HTC ออก Infographic "กว่าจะอัพเดต Android ได้หนึ่งรอบ มันเหนื่อยนะ"

by mk
28 December 2013 - 01:49

HTC ออก infographic อธิบายกระบวนการทำงานของบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการอัพเดต Android ตามกูเกิล ว่าเอาเข้าจริงแล้วเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ในแผนภาพของ HTC แบ่งอุปกรณ์เป็น 3 กลุ่มคือ

  • carrier devices หรือมือถือรุ่นปกติที่ขายผ่านโอเปอเรเตอร์ (ในต่างประเทศ)
  • unlocked/dev edition devices มือถือรุ่นสำหรับนักพัฒนา
  • Google Play edition devices มือถือรุ่นขายผ่านกูเกิล

ซึ่งมือถือแต่ละกลุ่มมีกระบวนการทดสอบ-ออกใบรับรองที่แตกต่างกันในรายละเอียด

กระบวนการอัพเดตซอฟต์แวร์ในภาพรวม ช่วงแรกเหมือนกันหมด

  1. กูเกิลออก Platform Development Kit ให้บริษัทฮาร์ดแวร์ทดสอบ
  2. กูเกิลประกาศทำ Android เวอร์ชันใหม่
  3. กูเกิลเปิดซอร์สโค้ดให้ผู้ผลิตชิปเซ็ต และผู้ผลิตฮาร์ดแวร์มือถือ
  4. ผู้ผลิตชิปเซ็ตตัดสินใจว่าจะรองรับ Android เวอร์ชันใหม่หรือไม่, ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ตัดสินใจว่าสเปกของฮาร์ดแวร์เดิมไปได้หรือไม่
  5. ถ้าผู้ผลิตชิปเซ็ตตัดสินใจไปต่อ ก็จะออกไดรเวอร์สำหรับชิปเซ็ตรุ่นนั้นๆ ให้ แต่ถ้าไม่ไปต่อก็จบ

หลังจากนั้นแยกตามสายผลิตภัณฑ์

Google Play edition devices

  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ไม่ต้องทำรอมเอง (กูเกิลทำให้)
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทดสอบรอมเป็นการภายใน
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ส่งรอมทดสอบในแล็บ (lab entry)
  • กระบวนการทดสอบและแก้บั๊ก
  • กระบวนการตรวจเช็คและออกใบรับรอง (certification) ร่วมกับกูเกิลและหน่วยงานกำกับดูแล (เช่น FCC)
  • กูเกิลออกใบรับรองทางเทคนิค (technical acceptance) ให้
  • กูเกิลปล่อยอัพเดตผ่าน OTA

unlocked/dev edition devices

  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จัดคนไปพัฒนารอมเวอร์ชันใหม่ โดยผนวกซอร์สโค้ดระดับล่างเข้ากับ HTC Sense
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทดสอบรอมเป็นการภายใน
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ส่งรอมทดสอบในแล็บ (lab entry)
  • กระบวนการทดสอบและแก้บั๊ก
  • กระบวนการตรวจเช็คและออกใบรับรอง (certification) ร่วมกับกูเกิลและหน่วยงานกำกับดูแล (เช่น FCC)
  • กูเกิลออกใบรับรองทางเทคนิค (technical acceptance) ให้
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ปล่อยอัพเดตผ่าน OTA

carrier devices

  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จัดคนไปพัฒนารอมเวอร์ชันใหม่ โดยผนวกซอร์สโค้ดระดับล่างเข้ากับ HTC Sense
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ประสานงานโอเปอเรเตอร์ว่ามีแอพหรือบริการของโอเปอเรเตอร์เข้ามาในรอมหรือไม่
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ผนวกโค้ดของโอเปอเรเตอร์เข้ามาในรอม
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ส่งรอมทดสอบในแล็บ (lab entry)
  • กระบวนการทดสอบและแก้บั๊ก (ร่วมกับโอเปอเรเตอร์)
  • กระบวนการตรวจเช็คและออกใบรับรอง (certification) ร่วมกับกูเกิลและหน่วยงานกำกับดูแล (เช่น FCC)
  • โอเปอเรเตอร์ออกใบรับรองทางเทคนิค (technical acceptance) ให้
  • กูเกิลออกใบรับรองทางเทคนิค (technical acceptance) ให้
  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ร่วมกับโอเปอเรเตอร์ปล่อยอัพเดตผ่าน OTA

จะเห็นว่ากระบวนการของ carrier devices มีความยุ่งยากและซับซ้อนสูงมาก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอัพเดตของมือถือที่ขายกับโอเปอเรเตอร์ (โดยเฉพาะในสหรัฐ) จะออกช้ามากนั่นเองครับ

ตัวอย่างสถานะของ HTC One ว่าได้อัพเป็น Android 4.4 แล้วหรือไม่

ตัวไฟล์ infographic ฉบับเต็มมีขนาดใหญ่มาก (เกือบ 2MB) ใครสนใจสามารถกดเข้าไปดูได้ที่ HTC Software Updates

ที่มา - Android and Me

Blognone Jobs Premium