รีวิวฮาร์ดแวร์ตัวแรกต้อนรับปี 2014 ครับ
Oppo N1 CyanogenMod Edition เป็นมือถือ CyanogenMod อย่างเป็นทางการตัวแรก และเป็นมือถือตัวแรกที่ใช้รอม CyanogenMod แล้วสามารถติดตั้งแอพของกูเกิลมาตั้งแต่โรงงาน
Blognone เขียนถึงการแกะกล่อง Oppo N1 CyanogenMod Editionไปรอบนึงแล้ว สำหรับรอบนี้เป็นรีวิวการใช้งานจริงครับ
เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกคงไม่ต้องโพสต์ซ้ำ ย้อนอ่านกันได้จากโพสต์เก่า สิ่งที่เป็นประเด็นในการใช้งานจริงคงหนีไม่พ้นเรื่อง "ขนาด" ที่ใหญ่โตเหลือเกิน
ลองวางเทียบกับ Note 3 (ที่ถือว่าใหญ่พอสมควรแล้ว) จะเห็นขนาดที่ต่างกันดังภาพ
เท่าที่ผมลองใช้มาหลายวัน ลองนำไปให้คนรู้จักหลายๆ คนดู (รวมถึงถือไปที่งาน Blognone's Contributors Party 2013 ด้วย) ก็ได้ฟีดแบ็คลักษณะเดียวกันคือ "ใหญ่กว่าที่คิดนะ"
การพกพาในกระเป๋ากางเกงยีนส์จะเริ่มตุงๆ ลุกนั่งเดินเหินยากกว่า Note 3 อยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วยังอยู่ในระดับที่เรียกว่า "พอพกได้" อยู่ครับ ส่วนงานประกอบและวัสดุก็แน่นและหรูหราดีทีเดียว อีกประเด็นที่น่าสนใจคือน้ำหนักค่อนข้างเยอะ 213 กรัม หนักกว่าสมาร์ทโฟนยุคปัจจุบันอยู่พอสมควร
อันนี้เป็นสิ่งที่รีวิวยากมากเพราะข้างในมันคือ CyanogenMod ที่แทบไม่ต่างอะไรจาก CM รุ่นปกติเลย
ดังนั้นคนที่เคยใช้หรือใช้งาน CM อยู่ก่อนแล้วจะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรแตกต่าง มีแอพมาตรฐานของ CM อย่าง Apollo, cLock, DSP Manager มาให้ในตัวครบถ้วน, ตัว Launcher เป็น Trebuchet
เวอร์ชันของ CM ที่ใช้เป็น CM 10.2 (Android 4.3) อิงจาก Build JWR66Y ตามภาพ
จุดที่ต่างจาก CM รุ่นมาตรฐานอยู่บ้างก็คือมันมีแอพของกูเกิล (gapps) มาพร้อม (ผ่านการรับรองจากกูเกิลแล้ว) และไอคอนของ Google Play กับโฟลเดอร์แอพกูเกิลมาให้บนโฮมหน้าหลักตั้งแต่ต้นเลย
คนที่ชอบ CM หรือ Pure Android คงถูกใจ Oppo N1 ตัวนี้เพราะถือว่าเป็น CM ที่ปรับแต่งมาดี ลื่น เสถียร แอพไม่แครชเลย การใช้งานเจอบั๊กน้อยมาก (ผมเจอหนึ่งบั๊กคือโทรแล้ว proximity sensor ไม่ทำงาน จอดับแล้วไม่ติดคืนเวลายกมือถือออกจากตัว)
แต่คนที่ชินกับรอมของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆ อาจรู้สึกว่ามันโล้นๆ ไม่ค่อยมีอะไรให้เล่นมากนัก ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่กลุ่มเป้าหมายของ Oppo N1 รุ่น CM อยู่แล้ว (เพราะต่อให้อยากซื้อฮาร์ดแวร์รุ่นนี้ก็เลือกซื้อ Oppo N1 รุ่นปกติได้)
เท่าที่ลองใช้มาพบว่ามีจุดที่รอม CM ปรับแต่งเป็นพิเศษให้เข้ากับฮาร์ดแวร์ของ Oppo N1 อยู่สามจุดครับ
ฟีเจอร์ gesture ตอนปิดหน้าจอมีใน N1 รุ่นปกติอยู่แล้ว ซึ่งทีม CM ก็ปรับรอมให้รองรับฟีเจอร์นี้ด้วย วิธีใช้งานให้เข้าที่ไป Settings > Interface > Gesture shortcuts จะเห็นตัวเลือกดังภาพ
gesture ตอนปิดหน้าจอมีให้เลือก 4 ท่าคือ
สรุปว่าฟีเจอร์ gesture ทำออกมาได้ดีมากๆ ทั้ง Oppo และ CM
O-Touch คือพาเนลรองรับการสัมผัสที่อยู่ด้านหลังเครื่อง ถ้าใช้คู่กับเคสของ Oppo ที่แถมมาด้วยจะมีช่องเปิดไว้เพื่อ O-Touch อยู่แล้ว
รอม CM ที่ติดมากับเครื่องรองรับฟีเจอร์ O Touch เช่นกันแต่ต้องเปิดใช้เองใน Settings > Language & input > O-Touch settings
O-Touch มีให้เลือกใช้งาน 3 ท่าครับ
สรุปแล้ว O-Touch เป็นฟีเจอร์แปลกๆ ที่ดูมีนวัตกรรมดี แต่ในการใช้งานจริงไม่ค่อยมีผลเท่าไร แตะหน้าจอเอาเร็วกว่า
