คนฝรั่งเศสถูกปรับจากการแฮ็กระบบของรัฐบาล ด้วยการเข้าลิงก์จากกูเกิล

by chayaninw
12 February 2014 - 05:02

ศาลอุทธรณ์ของฝรั่งเศสได้ตัดสินลงโทษปรับเงินนักข่าว/แฮกเกอร์ชาวฝรั่งเศส จากการนำเอกสารในฐานข้อมูลภายในของหน่วยงานรัฐบาลไปเผยแพร่ ที่ได้มาจากการเข้า URL ที่ถูกต้องจากกูเกิล

Olivier Laurelli (ใช้ฉายาออนไลน์ว่า Bluetouff) ทำธุรกิจความปลอดภัยออนไลน์ที่ชื่อว่า Toonux และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว Reflets.info ได้เข้าอินเทอร์เน็ตผ่าน VPN ที่ใช้ IP address ของปานามา (เป็นบริการของ Toonux) ค้นหาข้อมูลผ่านเครื่องมือค้นหาของกูเกิล และได้บังเอิญเข้าไปเจอเอกสารภายในของหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม และอาชีพของฝรั่งเศส (ANSES)

Laurelli ได้ใช้เครื่องมือดาวน์โหลดเอกสารทั้งหมดเข้ามาเก็บไว้ในเครื่องของตัวเอง และในภายหลังได้ส่งต่อเอกสารบางส่วนให้กับผู้ร่วมเขียน Reflets คนหนึ่ง ซึ่งต่อมา เว็บไซต์ Reflets ก็ได้เผยแพร่สไลด์บางอันที่เกี่ยวข้องกับสารนาโน

เมื่อ ANSES ได้มาพบว่า มีสไลด์ภายในถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Reflets จึงได้แจ้งตำรวจว่า อาจมีการบุกรุกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และขโมยข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้สำนักข่าวกรองของฝรั่งเศส (DCRI) เข้ามาร่วมสอบสวนกรณีนี้ด้วย

DCRI พบว่า ไฟล์ถูกดาวน์โหลดผ่าน IP address จากปานามา และพบต่อไปว่า เป็น IP address ที่ใช้ผ่านบริการ VPN ที่บริหารโดยผู้ร่วมก่อตั้ง Reflets ทำให้สาวไปถึงตัว Laurelli ได้ ตัว Laurelli นั้นเชื่อว่า การดาวน์โหลดผ่าน VPN นี้ (และใช้ IP address จากปานามา) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

เว็บไซต์ส่วนตัวของ Laurelli ได้เผยแพร่เอกสารบางส่วนจากศาล ซึ่งได้อธิบายว่า การสอบสวนภายในของ ANSES พบว่า เพียงแค่ใส่ URL เอกสารที่ถูกต้อง ก็จะสามารถอ้อมระบบยืนยันตัวตน (authentication) ได้

ศาลชั้นต้นนั้นได้ตัดสินว่า Laurelli ไม่มีความผิด ทำให้ DCRI อุทธรณ์คำตัดสิน ในขณะที่ ANSES ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของเอกสารเลือกที่จะไม่อุทธรณ์ เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีของฝรั่งเศสที่ได้เข้าฟังการพิจารณาคดีได้บรรยายบรรยากาศการไต่สวนอุทธรณ์ครั้งแรกว่า ผู้พิพากษาและอัยการดูขาดความรู้ความเข้าใจที่จำเป็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี

ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินว่า Laurelli ไม่มีความผิดฐานบุกรุกระบบสารสนเทศ แต่มีความผิดฐานขโมยเอกสารและเก็บรักษาเอกสารไว้โดยมิชอบ ซึ่งลงโทษปรับ 3,000 ยูโร (ประมาณ 130,000 บาท) ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้ศาลตัดสินลงโทษ มาจากการที่ Laurelli ยอมรับว่า หลังจากที่เจอเอกสารแล้ว เขาได้พยายามลองกลับเข้าไปที่โฮมเพจ และพบว่าเป็นหน้าล็อกอิน ซึ่งแสดงว่าเขารับรู้ตั้งแต่แรกว่าเป็นเอกสารที่ตั้งใจจะปกปิดไว้ และยังคงตั้งใจดาวน์โหลดเอกสารไปเผยแพร่

เว็บไซต์ Le Point ของฝรั่งเศส ได้เขียนว่าถึงว่า "คำตัดสินนี้ควรจะสร้างความวิตกกังวลให้กับพลเมืองทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักข่าว" และได้อ้างถึง Grégoire Pouget จากองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) ที่กล่าวว่า คำตัดสินนี้ เป็นบรรทัดฐานที่น่าวิตกกังวลมาก

ที่มา - Ars Technica, Le Point (fr)

Blognone Jobs Premium