รีวิว Miro 0.9.8

by mk
23 July 2007 - 09:24

คุณ 0xffeeddaa เรียกร้องมาให้รีวิว Miro โปรแกรม Media Player/Internet TV ที่กำลังดัง ก็จัดให้ตามคำขอ

รู้จักกับ Miro

Miro หรือชื่อเดิม Democracy Player เป็นโครงการที่สปอนเซอร์โดย Participatory Culture Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร และได้เงินสนับสนุนจากหลายๆ ที่ (เช่น Open Source Applications Foundation ที่ทำ Chandler, Mozilla Foundation เป็นต้น)

เป้าหมายของ Participatory Culture Foundation ก็คือสร้างทีวีออนไลน์ให้เป็นสื่ออิสระที่ใครๆ ก็สามารถผลิตเนื้อหารายการขึ้นมาเองได้สะดวก เพื่อลดการพึ่งพาสื่อทีวีที่มีเรื่องสัมปทานคลื่นความถี่มาเกี่ยวข้อง เพราะถ้าสื่อทีวีแบบเดิมร่วมมือกันไม่เสนอข้อเท็จจริงบางอย่าง ประชาชนก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต (เอ่อ ผมไม่ได้เจาะจงว่าเป็นประเทศไหนนะ) จึงเป็นที่มาของชื่อ Democracy Player ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Miro ทีหลัง นอกจากตัว Media Player แล้ว ทางทีมพัฒนายังเน้นชุดซอฟต์แวร์สำหรับสร้างรายการทีวีออนไลน์ อย่างเช่น Video Bomb หรือ Broadcast Machine รายละเอียดอ่านได้จากหน้า Creators: publish your videos the open way

ส่วนในทางเทคนิค Miro ประกอบด้วยตัวรับ feed สำหรับ video podcat, ตัวดาวน์โหลดแบบ P2P (ใช้ BitTorrent) และตัวเล่นไฟล์มัลติมีเดียซึ่งใช้เอนจินของ VLC (ถ้าเป็นลินุกซ์จะใช้ Xine) ตัวโปรแกรมใช้ XULRunner แบบเดียวกับ Firefox และโปรแกรมอื่นๆ ในตระกูล Mozilla (รวมถึง Joost ด้วย)

โปรแกรมประเภทเดียวกับ Miro ที่เราเคยรีวิวไปแล้วคือ Vuze ของค่าย Azureus ส่วนรีวิว Miro ของฝรั่งลองอ่านของ last100

รู้จัก Miro กันพอสมควรแล้ว เริ่มกันเลยดีกว่า

ดาวน์โหลดและติดตั้ง

ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone ส่วนมากชอบลองโปรแกรมใหม่ๆ กันอยู่แล้ว เข้าไปที่หน้าดาวน์โหลดกันได้เลย แต่ถ้าใครยังไม่ชัวร์ ก็อาจดู screenshot หรือ video demo ประกอบการตัดสินใจก่อนได้

หน้าดาวน์โหลดของ Miro น่าประทับใจมาก มีแยกแพลตฟอร์มให้ดาวน์โหลดอย่างชัดเจน นอกจาก Windows, Mac OS X และ Linux (source) ตามมาตรฐานแล้ว ก็ยังมีแพกเกจสำหรับดิสโทรดังๆ ให้เลือกใช้ โดยขณะนี้มี Fedora 6/7 และ Ubuntu Feisty/Dapper (ผ่านทาง repository ของ Miro เอง) ส่วนใครที่ใช้ Debian หรือ Gentoo เค้าบอกว่าอดใจรออีกหน่อย ขึ้นโลโก้ไว้ให้แล้วคงมีอย่างแน่นอน

เวอร์ชันที่รีวิวเป็น 0.9.8 (Preview Release 1) บน Ubuntu Feisty ครับ

เริ่มต้นใช้งาน

เมื่อเปิดโปรแกรมขึ้นมาเราก็พบกับหน้าตามาตรฐานของ Media Player ยุคสหัสวรรษใหม่ คือมี sidebar ข้างๆ และตรงกลางเป็นที่แสดงผล


