รีวิว Dell Venue 8 Pro

by Diew
12 January 2014 - 16:26

ตลาดแท็บเล็ตขนาดหน้าจอแถวๆ 8 นิ้ว ในปี 2013 นั้น ถือว่ารบกันได้ดุเดือดพอสมควรในฝั่ง iOS และ Android แต่สำหรับฝั่ง Windows นั้น ก่อนการเปิดตัว Windows 8.1 ยังถือว่ายากเพราะตัว Windows 8 เองยังไม่พร้อมสำหรับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก แต่ทว่าในตอนนั้นก็มี Acer ที่กล้าตัดสินใจนำ Windows 8 มาอัดลงจอขนาด 8 นิ้ว เปิดตัวลงตลาดนี้เป็นรายแรกในชื่อ Iconia W3 ซึ่ง W3 ก็ถือว่าเป็นแท็บเล็ดตัวหนึ่งที่ประสบความสำเร็จพอสมควร และพิสูจน์ความเป็นไปได้ของแท็บเล็ตสาย Windows และสถาปัตยกรรม x86 ในหน้าจอเล็กๆ ได้ในหลายๆ ทาง

กลับมาที่เดือนตุลาคม เดือนที่ทุกอย่างน่าจะพร้อมแล้วสำหรับทุกอย่าง หลังการเปิดตัว Windows 8.1 และ Intel Atom ผู้ผลิต 4 ยี่ห้อก็พร้อมใจกันเปิดตัวแท็บเล็ตชุดแรกส่งท้ายปีออกมา

แท็บเล็ตกลุ่มแรกที่วางขายเลยนั้นคือ Lenovo, Toshiba และ Dell ส่วนรายที่ 4 คือ Acer กับ Iconia W4 ยังไม่ขายและเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย

หลังจาก 2 ย่อหน้าอันยืดยาวข้างต้น ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการรีวิวแท็บเล็ตสักเท่าไร แค่อยากให้รู้ที่มาที่ไป ผมก็ขอกลับมาเข้าเรื่องดีกว่า…

Dell Venue 8 Pro ถือเป็นแท็บเล็ต 8 นิ้วสายพันธุ์ Windows 8 ที่ร้อนแรงรุ่นหนึ่งมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นรุ่นที่เปิดตัวพร้อมกับอุปกรณ์เสริมหลากหลายตัว และเป็นหนึ่งในแท็บเล็ตตัวแรกๆ ที่เปิดตัวมาพร้อม Windows 8.1 โดยในรีวิวนี้ผมจะพูดถึงทั้งรุ่น 32GB และ 64GB ไม่รวมอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เพราะหาไม่ได้เนื่องจากขาดตลาด

แกะกล่อง

ภายนอกจะเป็นกล่องกระดาษสีขาวสวมทับกล่องสีน้ำตาลธรรมดาๆ เหมือนๆ กันทั้งรุ่น 32GB และ 64GB สิ่งที่แตกต่างคือด้านหลังกล่องจะเขียนความจุต่างกันแค่นั้น

เปิดฝาสีน้ำตาลออกก็จะเจอเครื่องอัดมาเกือบพอดีกล่อง พอยกเครื่องออกก็จะเจอช่องใส่อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งวางมาแปลกๆ คือ ซองใส่ serial number วางมาเอียงๆ ไม่พอดีช่องซะอย่างนั้น ส่วนด้านล่างตรงส่วนอะแดปเตอร์ ก็ยังเหลือช่องว่างเปล่าๆ ซึ่งกว้างพอที่จะยัดสาย OTG แถมมาอีกเส้นได้แต่ในกล่องไม่มีนะครับ ฮา

เมื่อเอาของออกมากองเรียงกันก็จะประกอบไปด้วย

  1. ตัวเครื่อง Dell Venue 8 Pro ห่อพลาสติกมาอย่างเรียบร้อย
  2. อะแดปเตอร์ 10W-AC Input 100-240 V-50/60Hz 0.3A, Output 5V 2A ถือว่าเป็นมาตรฐานทั่วไป
  3. สาย Micro USB to USB
  4. ซองใส่ Product Key ของ Windows 8 พร้อม Microsoft Office Home & Student 2013
  5. Quick Start Guide ธรรมดาๆ
  6. เอกสารข้อมูลการรับประกัน คำเตือนวิธีใช้ต่างๆ

