บทวิเคราะห์ เลอโนโวซื้อโมโตโรลา

by mk
31 January 2014 - 11:38

ข่าว เลอโนโวซื้อโมโตโรลา ถือเป็นข่าวไอทีช็อคโลกประจำสัปดาห์ ผมเชื่อว่าทุกคนงง ผมก็งงครับ แต่พอภาวะความงงเริ่มหดหาย มานั่งพินิจพิเคราะห์ดีๆ ก็พบว่าดีลนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ

บทวิเคราะห์นี้จะ "พยายาม" อธิบายข้อดีข้อเสียของดีลครั้งนี้

Lenovo

เริ่มจากเลอโนโวในฐานะ "ผู้ซื้อ" ครับ ปัจจุบันเรารู้จักกันดีว่าเลอโนโวคือผู้ผลิตพีซีหมายเลขหนึ่งของโลก แซงหน้าคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตพีซีหน้าเก่าๆ ทั้งสายอเมริกัน (เอชพี เดลล์) และสายไต้หวัน (เอเซอร์ เอซุส) มาได้สักระยะแล้ว

แต่ถ้าเราย้อนดูประวัติของเลอโนโว เราจะพบว่าเลอโนโวมีจุดเริ่มต้นจากการขายพีซีต้นทุนต่ำ ราคาถูก (ประวัติของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สายเอเชียจะมาแนวนี้เหมือนกันหมดในช่วงแรกๆ) และค่อยๆ สร้างนวัตกรรมด้วยการซื้อกิจการบริษัทที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่า (แต่มีปัญหาธุรกิจด้วยเหตุผลเรื่องค่าแรง-ต้นทุน) อย่างการซื้อธุรกิจพีซีของ IBM ที่ช่วยให้บริษัทพัฒนาตัวได้อย่างก้าวกระโดด

การซื้อกิจการโมโตโรลารอบนี้ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่เป็นธุรกิจอุปกรณ์พกพาตามสมัยนิยม เราจะเห็นว่าเลอโนโวเริ่มต้นค่อนข้างช้ากับธุรกิจอุปกรณ์พกพา เริ่มขายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตช้ากว่าชาวบ้าน ถึงแม้ภายหลังจะปรับตัวมาเน้นมือถือ และทำได้ค่อนข้างดีในตลาดล่าง แต่ในตลาดบนก็ยังสู้กับซัมซุงหรือแอปเปิลได้ยาก

ถ้าย้อนดู "ข่าวลือ" เก่าๆ ของเลอโนโว เราจะเห็นว่าเลอโนโวมัก "มีเอี่ยว" กับข่าวลือการซื้อกิจการบริษัทมือถือที่อยู่ในช่วงขาลงแทบทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Palm, Nokia และที่ใกล้ความจริงที่สุดคือ BlackBerry (ที่โดนรัฐบาลแคนาดาสกัดดาวรุ่ง) ข่าวเหล่านี้เป็นหลักฐานพอบ่งชี้ได้ว่า เลอโนโวสนใจขยายธุรกิจมือถือด้วยการซื้อกิจการ (ยุทธศาสตร์เดียวกับ ThinkPad) มาสักระยะแล้ว เพียงแต่สุดท้ายหวยมาออกที่โมโตโรลานั่นเอง

เลอโนโวซื้อโมโตโรลาแล้วได้อะไรบ้าง?

  • เทคโนโลยีและกำลังคน คิดแบบง่ายๆ เลอโนโวก็ได้วิศวกร ทีมงาน ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตโทรศัพท์จากโมโตโรลาซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ทางด้านนี้ (วิธีคิดแบบเดียวกับ ThinkPad) ถึงแม้ว่ากูเกิลจะไม่ได้ขายสินค้า "ตัวท็อป" อย่างแล็บ Advanced Technology and Projects ให้ด้วยก็ตาม
  • สิทธิบัตร กูเกิลยังถือสิทธิบัตรส่วนใหญ่ของโมโตโรลาเอาไว้ แต่เลอโนโวก็ได้ส่วนแบ่งมาราว 2,000 รายการในดีลครั้งนี้
  • แบรนด์ ต้องยอมรับว่าแบรนด์ของเลอโนโวยังไม่แข็งแรงนัก (ในบ้านเราคนที่รู้จักว่าเลอโนโวทำโทรศัพท์ก็ยังไม่เยอะ) แถมแบรนด์ของเลอโนโวยังมีคนรู้จักเฉพาะบางภูมิภาค การได้แบรนด์โมโตโรลาที่มีฐานแข็งแรงมากในอเมริกาเหนือและละตินอเมริกา (Moto G เลือกเปิดตัวในละตินอเมริกาก่อน) ก็ถือเป็นประโยชน์สำหรับการเจาะตลาดโลกในอนาคต ซึ่งเลอโนโวเองก็ให้ข้อมูลว่าจะเลือกว่าจะใช้แบรนด์ไหนทำตลาดในประเทศไหนอีกครั้งหนึ่ง
  • ช่องทางการจำหน่าย โมโตโรลาทำธุรกิจโทรศัพท์มานาน มีความสนิทสนม สายสัมพันธ์กับโอเปอเรเตอร์ทั่วโลก มีช่องทางการจำหน่ายในประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก เลอโนโวสามารถใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของโมโตโรลากับผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้เต็มที่
  • สายสัมพันธ์กับกูเกิล เลอโนโวน่าจะได้ประโยชน์จากความสนิทสนมกับกูเกิลมากขึ้น อาจถึงขั้นได้ทำ Nexus รุ่นต่อไป (ถ้า Nexus ยังมีอยู่นะครับ)