O-Click เป็นชื่อของรีโมท Bluetooth ที่แถมมากับเครื่อง ช่วยให้เราสามารถควบคุมเครื่องได้จากระยะไกล หน้าตาของ O-Click ก็เป็นก้อนกลมๆ ใส่ถ่านนาฬิกา (ก้อนกลมแบน) เอาไว้ห้อยกับสร้อยหรือพวงกุญแจที่ติดตัวเราอยู่ตลอดเวลา
ตัวคอนเซปต์น่าสนใจมากครับ แต่ในการใช้งานจริงไม่สามารถทดสอบได้ (คาดว่าเป็นบั๊ก) เพราะผมสามารถแพร์ O-Click เข้ากับตัวเครื่องได้ แต่พอจะ connect เพื่อเรียกใช้งาน กลับไม่สามารถต่อเชื่อมได้
ฟีเจอร์เท่าที่เห็นจากหน้าจอ (แต่ไม่สามารถลองใช้ได้) คือใช้เป็นปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพ, ใช้ค้นหามือถือเหมือนรีโมทรถยนต์ และแจ้งเตือนได้ถ้ามือถือเข้ามาหรือออกไปในระยะที่กำหนด
เท่าที่ใช้งานมาหลายวัน Oppo N1 CM มีประสิทธิภาพที่ดี ไหลลื่น เหลือเฟือสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่ถ้ากางสเปกบนหน้ากระดาษมาดูกัน มันใช้ซีพียู Snapdragon 600 (APQ8064T) 1.7GHz, แรม 2GB ซึ่งก็ถือว่าน้อยไปสักนิดสำหรับมือถือระดับเรือธงช่วงปลายปี 2013 เพราะคู่แข่งหลายรายเดินหน้าไปที่ Snapdragon 800 กันเยอะแล้ว
ลองรันเบนช์มาร์คทดสอบด้วย AnTuTu X ได้ผลมา 24,897 คะแนน ด้อยกว่า HTC One อยู่เล็กน้อย
เรื่องแบตเตอรี่นี่วัดยากจริงๆ แต่แบตตามสเปกให้มาค่อนข้างเยอะ 3610 mAh (ข้อดีหนึ่งของมือถือเครื่องใหญ่ๆ) ผมลองใช้งานแบบประหยัดๆ หน่อยอยู่ได้เกือบ 2 วัน
กล้องของ Oppo มีความละเอียด 12.7 ล้านพิกเซล ภาพที่ได้ถือว่าโอเคระดับหนึ่ง (เทียบกับ Note 3 แล้วยังด้อยกว่า) จุดที่แย่คือไม่มี stabilizer และแอพกล้องของ CM (เข้าใจว่าไม่ใช่ Focal) มีลูกเล่นน้อยและปรับแต่งได้ยากพอสมควร
ผมพบบั๊กว่ากำหนดให้ถ่ายภาพในสัดส่วน 16:9 แต่ไม่สำเร็จ ออกมาเป็น 4:3 ตลอดเลย (ตอนเห็นพรีวิวบนจอเป็น 16:9 ตามขนาดจอ แต่ไฟล์ภาพจริงกลับได้ 4:3)
ภาพตัวอย่างดูได้จากโพสต์ใน G+ ด้านล่างนะครับ (กดเข้าไปดูอัลบั้มเต็มกันเอง)
เผอิญว่าโชคดีไปงานเลี้ยงของซัมซุง แล้วเจอคุณ @ibluecosmos แห่ง MXPhone ถือ Oppo N1 รุ่นปกติ เลยขอยืมมาถ่ายภาพช็อตเดียวกันเปรียบเทียบให้ดูครับ
Oppo N1 รุ่นปกติ (ภาพขนาดเต็ม)
Oppo N1 รุ่น CM (ภาพขนาดเต็ม)
ในแง่สินค้าเอาไว้ขาย Oppo N1 CyanogenMod Edition เป็นมือถือสำหรับผู้ใช้งานกลุ่มเฉพาะคือคนที่ใช้รอม CM เป็นหลัก การวางขายในตลาดคนทั่วไปคงขายได้ยากมาก (Oppo จึงเน้นขายผ่านหน้าเว็บเป็นหลักแทน) ในแง่การใช้งานถือว่าโอเค เรียบง่ายไม่หวือหวาแต่ก็ตอบโจทย์คนกลุ่มแฟนๆ CM ได้เป็นอย่างดี
แต่ในแง่ความก้าวหน้าของ CyanogenMod มันถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดีมากของบริษัท Cyanogen, Inc. ที่ขยับขยายตัวจากโครงการโอเพนซอร์สที่ทำแต่ซอฟต์แวร์ กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์เต็มตัว มันแสดงให้เห็นว่าถ้ามีฮาร์ดแวร์อย่างเป็นทางการให้ทีมซอฟต์แวร์ได้ปรับแต่งรอมอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์สุดท้ายก็ออกมาดี และการใช้งาน CM บน Oppo ตัวนี้ให้ประสบการณ์ใช้งานดีกว่า CM บนอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ที่ผมเคยใช้มามาก
Oppo N1 CM Edition ถือเป็นก้าวแรกที่มั่นคง และหลังจากนี้ไปเราคงเห็นพัฒนาการด้านอื่นๆ ของ Cyanogen, Inc. ในการเสริมประสบการณ์การใช้งานรอม CM ให้ดียิ่งๆ ขึ้น และมีบริการเสริมช่วยสนับสนุนผู้ใช้งาน โดยยังรักษาความเรียบง่าย ไม่ "เยอะ" เหมือนกับรอมของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่นๆ ในท้องตลาดครับ
ในระยะยาวแล้ว ฮาร์ดแวร์สาย CyanogenMod จะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของอุปกรณ์สาย Nexus ที่เป็น Pure Google เลยล่ะครับ