ตัวเครื่อง
เรื่องรายการสเปคเครื่องขอข้ามไปนะครับ เพราะหาอ่านได้ไม่ยากอยู่แล้วสำหรับผู้สนใจ หรือดูได้จากข่าวเก่า Dell Venue 8 Pro แท็บเล็ตวินโดวส์หน้าจอ 8 นิ้วพลัง Atom เน้นตลาดองค์กร

ด้านหน้า
จอภาพขนาด 8 นิ้ว IPS HD ความละเอียด 1280x800 รองรับการสัมผัสพร้อมกัน 10 จุด นอกจากนี้ยังมาพร้อมชิพควบคุมปากกาของ Synaptics ในเครื่อง ดังนั้นถ้าเอาปากกาเฉพาะอย่างของพวก Wacom มาจิ้มๆ ดู มันไม่ทำงานนะครับ ส่วนปากกานั้นแยกขายต่างหาก

มุมขวาบนของด้านหน้าเครื่องไล่มาจากซ้ายสุด

  1. ไฟแสดงสถานะกล้องเว็บแคมมีสีขาว
  2. กล้องหน้าความละเอียด 1.2MP ระบุมาชัดเจนจากหลังกล่องว่าเป็น Webcam ดังนั้นไม่ต้องไปหวังอะไรกับมันมากครับ
  3. เซ็นเซอร์วัดแสง

จากด้านหน้าสิ่งหนึ่งที่หายไปเลยคือปุ่ม Windows ครับ ซึ่งผมถือว่าเป็นข้อดีเพราะช่วยกันนิ้วพลาดไปโดนเวลาปัด Charm Bar ในบางมุมจับ นอกจากนี้ด้านหน้ายังไม่มีโลโก้ที่บ่งบอกยี่ห้อมาเกะกะ ทำให้เวลาปิดเครื่องวางไว้ปกติมันกลมกลืนมากกับแท็บเล็ตทั่วไปในตลาดมาก ส่วนพื้นที่เหลือด้านข้างจอก็ถือว่าเพียงพอสำหรับปัด Charm Bar ในทุกๆ มุมครับ

ด้านบน

ปุ่ม Windows ที่ควรจะอยู่ด้านหน้ามันมาอยู่ตรงนี้ครับ ซึ่งเท่าที่ใช้งานมาหากจับเครื่องแนวตั้งแบบพวก iPad ผมถือว่ากดได้โคตรไม่ถนัดเลย แต่ถ้าจับแนวนอนปุ่มมันจะอยู่ตรงนิ้วชี้พอดีกดได้สะดวกมากครับ สรุปก็คือวางตำแหน่งแปลกๆ นั่นแหละ

ส่วนข้างๆ จะเป็นช่องเสียบหูฟัง 3.5mm ธรรมดาๆ ครับ

ด้านซ้ายและขวา

ซ้ายโล่งๆ ครับช่างมันไปดูด้านขวาดีกว่า

ด้านขวาจะเป็นฝั่งที่จัดเต็มมากประกอบด้วย

  1. ช่องเสียบ Micro USB แบบ AB ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นแล้วเกิดอาการผงะเล็กน้อย เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แต่จากการทดสอบ สามารถใช้สาย Micro USB แบบ B แบบตามบ้านเราเสียบได้ปกติแน่นหนาดีครับ(ใครทราบว่ามันเอาไว้ทำอะไรก็บอกผมด้วยแล้วกัน) มีหน้าที่หลักคือไว้เสียบชาร์จไฟ
  2. ไฟแสดงสถานะเครื่องเวลาชาร์จไฟสีขาว
  3. ปุ่ม Power ไว้เปิดปิดเครื่องธรรมดา แต่การตั้งค่าปุ่มจะไม่เหมือน PC หรือ Notebook นะครับ มันจะเป็นเหมือนพวกแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนมากกว่า คือถ้าเปิดเครื่องอยู่การกดจะเป็นการเปิดปิดจอเฉยๆ และกดค้างไว้เพื่อสั่งให้ Shutdown ทำนองนั้น
  4. ปุ่มปรับเพิ่มลดเสียงธรรมดา
  5. ไมโครโฟน

เลยมาอีกนิดจะเป็นช่องเสียบ Micro SD Card ครับ พร้อมฝาปิดให้เรียบร้อย ส่วนที่เห็นโล่งๆ ด้านขวาเขาทำเผื่อไว้ใส่ Sim Card ด้วยครับ แต่ไม่ต้องไปวิ่งหาซื้อเพราะยังไม่ประกาศขายเลย