โดยสรุปแล้ว การซื้อกิจการโมโตโรลาครั้งนี้ เลอโนโวได้ประโยชน์ซะเยอะ ถ้าอาศัยทรัพย์สินและศักยภาพของทั้งสองบริษัทในปัจจุบันมาวางแผนการดำเนินการดีๆ เราน่าจะเห็นเลอโนโวขึ้นเป็นเบอร์สามของวงการมือถือ ขึ้นไปท้าชิงกับแอปเปิล-ซัมซุงได้ไม่ยากนัก (แต่ถ้าจะเอาถึงขั้นโค่นสองรายนี้คงยากหน่อย)

ค่าตัวของโมโตโรลายังถือว่าค่อนข้างถูกคือประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับสิ่งที่ได้ทั้งแบรนด์ คน โรงงาน ช่องทางการจำหน่าย (ถูกมากเมื่อเทียบกับที่กูเกิลซื้อมา 12.5 พันล้านดอลลาร์)

จุดอ่อนของดีลนี้คงมีแค่เลอโนโวต้องแบกรับการขาดทุนของโมโตโรลาไว้ (ตัวเลขไตรมาสล่าสุดคือขาดทุน 384 ล้านดอลลาร์) ซึ่งบริษัทที่มีเงินเหลือๆ และ "แค่ขายของในเมืองจีนก็มีกำไรแล้ว" อย่างเลอโนโวน่าจะแบกรับต้นทุนส่วนนี้ได้สบาย

Google

แน่นอนว่ากูเกิลขายโมโตโรลาแบบขาดทุนครับ ซื้อมา 12.5 พันล้าน ขาย 3 พันล้าน ค่าตัวโมโตโรลาตกวูบ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ขาดทุนขนาดนั้น เพราะว่า

  • กูเกิลเคยตัดส่วนธุรกิจเซ็ตท็อปบ็อกซ์ของโมโตโรลา ขายให้บริษัทอุปกรณ์สื่อสาร Arris ไปในปี 2012 ค่าตัว 2.35 พันล้าน - ข่าวเก่า
  • กูเกิลยังถือครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรต่างๆ ของโมโตโรลาเอาไว้เป็นส่วนใหญ่ (เคยมีตัวเลขประเมินมูลค่าว่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่าสิทธิบัตรเหล่านี้อาจใช้งานในทางศาลได้ไม่เยอะอย่างที่กูเกิลหวัง)
  • หน่วยงานวิจัยชั้นสูงอย่าง Advanced Technology and Projects ก็ยังอยู่กับกูเกิล (ตีมูลค่าอาจได้ไม่เยอะนัก แต่ถ้ามองในแง่โอกาสด้านนวัตกรรมในอนาคตก็อาจจะพอได้อยู่)

สิ่งที่สำคัญกว่าการหักลบราคาซื้อมาขายไป คงอยู่ที่ว่ากูเกิลหาคนมาเซ้งธุรกิจที่ไม่ทำกำไร และไม่ใช่ธุรกิจหลักของตัวเองออกไปได้ (โมโตโรลาเคยมีพนักงานเป็นหมื่น ปัจจุบันเหลือประมาณ 4-5 พัน แค่ค่าพนักงานก็อ้วกแล้วครับ)

