เฟซบุ๊กพัฒนาต้นแบบ cold storage เก็บข้อมูล 1 เพตะไบต์บนแผ่นบลูเรย์ 10,000 แผ่น

by nuntawat
30 January 2014 - 10:04

Jay Parikh รองประธานด้านวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานของเฟซบุ๊กเปิดเผยที่งาน Open Compute Summit งานประชุมภายใต้โครงการ Open Compute (โครงการเปิดสเปกฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์สำหรับศูนย์ข้อมูลที่ริเริ่มโดยเฟซบุ๊ก) ว่าบริษัทกำลังพัฒนาต้นแบบระบบสตอเรจที่เก็บข้อมูลแล้วแทบไม่ต้องเข้าถึงอีกเลย (cold storage) ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลสูงสุด 1 เพตะไบต์บนแผ่นบลูเรย์ 10,000 แผ่น และคาดว่าในอนาคตจะสามารถเพิ่มความจุได้เป็น 5 เพตะไบต์

Parikh กล่าวว่า ระบบนี้อาจถูกใช้เก็บรูปภาพและคลิปวิดีโอของผู้ใช้ที่ซ้ำซ้อนกันในกรณีที่เกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้นมา ส่วนที่เลือกใช้แผ่นบลูเรย์แทนที่จะเป็นฮาร์ดไดร์ฟเนื่องจากสามารถลดต้นทุนสตอเรจเพื่องานดังที่กล่าวไปข้างต้นได้กว่าร้อยละ 50 และลดการใช้พลังงานได้กว่าร้อยละ 80 นอกจากนั้นยังมีโอกาสเก็บข้อมูลได้มากกว่าปัจจุบันเพราะผู้ผลิตแผ่นบลูเรย์สามารถที่จะเพิ่มพื้นที่ความจุลงไปในหนึ่งแผ่นได้อีก

ถึงแม้โครงการนี้จะยังอยู่ในขั้นต้นของการพัฒนา แต่ Parikh ก็เคลมว่าบริษัทสามารถเริ่มการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปีนี้ เขายังเสริมว่าการเก็บข้อมูลบนแผ่นบลูเรย์เป็นตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น แต่บริษัทคาดว่าจะสามารถย้ายไปเก็บข้อมูลที่แทบไม่ต้องเรียกใช้อีกเลยลงหน่วยความจำแบบแฟลชที่กินไฟต่ำได้ในที่สุด

Jason Taylor หัวหน้าฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานเปิดเผยว่า บริษัทกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเปิดเผยส่วนใดของการออกแบบระบบสตอเรจนี้ให้ Open Compute Project

ที่มา: PCWorld

Blognone Jobs Premium