อินเทลเปิดตัว Knight's Landing ซีพียูคอร์จำนวนมากที่ไม่ต้องการตัวประมวลผลเสริม

by lew
22 November 2013 - 23:31

ที่งาน SC13 อินเทลเปิดเผยรายละเอียดของหน่วยประมวลผลสำหรับงานประสิทธิภาพสูงที่ต้องการการคำนวณขนานจำนวนมาก เป็นหน่วยประมวลผลที่พัฒนาต่อจาก Xeon Phi โดยมีชื่อรหัสว่า Knight's Landing (KNL)

อินเทลระบุว่าแนวคิดการใช้หน่วยประมวลผลหลัก ร่วมกับหน่วยประมวลผลเฉพาะเพื่อมาทำงานขนานสร้างความยุ่งยากในการพัฒนาอย่างมาก เพราะนักพัฒนาต้องมานั่งคิดว่างานใดจะอยู่บนหน่วยประมวลผลหลัก งานใดต้องโยกไปให้หน่วยประมวลผลเสริม

ทุกวันนี้การทั้ง AMD และ NVIDIA ล้วนเสนอแนวทางการ "แก้ปัญหา" ความยุ่งยากของการย้ายงานไปอยู่บนหน่วยประมวลผลเสริม ด้วยการทำให้หน่วยความจำเป็นผืนเดียวกัน เช่น HSA ของ AMD และ CUDA 6 ของ NVIDIA

อินเทลระบุว่า KNL จะมีคอร์ "จำนวนมาก" (many core) โดยไม่ระบุจำนวนที่ชัดเจน แต่ใช้คำเดียวกันที่อินเทลใช้เรียก Xeon Phi ที่วางขายในตอนนี้ และ Phi มีคอร์ภายใน 61 คอร์

ปัญหาของหน่วยประมวลผลขนานที่มีคอร์จำนวนมาก คือการอ้างถึงหน่วยความจำ ในกรณีของชิปกราฟิกนั้นอ้างถึงหน่วยความจำได้จำกัด จำนวนคอร์ที่สูงมากๆ และแต่ละคอร์ต่างพยายามอ้างหน่วยความจำจะทำให้เวลาประมวลผลเสียเวลาไปกับการส่งข้อมูลจากหน่วยความจำเข้าและออกจากซีพียู อินเทลเสนอทางแก้ด้วยการเพิ่มหน่วยความจำ "ระดับใกล้" (near memory) เข้าไว้ในแพ็กเกจเดียวกับตัวซีพียู หน่วยความจำนี้มีความเร็วสูงกว่าหน่วยความจำปกติ ทำงานใกล้ชิดกับตัวซีพียูทำให้ส่งข้อมูลได้เร็วมาก ทำหน้าที่เป็นแคชให้กับซีพียูเพื่อลดการดึงข้อมูลเข้าออกจากหน่วยความจำแบบ DDR ที่อยู่ภายนอกชิปและมีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก โดยอินเทลเรียกหน่วยความจำ DDR ที่เราใช้ทุกวันนี้ว่าเป็นหน่วยความจำ "ระดับไกล" (far memory)

ถึงตอนนี้ KNL วางตลาดจริง นอกจากสัญญาณนาฬิกา, จำนวนคอร์, หน่วยความจำภายนอกที่รองรับได้ แบบทุกวันนี้ เราคงต้องดู หน่วยความจำบนตัวชิปเพิ่มเติม

KNL จะวางตลาดจริงในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า มันจะใช้สถาปัตยกรรมใหม่ พร้อมๆ กับการวางตลาดด้วยเทคโนโลยีการผลิต 14 นาโนเมตร โดย KNL จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นชิปเร่งการประมวลผลแบบ Xeon Phi อีกแล้ว แต่ถูกเรียกว่าซีพียูคอร์จำนวนมาก (many core CPU) แทน เพราะทำงานได้ด้วยตัวเอง

หลายๆ ข่าวที่ผ่านมาเวลาที่ Blognone นำเสนอข่าวการใช้ชิปกราฟิกในซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ มักมีผู้อ่านถามกันว่าทำไมเราถึงไม่ใช้ชิปกราฟิกแทนที่ซีพียูไปเลย เพราะมันมีพลังประมวลผลสูงมากแล้ว ตอนนี้คำตอบคงชัดเจนว่าอินเทลกำลังไปแนวทางนี้แล้ว แต่ถึงเวลาวางตลาดจริงแล้วสินค้าจะถูกวางตลาดอยู่ในระดับไหน คนทั่วไปจะมีโอกาสได้ใช้งานกันหรือไม่คงเป็นอีกเรื่องที่เราต้องรอลุ้นกัน

ที่มา - The Register, Intel

Blognone Jobs Premium