นอกจากประเด็นเรื่องเงินแล้ว การขายโมโตโรลายังเป็นประโยชน์กับกูเกิลดังนี้

สิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา

กูเกิลยังได้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของโมโตโรลาในแง่จำนวนสิทธิบัตรที่ถือครอง แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันจะคุ้มค่าคุ้มราคาจริงหรือไม่ ต้องรอดูกันยาวๆ ว่ากูเกิลสามารถใช้สิทธิบัตรเหล่านี้ป้องกันตัวจากการฟ้องได้สักแค่ไหน

ความเชื่อใจจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์แอนดรอยด์

ตอนที่กูเกิลซื้อโมโตโรลา น่าจะจำกันได้ว่าผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทุกรายหันมา "ระแวง" กูเกิลทันที ถึงแม้กูเกิลปฏิเสธเสียงแข็งตลอดมาว่าไม่ให้สิทธิพิเศษใดๆ กับโมโตโรลา แต่ก็คงอยู่ในสภาพว่า "อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ" ทำให้เราเห็นข่าวซัมซุงหันไปทำ Tizen, แอลจีซื้อสิทธิการใช้งาน webOS หรือผู้ผลิตมือถือหลายรายหันไปมอง Firefox OS หรือ Windows Phone เป็นทางเลือกเอาไว้

การที่กูเกิลขายโมโตโรลาออกไป ย่อมทำให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์กลับมาเชื่อใจกูเกิลมากขึ้น ซึ่งสื่อตะวันตกหลายๆ รายก็มองตรงกันว่าข่าว ซัมซุงแลกสิทธิบัตรกับกูเกิลสิบปี ที่ออกมาก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เป็นสัญญาณว่าความสัมพันธ์ระหว่างกูเกิลกับซัมซุง (ในฐานะผู้ขายแอนดรอยด์อันดับหนึ่ง) กลับมาดีขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งก็น่าจะแปลว่ากูเกิลตกลงกับซัมซุงได้แล้ว ค่อยประกาศข่าวการขายโมโตโรลาในภายหลัง

ลดโอกาสโดนสอบสวนจากหน่วยงานภาครัฐ

ในฐานะบริษัทใหญ่มีกิจการมากมาย กูเกิลเริ่มโดนหน่วยงานกำกับดูแล (regulator) จากหลายประเทศทั่วโลกรุมตรวจสอบปัญหาตุกติกของกูเกิลในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับที่ไมโครซอฟท์ในยุครุ่งเรืองเคยโดนมาแล้ว การถูกตรวจสอบย่อมทำให้เสียเงิน เสียเวลา เสียธุรกิจ โดยเฉพาะประเด็นด้านการผูกขาดข้ามอุตสาหกรรม

ถ้ายังจำกันได้ ตอนที่กูเกิลซื้อโมโตโรลาต้องรอให้หน่วยงานกำกับดูแลอนุมัติกันนานเป็นปีๆ ซึ่งแปลว่าหน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ระแวงว่ากูเกิลจะฉวยโอกาสทุ่มตลาดหรือผูกขาดตลาดผ่านโมโตโรลานั่นเอง ดังนั้นการขายโมโตโรลาออกไป ลดจำนวนธุรกิจลง ก็ย่อมช่วยลดความเสี่ยงที่กูเกิลจะโดนสอบลงได้บ้าง

โละธุรกิจที่ไม่ทำเงิน

ธุรกิจหลักของกูเกิลคือโฆษณาและบริการออนไลน์ กูเกิลไม่เคยสนใจขายฮาร์ดแวร์แบบแอปเปิลเลยสักครั้ง ยุทธศาสตร์ด้านฮาร์ดแวร์ใดๆ ของกูเกิลในอดีตที่ผ่านมา (ไม่ว่าจะเป็น Nexus, Chromebook, Motorola) มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการออนไลน์ของกูเกิลเป็นหลัก

เราจึงเห็นกูเกิลขาย Nexus, Chromebook หรือ Moto G ในราคาต่ำเรี่ยดิน กำไรบางเฉียบ เหตุเพราะกูเกิลไม่สนใจกำไรจากฮาร์ดแวร์ แต่สนใจว่าขายถูกๆ เพื่อให้คนจำนวนมากเข้าถึงสินค้าที่มีบริการของกูเกิลแปะมาด้วยก็พอแล้ว

