รีวิว Nokia Lumia 1020 ฉบับใช้เป็นกล้องพกไปเที่ยวจริงจัง

by mk
8 December 2013 - 04:33

โนเกียซื้อโฆษณาของ Blognone ในรูปแบบการรีวิว Lumia 1020 เป็นจำนวนสามตอน (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3)

สำหรับรีวิวอันนี้ ผมใช้ Lumia 1020 ตัวเดียวกับที่ใช้ในรีวิว (มันเป็นรุ่นทดสอบที่ระบุรุ่นเป็น Lumia 909 แทน) แต่ไม่ได้รับเงินใดๆ จากโนเกียในการเขียนครับ

รีวิวตอนนี้จะไม่สนใจประเด็นด้านการใช้งานทั่วไปมากนัก แต่จะสนใจว่าไอ้เจ้ามือถือติดกล้อง 41 ล้านพิกเซล (ใช้ได้จริง 34 ล้านถ้าถ่ายแบบ 16:9) มันจะสามารถใช้แทนกล้องถ่ายภาพแบบดั้งเดิมเวลาไปเที่ยวได้หรือยัง

การทดสอบครั้งนี้เกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นโดยเอากล้องไปสองตัวคือ Olympus EP-M และ Lumia 1020 ครับ การทดสอบคงไม่ถ่ายซีนเดียวกันเปรียบเทียบตรงๆ แต่เน้นในแง่การใช้งานจริงๆ มากกว่า

เทคโนโลยีเบื้องหลัง PureView

ก่อนอื่นเลยต้องย้อนกลับมาที่เทคโนโลยี PureView ของ Lumia 1020 ก่อนว่า มันประกอบด้วยเทคโนโลยี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  • เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ (เริ่มใช้ใน Nokia 808 - ข่าวเก่า) ช่วยให้ภาพมีความละเอียดสูง ข้อดีคือ 1) ย่อภาพแล้วคมชัดเพราะ oversampling 2) ซูมได้เยอะเพราะเป็นการ crop ภาพ
  • OIS และเซ็นเซอร์แบบ BSI (เริ่มใช้ใน Nokia 920 - ข่าวเก่า) ช่วยให้ถ่ายกลางคืนได้ดี และถ่ายกลางวันก็กันสั่นได้ที่ระดับฮาร์ดแวร์ (ใน 920 ใช้ OIS แบบกระจก 5 ชิ้น, เพิ่มเป็น 6 ชิ้นใน 925)

สำหรับ Lumia 1020 เป็นการรวมเอาจุดเด่นของ 808 + 920 + 925 ครับ ก็น่าจะถือเป็นตัวท็อปสุดในแง่กล้องของโนเกียในปีนี้

ถ่ายกลางวัน

อันนี้ไม่ใช่ปัญหาของกล้องเกือบทุกตัวเพราะถ้าแสงดีพอ ภาพก็สวยงาม (ภาพเป็นความละเอียดเต็ม 34MP ดูภาพต้นฉบับได้ตามลิงก์ใน Flickr)

อันนี้เป็นภาพที่บีบอัดแล้ว (ไฟล์ 5MP) ได้ดีเทลของใบไม้ค่อนข้างดี

ภาพถ่ายกลางวันอีกภาพหนึ่ง

ข้อดีของ OIS ที่ช่วยในการถ่ายกลางวันคือช่วยลดอาการ "มือสั่น" ไปได้มาก โดยเฉพาะในจังหวะที่เคลื่อนไหว (ทั้งคนถ่ายหรือวัตถุ) โอกาสภาพเบลอมีน้อยมาก ความดีของ OIS ถือว่าดีถึงขนาดตอนนี้ผมกลับมาใช้มือถือที่ไม่มี OIS (Note 3) แล้วหงุดหงิดเลย

