นับตั้งแต่ปี 2011 มีความหวังถึงเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ซีพียู ARM เป็นวงกว้าง บริษัทขนาดใหญ่เช่นเอชพีเปิดตัวโครงการ Moonshot ใช้ซีพียู ARM ที่ผลิตสำหรับเซิร์ฟเวอร์โดยเฉพาะจากบริษัท Calxeda แต่สองปีต่อมา Calxeda ก็ขาดเงินสดจนต้องหยุดดำเนินการ ทาง The Register สัมภาษณ์ Karl Freund รองประธานฝ่ายการตลาดถึงสาเหตุของความล้มเหลวนี้ และความเป็นไปได้ที่ ARM จะบุกตลาดเซิร์ฟเวอร์อีกครั้ง
Freund ระบุว่า Calxeda นั้นเกิดก่อนกาล เพราะลูกค้าที่สนใจ ARM ส่วนมากรอให้ ARM เปิดสินค้าในสถาปัตยกรรม 64 บิตเสียก่อนจึงเริ่มใช้งานจริง และลูกค้าต้องการให้ระบบนิเวศของซอฟต์แวร์ในสถาปัตยกรรมให้พร้อมเสียก่อน แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การซัพพอร์ตจากระบบนิเวศโดยรวมยังมีจำกัด แม้ Ubuntu จะซัพพอร์ต ARM ไปก่อนแล้วแต่ลินุกซ์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง Redhat กลับต้องรอถึงปี 2015 จึงจะรองรับ องค์กรขนาดใหญ่แม้จะทดสอบ ARM อยู่ภายในแต่ก็จะไม่หันมาใช้งานหากไม่มีการซัพพอร์ต 64 บิตอย่างจริงจัง
แม้ว่าความหวังของการใช้สถาปัตยกรรม ARM ในมาทำเซิร์ฟเวอร์จะเป็นความได้เปรียบด้านพลังงาน แต่ Freund ระบุว่าหาก ARM จะประสบความสำเร็จในโลกเซิร์ฟเวอร์ เหตุผลที่ทำให้สำเร็จก็ไม่ใช่ประสิทธิภาพต่อพลังงานอยู่ดี เพราะอินเทลจะสามารถไล่ทันได้ก่อนที่ระบบนิเวศทั้งหลายเช่น Redhat จะรองรับ ARM จริงจังอยู่ดี เพราะเทคโนโลยีการผลิตของอินเทลก้าวหน้ากว่าผู้ผลิตรายอื่นมาก
แต่จุดขายที่แท้จริงของเซิร์ฟเวอร์ ARM ในความเห็นของ Freund คือความสามารถในการปรับแต่งซีพียูที่ไม่สามารถทำได้กับชิปของอินเทล บริการเฉพาะทางเช่นกูเกิลอาจจะต้องการให้ชิปมีชุดคำสั่งพิเศษเพื่อรองรับโหลดบางประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจูนโหลดงานบางประเภท กรณีเช่นนี้จะเป็นจุดได้เปรียบของ ARM ที่ขายพิมพ์เขียวของซีพียูออกไปให้ผู้ผลิตปรับแต่งกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โดยผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์ ARM น่าจะอยู่รอดหากได้ลูกค้ารายใหญ่มากๆ หรือสามารถปรับแต่งซีพียูรองรับโหลดบางประเภทที่มีตลาดเฉพาะของตัวเองได้
ที่มา - The Register