บทวิเคราะห์ Nokia X "It's all about the ecosystem"

by mk
24 February 2014 - 15:52

ข่าวใหญ่ของงาน MWC 2014 รอบนี้คงหนีไม่พ้น Nokia X และ Nokia XL ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นก้าวแรกของโนเกียสู่โลกของ Android

โนเกียเคยปรามาส Android เอาไว้ตั้งแต่ปี 2010 (ช่วงปลายยุครุ่งเรือง) ว่าการเปลี่ยนมาใช้ Android เปรียบเหมือนการฉี่รดกางเกงให้อบอุ่นในฤดูหนาว แต่เพราะเหตุใด เวลาผ่านไปเพียง 3 ปีกว่าๆ โนเกียจึงกลับลำมาทำ Android เสียเอง

เรื่องนี้อธิบายค่อนข้างยากแต่จะพยายามครับ

It's all about the ecosystem

ผมนั่งดู วิดีโอแถลงข่าวของ Stephen Elop ที่งาน MWC 2014 อย่างละเอียด ก็พบว่าภาพที่สำคัญที่สุดในงานคือภาพนี้

แอพ แอพ และแอพ จำนวนมหาศาล

ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone ที่ติดตามข่าวเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด คงเคยหยิบจับสัมผัสมือถือของโนเกีย ทั้ง Lumia และ Asha มาบ้าง ซึ่งความรู้สึกของหลายๆ คนก็น่าจะเหมือนกันว่า "แอพมันน้อย" เมื่อเทียบกับ Android/iOS

ลองคิดในมุมของโนเกียดูบ้างครับ คนของโนเกียคงเจอกับคำถามประเภทว่า "มีแอพ ... ไหม" ซึ่งคำตอบก็คือ "ไม่มี" และกรณีแบบนี้มักจบด้วยการที่ลูกค้าตัดสินใจไม่ซื้อ

ในโลกยุคสมาร์ทโฟน ยุคที่ซอฟต์แวร์เป็นใหญ่ ฟีเจอร์ด้านฮาร์ดแวร์ไม่มีน้ำหนักเท่าฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์หรือบริการ (ซึ่งเราเรียกมันรวมๆ กันว่า ecosystem) ต่อให้เครื่องดีสเปกแรง ออกแบบสวยงามแค่ไหน แต่ถ้ามันไม่สามารถใช้งานบริการที่ลูกค้าต้องการได้ มันก็ขายไม่ได้

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของโนเกีย ไมโครซอฟท์ ซัมซุง เอชพี แบล็คเบอร์รี และผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการมือถือรายเล็กทั้งหลาย ในการตีตลาดสมาร์ทโฟนด้วยระบบปฏิบัติการแปลกใหม่ มีฟีเจอร์น่าสนใจ แต่ก็ไม่สำเร็จสักรายเพราะ "ไม่มีแอพ" (ขนาดไมโครซอฟท์ใหญ่โตมโหฬาร มีทรัพยากรมากมาย ยังกระอัก)

การที่ Nokia X หันมาใช้ Android สามารถเข้าถึง ecosystem ที่มีแอพ "หลักแสนราย" (จากคำพูดของ Elop เอง) ย่อมทำให้ปัญหาเรื่องแอพของโนเกียหมดไป

Devices and Services

คำถามต่อไปคือ โนเกียหันมาทำ Android แล้ว ไมโครซอฟท์ไม่ว่าเอาหรือ?