ถ่ายกลางวัน - ซูม

จุดเด่นเรื่องการซูมของ Lumia 1020 (และ PureView ตัวอื่น) คือช่วยให้เราได้ภาพของวัตถุที่อยู่ไกลๆ ใกล้เคียงกับการใช้กล้องติดเลนส์ซูมหรือเลนส์เทเลได้ (เพียงแต่กระบวนการถ่ายและได้ภาพต่างกัน ผลลัพธ์เหมือนกัน) ซึ่ง Lumia เหนือกว่าในแง่การพกพาสะดวก ใส่ในกระเป๋ากางเกงแล้วล้วงขึ้นมาถ่ายได้ทันที

จากภาพตัวอย่างเป็นการถ่ายกันดั้มจากระยะไกลพอสมควร (ภาพซ้ายเป็น highres) จากนั้น crop หน้ากันดั้มด้วยโปรแกรม Nokia Pro Camera ออกมาเป็นภาพทางขวามือ

ถ่ายกลางคืน

แน่นอนว่าการถ่ายช่วงกลางคืน ประสิทธิภาพของกล้องจะลดลงเพราะปริมาณแสงน้อยลง แต่ด้วยเทคนิคสารพัดของ PureView ทำให้ภาพยังออกมาน่าประทับใจครับ

ถ่ายกลางคืน + ซูม

ภาพนี้เป็นคนข้ามถนนที่ชินจูกุ ผมถ่ายตอนกำลังเดินข้ามถนน (ตอนถ่ายหยุดยืนแป๊บนึง ไม่มีเวลาเล็งนาน) ได้ผลลัพธ์ที่เป็นไฟล์ highres ออกมาดังภาพข้างล่าง (คลิกเข้าไปดูต้นฉบับกันเองถ้าสนใจ)

ภาพนี้บีบออกมาเป็นไฟล์ 5MP แล้ว รายละเอียดคมชัดพอสมควร (ให้ Nokia Pro Camera บีบให้จะชัดกว่าใช้โปรแกรมแต่งภาพบีบเอง เข้าใจว่าเป็นเรื่องอัลกอริทึมของโนเกีย)

ลองซูมภาพ highres ขนาด 34MP เพื่อดูข้อความของฉากระยะไกลๆ (อาคารที่อยู่สุดของเส้นสายตาในภาพ ใกล้ๆ กับไฟแดง) ก็พบว่ายังพออ่านตัวหนังสือออก

ถ่ายกลางคืน - เปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม เวลาถ่ายเทียบกับกล้องเต็มขั้นหน่อยอย่าง Olympus EP-M ก็พบว่า Lumia ยังเป็นรองอยู่บ้างในการถ่ายกลางคืน (ทั้งสองภาพถ่ายมุมเดียวกัน ถือกล้องไม่มีขาตั้งเหมือนกัน)

EP-M

Lumia 1020

Nokia Pro Camera

จุดเด่นอีกอย่างของ Lumia 1020 คือแอพถ่ายภาพ Nokia Pro Camera (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Nokia Camera ไม่มี Pro แล้ว) ที่ให้ควบคุมค่าต่างๆ ของกล้องได้ใกล้เคียงกับกล้องมืออาชีพ แถมอินเทอร์เฟซใช้ง่ายแบบเหลือเชื่อครับ (คือถ้าดูเฉยๆ จะเห็นว่ามันเป็นวงๆ ไม่ค่อยมีอะไรมาก แต่ในการใช้งานจริงแล้วก็ต้องการแค่นั้นล่ะครับ แตะสักที่ หมุน ถ่าย - อ่านรายละเอียดในรีวิว)

การที่มันสามารถควบคุมได้ดั่งใจ ทำให้เราสามารถถ่ายภาพแบบกำหนดเองได้เหมือนกับกล้องโปร เช่น การเปิดชัตเตอร์ค้างเพื่อทำเส้นแสง

