สัปดาห์นี้ผมได้ฟังการนำเสนอของคุณ ฮวัง แด ยุน หัวหน้าฝ่ายงานขายและปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย ที่งาน OKMD Knowledge Festival 2013 มีสถิติข้อมูลที่น่าสนใจของ LINE หลายอย่าง (โดยเฉพาะข้อมูลของประเทศไทย) เลยนำมาเล่าให้อ่านกันครับ
คำเตือน: รูปเยอะหน่อยนะครับ
คุณฮวัง แด ยุน เริ่มต้นด้วยข่าว LINE มีผู้ใช้งานครบ 300 ล้านบัญชีแล้ว โดยให้ข้อมูลว่าในไทยก็มีผู้ใช้ LINE เกิน 20 ล้านบัญชีแล้ว ถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นเท่านั้น
ประเทศไทยมีคนใช้ LINE จำนวนมาก จนต้องทำหนังโฆษณาทางทีวีแล้ว
LINE มองตัวเองเทียบกับ social network ระดับโลกอย่าง Facebook/Twitter ทำให้ตลอดการนำเสนอมีการเปรียบเทียบสถิติในแง่มุมต่างๆ กับสองเจ้านี้ตลอด ตัวอย่างภาพข้างล่างคือการข่มว่าอัตราการเติบโตของ LINE 300 ล้านบัญชีนั้นเร็วกว่า Facebook/Twitter ซะอีก
บริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่มาเป็นสปอนเซอร์ให้ LINE ตอนนี้มีทั้งหมด 34 บริษัทแล้ว รายชื่อก็ตามภาพที่เห็นครับ น่าจะคุ้นๆ กันหมด
LINE สนใจว่าทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงมาแจกสติ๊กเกอร์หรือเปิด official account จึงสอบถามข้อมูลกลับบ้าง ลูกค้าบางรายก็บอกว่า LINE เปรียบเสมือน "ไทยรัฐ" แห่งยุคดิจิทัล
LINE ลองวิเคราะห์คีย์เวิร์ดจากคำที่พูดคุยกับลูกค้า ก็พบว่าคีย์เวิร์ดหลักคือคำว่า Connect ซึ่งก็ตรงกับภารกิจของ LINE อยู่แล้ว
ยุทธศาสตร์ของ LINE ในการทำตลาดประเทศต่างๆ ก็คือเข้ามาใกล้ชิดกับลูกค้าท้องถิ่นให้มากที่สุด ทั้งการเปิดสำนักงานสาขาในประเทศนั้นๆ, ทำเนื้อหาในภาษาของประเทศนั้น และจับมือพาร์ทเนอร์กับธุรกิจท้องถิ่น
ตัวอย่างการทำตลาดของ LINE ร่วมกับแบรนด์ดังในไทย
LINE ในต่างประเทศเริ่มมีการแจกคูปองส่วนลดเพื่อซื้อสินค้าแล้ว บ้านเราก็คงอีกไม่นาน
อย่างที่บอกว่า LINE พยายามเทียบตัวเองกับ Twitter/Facebook ครับ สไลด์ข้างล่างคือการบอกว่ามาเปิด Official Account บน LINE แล้วมีประสิทธิภาพดีกว่าการเปิดเพจบน Facebook หรือเปิดบัญชีบน Twitter นะ
สถิติของ LINE เองบอกว่า ผู้ใช้ 67.9% อ่านข้อความที่ส่งมาโดยบัญชี Official Account ของแบรนด์
แนวทางการตลาดผ่าน LINE เป็นการผสมผสานระหว่างสื่อหลัก (above the line) กับช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่สื่อหลัก (below the line) ออกมาเป็นการอยู่ตรงกลางหรือ through the line
LINE เป็นผู้บุกเบิกเรื่องการส่งสติ๊กเกอร์ ซึ่งตอนหลังคู่แข่งก็หันมาทำตามกันหมด โดยจุดเด่นของสติ๊กเกอร์คือเป็นการแสดงอารมณ์ที่บรรยายเป็นข้อความได้ยาก
การที่แบรนด์หันมาแจกสติ๊กเกอร์ยังเป็นการช่วยผลักดันให้ Offical Account มีคนติดตามมากขึ้น และสร้างความตระหนักรู้ถึงแบรนด์ด้วย
สถิติในไทย: เมืองไทยประกันชีวิต มียอดดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ 1.5 ล้านครั้งในวันแรก
สถิติในไทย: โออิชิ แจกสติ๊กเกอร์วันแรกมีคนส่งกัน 5.3 ล้านครั้ง
สถิติในไทย: สติ๊กเกอร์อุ่นใจของ AIS มียอดดาวน์โหลด 4.3 ล้านครั้งในเดือนมีนาคม 2013
LINE เริ่มเปิดบัญชี "LINE ประเทศไทย" เองแล้ว และก็พยายามผลักดันฟีเจอร์อย่าง Official Home ผ่านช่องทางเหล่านี้
ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่กำลังรอทำตลาดก็มี LINE On-Air ที่เปิดให้แบรนด์มาสร้างปฏิสัมพันธ์แบบสดๆ กับลูกค้า เช่น ขายตั๋วหนังหรือคอนเสิร์ตแบบระบุช่วงเวลาขาย, สามารถแชทคุยกับลูกค้าแบบเรียลไทม์ได้
สถิติในไทย: Kbank ใช้ฟีเจอร์ Official Home สามวัน มีคนติดตามเกิน 4 ล้านคน และคนกดไลค์โพสต์สูงสุด 8.2 หมื่นครั้ง
LINE แนะนำว่าช่องทางออนไลน์อย่างเดียวอาจจะไม่พอ ก็ควรมีช่องทางออฟไลน์ประกอบกันด้วย
สถิติในไทยอีกอันของเครือ Major ที่เปิด Official Account มาสักพักแล้วค่อยแจกสติ๊กเกอร์ พบว่าหลังแจกสติ๊กเกอร์แล้วมีผู้ติดตามเพิ่มพรวดถึง 5 ล้านคน
สถิติของบัญชี LINE Thailand เอง มีผู้ติดตามแล้วเกือบ 9 ล้านคน
เปรียบเทียบการโพสต์ข้อความเดียวกันในวันลอยกระทง ระหว่างบน LINE Official Account กับบน Facebook พบว่าต่างกันมาก (คนไลค์บน LINE 6.7 หมื่นครั้ง, บน Facebook ประมาณพันครั้ง)
โดยสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์ของ LINE คือใช้ท่าไม้ตายสามเส้าประกอบกัน ระหว่างการสื่อสาร (แชท), การเปิดช่องทาง (Channel หรือ Official Account) และฟีเจอร์อย่าง Home/Timeline
จุดเด่นของการตลาดผ่าน LINE คือการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับธุรกิจได้ดีมากๆ นั่นเอง