คำตอบของคำถามนี้ค่อนข้างซับซ้อนครับ

สำหรับคนที่ติดตามยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์มาน่าจะคุ้นเคยกับสโลแกนใหม่ของไมโครซอฟท์ที่สรุปได้ว่าเป็น "Devices and Services"

เดิมทีธุรกิจของไมโครซอฟท์คือทำระบบปฏิบัติการ/ซอฟต์แวร์พื้นฐาน (Windows) และแอพพลิเคชัน (Office) แต่เมื่อโลกไอทีเปลี่ยนแปลงไป แอพพลิเคชันผันตัวเองไปเป็นบริการที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต (อันนี้รับมือไม่ยาก เอาแอพไปรันบนเน็ตก็จบ ตัวอย่างเช่น Office 365) ในขณะที่ระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์พื้นฐานเริ่มจะ "ไร้มูลค่า" อันเนื่องมาจากซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่าง Linux/Android

ไมโครซอฟท์ทำเงินจากระบบปฏิบัติการได้น้อยลงทุกที ถึงแม้จะยังขาย Windows ได้อยู่ หาเงินจากค่าไลเซนส์ได้มาก (ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเจ้าตลาดที่เกือบไร้คู่แข่ง) แต่ถ้าหันมาดูฝั่งของอุปกรณ์พกพา เราเห็นภาพชัดเจนว่าตลาด Windows Mobile ที่ไมโครซอฟท์หากินจากค่าไลเซนส์ ถูก Android ทำลายลงไปอย่างราบคาบด้วยนโยบายโอเพนซอร์ส

โมเดลธุรกิจของไมโครซอฟท์จึงต้องพยายามผลักดันไปที่ บริการ (services) ซึ่งเราเห็นได้ชัดเจนจากบริการจำพวก Skype, OneDrive, Bing, Office 365, Xbox Live ฯลฯ

ในขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ก็พยายามหันมาทำ ฮาร์ดแวร์ (devices) ในฐานะ "ประตูเข้าสู่บริการ" ของไมโครซอฟท์เองด้วย ตัวอย่างที่ชัดๆ คือ Xbox (ส่วน Surface นี่กรณีพิเศษนะครับ) และเข้าสู่ตลาดฮาร์ดแวร์พกพาด้วยการซื้อกิจการมือถือของโนเกีย

โดยสรุปแล้ว โมเดลของไมโครซอฟท์ใช้ยุทธศาสตร์แบบสองขา

  1. Services หรือบริการ คิดเงินแบบเช่าใช้หรือจ่ายรายเดือน ยุทธศาสตร์คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนมาใช้บริการ (รุ่นฟรี) ให้เยอะเข้าไว้ แล้วค่อยพยายามจูงใจให้จ่ายเงิน
  2. Devices หรือฮาร์ดแวร์ ใช้โมเดลธุรกิจแบบขายเครื่องขาดแล้วเอากำไรจากค่าเครื่อง ยุทธศาสตร์คือสร้างจุดเด่นด้านบริการให้มากๆ คนจะได้ซื้อเครื่องเยอะๆ

แอปเปิลกับกูเกิลนั้นไปคนละทาง โมเดลของแอปเปิลคือขายฮาร์ดแวร์ (โดยใช้บริการพวก iTunes/iCloud เป็นสิ่งจูงใจให้คนซื้อเครื่อง โดยไม่คิดค่าใช้บริการ) ส่วนโมเดลของกูเกิลคือขายบริการ (ทำ Android แล้วแจกฟรีเพื่อให้คนเข้าถึงบริการของกูเกิลให้มากที่สุด)

แต่ไมโครซอฟท์ใช้ยุทธศาสตร์คร่อมสองขา เอาหมดทั้งฮาร์ดแวร์และบริการ (ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนักว่ามันจะเวิร์คหรือไม่ในระยะยาว เพราะโดยพื้นฐานมันไม่ไปด้วยกันสักเท่าไร) ดังนั้นการพิจารณา Nokia X เราจะต้องแยกส่วนเป็นมุมมองของโนเกียและไมโครซอฟท์ครับ

มุมของโนเกียก็อย่างที่เขียนไปข้างต้นว่า ต้องการขายเครื่อง ดังนั้นการที่ Nokia X ใช้ Android ถือว่าตอบโจทย์ในแง่การเปิดประตูเข้าถึงบริการ (แอพ) อย่างมาก

