รีวิว Linux Mint 16 "Petra" รุ่น Cinnamon Edition

by terminus
4 December 2013 - 10:56

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2013 ที่ผ่านมา Linux Mint 16 "Petra" ได้ประกาศออกตัวเต็มเป็นที่เรียบร้อย คนที่ตามข่าว Linux Mint อยู่คงจะทราบดีว่านี่เป็น Linux Mint ตัวแรกที่มาพร้อมกับ Cinnamon 2.0 ซึ่งทีมนักพัฒนาของ Linux Mint แสนจะภาคภูมิใจ ผมเองก็ได้ทดสอบ Linux Mint 16 มาตั้งแต่วันแรกๆ ของ Linux Mint 16 RC (Release Candidate) และขอสารภาพไว้ตรงนี้เลยว่าผมชอบแนวทางที่ Cinnamon นำเสนอมาก ดังนั้นรีวิวอันนี้จะไม่เป็นกลางและออกไปในทางชม Linux Mint มากสักหน่อย

เครื่องทดสอบที่ผมใช้เป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค Toshiba Satellite M70 อายุประมาณ 7 ปี สเปก Pentium M 1.70 GHz, แรม 1 GB ซึ่งเป็นสเปกที่ดูด้อยมากๆ เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ข้อดีอย่างหนึ่งของการรีวิวบนคอมพิวเตอร์ที่สเปกไม่แรงคือเราจะได้สัมผัสถึงประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการอย่างรู้สึกได้ คอมพิวเตอร์สมัยนี้สเปกแรงเกินไปที่จะแยกระบบปฏิบัติการที่ดีกับระบบปฏิบัติการที่ดีมากออกจากกัน

ส่วน Linux Mint ในการทดสอบครั้งนี้เป็น Linux Mint 16 Cinnamon edition ตัว 32 บิต (ผมไม่ได้ทดสอบ MATE edition เนื่องจากผมมองว่า MATE เป็นแค่ท่ออากาศให้กลุ่มคนที่ยังศรัทธา GNOME 2 เหลืออากาศหายใจจะได้มีเวลาปรับตัวกับ desktop environment ยุคใหม่)

อนึ่ง รูปประกอบบทความนี้เกือบทั้งหมดเป็นการจับภาพหน้าจอขณะรันอยู่ใน Live USB Environment เนื่องจากหลังจากที่ติดตั้งแล้ว ผมได้ปรับแต่งหน้าตาของ Linux Mint ไปพอสมควร มันจึงไม่เหมาะแก่การประกอบรีวิว (เครื่องทดสอบนี้ผมให้คุณพ่อของผมใช้ด้วย ผมเลยต้องทำให้มันเหมาะกับผู้ใช้สูงอายุที่ไม่ค่อยรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และสายตาไม่ค่อยดี)

การติดตั้ง

การติดตั้ง Linux Mint 16 ทำได้ง่ายเหมือนการติดตั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์สมัยใหม่ทั่วไป (อานิสงส์จากแนวทางที่ Ubuntu เริ่มไว้) หลังจากที่ดาวน์โหลดไฟล์ Linux Mint ISO มาเรียบร้อยแล้ว ก็จัดการเบิร์นลงแผ่น DVD เหมือนการเขียน ISO image file ทั่วไปหรือทำเป็น Live USB ด้วยโปรแกรม UNetbootin จากนั้นก็รีสตาร์ตคอมพิวเตอร์และบูตผ่าน Live DVD หรือ Live USB ที่เตรียมไว้ ส่วนสำหรับขั้นตอนต่อไป ถ้าคุณคลิกเม้าส์เป็นและมีความรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษระดับ ม. ต้น การติดตั้ง Linux Mint ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร (แต่โปรดจำไว้ว่าการสำรองข้อมูลก็เป็นสิ่งที่ควรทำเสมอนะ แม้หนทางข้างหน้าจะน่ามั่นใจเพียงไรก็ตาม)

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการติดตั้ง Linux Mint 16 คือ ไฟล์ ISO ของ Linux Mint เวอร์ชันนี้จะใหญ่กว่าเวอร์ชันก่อนหน้าอยู่พอสมควร นั่นเป็นเพราะว่าทีมนักพัฒนาได้ตัดสินใจเลือกระดับการบีบอัดที่น้อยลง ทำให้การบูตเข้า Live DVD/Live USB ทำได้รวดเร็วขึ้นมากและเสถียรมากด้วย (เพื่อการทดสอบความเสถียร ผมได้เสียสละเวลานั่งดูหนัง██อยู่ทั้งคืนใน Live Environment ก็ยังไม่พบอาการค้างอะไร) ผมได้ลองตรวจสอบดูสัดส่วนแรมที่ใช้ตอนบูตเข้า Live Environment พบว่าอยู่แค่ที่ประมาณ 170 MB เท่านั้น

