รีวิว ASUS Transformer Book Trio อุปกรณ์ 3-in-1 แท็บเล็ต-โน้ตบุ๊ก-เดสก์ท็อป

by mk
19 December 2013 - 07:17

ท่ามกลางกระแสโน้ตบุ๊กไฮบริดที่กำลังออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ASUS Transformer Book Trio ถือเป็น "อุปกรณ์แปลกๆ" ที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง เพราะมันก้าวข้ามแนวคิด 2-in-1 แบบโน้ตบุ๊กไฮบริดทั่วไป เพื่อทะลุไปเป็นอุปกรณ์แบบ 3-in-1 (ไม่ใช่กาแฟนะครับ!) ที่เริ่มจะอยู่เหนือจินตนาการบ้างแล้ว

Blognone ลงข่าวของ ASUS Transformer Book Trio มาหลายครั้ง (ข่าวงานเปิดตัว, ทดลองจับ) แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนทาง ASUS ถามมาว่าสนใจนำมาทดสอบไหม ผมว่ามันแปลกแบบแหวกแนวดีเลยขอยืมมาใช้งานหนึ่งสัปดาห์ครับ

ป.ล. เนื่องจากชื่อเต็มของผลิตภัณฑ์ยาวมาก เพื่อความสะดวกจะขอเรียกมันว่า Trio นะครับ

โน้ตบุ๊ก? แท็บเล็ต? เดสก์ท็อป? มันคือ Trio!

แนวคิดของอุปกรณ์สายไฮบริดแบบ 2-in-1 คือการผสานแท็บเล็ตกับโน้ตบุ๊กเข้าด้วยกัน จากเดิมที่ฝาบนของโน้ตบุ๊กจะมีแต่จอภาพ ส่วนตัวเครื่องอยู่ใต้คีย์บอร์ดในฝาล่าง ก็กลายมาเป็นย้ายตัวเครื่องไปอยู่ในฝาบนเพื่อให้ทำงานเป็นแท็บเล็ตได้ด้วย ส่วนฝาล่างก็มีหน้าที่เป็นแค่คีย์บอร์ดหรือแบตเตอรี่เสริมแทน

โดยสรุปแล้ว อุปกรณ์ 2-in-1 ยังใช้ไอเดียเหมือนโน้ตบุ๊กจอสัมผัสแบบเดิม แค่ย้ายตำแหน่งของตัวเครื่องมาไว้ฝาบนและสามารถ "แยกร่าง" ได้เท่านั้น

แต่แนวคิดแบบ 3-in-1 ของ Trio นั้นต่างออกไป มันคือการเอาโน้ตบุ๊กมาหนึ่งตัว ฉีกฝาบนที่เป็นจอภาพออก แล้วเอาแท็บเล็ตอีกหนึ่งตัวมาประกบกลายเป็นจอภาพแทน

ดังนั้น Trio จึงเป็นคอมพิวเตอร์สองเครื่องประกบเข้าด้วยกัน มีซีพียูสองตัว แรมสองชุด แบตเตอรี่สองก้อน พื้นที่เก็บข้อมูลแยกจากกัน ระบบปฏิบัติการคนละตัว โดยอุปกรณ์หลักที่ใช้ร่วมกันมีเพียงจอภาพของฝาบนเท่านั้น

สเปกแบบคร่าวๆ

  • ฝาบนที่เป็นแท็บเล็ต ใช้หน้าจอขนาด 11.6" ความละเอียด 1920x1080, ซีพียูดูอัลคอร์ Atom Z2560 (Clover Trail+), ความจุ 16GB, แรม 2GB แบตเตอรี่หนึ่งเซลล์ ใช้งานได้ราว 6 ชั่วโมง นน. อยู่ที่ 800 กรัม, Android 4.2
  • ฝาล่างที่เป็นโน้ตบุ๊ก ใช้ Intel Core (รุ่นที่ได้มาทดสอบคือ Core i7 4500U), แรม 4GB, ความจุ 500GB, แบตเตอรี่สามเซลใช้งานได้ราว 4 ชั่วโมง, ระบบปฏิบัติการเป็น Windows 8 (รุ่นที่ได้มาทดสอบเป็น 8.0 แล้วผมเอามาอัพเป็น 8.1 เอง)

รูปลักษณ์ภายนอก

ดูเผินๆ มันเป็นโน้ตบุ๊กทั่วไป ใช้การออกแบบแนวโลหะ brushed metal ตามแนวทางโน้ตบุ๊กของ ASUS

แต่แท้จริงแล้วฝาบนเป็นแท็บเล็ตครับ สังเกตว่ามีกล้องและปุ่ม power/volume อยู่ที่มุม