แต่มุมของไมโครซอฟท์คือต้องการให้คนเข้าถึงบริการของตัวเองมากๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ Nokia X จะถอดบริการของกูเกิล (คู่แข่งโดยตรงของไมโครซอฟท์) ออกทั้งหมด แล้วยัดบริการของไมโครซอฟท์และโนเกียเข้ามาแทน

ตรงนี้น่าสนใจว่า โนเกียพยายามชูจุดเด่นเป็นบริการของไมโครซอฟท์ (ที่มีแอพบน Android อยู่เกือบหมดแล้ว ทั้ง Skype, OneDrive, Outlook.com ถือว่าไม่มีจุดต่างจาก Android ปกติ) กับบริการของโนเกีย (ที่ยังไม่มีบน Android และอาจใช้เป็นจุดขายได้ แต่ที่โฆษณาบนเวทีก็มีแค่ HERE กับ MixRadio สองตัวเท่านั้นเอง)

สังเกตดีๆ ว่า Nokia X ไม่ปฏิเสธ "แอพ" โดยทั่วไปของ Android เลยนะครับ บนเวทีก็แสดงเดโมชัดเจนว่าถ้าไม่มีแอพบน Nokia Store ก็จะแสดงลิงก์ไปยังร้านค้าของพันธมิตร (ที่เอ่ยชื่อคือ Yandex และ SlideME แต่ยังไม่มี Amazon) รวมถึงเปิดให้ sideload ได้ด้วย สิ่งที่ Nokia X ปฏิเสธมีเพียง "แอพของกูเกิล" เท่านั้น

คำถามที่ต้องรอคำตอบ (จากการตอบรับของตลาด) ต่อไปก็คือ Nokia X ไม่มีแอพของกูเกิลแล้วอยู่ได้หรือไม่ ผู้บริโภคซื้อ Android เพราะต้องการแอพของกูเกิลหรือเปล่า? ผู้อ่าน Blognone ส่วนใหญ่น่าจะพึ่งพาแอพกูเกิลเยอะ ตรงนี้อาจมีปัญหากับ Nokia X แต่ก็คงมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ไม่ได้แคร์แอพของกูเกิลสักเท่าไร

ไม่มีใครแน่ใจนักว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีเยอะแค่ไหน และถ้าต้องตัดสินใจซื้อจริงๆ ด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กัน ระหว่าง Android รุ่นปกติกับ Nokia X คนกลุ่มนี้จะเลือกอะไร

UI ลูกผสม

ต้องออกตัวว่าคงยังไม่มีใครได้จับ Nokia X ยกเว้นนักข่าวที่ไปบาร์เซโลนา ดังนั้นการวิเคราะห์ส่วน UI ก็ต้องทำจากภาพและวิดีโอที่ออกมา (ซึ่งไม่มีทางสู้ประสบการณ์การจับของจริงได้อยู่แล้ว)

UI ของ Nokia X เป็นลูกผสมระหว่าง 3 ระบบปฏิบัติการ คือ

  • Home ของ Windows Phone
  • Fastlane ของ Asha
  • Notification ของ Android

ผมไม่แน่ใจนักว่าในทางปฏิบัติมันจะเวิร์คแค่ไหน (แต่ดูจากภาพและวิดีโอแล้วก็เหมือนจะดี) ส่วนของ Fastlane ที่ทำหน้าที่เป็น app switcher ผสม notification ได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยว่าใช้ง่าย แต่ก็อาจจะซ้ำซ้อนกับ notification ของ Android อยู่บ้าง (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนัก)