อย่างไรก็ตาม Nokia Pro Camera มีข้อเสีย (ณ ตอนนั้น ไม่รู้แก้หรือยัง) ที่สำคัญคือตั้งค่าแล้วหายครับ เปิดแอพกล้องกลับมาอีกทีต้องตั้งใหม่ ทำให้น่ารำคาญพอสมควรโดยเฉพาะการตั้งค่า white balance ที่ต้องมาตั้งใหม่ทุกรอบ)

ปัญหาอีกประการของ Nokia Pro Camera คือมันยังไม่ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแอพ Photos ของ Windows Phone ครับ ทำให้เวลาเราจะดูรูปจากแอพ Photos แล้วอยากซูม เราจะต้องสั่ง Open in Nokia Pro Camera รอบหนึ่งก่อน ทำให้หงุดหงิดและเสียเวลาไม่น้อย (หวังว่ารวมเป็นบริษัทเดียวกันแล้ว ไมโครซอฟท์จะทำให้สามารถซูมได้จากแอพ Photos เลย)

ส่วนแอพ Nokia Smart Camera (รีวิว ที่เป็นการถ่ายรูปช็อตแปลกๆ นี่ผมแทบไม่ได้ใช้เลยเพราะมันเป็นคนละแอพแยกกับ Nokia Pro Camera ตรงนี้หวังว่าพอรวมกันเป็น Nokia Camera แล้วคงจะใช้งานได้ง่ายขึ้นครับ

ถ่ายวิดีโอ

รูปนี้ยืนถ่ายเช่นกันครับ ภาพที่ได้ออกมานิ่งเพราะมี OIS ช่วยตอนถ่าย (วิดีโอต้นฉบับเป็น 1080p เลือกดูใน YouTube กันเอง) เรื่องไมค์ไม่ได้ทดสอบนะครับ

สรุปก็คือ OIS ช่วยให้วิดีโอนิ่งมาก แต่คนทั่วไปคงไม่ค่อยถ่ายวิดีโอเยอะเท่ากับถ่ายภาพนิ่ง ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ดีแต่คงไม่ค่อยได้ใช้มากเท่าไรนัก (ยกเว้นว่าถ้าต้องใช้กล้องมือถือถ่ายวิดีโอบ่อยๆ เช่น เล่นสเก๊ตบอร์ดแล้วถ่ายคลิปท่าเท่ๆ แบบในโฆษณาของโนเกีย ก็คงคุ้มมาก)

การใช้งานจริง

ข้อดีประการหนึ่งของ Windows Phone และไมโครซอฟท์คือการ "บังคับ" ให้มีปุ่มชัตเตอร์ที่เป็นปุ่มจริงอยู่ด้านข้างของเครื่อง ข้อดีของมันคือ

  • ถ่ายง่ายกว่าการแตะหน้าจอมากๆ แถมภาพจะสั่นน้อยกว่าเพราะท่าการวางมือของเราเอานิ้วโป้งรองใต้เครื่อง แล้วเอานิ้วชี้กด (เหมือนกล้องทั่วไป)
  • เข้ากล้องได้เร็วเพราะกดปุ่มชัตเตอร์ค้างแล้วเข้าแอพกล้องได้เลย (ถึงแม้ว่าแอพ Nokia Pro Camera จะโหลดช้าพอสมควร ใช้เวลาประมาณ 2 วินาทีนับจากกดปุ่มไปยังสถานะพร้อมถ่าย) ทำให้พฤติกรรมของผมคือเวลาเห็นฉากน่าสนใจที่อยากถ่าย ก็จะเอามือล้วงกระเป๋ากางเกง คลำหาปุ่มชัตเตอร์แล้วกดค้างไว้ ระหว่างนั้นก็ดึงมือถือขึ้นมาตั้งท่าถ่าย ก็จะช่วยลดเวลาและไม่ต้องพะวงมองจอภาพเพื่อปลดล็อคหน้าจอ

