หลุดเอกสาร Mobile Application Distribution Agreement จากกูเกิล นี่คือสัญญาณของการพา Android เป็นระบบปฏิบัติการแบบปิด

by magnamonkun
14 February 2014 - 14:58

ข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์คงหนีไม่พ้นการเข้าตรวจสอบ Android ใน EU ที่แต่ละประเทศเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของแพลตฟอร์ม Android ที่ประกาศตนว่าเป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดตั้งแต่เริ่ม แต่พักหลังๆ มีท่าทีที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด และล่าสุดก็มีการหลุดเอกสารสัญญาฉบับหนึ่งที่กูเกิลเรียกมันว่า "Mobile Application Distribution Agreenment" หรือ MADA ซึ่งเป็นสัญญาฉบับสำคัญระหว่างกูเกิลและผู้ผลิตออกมา และนี่ก็สามารถเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่อาจจะบ่งชี้ได้ว่ากูเกิลเริ่มพา Android กลับเป็นระบบปฏิบัติการแบบปิดเสียแล้ว

โดยข้อตกลงในฉบับนี้มีใจความสำคัญที่สามารถพอสรุปได้ดังต่อไปนี้ครับ

* ผู้ผลิตจะต้องเลือกว่าจะใส่ซอฟต์แวร์ของตัวเองผสมกับของกูเกิล หรือจะเลือกใช้เฉพาะของกูเกิลเท่านั้น หรือสรุปสั้นๆ ก็คือไม่ว่าผู้ผลิตจะทำซอฟต์แวร์ครอบเองหรือไม่ ยังไงก็ต้องใส่บริการของกูเกิลเข้ามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Chrome, Hangout, Google Search เป็นต้น
* กูเกิลจะมีสิทธิ์และอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมการอัพเดตซอฟต์แวร์และบริการของกูเกิลแต่ละตัว ให้กับแต่ละประเทศแต่เพียงผู้เดียว (คือกูเกิลจะมีอำนาจในการควบคุมซอฟต์แวร์ในเครื่องส่วนใหญ่เหนือกว่าผู้ผลิต)
* ผู้ผลิตไม่มีสิทธิ์ในการแจกจ่ายซอฟต์แวร์และบริการของกูเกิลโดยพลการ (น่าจะหมายถึงการแจก GMS ให้มาแฟลชกันเองเหมือนกับ CyanogenMod อันนี้ "ห้าม" ให้ผู้ผลิตทำครับ)
* จะต้องมีวิดเจ็ต Google Search Bar ในหน้าใดหน้าหนึ่งของพื้นที่ในหน้าโฮมสกรีน
* จะต้องไม่มีแอพพลิเคชันควบคุมที่อยู่เหนือกว่าหน้าโฮมสกรีน
* ผู้ผลิตไม่มีสิทธิ์ในการแบ่งพาร์ทิชันในการจัดเก็บแอพพลิเคชันและบริการของกูเกิลทั้งหมด แต่มีสิทธิ์ในการรวบรวมแอพพลิเคชันของกูเกิลทั้งหมดไว้ในโฟลเดอร์เดียวกันที่หน้า Launcher ได้ (เหมือนกับที่ HTC และ LG ทำ)
* ผู้ผลิตจะต้องใช้ Google Search เป็นบริการค้นหาหลักเท่านั้น
* ผู้ผลิตจะต้องส่งยอดขายอุปกรณ์ Android แต่ละชิ้นคืนให้แก่กูเกิล โดยจะต้องแยกเป็นจำนวนรุ่นย่อยตามประเทศที่จำหน่าย และข้อมูลการจำหน่ายในแต่ละประเทศที่มีเครื่องวางขาย (สมมติ Xperia Z1 มีรุ่นย่อยทั้งหมดแปดรุ่น เวลาส่งเอกสาร จะต้องส่งทั้งแปดรุ่น และส่งตามจำนวนประเทศที่วางขาย สมมติว่าจนถึงปัจจุบันวางขายไป 50 ประเทศ ก็จะต้องส่งเอกสารทั้งหมดกว่า 400 ชุดให้แก่กูเกิล)
* ผู้ผลิตจะไม่มีสิทธิ์ในส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของกูเกิล ซึ่งนั่นก็คือรายได้ที่เกิดขึ้นจากบริการต่างๆ ของกูเกิล รวมถึงส่วนต่าง 30% ที่กูเกิลหักจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ส่งแอพพลิเคชันขึ้นไปวางขายอยู่บน Google Play Store ด้วย
* ในการส่งอุปกรณ์มาตรวจสอบแต่ละครั้ง ผู้ผลิตจะต้องส่งอุปกรณ์รุ่นเดียวกันมาให้ทดสอบทั้งหมด 4 ชิ้น และในระยะเวลาการตรวจสอบ ผู้ผลิตไม่มีสิทธิ์ในการเปิดเผยอุปกรณ์รุ่นดังกล่าวแก่สาธารณชน
* ผู้ผลิต "ไม่มีสิทธิ์ในการพัฒนาโครงสร้างหรือนำโครงสร้างของ Android ไปพัฒนาต่อได้ด้วยตัวเอง" (หมายถึงการ forking) ตลอดระยะเวลาที่ทำข้อตกลงในฉบับนี้ไว้ (ข้อนี้ คือเหตุการณ์ศึกชิงนาง (Acer) ระหว่าง Google และ Alibaba และยังเป็นสิ่งที่กูเกิลกลัวซัมซุงทำมากที่สุด)

นอกจากนี้กูเกิลยังระบุแนบท้ายสัญญาว่า สัญญา MADA ฉบับนี้มีอายุสองปีนับจากวันที่เซ็นต์สัญญาในข้อตกลง ซึ่งผู้ผลิตทุกรายจะต้องรับทราบเงื่อนไขนี้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้ผลิตรายใดตัดสินใจที่จะยุติบทบาทในการผลิตอุปกรณ์ Android ก็สามารถบอกเลิกสัญญานี้กับกูเกิลได้ตลอดเวลา และจะต้องจ่ายค่าใช้เทคโนโลยีแก่กูเกิลจำนวนหนึ่งในวันบอกเลิกสัญญาด้วย อย่างไรก็ดีสัญญานี้เป็นสัญญาที่ผู้ผลิตสามารถลงนามได้ตามความสมัครใจตั้งแต่ต้นครับ

ทั้งนี้ Android Community ยังบอกต่อว่า ข้อตกลง MADA ของกูเกิลนั้นมีจุดที่น่าสงสัยหลายจุด โดยเฉพาะข้อตกลงแนบท้ายที่ระบุว่าจะต้องจ่ายค่าใช้เทคโนโลยีแก่กูเกิล ซึ่ง AC ให้ความเห็นว่าท้ายสุดแล้ว Android เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดแน่หรือไม่ เพราะถ้าเปิดจริงๆ มันจะต้องไม่มีค่าใช้เทคโนโลยีในส่วนนี้มาเกี่ยวข้อง

ส่วนอีกจุดที่ AC ตั้งข้อสงสัยก็คือสัญญาฉบับนี้ น่าจะเป็นสัญญาใจจากกูเกิลที่มอบให้แก่ผู้ผลิตว่า "จะอยู่ข้างเรา" หรือ "จะเป็นศัตรูกับเรา" มากกว่าข้อตกลงในการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อดูจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ผลิตแทบไม่มีทางเลือกในการตอบรับสัญญานี้เลยแม้แต่น้อยครับ

ที่มา - Android Community

Blognone Jobs Premium