ด้านล่าง

มีแค่ลำโพงโมโนครับ จากเท่าที่ทดลองใช้มาถือว่าเป็นลำโพงที่ดังมากๆ เปิดดังสุดกลัวจะพังเอาเลยทีเดียว

ด้านซ้ายเบลอๆ นั่นเป็นสติกเกอร์ S/N เครื่องครับผมเบลอเองกับมือ

ด้านหลัง

มีแค่กล้อง 5MP อยู่ตรงด้านบนครับ ส่วนคุณภาพของภาพถ่ายก็ถือว่าพอใช้ได้ ไม่ได้สวยเทพอะไรมากมาย ส่วนตัวอย่างถ้ามีแล้วเดี๋ยวเอามาแปะเพิ่มให้ดูภายหลังครับ

สัดส่วนและน้ำหนัก

หนา 9mm ส่วนน้ำหนักผมพลิกไปอ่านหลังกล่อง เขียนไว้ว่า 395g ซึ่งโดยส่วนตัวผมถือว่ากำลังพอดีๆ ลักษณะการจับไม่ว่าจะแนวตั้งหรือแนวนอนไม่พบว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะแนวตั้ง ผมใช้มือเดียวกางจับได้แบบสบายๆ เพราะมันไม่กว้างแบบพวก iPad mini

วัสดุ งานประกอบ

ตัวเครื่องรอบๆ รวมถึงด้านหลังเป็นพลาสติกที่ดูมีคุณภาพพอสมควร ส่วนพื้นผิวด้านหลังออกแบบมาเป็นลายวงกลมซ้อนกันไล่ไปเรื่อยๆ ทำให้เวลาจับกระชับมือดีมาก นอกจากนี้ก็มีการวางโลโก้ DELL สีเงินอย่างเด่นอยู่ที่กลางตัวเครื่อง

งานประกอบภาพรวมแน่นหนาดี ปุ่มกดสีเงินรอบๆ เครื่องไม่มีอาการยวบๆ กลวงๆ แต่ที่ผมห่วงคือปุ่มกดแบบนี้เวลาใช้ไปนานๆ หลายปีมักจะลอก ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์อีกที
ทางฝั่งตัวเครื่องสิ่งหนึ่งที่ผมพอใจมากคือ การที่ด้านหลังเครื่องไม่มีสติกเกอร์รกๆ เช่น Windows 8, Intel Atom
แปะมาเต็มฝาหลัง มีเพียง Intel Inside สีกลมกลืนกับเครื่องแปะอยู่เท่านั้น ซึ่งถือว่ารับได้อยู่

อุปกรณ์เสริม

ถือว่าเป็นรุ่นที่เปิดตัวพร้อมอุปกรณ์เสริมแบบครบพอสมควร แต่กลับหาซื้อไม่ได้ง่ายๆ ดังนั้น ขอลงไว้เป็นข้อมูลเฉยๆ นะครับ

  • Dell Active Stylus - ปากกาเฉพาะรุ่น(ขาดตลาด, มีปัญหาด้านการผลิต ทำใช้แทบจะหยุดชะงักไปเลยจนถึงตอนนี้)
  • Dell Tablet Folio - เป็นเคสแบบปิดทั้งเครื่องใช้เป็นขาตั้งได้ มาพร้อมช่องเสียบปากกา(ขาดตลาด)
  • Dell Tablet Wireless Keyboard - วางขายเป็นตัวล่าสุด เป็นเคสแบบปิดทั้งเครื่องพร้อม Keyboard Bluetooth ที่มีแม่เหล็กไว้ยึดติดกับตัวเคสหลักได้

ก่อนเปิดเครื่อง

เนื่องจากมันเป็นแท็บเล็ต Windows ที่ทำงานอยู่บนสถาปัตยกรรม x86 ดังนั้นจึงจะมีการเปรียบเทียบข้ามไปมาทั้ง 2 ฝั่ง และจะไม่ลงรายละเอียดมากในฝั่ง Software เพราะมันไม่ได้ต่างอะไรกับพวก Notebook windows 8 เลย
ส่วนชื่อเครื่องขอเรียกย่อๆ ว่า DV8P นะครับ

เปิดเครื่อง

หลังจากเปิดเครื่องตั้งค่าระบบพื้นฐาน อัพเดตล่าสุดพร้อม Activate โปรแกรม Office แล้ว