ใครนึกภาพตามไม่ออกลองดูวิดีโอ

ส่วน Live Tiles ของ Nokia X นั้นคงสู้ Windows Phone ตัวเต็มไม่ได้ ฟีเจอร์อาจด้อยกว่าอยู่บ้าง (เข้าใจว่าการพรีวิวเนื้อหาบน Tiles จะใช้ได้เฉพาะแอพของโนเกียเท่านั้น) แถมแอพน่าจะเสียฟีเจอร์ด้าน widget ของ Android ตามไปด้วย แต่ถ้าพิจารณาว่ามันช่วยให้หน้าตาของมือถือโนเกียดูไปในทิศทางเดียวกัน ก็พอฟังขึ้นในระดับหนึ่ง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Nokia X ยังใช้ Android 4.1.2 เป็นแกน ตกรุ่นจากรุ่นปัจจุบัน (4.4.2) ไปหลายรุ่น ถือว่าน่าผิดหวังอยู่บ้าง แต่ข้อมูลนี้น่าจะพอชี้ให้เราเห็นว่า โนเกียเริ่มทำ Nokia X ก่อนหรือช่วงเดียวกับที่ Android 4.1 เปิดตัว นั่นคือเดือนกรกฎาคม 2012 (ตีความจากการ branch AOSP 4.1.x มาเป็น Nokia X Software Platform) ซึ่งก็ถือว่าซุ่มทำมานานพอตัว

ในระยะยาวแล้วคงต้องดูกันว่า Nokia X จะมีปัญหาเรื่องการอัพเดตตัวแกนหลักของ Android เหมือนกับผู้ผลิตรายอื่นๆ หรือไม่ (Fire OS ของ Amazon ก็ยังอยู่ที่ Android 4.2) และจะมีผลต่อการขายสินค้าของโนเกียมากน้อยแค่ไหน (กลุ่มลูกค้าของ Nokia X อาจจะไม่แคร์เรื่องอัพเดตเลยก็ได้)

ตำแหน่งแห่งที่ของ Nokia X ในโนเกีย

ช่วงท้ายของงานแถลงข่าววันนี้ Stephen Elop ก็จูงลูกๆ ใน "ครอบครัวโนเกีย" มาโชว์ตัวต่อสื่อว่าคนไหนพี่คนไหนน้อง

Elop พูดชัดเจนว่า Lumia และ Windows Phone จะยังเป็น "แพลตฟอร์มหลัก" ของโนเกีย นวัตกรรมและฟีเจอร์ใหม่ๆ จะถูกนำเสนอใน Lumia เป็นที่แรก

  • ระดับราคาของ Lumia ไล่จากตัวท็อปสุด (ปัจจุบันคือ 1520) มาจนถึงน้องเล็กสุด Lumia 520 ที่ราคาประมาณ 139 ยูโร (6,300 บาท)
  • Nokia X เป็นมือถือที่โนเกียวางตัวให้ถูกกว่า Lumia ตัวล่างสุด ซึ่งราคาที่เปิดตัวในวันนี้คือ Lumia XL ตั้งราคา 109 ยูโร (5,000 บาท) ไล่ลงมาต่ำสุดที่ Nokia X 89 ยูโร (4,000 บาท)
  • ต่ำกว่านั้นลงไปจะเป็น Asha ซึ่งตัวท็อปสุดในปัจจุบันคือ Asha 503 ตั้งราคาเปิดตัว 99 ดอลลาร์ หรือประมาณ 69 ยูโร (3,400 บาท)
  • ถูกกว่านั้นไปอีกคือ Nokia มือถือธรรมดา ซึ่งถือว่าอยู่คนละตลาดกันแล้ว

Elop ประกาศยุทธศาสตร์ของ Nokia X ว่าจะเป็นตัวคั่นเพื่อให้ผู้บริโภค "ในประเทศกำลังพัฒนา" (=เงินน้อย) ซื้อมาใช้งานก่อนจะขยับไปเล่นสาย Lumia ในอนาคต ซึ่งยุทธศาสตร์ของ Lumia เองก็จะกดราคาให้ถูกลงกว่าในปัจจุบันเรื่อยๆ และ Nokia X จะขยับราคาลดหลั่นตาม Lumia เช่นกัน