ธุรกิจมือถือและอุปกรณ์พกพาเองก็มีความน่าสนใจในฐานะธุรกิจน้อยลงเรื่อยๆ ราคาเครื่องลดลง การแข่งขันสูงขึ้น (มีลักษณะเป็น commodity มากขึ้น) เริ่มมีผู้ผลิตแบรนด์ท้องถิ่นจากจีนและอินเดียเข้ามาแข่งขันมากขึ้น โมโตโรลาจึงไม่น่าจะเป็นธุรกิจที่กูเกิลสนใจอีกต่อไป (ราคาขายโมโตโรลานี่ถูกกว่าราคาซื้อ Nest Labs อีกนะครับ จำนวนพนักงานต่างกันตั้งหลายเท่า น่าตั้งคำถามว่าทำไมกูเกิลถึงให้ค่ากับ Nest มากกว่า)

Motorola

ต้องยอมรับว่าต่อให้ผลักดันโมโตโรลาอีกเยอะแค่ไหน โมโตโรลาก็คงไปได้ไม่ไกลกว่านี้มากนักในธุรกิจมือถือ เพราะซัมซุงกับแอปเปิลสร้างฐานที่มั่นของตัวเองได้เบ็ดเสร็จแล้ว (ขนาดโนเกียที่ใหญ่กว่าโมโตโรลามากยังอ้วก) สู้กูเกิลยกโมโตโรลาให้เลอโนโวที่ยังแข่งขันได้จากฐานที่มั่นในเมืองจีน เอาไปลุยต่อดีกว่า

โมโตโรลาในฐานะบริษัทมือถืออิสระนั้นจบไปนานแล้ว เมื่อโมโตโรลาไปอยู่ใต้เงาของเลอโนโวน่าจะถูกลดชั้นจนมีสถานะคล้ายกับ ThinkPad คือถือเป็นซับแบรนด์ของเลอโนโวเท่านั้น (จะเทียบกับ Compaq ใต้เงาเอชพี ก็พอได้เหมือนกันครับ) ธุรกิจ หน่วยงาน ผู้บริหาร ช่องทางการจัดจำหน่าย ฯลฯ ของโมโตโรลาคงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเลอโนโวในไม่ช้า ไม่มีโอกาสรันเป็นหน่วยธุรกิจแยกแบบสมัยอยู่ใต้กูเกิลอีกแล้ว

การขายโมโตโรลาครั้งนี้คงเป็นหลักฐานบ่งชี้ที่ดีว่า ยุคสมัยของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์มือถืออย่างเดียวนั้นจบไปนานแล้ว เราเห็นชะตาชีวิตของบริษัทมือถืออิสระในอดีตว่าจบกันไม่ดีสักราย

  • Palm ขายให้เอชพี
  • โนเกีย ขายให้ไมโครซอฟท์
  • Ericsson ถอนตัว ยกหน่วยธุรกิจมือถือให้โซนี่
  • BlackBerry กระอักเลือดอยู่ในตอนนี้ แถมยังเอาท์ซอร์สงานมือถือให้ Foxconn บ้างแล้ว
  • HTC ร่อแร่

โลกมือถือยุคปัจจุบันจึงกลายเป็นพื้นที่ของบริษัทไอทีที่ขยับขยายเข้ามาทำมือถือแทน ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล ซัมซุง แอลจี โซนี่ หรือไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นบริษัทมือถือหน้าใหม่ๆ จากจีนไปเลย

สรุป

ดีลนี้ เลอโนโวได้ประโยชน์เต็มๆ ส่วนกูเกิลก็ได้ประโยชน์แบบอ้อมๆ ถึงแม้กูเกิลจะขาดทุนจากดีลนี้อยู่บ้าง แต่ก็สามารถเอากำไรจากธุรกิจอื่นๆ มาโปะได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรครับ

หลังจากนี้ ต้องจับตาดูว่าเมื่อกูเกิลปลดธุรกิจที่เริ่มจะไม่มีอนาคตอย่างฮาร์ดแวร์มือถือลงไปแล้ว กูเกิลจะหันไปสนใจธุรกิจใหม่ๆ อะไรอีก ซึ่งข่าวการซื้อธุรกิจของกูเกิลในรอบ 2-3 ปีให้หลังก็แสดงทิศทางค่อนข้างชัดเจนว่า กูเกิลสนใจบริษัทหุ่นยนต์ (Boston Dynamics), AI (DeepMind), บ้านอัจฉริยะ (Nest) รวมถึงพยายามบุกเข้าไปยังตลาดรถยนต์ (Open Automotive Alliance) ซึ่งกว่าจิ๊กซอใน "เกมใหม่ของกูเกิล" จะประกอบร่างกันครบคงต้องรอกันอีกสัก 2-3 ปีครับ

Blognone Jobs Premium