ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทยทั้ง 3 เจ้าได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ครบแล้ว โดยไตรมาสที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันช่วงชิงลูกค้าเข้ามาใช้งาน 3G
บนเครือข่ายคลื่น 2100 MHz อย่างหนักที่ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญคือ
สิ่งที่เห็นได้จากผลประกอบการทั้งสามค่ายคือการเพิ่มงบการตลาดอย่างมาก ซึ่งสรุปรายละเอียดได้ดังนี้ครับ
เอไอเอส
เอไอเอสมีผู้ใช้งานรวม 39 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นมา 1.46 ล้านเลขหมายซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบเติมเงิน ทั้งนี้ผู้ใช้งาน 3G 2100 MHz มีจำนวน 10.5 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 27% ของลูกค้าทั้งหมด ส่วนรายได้ต่อเลขหมายหรือ ARPU (Average revenue per user) ลดลงเหลือ 236 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เนื่องจากนโยบายของกสทช. ให้ยืดวันหมดอายุลูกค้าระบบเติมเงิน แต่หากดู ARPU เฉพาะลูกค้ารายเดือนพบว่ายังคงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 698 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน
สำหรับรายได้รวมอยู่ที่ 33,477 ล้านบาท ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากค่า IC ที่ลดลง ส่วนรายได้จากการบริหารข้อมูลยังคงเพิ่มขึ้นถึง 23% โดยตอนนี้มีผู้ใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์คิดเป็น 24% ของผู้ใช้งานทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่มขึ้นถึง 41% เพื่อประชาสัมพันธ์บริการ 3G 2100 MHz ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 8,341 ล้านบาท ลดลง 5.1%
เอไอเอสประเมินว่าจะสามารถขยายโครงข่าย 3G 2100 MHz ได้ครอบคลุม 70% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้และ 90% ภายในสิ้นปี 2557 โดยใน 9 เดือนนี้บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 18,945 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการสิ้นปีประมาณ 12 ล้านเลขหมาย
ดีแทค
ดีแทคในไตรมาสที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการรวม 27.5 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 239,434 เลขหมาย เป็นลูกค้าไตรเน็ตแล้ว 3.7 ล้านเลขหมาย ARPU ลดลงเหลือ 231 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน สาเหตุมาจากการแข่งขันของแพ็คเกจในตลาดที่สูงขึ้น และมีผู้ใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 29.1% ของผู้ใช้งานทั้งหมด
ตัวเลขทางการเงินนั้นดีแทคมีรายได้รวม 21,177 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากปีก่อน สาเหตุจากการเติบโตของกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่วนรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์ลดลง 31.7% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอซื้อเพื่อรอ iPhone 5s และ 5c ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาดก็เพิ่มขึ้นถึง 116.3% เพื่อส่งเสริมการขายไตรเน็ต โดยมีกำไรสุทธิ 2,747 ล้านบาท ลดลง 4.7%
ดีแทคประกาศแผนลงทุน 3G บนความถี่ 2100 MHz ว่าจะครอบคลุมประชากร 80% ภายในปี 2558 โดยใช้งบลงทุน 34,000 ล้านบาท
ทรูโมบาย
กลุ่มทรูโมบายมีผู้งาน 22.4 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 307,000 เลขหมาย ขณะที่ ARPU เพิ่มขึ้นเป็น 126 บาท สวนทางกับอีกสองค่ายเนื่องจากมีลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทั้งระบบรายเดือนและเติมเงิน นอกจากนี้สัญญาให้บริการทรูมูฟที่สิ้นสุดลงในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังส่งผลให้มีลูกค้าย้ายโครงข่ายมาใช้ทรูมูฟเอชเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย
รายได้รวมในไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ 14,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% โดยมาจากบริการอินเทอร์เน็ตที่เติบโตถึง 70.5% และจากการขายสินค้าทั้ง iPhone, ซัมซุง รวมถึงทรูบียอนด์ ที่เติบโต 32.9% ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและโฆษณาเพิ่มขึ้น 26.9% ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้น 29.3% จากหนี้ที่เพิ่มขึ้น และบริษัทยังต้องลงบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์ที่เป็นโครงข่ายทรูมูฟ 2G เดิมอีก 2.1 พันล้านบาทด้วยเนื่องจากสัญญาให้ดำเนินการฯ สิ้นสุดลง ทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 4,143 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 91.3%