จากคำพูดของ Elop นี่ฟังแล้วพอจะฟันธงได้เลยครับว่า Nokia X มันเกิดมาเพื่อฆ่า Asha รุ่นจอสัมผัสแน่นอน เพราะต้นทุนในการพัฒนา ecosystem ของ Asha ให้มีแอพเยอะพอจะแข่งขันกับ Android ได้นั้นแพงมาก (แถมต่อให้มีเงินก็ใช่ว่าจะทำได้) สู้ยอมฉี่รดกางเกง ลงทุนพัฒนา UI ครอบ, ลงทุนทำ Nokia Store แต่สามารถเข้าถึง ecosystem ของ Android ที่มีแอพนับแสนได้จะดีกว่า

ในระยะกลางแล้ว ผมเชื่อว่า Nokia X จะค่อยๆ ดัน Asha จนหายไป (ส่วน Nokia รุ่นธรรมดาน่าจะยังอยู่ได้อีกนาน)

ส่วนในระยะยาว ในโลกอุดมคติ Lumia ควรจะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ และมีแอพเยอะขึ้นเรื่อยๆ จน Nokia X ไม่จำเป็นต้องมีตัวตนอยู่ในระยะยาว แต่ในโลกความเป็นจริง สถานการณ์จะเป็นไปตามภาพฝันได้หรือไม่ คงขึ้นกับสองคู่หูไมโครซอฟท์/โนเกียแล้วล่ะครับ

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว Nokia X ออกมาเป็นทางลัด/คั่นเวลา เพื่อให้ไมโครซอฟท์ใช้โอกาสนี้เสริมทัพ Windows Phone ให้เข้มแข็งกว่านี้นั่นเอง (จะทำได้สำเร็จตามที่หวังหรือเปล่าก็อีกเรื่องนึง) ถ้าอธิบายด้วยโมเดลเรื่อง devices/services ข้างต้น ก็ต้องบอกว่า Nokia X ช่วยตอบโจทย์ด้าน devices ของโนเกีย (ขายเครื่องได้) ในขณะเดียวกันก็พยายามช่วยโดยอ้อมให้คนเข้าถึงบริการของไมโครซอฟท์ได้มากขึ้น (แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก)

ส่วนในมุมของผู้บริโภค Nokia X จะน่าซื้อแค่ไหนคงขึ้นกับไลฟ์สไตล์ครับ ถ้าพึ่งพาบริการของกูเกิลเยอะก็คงไม่เหมาะนัก (มัน sideload ได้แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำเป็น) จุดขายเรื่องแอพ exclusive ของไมโครซอฟท์กับโนเกียคงต้องรอดู และต้องไม่ลืมว่า Android รุ่นปกติที่มี Google Mobile Services มันก็ถูกลงเรื่อยๆ เช่นกัน (แถมกูเกิลเริ่มบังคับทำ KitKat ซะด้วย)

บทแถมท้าย: มุมมองของนักพัฒนาแอพ Android

อันนี้ง่ายมาก แทบไม่ต้องคิดเลยครับ จ่ายต้นทุนเพื่อพัฒนาแอพบน Android กันมาเยอะแล้ว การพอร์ตลง Nokia X ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก ผลประโยชน์ที่ได้คือตลาดที่กว้างขึ้น (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ากว้างขึ้นแค่ไหน แต่ต้นทุนในการพอร์ตมันน้อยมาก) แถมโนเกียก็เตรียมเครื่องมือไว้ให้เต็มที่ทั้ง in-app payment และ operator billing ที่เป็นจุดเด่น ถ้ามีแรงก็พอร์ตเถอะครับ

ประเด็นนี้เป็นเรื่องเดียวกับว่าเราควรเอาแอพ Android ไปขายใน Amazon Appstore หรือไม่ ถ้าไม่ยากเกินไปก็ควรทำทั้งหมดทุกสโตร์นั่นแหละ เพียงแต่ Amazon Appstore อาจยังไม่สนใจนักพัฒนาแถบบ้านเรานัก กรณีของ Nokia Store น่าจะต่างออกไปเพราะโนเกียมีฐานลูกค้าในบ้านเราไม่น้อย ใครที่หวังบุกไปชิงตลาด Nokia X ช่วงเปิดตัวก็ควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ

Blognone Jobs Premium