(คลิกเข้าไปดูรูปใหญ่)

หน้าตาเวอร์ชันแมคกับวินโดวส์ก็คล้ายคลึงกัน แต่ปรับให้เข้ากับแพลตฟอร์มนั้นๆ


เวอร์ชันแมคยังกะ iTunes


เวอร์ชันวินโดวส์ใช้สีดำแบบ Vista

มาดูในส่วนของเมนูใน sidebar กันแบบชัดๆ

เรียงลำดับจากบนลงล่าง

  • Miro Guide - แนะนำ-ค้นหาช่องที่น่าสนใจ
  • ค้นหาวิดีโอจากบริการวิดีโอออนไลน์ต่างๆ เช่น YouTube, Google Video, DailyMotion
  • Library - วิดีโอที่อยู่ในเครื่อง หรือที่ดาวน์โหลดมาผ่าน Miro
  • New - วิดีโอใหม่ที่ดาวน์โหลดเสร็จ รอให้เราดู
  • Downloading - วิดีโอที่กำลังดาวน์โหลด
  • ส่วนของช่องที่เราบอกรับสมาชิก ที่เห็นเป็น preset มากับตัวโปรแกรม สามารถสร้างโฟลเดอร์ได้
  • playlist แบบที่เราสร้างเอง ตามแบบ Media Player ทั่วไป

ระบบช่องหรือ channel ของ Miro ก็ไม่มีอะไรพิสดาร เป็น RSS Feed แบบเดียวกับ Podcast ตามปกติ เรามาดูส่วนของ Miro Guide หรือแนะนำช่องโดย Miro กันก่อน

ถ้าใครคุ้นกับ iTunes Store (หรือ Vuze ก็ตาม) จะเห็นว่าหน้าตาไม่ค่อยต่างกันนัก เราสามารถค้นหาช่องจากความนิยม, จากหมวดหมู่หรือ tag หรือเลือกดูเฉพาะช่องที่เป็น HD ก็ได้ เมื่อได้ช่องที่ถูกใจแล้วก็กดปุ่ม Add Channel สีเขียว ช่องนั้นจะถูกเพิ่มเข้ามาใน sidebar ของเรา

ดาวน์โหลดวิดีโอ

เมื่อเราเลือกช่องที่สนใจได้แล้ว ก็มาเลือกวิดีโอที่อยากดูกันต่อ โดยคลิกไปที่ช่องนั้นๆ

ในแต่ละช่องจะนำเสนอรายการวิดีโอเรียงลำดับเก่าใหม่ พร้อม screenshot และรายละเอียดทั่วๆ ไป เช่น ยาวเท่าไร ไฟล์ใหญ่แค่ไหน ถ้าชอบก็ดาวน์โหลดได้โดยกดปุ่มลูกศรสีฟ้าที่ screenshot ของวิดีโอ

ถ้าใครดาวน์โหลดมาเล่นอาจจะสังเกตเห็นว่า Miro มี usability ในเรื่องสีค่อนข้างดี โดยใช้สีแสดงแทนสถานะต่างๆ ของวิดีโอ สีน้ำเงินคือวิดีโอที่ยังไม่ได้ดาวน์โหลด สีเขียวคือวิดีโอที่ดาวน์โหลดมาเสร็จแล้ว และสีส้มคือวิดีโอที่อยู่ระหว่างการดาวน์โหลด


หน้าตาตอนดาวน์โหลดจะเป็นสีส้มแบบนี้


วิดีโอที่ดาวน์โหลดเสร็จแล้ว ใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์

วิดีโอที่เราดาวน์โหลดมาเสร็จจะเก็บไว้ใน New ซึ่งสามารถกดดูได้ทันที แถบเครื่องมือควบคุมวิดีโออยู่ด้านล่างสุดของหน้าต่าง จากการลองใช้งานพบว่าถ้าเราดูวิดีโออยู่แล้วเกิดเบื่อๆ อยากสลับไปดูสถานะการดาวน์โหลดไฟล์ วิดีโอนั้นจะถูก pause โดยอัตโนมัติ ถ้าอยากดูต่อก็กลับมาที่วิดีโออันเดิม แล้วกด play ต่อได้เลย