การใช้งานแบ่งออกเป็น 3 โหมดตามชื่อรุ่นครับ (แต่จริงๆ มันใช้ได้มากกว่า 3 โหมดนะ)

ท่าที่ 1.1 โน้ตบุ๊กวินโดวส์

ท่ามาตรฐาน คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากในฐานะโน้ตบุ๊กสาย Windows 8 ครับ รันได้ทั้งโหมด Desktop/Metro ตามปกติ

หน้าจอรองรับการสัมผัสอยู่แล้ว ใครไม่กลัวเมื่อยมือก็เอามือจิ้มจอ Metro ได้เลย

ทัชแพดมาแบบกดได้ทั้งแผ่น

แอพแถมของ ASUS ที่มากับโหมด Metro

แอพ ASUS Console (หน้าตา Metro แต่มันเป็นแอพเดสก์ท็อป) เอาไว้ควบคุมฟีเจอร์ต่างๆ ของ Trio

ระบบปฏิบัติการเป็น Windows 8 Single Language ซึ่งผมอัพเดตเป็น Windows 8.1 เองทีหลัง (ไม่แน่ใจว่ารุ่นขายจริงจะใช้ Windows 8.1 หรือเปล่า?)

ในแง่การใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กวินโดวส์ ผมพบว่า Trio ยังไม่ค่อยดีเท่าไรคือ

  • จอภาพละเอียดมาก พอรันโหมด Desktop ตัวอักษรเล็กมาก (ต้องปรับเองในตัวเลือก desktop scaling)
  • คีย์บอร์ดตื้นไปหน่อย (shallow key) พิมพ์ลำบาก
  • ทัชแพดใช้ยากมากโดยเฉพาะเรื่อง 2-finger scroll (เป็นปัญหาไดรเวอร์เลยเพราะบน Android ดันใช้ดี)
  • ประกอบร่างแล้วหนักพอสมควร (น้ำหนักรวมตามสเปกคือ 1.8 กิโลกรัม)
  • แบตอยู่ได้สั้นมาก ที่เครื่องแสดงผลคือประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น (จริงๆ ขอสเปกแรงน้อยหน่อยแต่แบตอยู่อึดๆ หน่อยจะดีกว่า)
  • หน้าจอกางได้ไม่สุด มีองศาจำกัดเพราะออกแบบมาสำหรับถอดเป็นแท็บเล็ตได้

ท่าที่ 1.2 ใช้เป็นโน้ตบุ๊กแอนดรอยด์

บนคีย์บอร์ดของ Trio จะมีปุ่มพิเศษอยู่ปุ่มนึงเป็นปุ่ม Android ครับ อยู่ต่อจากปุ่ม F12 ตามภาพ

กดแล้วมันจะสลับโหมดเป็นแอนดรอยด์ทันที ถ้าอยากกลับมาวินโดวส์ก็กดปุ่มเดิมอีกที (ทุกครั้งที่กดจะมีไอคอนแสดงบนจอ)

จากการใช้งานจริงพบว่าการกดจากวินโดวส์ไปแอนดรอยด์จะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง (ครั้งแรกนานหน่อย ครั้งที่สองเร็วขึ้นแต่ไม่ทันที) แต่การกดจากแอนดรอยด์กลับมาวินโดวส์จะค่อนข้างเร็ว

หน้าตาของแอนดรอยด์ก็เป็นเวอร์ชันดัดแปลงของ ASUS ใช้เวอร์ชัน 4.2 เกือบเหมือนใน Fonepad 7 ที่รีวิวไว้แล้วทุกประการ

Launcher ใช้ไอคอนสไตล์ของ ASUS เอง มีแอพแถมมาบ้างพอสมควร

เนื่องจากแอนดรอยด์รองรับการใช้งานเมาส์และคีย์บอร์ดมานานแล้ว ดังนั้นการใช้งานส่วนใหญ่จึงทำงานได้ตามปกติ (แม้ว่าการใช้แอนดรอยด์ด้วยเมาส์อาจจะขัดๆ อยู่บ้างในหน้าที่ต้องปัดจอ เช่น หน้า launcher เวลาเรียกแอพ)

แท็บเล็ตแอนดรอยด์จะมองเห็นคีย์บอร์ดของ Trio เป็น USB keyboard ที่เสียบเข้ามาโดยตรงกับตัวเครื่อง ส่วนทัชแพดใช้ควบคุมเคอร์เซอร์ได้ตามปกติ รองรับ 2-finger scroll แถมลื่นกว่าฝั่งพีซีมาก (เพราะอะไรไม่รู้)

