี่ปุ่น (และออกคำสั่งโดย Ken Kutaragi บิดาแห่ง PlayStation ที่ลาออกไปหลัง PS3 วางขาย) ไม่ฟังเสียงนักพัฒนาเกมมากนัก
  • PS4 แก้ปัญหานี้โดยดึงเอา Mark Cerny นักพัฒนาเกมชื่อดังในเครือของโซนี่เอง (มีผลงานอย่าง Crash Bandicoot และ Spyro) มาเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา มีอำนาจเหนือทีมฮาร์ดแวร์ทั้งหมด ให้มุมมองว่านักพัฒนาเกมต้องการอะไร เขาเป็นอเมริกันแต่เคยมีประสบการณ์ทำงานในวงการเกมญี่ปุ่น เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองวัฒนธรรมได้
  • โซนี่ใช้กระบวนการพัฒนาแบบเปิดกว้างมากขึ้น มีการสอบถามนักพัฒนาทั้งในสตูดิโอของตัวเอง และสตูดิโอเกมภายนอกว่าอยากเห็นอะไรใน PS4

    ผลลัพธ์

  • ผลคือ PS4 เลือกใช้สถาปัตยกรรม x86 ที่นักพัฒนาคุ้นเคย, มีสมรรถนะสูงออกแบบเผื่ออนาคต, ตั้งราคาถูกกว่าคู่แข่ง, มีเกมพร้อมเปิดตัวเยอะกว่าสมัย PS3

  • หน้าตาของเครื่อง PS4 ออกแบบโดยทีม Corporate Design Center ของโซนี่เอง นำทีมโดย Tetsu Sumii และมีกระบวนการพัฒนาแบบที่ไม่ยุ่งกับทีมวิศวกรมากนัก ทีมงานออกแบบหน้าตาเครื่องทั้งหมด 6 แบบให้ Andrew House ประธานของ Sony Computer Entertainment เป็นคนตัดสินใจเลือก
  • จอย DualShock 4 ออกแบบโดยทีมของ Toshimasa Aoki และ Takeshi Igarashi ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเดิมทีกระบวนการออกแบบมีศูนย์กลางอยู่ที่ Ken Kutaragi เป็นหลัก แต่เมื่อเขาออกจากบริษัทไป โซนี่ก็ทำงานเป็นทีมมากขึ้น
  • DualShock 4 หน้าตาคล้ายกับ DualShock 3 เพราะเป็นสิ่งที่ผู้สร้างเกมต้องการ แต่ก็เพิ่มทัชแพดเข้ามาตามเสียงเรียกร้องจากบริษัทเกม และปุ่ม Share ก็เพิ่มเข้ามาตามไอเดียของนักพัฒนาเกมรายหนึ่ง

ที่มา - Wired

Blognone Jobs Premium