การติดตั้ง Linux Mint (นับจากที่เปิดโปรแกรม Linux Mint Install) กินเวลาประมาณ 13-15 นาที (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วของเครื่องและอินเตอร์เน็ตด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ทดสอบมีปัญหา Bad Sector บนฮาร์ดดิสก์ และในระหว่างการติดตั้ง ผมดันลืมกด skip ตอนที่มันดาวน์โหลดไฟล์ภาษาเพิ่มเติม ทำให้เสียเวลาไปเกือบ 5 นาที) หลังจากติดตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ตัวระบบปฏิบัติการกินพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ราว 3-4 GB

ประสิทธิภาพและความเร็ว

ผมไม่ได้ลองโปรแกรม Benchmark อะไรเนื่องจากสเปกเครื่องที่ใช้ทดสอบมันก็ไม่ได้สูงอะไรนัก ผมไม่อยากจะเห็นคะแนนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนน่าใจหาย ฉะนั้นผมจึงใช้อารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ ในการประเมินประสิทธิภาพและความเร็วของ Linux Mint 16 เราต้องไม่งมงายในคณิตศาสตร์นะครับ :)

ผมขอแยกการประเมินในด้านความเร็วและประสิทธิภาพของ Linux Mint 16 เป็นข้อๆ ดังนี้

  1. ความเร็วในการบูตเข้าระบบ: ทีมนักพัฒนาอ้างว่า Linux Mint 16 จะใช้เวลาในการบูตน้อยลง แต่เท่าที่ผมทดสอบดู ผมก็ไม่พบว่ามันจะบูตเร็วขึ้นกว่า Linux Mint 15 สักเท่าไร อาจจะเร็วกว่าเดิมสักประมาณ 0.5 วินาทีมั้ง สำหรับเครื่องทดสอบของผม การบูตเครื่องแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 42 วินาทีโดยเฉลี่ย (auto log-in mode)
  2. การใช้แรม: หลังจากที่ล็อกอินเข้าระบบโดยที่ไม่ได้ปรับแต่งอะไร ผมลองเปิดโปรแกรม System Monitor ดู พบว่า Linux Mint 16 ใช้แรมเริ่มต้นราว 140-150 MB ซึ่งเยอะกว่า Linux Mint 15 ราว 10 MB (แต่ก็ยังน้อยกว่าการใช้แรมของ Ubuntu ที่รัน Unity Desktop อยู่เกือบ 50 MB) ผมคิดว่า Linux Mint ตัว 64 บิตคงจะใช้แรมเยอะกว่านี้ราวสองเท่า
  3. ประสิทธิภาพการใช้งาน: เรื่องประสิทธิภาพของ Linux Mint 16 เป็นสิ่งที่ทำความเข้าใจได้ค่อนข้างยาก มันมีทั้งส่วนที่ดีขึ้นและแย่ลง คือ การเปิดโปรแกรมโดยทั่วไปและการเขียน-อ่านข้อมูลทำได้เร็วขึ้น แต่การตอบสนองบางอย่างกลับทำได้ติดขัดอย่างน่ารำคาญใจ เช่น เมื่อล็อกอินและคลิก applet ตรง panel ครั้งแรกจะมีอาการหน่วงเล็กน้อยเหมือนกับว่ามันขี้เกียจแอบอู้หลับ พอตื่นแล้ว คลิกครั้งต่อไปก็จะไม่มีปัญหา (ถ้าถามผมว่ามันหน่วงมากน้อยแค่ไหน ผมก็ต้องบอกว่าหน่วงเหมือน Unity Dash ของ Ubuntu), การลากปรับขนาด (resize window) หรือเลื่อนตำแหน่งหน้าต่าง (move window) ช้าและมีการกระตุกอย่างเห็นได้ชัด จากประสบการณ์ของผมใน Linux Mint 16 RC อาการกระตุกนี้รุนแรงมากจนแทบเลื่อนหน้าต่างไม่ได้เลย แต่หลังจากการอัพเดต อาการกระตุกดังกล่าวก็น้อยลง (อาการกระตุกนี้พบได้เฉพาะในคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ผมได้ลองกับคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่แล้วไม่เจอปัญหานี้)