กด Alt+Tab แสดงรายการโปรแกรมที่รันอยู่ได้ หน้าตาจะต่างไปจากการกดปุ่ม Recent Apps

เปิดเบราว์เซอร์มาเขียนข่าว Blognone ได้ตามปกติครับ

ปัญหาที่ผมพบในการใช้งาน Trio เป็นโน้ตบุ๊กแอนดรอยด์คือการสลับภาษา (ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนของแอนดรอยด์เวลาต่อคีย์บอร์ดภายนอกอยู่แล้ว) วิธีการสลับภาษาคือต้องกด Ctrl+Shift เพื่อเปิดหน้าต่างเลือกภาษาของแอนดรอยด์ทุกครั้งที่อยากสลับภาษา ทำให้ลำบากมากเวลาพิมพ์ภาษาไทย

ทางแก้คือใช้แอพด้านคีย์บอร์ดภายนอกช่วยเหลือ เช่น External Keyboard Helper หรือ TSwipe ก็ได้ แล้วเลือก map คีย์สลับภาษาตามชอบ (เช่น Alt+Space)

เนื่องจากว่า Trio เนื้อแท้มันคือคอมพิวเตอร์สองเครื่อง การเชื่อมโยงระหว่างวินโดวส์กับแอนดรอยด์จึงต้องมองเป็นคอมพิวเตอร์สองเครื่องด้วย ซึ่งทาง ASUS ก็เตรียมเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการแชร์ข้อมูลข้ามเครื่องมาบ้าง

อย่างแรกคือ File Manager ของฝั่งแอนดรอยด์ จะเห็นโฟลเดอร์ที่แชร์มาจากฝั่งวินโดวส์ เหมือนการแชร์ SMB ตามปกติ (ต้องเซ็ตอัพก่อนเล็กน้อยในตอนแรก)

อย่างที่สองคือฟีเจอร์การแชร์แท็บในเบราว์เซอร์ระหว่างกัน (ต้องเซ็ตให้ทั้งสองเครื่องรู้จักกันก่อนเช่นกัน) โดยเมื่อเราสลับระบบปฏิบัติการ จะเห็นการแจ้งเตือนว่าเราเปิดแท็บค้างไว้ในระบบปฏิบัติการอีกตัวหนึ่ง และสนใจจะเปิดเพจเหล่านั้นในระบบปฏิบัติการปัจจุบันหรือไม่

ฟีเจอร์นี้ยังรองรับเฉพาะ IE และ Android Browser เท่านั้น เบราว์เซอร์ตัวอื่นไม่รับ (ใครที่ใช้ Chrome อาจใช้วิธีซิงก์แท็บตามปกติของ Chrome แทนก็ได้)

ฝั่งวินโดวส์จะขึ้นมาเป็น toast notification ที่มุมบน

โดยสรุปแล้วการใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กแอนดรอยด์ทำได้ค่อนข้างดีครับ เว้นแต่ปัญหาเรื่องการสลับคีย์บอร์ดซึ่งเป็นข้อจำกัดของแอนดรอยด์เอง

2. ใช้งานเป็นแท็บเล็ตแอนดรอยด์

เบื่อใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กเมื่อไร เราสามารถกดปุ่มตรงบานพับเพื่อถอดจอบนออกมาเป็นแท็บเล็ตได้ทุกเมื่อ ต่อให้เรารันวินโดวส์อยู่บนจอ พอถอดออกมาแล้วจอจะสลับเป็นแอนดรอยด์ให้ทันที

แท็บเล็ต Trio มีหน้าจอค่อนข้างใหญ่หน่อยคือเกือบ 12 นิ้วแต่ค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับขนาดที่ดูใหญ่โต

ตัวเครื่องไม่แบนราบแต่จะป่องๆ หน่อย โดยแหลมตรงปลายขอบจอด้านบน โดยรวมก็ถือว่าค่อนข้างแบนครับ

พอร์ตทุกอย่างอยู่ด้านล่าง ฝั่งที่เชื่อมกับโน้ตบุ๊กหมดเลย ขอบด้านอื่นไม่มีพอร์ตอะไรเลย

การใช้งานเป็นแท็บเล็ตแอนดรอยด์ถือว่าทำได้ดี ระบบปฏิบัติการเสถียร แบตค่อนข้างทน (ผมไม่ได้ทดสอบแบตเต็มรูปแบบ) เพียงแต่รู้สึกว่าจอใหญ่ไปหน่อยในการใช้งานบางกรณี (โดยเฉพาะแนวตั้ง) และคงไม่สะดวกในแง่การพกพามากนัก

ตรงนี้ต้องอธิบายอีกรอบว่า Trio ไม่สามารถใช้เป็นแท็บเล็ต Windows 8 ได้นะครับ ถอดจอมาแล้วทำงานได้เป็นแอนดรอยด์อย่างเดียวเท่านั้น