วิดีโอตัวอย่างเป็น TEDTalk ตอน Will Wright มาพูดเรื่อง Spore
ถ้าใครไม่เคยเห็นหน้าคนทำ Sim City/The Sims ก็หน้าแบบนี้ล่ะ

ปัญหาของแพลตฟอร์มวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตก็คือต้องรอดาวน์โหลด ทำให้เสียความรู้สึกในการรับชม Miro สามารถตั้งให้ดาวน์โหลดวิดีโอในแต่ละช่องแบบอัตโนมัติได้ (แบบเดียวกับ iTunes ดาวน์โหลด Podcast) และสามารถตั้งให้ลบวิดีโอที่เก่าเกินกำหนด เพื่อประหยัดพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ได้เช่นกัน

ค้นหาวิดีโอ

ฟีเจอร์เด็ดอีกอันที่ Miro โฆษณาไว้คือ สามารถค้นหาวิดีโอจาก YouTube และดาวน์โหลดมาเก็บไว้ได้ ผมก็ลองเสียหน่อย ได้ผลดังภาพ

เหตุผลก็คงไม่ต้องอธิบาย ลองเปลี่ยนเป็น Google Video แทนก็ได้

ค้นหาวิดีโองาน BTD2 ก็ได้ผลตามที่เห็น ใช้ได้ดีเลย

บริการค้นหาวิดีโอออนไลน์ที่มีมาให้ได้แก่ YouTube, Google Video, Veoh, Blogdigger, Revver, DailyMotion และ blip.tv

อื่นๆ

ประเด็นอื่นๆ มีดังนี้

  • ปัญหาที่ผมพบก็คือไม่สามารถเล่นวิดีโอที่ดาวน์โหลดมาบน Ubuntu Feisty ได้ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะไม่ได้ลงตัว codec ของ Xine ไว้ วิธีแก้ก็ตามนี้ครับ

    sudo apt-get install libxine-extracodecs

    (ข้อมูลจาก Ubuntuforums)

  • สามารถเอา Torrent ปกติมาดาวน์โหลดโดยใช้ Miro ได้ โดยโปรแกรมจะขึ้นว่าเป็น External Torrents
  • ยังไม่สนับสนุนการโหลดวิดีโอไปดูต่อบน iPod, PSP หรือมือถือต่างๆ

สรุป

ประสบการณ์ใช้งาน Miro น่าประทับใจมาก การค้นหา-ดาวน์โหลด-เล่นวิดีโอซึ่งเป็นหัวใจหลักของโปรแกรมทำได้อย่างราบรื่น ขาดแต่เพียงฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยเพิ่มความน่าใช้ของโปรแกรมเท่านั้น (เช่น สนับสนุน iPod) ตัวโปรแกรมเป็น XUL อาจจะทำงานได้ช้าบนเครื่องสเปกเก่าๆ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Miro เกิดได้ในบ้านเรามี 2 ข้อ

  • ความเร็วของเน็ตเวิร์ค - อันนี้กระทบถึงโปรแกรมประเภทเดียวกันนี้ทุกตัว (โดยเฉพาะ Joost ที่เป็นเล่นสด)
  • วิดีโอที่เป็นภาษาไทย - Miro เตรียมแพลตฟอร์มในการสร้างช่องไว้ให้แล้ว รอคนทำอยู่นะครับ (DuoCore ว่าไงเอ่ย)

ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นแพลตฟอร์มทำนองนี้ไปอยู่ใน set-top box ดูรายการได้แบบเดียวกับเคเบิลทีวี เพียงแต่ต่อผ่าน ADSL แทน ถ้าไปได้สวย สื่อทีวีที่ไม่มีเงินหรืออิทธิพลในการขอใบอนุญาตความถี่ (โดยเฉพาะปัญหา กสช. ไม่เกิดซักที) การออกอากาศผ่าน Miro ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ เนื่องจากแพลตฟอร์ม Miro เป็นโอเพนซอร์สล้วน ไม่มีปัญหาเรื่องค่ากินหัวคิวในการออกอากาศ

Blognone Jobs Premium