ในแง่ประสิทธิภาพโดยรวม ผมขอสรุปว่า Linux Mint 16 ถือว่าดีขึ้นกว่าเวอร์ชันเดิมอยู่เล็กน้อย ทั้งนี้ผมเดาว่าคงเป็นผลจาก Linux Kernel เวอร์ชันใหม่และโปรแกรมใหม่ๆ รวมถึงการแยก Cinnamon ออกจาก GNOME 3 Backend ผมหวังว่า Cinnamon 2.1 ใน Linux Mint 17 (ซึ่งจะเป็นรุ่น Long-term Support ด้วย) จะมีการปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่านี้อีก

ความสวยงาม

"สั้นๆ เลย... Linux Mint 16 สวย"

ความสวยงามของ Linux Mint ยังคงเป็นหน้าตาแบบคลาสสิก มีแถบด้านล่างไว้เรียกโปรแกรม, สลับหน้าต่าง, ดูสถานะเครื่อง แต่ Linux Mint มีองค์ประกอบที่ดูลงตัวมากกว่า ไม่เละเทะอีเหละเขะขะเหมือนสมัย Windows XP หรือ GNOME 2 กรอบหน้าต่างมีเงาเพิ่มความรู้สึกมีมิติลอยนูนตามแนวสมัยนิยม ชุดไอคอนก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมมนๆ ที่สวยแบบเรียบๆ เหมือนขุดไอคอนของ iOS ยุคก่อน iOS 7 (ชุดไอคอน Mint-X นี้ก็ดัดแปลงมาจาก Faenza icon theme ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก iOS นั่นแหละ)

ธีมที่ติดตั้งมาด้วยมีอยู่ 3 ชุด ได้แก่ Cinnamon (ธีมสีเทา), Linux Mint (ธีมสีเทาเข้ม), และ Mint-X (ธีมสีขาว) นอกจากนี้ก็ยังสามารถเลือกติดตั้งเพิ่มเติมจากแท็บ "Get more online" ได้ด้วย

วอลล์เปเปอร์ที่ติดตั้งมาให้ก็สวยงามดี (ยกเว้นรูปที่มี "ดอกไม้" เพราะผมแพ้วอลล์เปเปอร์ที่เป็นรูปดอกไม้โดยเฉพาะภาพถ่ายดอกไม้แบบมาโคร มองแล้วจะเกิดอาการมึนหัวคลื่นไส้)

ส่วนประกอบอีกอย่างของ Linux Mint 16 ที่สวยงามน่าประทับใจมาก คือ หน้าต่าง Log in เสียดายที่ผมไม่ได้ลองใน Virtual machine เลยไม่สามารถจับภาพหน้าจอมาใส่ประกอบได้ ผมขออธิบายคร่าวๆ ว่ามันเป็นภาพพื้นหลังสีเขียวสบายตาและมีระลอกคลื่นเล็กๆ ไหลลงมาเอื่อยๆ

Cinnamon 2.0

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า Linux Mint 16 เป็น Linux Mint ตัวแรกที่มาพร้อมกับ Cinnamon 2.0 ซึ่งนับได้ว่าเป็น Cinnamon รุ่นเต็มอย่างเป็นทางการ มันไม่ใช่แค่โปรแกรมที่สร้างเพื่อมาครอบ GNOME 3.x อีกต่อไป แต่มันเป็นสิ่งที่แสดงถึงตัวตนของ Linux Mint ด้วย ผมอยากบอกว่าสิ่งใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาใน Cinnamon 2.0 นี้มีอื้อ ถ้ายกมาทั้งหมดคงไม่ไหว ผมจึงขอเน้นเฉพาะอันที่เป็นผมเห็นว่าเป็นทีเด็ดแล้วกัน

อันแรกที่ผมอยากกล่าวถึง คือ ระบบ Window tiling ที่ปรับปรุงแบบเรียกได้ว่า "ยกเครื่อง" เลยทีเดียว ได้แก่ มีการเพิ่มความสามารถจัดหน้าต่างแบบชิดมุม, เมื่อลากหน้าต่างเข้าใกล้ขอบหรือมุม ก็จะมีแถบใสชี้แนะระบบ tiling, และของใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจที่สุดก็คงเป็น "Snap mode"