3. การใช้งานเป็นเดสก์ท็อป

เนื่องจาก Trio เป็นคอมพิวเตอร์สองตัวแปะกัน เมื่อเราถอดหน้าจอฝั่งแท็บเล็ตออกแล้ว ฝั่งคีย์บอร์ดก็ยังทำงานต่อไปตามปกติเหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไป (แค่ไม่มีภาพออกจอเท่านั้นเอง) เราสามารถต่อจอนอกเพื่อใช้งานเป็นเดสก์ท็อปได้

หรือจะใช้ท่าแบบนี้ก็ได้ครับ ต่อจอนอกเป็นวินโดวส์ แล้วจอหลักเป็นแอนดรอยด์ (เพียงแต่โหมดนี้เราจะควบคุมจอที่เป็นวินโดวส์ไม่ได้ เพราะคีย์บอร์ดถูกครองด้วยแอนดรอยด์)

Trio มีพอร์ตมาให้ทั้ง Micro HDMI และ DVI แต่ในกล่องไม่มีสายแปลง HDMI มาให้ ให้มาแต่สาย DVI to VGA ผมจึงลองได้แต่การต่อออกจอภาพแบบ VGA ซึ่งก็ใช้งานได้ปกติดี

การใช้งานเป็นเดสก์ท็อปก็ไม่ต่างอะไรกับการนำโน้ตบุ๊กมาต่อจอนอกตามปกติครับ จุดอ่อนก็คงเหมือนกันคือคีย์บอร์ดตื้นไปหน่อย พิมพ์ยาก (แต่ถ้ามองว่ามันเป็นเดสก์ท็อปก็สามารถต่อเมาส์-คีย์บอร์ดเพิ่มเองได้)

สรุป

ผมว่า Trio แนวคิดแหวกดี แต่ในการใช้งานจริงยังขัดๆ เขินๆ อยู่มากครับ

โดยปกติแล้วผมใช้โน้ตบุ๊กเป็นคอมพิวเตอร์พกพาขณะอยู่บ้านหรือทำงานนอกสถานที่ เมื่อมาถึงออฟฟิศจะต่อจอนอกกับเมาส์ และมีแท็บเล็ตแยกไว้ใช้งานต่างหาก ดูเผินๆ แล้วน่าจะเหมาะกับ Trio เพราะฟังก์ชันการใช้งานตรงกันเป๊ะๆ ทั้งสามท่า

แต่พอมาลองใช้ Trio อยู่พักใหญ่ๆ แล้ว ผมกลับยังจับจุดไม่ค่อยได้ว่า จังหวะไหนเราควรใช้มันเป็นโน้ตบุ๊กหรือแท็บเล็ตหรือเดสก์ท็อปกันแน่ (ดูแล้วเหมือนจะพยายามให้ใช้เป็น 2 ท่าใหญ่ๆ คือ ใช้เป็นโน้ตบุ๊ก หรือ เดสก์ท็อป+แท็บเล็ต) เมื่อบวกกับการเชื่อมต่อระหว่างวินโดวส์กับแอนดรอยด์ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก (มองแยกเป็นคอมพิวเตอร์สองเครื่อง) และการออกแบบด้านฮาร์ดแวร์ฝั่งโน้ตบุ๊กที่ยังไม่ดีเท่าไร (หนัก, คีย์บอร์ด-ทัชแพดไม่ดี, แบตน้อย) ทำให้สุดท้ายแล้วผมก็ต้องกลับไปใช้อุปกรณ์ของตัวเองที่ทำงานตามหน้าที่ของตนได้ดีกว่า

ท้ายที่สุดแล้วก็คงต้องกลับมายังคำถามว่า ASUS ใส่แอนดรอยด์เข้ามาใน Trio ด้วยทำไม อันนี้ผมเข้าใจเอาเองว่าน่าจะใส่มาเพื่อแก้ปัญหาแอพฝั่ง Metro น้อย ทำให้การใช้งานแท็บเล็ตวินโดวส์ปัจจุบันยังให้ประสบการณ์ไม่ดีเท่าที่ควร แต่พอลองทำดูจริงๆ ผมก็พบว่าแอนดรอยด์แอพเยอะจริง แต่มันก็ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการที่นำไปเชื่อมกับวินโดวส์ได้ดีเท่าไรนัก

สุดท้ายแล้ว แนวคิด 3-in-1 ของ ASUS อาจพิสดารเกินไป (แต่ก็ดีใจที่บริษัทกล้าลอง) และโซลูชันด้านฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้ อาจเป็นอุปกรณ์ 2-in-1 ตามกระแสทั่วไป แล้วรอวันที่ Windows 8 ฝั่ง Metro จะพัฒนาก้าวทันคู่แข่งแทนก็เป็นไปได้

Blognone Jobs Premium