  • รุ่น 32GB เหลือพื้นที่ให้ใช้งานประมาณ 11 GB
  • รุ่น 64GB เหลือพื้นที่ให้ใช้งานประมาณ 40 GB

สิ่งที่สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เปิดเครื่องจนถึงตอนนี้สำหรับผมคือ จอภาพจะมืดมากเหมือนปรับความสว่างไว้ต่ำสุด ซึ่งปัญหาเกิดจากเซ็นเซอร์วัดแสงทำงานผิดพลาดจึงจะเป็นที่จะต้องไปปิดเซ็นเซอร์ตัวนี้ครับ

Benchmark

ทดสอบด้วย 3DMark เวอร์ชันล่าสุดเทียบในฝั่งแท็บเล็ตถือว่าแรงอยู่ระดับบนๆ หายห่วงครับ

นอกจากนี้ผมยังได้ลองทดสอบผ่าน 3DMark Demo เวอร์ชั่น Desktop(ลงผ่าน Steam) ซึ่งจากการทดสอบสามารถ Benchmark ไปได้ถึง Fire Strike ที่มีไว้ทดสอบ High End Gaming PC แต่ก็โปรแกรม Crash ไปเสียก่อนที่จะรันจบ ดังนั้นจึงได้ผลการทดสอบเต็มๆ เพิ่มมาอีกตัวครับ คือ Cloud Gate

ถ้าสนใจผล Benchmark ทั้งหมดก็เข้าไปดูได้ตามลิงก์ครับ

ภาพรวมการใช้งาน

โหมดแท็บเล็ต
ในตอนนี้สำหรับ Windows 8.1 นั้นถือว่าพร้อมมากกว่าช่วงปีที่แล้ว ขาดแอพเฉพาะทางอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาเท่าไร เพราะยังไงก็ลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ สิ่งที่ผมพบว่าเป็นปัญหานิดหน่อยคือการสแนปหน้าจอหรือเปิดหลายๆ แอพวางไว้คู่กันบนจอ เพราะจอมันเล็กมากไม่เหมาะจะใช้แบบนั้นสักเท่าไร

โหมด Desktop
ที่โหมดปกติ(Zoom 100%) ถือว่าหน้าจอ Desktop ไม่ได้เล็กมากสำหรับการมองทั่วไป แต่ถือว่าเล็กสำหรับการเอานิ้วไปไล่จิ้ม ถ้าจะให้เหมาะต้อง Zoom Desktop เข้ามาอีกนิดครับ ตรงส่วนนี้จะว่าไป Dell ก็ได้ออกปากกาอุปกรณ์เสริมแยกมาขายด้วยเช่นกัน แต่ก็ยากเกินไปที่จะหามาใช้ แถมยังมีปัญหานานัปการให้เห็นตามเว็บบอร์ดเมืองนอก ส่วนปากกาหัวทู่ๆ แบบที่ใช้กันทั่วไปผมไม่มีครับเลยไม่ได้ลองจิ้มดู

นอกจากนี้ DV8P มาพร้อมกับชุด Microsoft Office Home & Student 2013 ฟรีๆ ก็ถือว่าพร้อมใช้งานสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานเกี่ยวกับเอกสารเหมือนกัน เนื่องจากการที่จอมันเล็กมากจึงไม่เหมาะจะใช้ทำงานจริงๆ จังๆ ได้ แล้วเรื่องก็เกิดครับ

ผมจะต่อออกจอคอมแต่หาช่องเสียบ micro HDMI ไม่เจอ...

สืบค้นทราบที่มาที่ไปทำให้ทราบว่า Dell เป็นรุ่นเดียวในตลาดตอนนี้ที่ไม่มีช่องนี้มาให้ แต่แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายแบบใหม่ที่น่าจะเป็นมาตรฐานกลางในอนาคตคือ Miracast ในการเชื่อมต่อแทน(สำหรับ Android มาพร้อม 4.2 ครับ) ดังนั้นทางเลือกของผู้ที่ต้องการออกจอใหญ่คือ

  1. ซื้อตัวรับ Miracast มาเพิ่ม ไว้ออกจออย่างเดียว
  2. ซื้ออุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีของ DisplayLink เช่น USB Docking Station ที่เสียบกับแท็บเล็ตผ่านทางช่อง USB ซึ่งตัวนี้คุ้มกว่าเพราะได้พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเพียบเช่น USB, LAN, DVI หรือ HDMI แล้วแต่รุ่น ซึ่งตัวนี้จะทำให้แท็บเล็ตกลายร่างเป็นชุดคอมพิวเตอร์ได้เลยทีเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับจุดที่นั่งทำงานเป็นหลัก จะไปไหนก็ถอดแท็บเล็ตวิ่งไปเลย ไม่ต้องมี PC ตั้งโต๊ะอีกแล้ว