Snap mode อาจจะทำความเข้าใจได้ยากสักหน่อยในตอนแรก หน้าต่างที่อยู่ใน snap mode จะได้จับจองพื้นที่ส่วนหนึ่งของหน้าจอไปเลย หน้าต่างอื่นๆ ที่อยู่ในสถานะ maximized window จะถูกหดให้มีขนาดเท่ากับหน้าจอที่เหลืออยู่เท่านั้น เราเลือกให้หน้าต่างใดๆ อยู่ใน snap mode ด้วยการกดปุ่ม Ctrl ค้างไว้ขณะที่ลากหน้าต่างไปชิดขอบหรือมุม

ตัวอย่างหน้าต่างจัดชิดมุมแบบธรรมดา ในภาพนี้หน้าต่าง file browser อยู่ในสถานะธรรมดา, หน้าต่าง Firefox อยู่ในสถานะ maximized, และหน้าต่าง Banshee Media Player อยู่ในสถานะจัดชิดมุม (สังเกตแถบตรง panel ของโปรแกรม Banshee จะมีสัญลักษณ์ "|" อยู่หน้าชื่อโปรแกรม)

ตัวอย่างหน้าต่างที่จัดชิดมุมแบบ snap mode สถานะของหน้าต่างในภาพนี้เหมือนกับภาพข้างบน ยกเว้นหน้าต่าง Banshee ที่อยู่ในสถานะ snap mode (สังเกตแถบตรง panel ของโปรแกรม Banshee จะมีสัญลักษณ์ "||" อยู่หน้าชื่อโปรแกรม)

สิ่งที่สองที่ได้รับการปรับปรุงยกเครื่องใน Cinnamon 2.0 ก็คือตัวเลือกปรับแต่ง Sound effects ผู้ใช้สามารถเลือกกำหนดให้เล่นเสียงตามแต่ละเหตุการณ์ เช่น เปิด-ปิดหน้าต่าง, เสียบอุปกรณ์เข้า-ออก, เพิ่ม-ลดความดังเสียง เป็นต้น (ผมลองตั้งให้เสียงตอนล็อกอินเป็นเพลง "แน่นอก.mp3" แต่มันไม่เล่น อันนี้ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะมันไม่รองรับไฟล์ MP3 หรือเพราะไฟล์มีขนาดใหญ่เกินไป)

นอกจากสองอย่างข้างต้น สิ่งอื่นๆ ที่เพิ่ม/ปรับปรุงใน Cinnamon 2.0 ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและความลื่นไหลในการทำงาน เช่น

  • เมื่อปิดหน้าต่างแถบสถานะโอนถ่ายข้อมูล มันจะถูกย่อไปปรากฏเป็นไอคอนเล็กๆ ตรง panel แทน ผู้ใช้สามารถกดที่ไอคอนนี้เพื่อเรียกเปิดหน้าต่างแถบสถานะได้ (เป็นฟีเจอร์เล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนที่มีภารกิจต้องโอนถ่ายไฟล์[ปกปิด]ขนาดใหญ่บ่อยๆ หน้าจอจะได้ไม่รกเกะกะและไม่มีหน้าต่างแสดงชื่อไฟล์ให้ประเจิดประเจ้อ)
  • เพิ่ม User Applet เข้ามาตรง panel ซึ่งมีตัวเลือกให้เปิด-ปิด notification และมีทางลัดเข้าสู่ System Settings ได้ (ผมขอแทรกเกี่ยวกับทางลัดเข้า System Settings ไว้ตรงนี้หน่อยนะ คือนอกจากการเข้าตรงๆ ผ่านทาง Mint Menu อันเป็นทางปกติที่ใช้เรียกเปิดโปรแกรมแล้ว Linux Mint มีทางลัดเข้า System Settings เยอะมา เช่น 1. User Applet 2. คลิกขวาตรง panel ว่างๆ 3. คลิกขวาตรงหน้าเดสก์ทอปว่างๆ หรือ desklet หรือ applet อะไรก็ได้ หน้าต่างปรับแต่งจะมีปุ่มกดเข้า All settings เสมอ... All roads lead to Settings.)
  • ในหน้าต่างปรับแต่ง applet หรือ desklet ทุกตัวตัว ด้านมุมบนขวาจะมีปุ่ม Highlight ซึ่งเมื่อกดแล้ว จะมีการกะพริบที่ applet หรือ desklet ตัวนั้น, ปุ่ม Remove ที่ไว้กดลบ applet หรือ desklet, ส่วนปุ่มสุดท้ายจะเป็นรายการฟังก์ชันอื่นๆ เช่น การคืนค่าเดิม เป็นต้น