เท่าที่ใช้มาแบบเป็นกล้องจริงจังราว 1 สัปดาห์ ผมพบว่าความสามารถด้านการถ่ายภาพของ Lumia 1020 นั้นเทพสมราคาคุยครับ คือมีโจทย์อะไรยากๆ (แต่พบได้บ่อยในชีวิตจริง) 1020 สามารถแก้โจทย์ได้หมด

  • สถานที่มืด - เซ็นเซอร์ใหญ่ + OIS + BSI
  • ต้องการซูม - เซ็นเซอร์ใหญ่ + Reframe ทีหลังได้
  • มือสั่น - OIS
  • ถ่ายวิดีโอ - OIS
  • ถ่ายซีนพิเศษที่ต้องอาศัยการตั้งค่า - Nokia Pro Camera

ปัญหาของ 1020 กลับไปอยู่ที่ส่วนของซอฟต์แวร์ Windows Phone แทน (ซะงั้น) คือตอนถ่ายไม่มีปัญหา แต่เมื่อถ่ายแล้วอยากแชร์จะเริ่มมีปัญหาชีวิตแล้ว

  • แชร์ลง Facebook - ฟีเจอร์การแชร์ที่มากับตัว Windows Phone แชร์ได้แค่ภาพ, ถ้าอยากตั้งอัลบั้ม แท็กเพื่อน ระบุพิกัด ต้องใช้แอพ Facebook ที่ยังห่วยอยู่มากเมื่อเทียบกับระบบปฏิบัติการคู่แข่ง แถมระบบจัดการ lifecycle ของแอพบน WP ทำให้ปิดจอแล้วภาพที่กำลังอัพโหลดอยู่สะดุดไปด้วย
  • แชร์ลง Twitter พอทำได้ครับ แต่ถ้าแชร์จากฟีเจอร์ของ WP เอง มันจะเป็นการอัพรูปไปยัง SkyDrive แล้วค่อยแชร์ลิงก์ลง Twitter ให้เราอีกที
  • แชร์ลง Instagram ตอนนั้นยังไม่มี official client แต่ใช้ 6tag แทนก็ไม่มีปัญหาอะไร
  • แชร์ลง Flickr ไม่มีแอพบน WP8 จ้า
  • แชร์ลง Google+ เลิกคิดได้เลยครับ

นอกจากนี้เรื่องการเอาไฟล์ภาพต้นฉบับ highres ออกมาจากเครื่อง Lumia 1020 ก็ยังทำได้ยาก มีวิธีเดียวเท่านั้นคือต้องต่อสายเข้าคอมแล้วก็อปออกมาเป็นไฟล์ธรรมดา

ในแง่การใช้งานแล้ว Lumia 1020 มีปัญหาเครื่องร้อนเล็กน้อยเมื่อถ่ายภาพไปนานๆ และแบตเตอรี่อยู่ไม่ค่อยอึดนักเมื่อเทียบกับ Lumia รุ่นอื่นๆ (คาดว่าเป็นเพราะ Nokia Pro Camera อีกนั่นแหละ)

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า 1020 ทำทางมาดีมากแล้ว เรื่องการถ่ายภาพสามารถใช้แทนกล้องเต็มขั้นได้สบายมาก แต่ยังมีปัญหาจุกจิกในฝั่งของซอฟต์แวร์อีกบ้างบางจุด และเมื่อบวกกับราคาที่เน้นตลาดโปร ทำให้มันยังไม่เหมาะสำหรับคนทั่วไปมากนัก

ผมคิดว่าถ้าให้เวลาไมโครซอฟท์+โนเกียอีกสักพัก แก้ไขปรับปรุงแพลตฟอร์ม WP ของตัวเองให้ดีขึ้นกว่านี้อีกนิด และเมื่อนั้น ตัวต่อของ 1020 (ไม่รู้ว่าจะเรียกเป็น 1030 หรือ 1040) มันน่าจะทำให้ความฝันว่า "ไม่ต้องเอากล้องใหญ่ไปเที่ยว มีแค่มือถือก็พอ" เป็นจริงได้สักทีครับ

Blognone Jobs Premium