สิ่งสุดท้ายที่ผมพบคือการที่มันมี USB เพียงช่องเดียว ทำให้มันไม่สามารถชาร์จไฟไปด้วย เสียบอุปกรณ์อื่นๆ อย่างพวก External Harddisk ไปพร้อมกันได้ ซึ่งบางคนอาจคิดว่าก็หาพวก USB Hub 4 port มาสิแล้วเสียบๆ ไปซึ่งนั่นทำให้อุปกรณ์อื่นๆ ที่เสียบใน Hub ทำงานตามปกติ แต่ไฟก็ไม่วิ่งเข้าแท็บเล็ตอยู่ดี นอกจากใช้สายไฟที่มีสวิตช์
สลับโหมดการเชื่อมต่อหลอกให้ไฟวิ่งเข้าไป(เหมือนพวก Android)

เล่นเกม

ด้วยขุมพลังของ Intel HD 4000 ที่ย่อส่วนใส่ลงมาใน Atom Bay Trail ทำให้มันสามารถเล่นเกมใหม่ๆ ที่กินสเปคไม่สูงมากนักได้สบายๆ ส่วนเกมเก่าๆ ก็หายห่วง ขาดจริงๆ ก็แค่ Mouse และ Keyboard สำหรับเกมที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้นเอง(ไม่ก็ลง
GestureWorks Gameplay) ส่วนถ้าอยากรู้ว่าเกมไหนเล่นได้บ้างก็ลอง Search หาดู ขึ้นเต็มผลการค้นหาแน่นอน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างเกมที่เล่นได้ลื่นๆ ก็มีตั้งแต่ Left 4 Dead 2, Dota 2, LoL, Torchlight II, Just Cause 2 และ Heartstone เรื่องความจุสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการลงเกมบน SD Card ได้เช่นกัน ถ้าเกมยังไม่พอก็ไปค้นเกมใน Windows Store ให้หายอยากได้อีก

ความร้อนและแบตเตอรี่

ที่การใช้งานโหดๆ อย่าง Benchmark หรือขืนใจเล่นเกม PC กินสเปคถือว่าร้อนพอสมควรครับ โดยความร้อนจะไปกระจุกตัวอยู่มุมซ้ายล่างของเครื่อง คือบริเวณช่องเสียบ SD Card ถึงโลโก้ Intel ซึ่งผมคิดว่า Dell คงจงใจเอาไปหลบตรงมุมนั้นเพราะเป็นมุมที่คนไม่ค่อยจับกัน ส่วนการใช้งานปกติถือว่าอุ่นๆ ครับ ส่วนความอึดของแบตเตอรี่ที่การใช้งานทั่วๆ ไปผมให้ 7-8 ชั่วโมงขึ้นครับ(ปิดเซ็นเซอร์วัดแสง) แต่ถ้าเอาไปเปิดเกมคอมเล่นก็ตัวใครตัวมันล่ะนะ

สรุป

Notebook ย่อส่วนยัดทุกอย่างลงจอ 8 นิ้ว ติดระบบสัมผัส น่าจะเป็นนิยามที่ใช้เรียกเจ้าสิ่งนี้ได้อยู่ หากใช้งานเป็นแท็บเล็ตผมถือว่าตอบสนองการใช้งานพื้นฐานได้เกือบหมด หากใช้แทนเป็นกึ่งๆ Notebook หรือ Desktop PC จะต้องมีอุปกรณ์เสริมหยุมหยิมเพิ่มเข้ามาตามด้านบน เรื่องราคาก็ไม่ได้แพงมากทั้งรุ่น 32GB($299) และ 64GB($349) แถมประสิทธิภาพก็แรงเกินตัวจนเหมาะสำหรับเอาไปเสียบจอใหญ่ทำงานก๊อกแก๊กๆ ทั่วไปแทน PC เสียมากกว่า สำหรับผมถือได้ว่า Dell Venue 8 Pro หรือ 8 นิ้วยี่ห้ออื่นๆ น่าจะออกมาปั่นป่วนตลาดแท็บเล็ต 8 นิ้วในเวลานี้ได้มากครับ

Blognone Jobs Premium