โปรแกรมและการใช้งาน

โปรแกรม application ที่ติดตั้งมาพร้อมกับ Linux Mint 16 ถือได้ว่าครอบคลุมการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับมนุษย์เดินดินทั่วไป ติดตั้งเสร็จก็ดูหนัง, ฟังเพลง, ท่องเว็บ, พิมพ์เอกสารได้ทันทีแบบ out-of-the-box (ความจริงไม่ต้องติดตั้งด้วยซ้ำไปเพราะเล่นใน Live Environment ก็ยังได้) ความเสถียรอยู่ในระดับที่สุดยอด เท่าที่ใช้มาผมยังไม่เคยเจออาการค้างเลย (ยกเว้นแค่บูตเครื่องไม่ติดหนึ่งครั้งซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของ Linux Mint แต่เป็นเพราะ Bad Sector ในฮาร์ดดิสก์ของผมเอง)

ในเรื่องการใช้งานภาษาไทยนั้น Linux Mint 16 ไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย สามารถตั้งค่าแป้นคีย์บอร์ดได้ปกติเหมือนเดิมทุกประการ

โปรแกรมของ Linux Mint ที่ผมเห็นว่าพัฒนาขึ้นมากในแง่ของความเร็วและความเสถียรก็น่าจะเป็น Nemo file browser, และ Mint Software โปรแกรมติดตั้งซอฟท์แวร์ (อย่างไรก็ตาม ผมก็ใช้ Synaptic ในการติดตั้งซอฟท์แวร์อยู่ดี)

ส่วนในทางตำหนินั้น ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโปรแกรมใน Linux Mint อยู่ 2 ตัว คือ โปรแกรม Firefox และ Banshee Media Player

  1. Firefox ที่ติดตั้งมาด้วยยังคงเป็นเวอร์ชัน 24.0 ทั้งที่ Firefox ใน repository ของ Ubuntu ตอนนี้เป็นเวอร์ชัน 25.0.1 มานานแล้ว ผมไม่เข้าใจว่าทำไม Linux Mint เลือกปล่อย Firefox เวอร์ชันเก่ามากับ Linux Mint 16 ตัวเต็ม (ถ้าเป็น Linux Mint 16 RC ผมยังพอเข้าใจได้อยู่บ้างว่าเป็นเรื่องของการทดสอบความเสถียร)
  2. ทำไมถึงเลือกใช้ Banshee เป็น default music player ใน Linux Mint 16 ทั้งที่ Linux Mint 15 ยังเลือกใช้ Rhythmbox อยู่เลย? ผมไม่ได้รังเกียจ Banshee ด้วยเหตุผลทางการเมืองของ Mono นะ เพียงแต่ผมเห็นว่า Rhythmbox ไม่ได้หน้าตาแย่และกินทรัพยากรเครื่องเหมือนเมื่อก่อนแล้ว อีกทั้งการเลือกใช้ Banshee ก็ต้องพ่วง Mono library มาทั้งยวง เปลืองพื้นที่ไปตั้ง 20-30 MB

สรุปปิดท้าย

ผมสรุปให้ Linux Mint 16 ผ่านฉลุยหมดเลยทั้งในด้านประสิทธิภาพ, ประสบการณ์การใช้งาน, ความสวยงาม, และความเสถียร ว่ากันตรงๆ ผมก็ต้องให้ระดับคะแนนความพึงพอใจแซงหน้ารุ่นพี่อย่าง Ubuntu ด้วยเนื่องจากเหตุผลที่ Linux Mint ไม่ยัดเยียด adware ให้ผู้ใช้และไม่ได้อุดมไปด้วยบั๊กเหมือน Ubuntu

ในอนาคตอันใกล้ Linux Mint น่าจะยังคงแนวทางของ Cinnamon เอาไว้เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ที่อยากได้ workflow การทำงานของเดสก์ทอปแบบเดิมๆ ท่ามกลางโลกซึ่งกำลังหมุนตามกระแส convergent ที่กระหายรวมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ภายใต้ environment เพียงหนึ่งเดียว (ตัวอย่างเช่น Unity ของ Ubuntu, Metro ของ Windows, GNOME Shell ของ GNOME เป็นต้น)

Blognone Jobs Premium